ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ แถลงความร่วมมือการขึ้นทะเบียนโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็น "หน่วยบริการรับส่งต่อโรคทางสมอง ระบบประสาทและกระดูกสันหลัง" ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีผ่านระบบ Video Call
ทั้งนี้ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำทีมผู้บริหาร สปสช. และคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมการผ่าตัดสมองให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองโดยทีมแพทย์ใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะไทเทเนียมในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการอุปกรณ์ทางการแพทย์ในบัญชีนวัตกรรมเพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของทีมแพทย์ในการให้บริการประชาชน
นพ.อารักษ์ กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยขั้นสูงระดับตติยภูมิ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ เรามีความพร้อมการรักษาตั้งแต่โรคหัวใจ โรคทางสมอง มีเทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ การผ่าตัดข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม การผ่าตัดแผลเล็กด้วยกล้อง Endoscope ในกลุ่มโรคหัวใจ ระบบทางเดินอาหาร ปอด นอกจากนี้ ในกลุ่มจักษุวิทยายังมีแพทย์อนุสาขาที่ครอบคลุมบริการ
ในส่วนของโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง โรงพยาบาลฯ มีแพทย์อายุรศาสตร์สมองจำนวน 2 ท่าน หนึ่งในนั้น คือ ผู้เชี่ยวชาญอนุสาขาด้านหลอดเลือดสมอง ทำให้มีความเชี่ยวชาญการตรวจและรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ซับซ้อนได้เป็นพิเศษ
ในส่วนของระบบประสาท โรงพยาบาลฯ มีแพทย์ประสาทศัลยศาสตร์ 2 ท่าน ซึ่งมีประสบการณ์ความรู้ความสามารถในการผ่าตัดโรคทางสมองได้เกือบทุกประเภท ไม่ว่าเนื้องอกในสมอง เนื้องอกในไขสันหลัง ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง อาการทางสมองจากอุบัติเหตุ ฯลฯ
"อย่างผู้ป่วยทางสมอง เราผ่าตัดมาแล้วหลายสิบราย ทั้งเนื้องอกในสมอง เลือดคั่งในสมอง เส้นเลือดโป่งพองในสมอง ฯลฯ อย่างการผ่าตัดวันนี้เป็นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ มีเลือดคั่งต้องเจาะกะโหลกเพื่อระบายแรงดันในสมอง ซึ่งทีมแพทย์จะใส่แผ่นปิดกะโหลกไทเทเนียมเพื่อให้ศีรษะผู้ป่วยมีความสวยงาม" ผอ.โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ สปสช. มีแนวคิดสอดคล้องไปในทางเดียวกัน เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการไม่ว่าจากพื้นที่ใดก็ตาม โรงพยาบาลฯ พร้อมให้การดูแลทั้งหมดและเบิกจ่ายตามระบบ สปสช. โดยไม่เป็นภาระให้โรงพยาบาลที่ส่งตัวผู้ป่วยมาต้องตามจ่าย ดังนั้นหากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ถ้ามีคนไข้อยู่ในความดูแลและมีวันรอคอยมาก ก็สามารถส่งต่อมาที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทุกช่องทาง
ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ศักยภาพของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีมาตรฐานที่สูงอยู่แล้วสามารถเป็นหน่วยบริการรับส่งต่ออีกแห่งหนึ่งในระบบบัตรทองได้ สปสช. มีความยินดีเพราะจะช่วยให้ประชาชนอีกจำนวนมากได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ
นอกจากโรคทางสมองแล้วในด้านอื่น ๆ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ มีความพร้อมเช่นกัน ดังนั้น หากโรงพยาบาลใดมีคิวผ่าตัดนาน ต้องการมารับบริการที่นี่ ทางโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็พร้อมรับตัวได้เลย ซึ่งก็จะช่วยลดความแออัด และระยะเวลารอคอยได้มาก
"วันนี้นอกจากการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อฯ แล้ว เรายังได้มาดูการผ่าตัดใส่แผ่นปิดกะโหลกศีรษะที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย 100% ปัจจุบันให้การรักษาผู้ป่วยบัตรทองไปแล้วกว่า 130 ราย ทั้งที่ทำจากไทเทเนียมและโพลีเมอร์
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ในบัญชีนวัตกรรม 7 รายการที่ประกาศเป็นสิทธิประโยชน์แล้ว ซึ่งช่วยเป็นกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและใช้งานในประเทศ ลดการนำเข้า ประหยัดงบประมาณได้กว่า 300 ล้านบาท" รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
Thansettakij
31 ตค 2567