ผู้เขียน หัวข้อ: ความคิดเห็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย (extern) ต่อหลักสูตร และชีวิตนักศึกษาแพทย์  (อ่าน 7120 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10044
    • ดูรายละเอียด



บทวิเคราะห์: แบบสอบถาม “ความคิดเห็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย (extern) ต่อหลักสูตร และชีวิตนักศึกษาแพทย์”

เนื่องจากมีรายงานแสดงให้เห็นปัญหาด้านสภาพจิตใจของนักศึกษาแพทย์(1) และปัจจุบันมีหลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก สมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป จึงสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายช่วงก่อนจบการศึกษา (ก.พ. – มี.ค. 67) ต่อหลักสูตร และชีวิตนักศึกษา(2) มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 142 คน (ที่เข้าเงื่อนไข 138 คน) ทั้งที่ศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ภาครัฐและเอกชน และศูนย์แพทย์ ทั้งที่ศึกษาหลักสูตร 6 ปี และ 5 ปี




พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ประสบกับความเครียด โดยประสบความเครียดปานกลางถึงมากที่สุดถึง 97% สาเหตุหลัก คือ การสอบ (91%) รองลงมาคือ ความกดดันจากอาจารย์ การฝึกอบรมที่หนัก ปัญหาอื่นๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง เช่น แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษารุ่นพี่ เพื่อนนักศึกษา บางส่วนเกิดจาก ปัญหาส่วนตัว ครอบครัว และ การเงิน




สำหรับปัญหาที่เกิดจากการสอบ เทียบกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมดแล้วเรียงตามลำดับ ดังนี้ กลัวสอบไม่ผ่าน (87%) สอบถี่เกินไป (43%) ข้อสอบยากเกินไป (42%)  และ กลัวได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อน (26%)




เห็นว่าความรู้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ หรือ pure science (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์) จำเป็นต่อการศึกษาแพทยศาสตร์ 57% ไม่จำเป็น 43% และ เห็นว่าระบบการเรียนการสอนควรใช้ระบบ Integrated curriculum เป็นระบบหลัก (46%) รองลงมาคือ Problem base learning และ Traditional lecture



นักศึกษาที่คิดว่าตนเองมีความรู้ด้านทฤษฎีเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพ 62% ที่คิดว่าตนเองมีทักษะในการทำหัตถการเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพ 56% แต่สำหรับนักศึกษาที่คิดว่าตนเองมีความพร้อมทั้งสองด้าน คือ ด้านทฤษฎีและด้านหัตถการเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพคิดเป็น 43%




สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้มีทักษะด้านหัตถการไม่เพียงพอ คือ ไม่มีผู้ป่วยให้ฝึก และหัตถการที่ได้ฝึกน้อย ได้แก่ intercostal drainage, endotracheal intubation, normal labor นอกจากนี้นักศึกษา 88% เห็นว่าการฝึกหัตถการจากหุ่นทดลองมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ากับการฝึกจากผู้ป่วยจริง
สำหรับการฝึกงานในฐานะแพทย์เพิ่มพูนทักษะนักศึกษา 97% คิดว่าจะช่วยเพิ่มทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพ

ความเห็นเพิ่มเติม ได้แก่ คณะแพทย์ (โรงเรียนแพทย์) มีข้อดี คือ วิชาการทันสมัย ภาระงานไม่หนักจนเกินไป อาจารย์มีหน้าที่สอนโดยตรงไม่ถูกรบกวนด้วยงานตรวจรักษา, ศูนย์แพทย์ (รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ก.สาธารณสุข) มีข้อดี คือ ได้ศึกษาผู้ป่วยหลากหลายโรคและอาการ ได้ฝึกหัตถการอย่างเพียงพอ,  ความเห็นเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ทำงานหนักเกินไป ควรลดชั่วโมงการอยู่เวรและถ้าอยู่เวรทั้งคืนควรได้หยุดในวันต่อไป ควรมีวันหยุด (รวมทั้งไม่ต้องราวน์วอร์ด) อย่างน้อย 1 วันต่อ 1-2 สัปดาห์

บทวิเคราะห์

นักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้ายช่วงก่อนจบการศึกษาเป็นนักศึกษาที่ผ่านการศึกษามาแล้วเกือบครบหลักสูตรทำให้เห็นภาพรวมของการศึกษาและชีวิตนักศึกษาแพทย์ ทั้งสามารถให้ข้อมูล ประสบการณ์ แสดงความรู้สึก และความวิตกกังวล ได้ตรงกับความเป็นจริงและครอบคลุมมากที่สุด

สาเหตุของความเครียดของนักศึกษาแพทย์เกิดจากการสอบเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อแยกสาเหตุจากการสอบแล้ว พบว่าสาเหตุสำคัญ คือ กลัวสอบไม่ผ่านมิใช่กลัวได้คะแนนสอบน้อยกว่าเพื่อน ดังนั้นการลดความเครียดด้วยการยกเลิกระบบเกรด(3) ควรพิจารณาให้รอบด้าน เพราะอาจทำให้เสียประโยชน์จากระบบเกรด เช่น นักศึกษาใช้เกรดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาการศึกษาของตน นักศึกษาใช้เพื่อนที่มีผลในการเรียนดีเป็นต้นแบบ ใช้เกรดเพื่อทราบข้อดีข้อเสียของตนสำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นแพทย์และเรียนต่อเฉพาะทาง

นักศึกษามองเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ต่อการศึกษา ดังนั้นนักศึกษาจึงควรมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดี ซึ่งอาจดำเนินการโดยมีการสอบคัดเลือกความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของผู้สมัครเข้าเรียนอย่างจริงจัง หรือมีหลักสูตรปูพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับนักศึกษา

นักศึกษาประเมินตนเองมีความพร้อมทั้งทางด้านทฤษฎีและทักษะในการทำหัตถการเมื่อจบการศึกษาเพียง 43% ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิตแพทย์เพิ่มจำนวนมากทำให้ทรัพยากรในการผลิต ได้แก่ จำนวนผู้ป่วย จำนวนหัตถการ ไม่เพียงพอ ตรงกับความคิดเห็นจากแพทย์กลุ่มต่างๆ(4) ดังนั้นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์จึงไม่ควรใช้วิธีเพิ่มการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้วิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การกระจายแพทย์(4) การบริหารจัดการแพทย์ภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ

นักศึกษาเห็นว่าการฝึกหัตถการจากหุ่นทดลองมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่ากับการฝึกจากผู้ป่วยจริง ดังนั้นการฝึกฝนการทำหัตถการควรได้รับการฝึกฝนจากผู้ป่วยจริง หุ่นทดลองอาจเป็นเครื่องมือในการเสริมทักษะเท่านั้นไม่ควรใช้ทดแทนการฝึกฝนจากผู้ป่วย

แพทย์จบใหม่ส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่แพทย์ทุกคนสามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ทุกประเภทตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 กอรปกับหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะช่วยเพิ่มทักษะ ความรู้ ความชำนาญ แต่แพทย์จบใหม่มิได้เข้าโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ​ทั้งหมด (ปี 2566 แพทย์จบใหม่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ 7%) ดังนั้นเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี และป้องกันแพทย์จบใหม่จากการถูกฟ้องร้อง ร้องเรียน จึงควรสนับสนุนหรือมีมาตรการให้แพทย์จบใหม่ทุกคนเข้าร่วมโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ

หลักสูตรแพทย์ปัจจุบันแม้จะเป็นหลักสูตรแพทย์ 6 ปี กระนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังขาดความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพเมื่อจบการศึกษา ดังนั้นการที่แพทยสภาจะอนุมัติหลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ เช่น หลักสูตรแพทย์ 4 ปี หลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา ที่ลดระยะเวลาในการศึกษาลงทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าจะไม่ลดคุณภาพแพทย์ก่อน จึงค่อยอนุมัติหลักสูตรเหล่านั้น



เอกสารอ้างอิง
1.   สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย, รายงานผลแบบสอบถามปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตของนักศึกษาแพทย์, 12 พฤศจิกายน 2566
2.   สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป, ผลแบบสอบถาม “ความคิดเห็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย (extern) ต่อหลักสูตร และชีวิตนักศึกษาแพทย์”, เวปไซต์สมาพันธ์แพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (28 พฤษภาคม 2567)
3.   “คณะแพทย์ฯจุฬาฯปรับหลักสูตร/การประเมินใหม่ ไม่มีการให้เกรด เปลี่ยนเป็น S/U ผ่านกับไม่ผ่าน หวังลดความเครียดผู้เรียน สร้างแพทย์ที่สังคมไว้วางใจ,” ไทยโพสต์ (29 มกราคม 2567)
4.   ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์, “อดีตนายกแพทยสภา ขอนายกฯชะลอ-ทบทวนโครงการผลิตแพทย์,” ประชาชาติ (17 เมษายน 2567)
5.   แพทยสภา, แพทย์ได้รับใบอนุญาตแยกสถาบันปี 2543-2566, ค้นวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.tmc.or.th/pdf/stat-med-18-12-23-002.pdf
6.   ประกาศรายชื่อนักศึกษาแพทยผู้ทำสัญญาชดใช้ทุนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขประจำปี พ.ศ. 2566, สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ค้นวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 จาก https://hr.moph.go.th/site/hr_moph/wp-content/uploads/2023/05/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%AF-%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%9B%E0%B8%B5-%E0%B8%9E.%E0%B8%A8.-2566_2-%E0%B8%9E.%E0%B8%84.66-1.pdf


สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปฯ
28 พฤษภาคม 2567
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มิถุนายน 2024, 13:51:03 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10044
    • ดูรายละเอียด
ผลแบบสอบถาม “ความคิดเห็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย (extern) ต่อหลักสูตร และชีวิตนักศึกษาแพทย์”

สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ได้สำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย ในช่วงก่อนจบการศึกษา คือ ตั้งแต่ 10 ก.พ. – 31 มี.ค. 67 จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 142 คน มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เข้าเงื่อนไข 138 คน (ไม่เข้าเงื่อนไข คือ ผู้ที่จบจากต่างประเทศ 4 คน)
หมายเหตุ: นักศึกษาที่ร่วมตอบแบบสอบถามบางคนอาจไม่ตอบคำถามทุกข้อ

คำถามที่ 1    ท่านกำลังศึกษาอยู่ในคณะแพทย์หรือศูนย์แพทย์ใด และ วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยใด
คำตอบ    ศึกษาอยู่ในคณะแพทย์สังกัดมหาวิทยาลัยภาครัฐ 59 คน, ศูนย์แพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 55 คน และ คณะแพทย์สังกัดมหาวิทยาลัยเอกชน 6 คน

คำถามที่ 2    หลักสูตรแพทย์ที่ท่านศึกษา คือหลักสูตรใด
คำตอบ   หลักสูตรหกปี 123 คน หลักสูตรห้าปี 12 คน

คำถามที่ 3    ช่วงเวลาที่ท่านเป็นนักศึกษาแพทย์ ท่านประสบกับปัญหา ความเครียด ความกดดันด้านต่างๆ มากน้อยเพียงใด
คำตอบ   ประสบความเครียด มากที่สุด 29 คน (21.0%), มาก 55 คน (39.9%), ปานกลาง 50 คน (36.2%), น้อย 4 คน (2.9%) และ น้อยที่สุด 0 คน

คำถามที่ 4   ปัญหา ความเครียด ความกดดัน ของท่าน เกิดจากสาเหตุใดบ้าง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
คำตอบ   สาเหตุจากการสอบ 125 คน (90.6%), จากอาจารย์ผู้สอน 87 คน (63.0%), จากการศึกษา การฝึกอบรมที่หนักเกินไป 80 คน (58.0%) , ความกดดันจากนักศึกษาแพทย์รุ่นพี่และแพทย์ประจำบ้าน 48 คน (34.8%), ปัญหาส่วนตัว 48 คน (34.8%), ปัญหาจากเพื่อนนักศึกษา 46 คน (33.3%), ปัญหาครอบครัว 24 คน (17.4%) และ ปัญหาการเงิน 23 คน (16.7%)

คำถามที่ 5   ถ้าท่านมีปัญหาจากการสอบ เกิดจากสาเหตุใดบ้าง
คำตอบ      เกิดจากกลัวสอบไม่ผ่าน 109 คน (87.2.%), สอบถี่เกินไป 54 คน (43.2%), ข้อสอบยากเกินไป 52 คน
(41.6%) และ กลัวได้คะแนนสอบน้อยกว่าเพื่อนนักศึกษา 33 คน (26.4%)

คำถามที่ 6    ท่านเห็นว่าความรู้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา จำเป็นต่อการศึกษาแพทยศาสตร์หรือไม่
คำตอบ      เห็นว่าความรู้วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ จำเป็น 79 คน (57.2%) ไม่จำเป็น 59 คน (42.8%) ในกลุ่มที่ตอบว่าจำเป็น เห็นว่าจำเป็นโดยมีเงื่อนไข ได้แก่ แคลคูลัสไม่มีความจำเป็น จำเป็นเฉพาะชีววิทยา ไม่จำเป็นต้องเรียนลึกซึ้งเหมือนคณะวิทยาศาสตร์

คำถามที่ 7   ท่านเห็นว่าระบบการเรียนการสอนแพทย์ควรใช้ระบบใด เป็นระบบหลัก ระหว่าง Integrated curriculum (เรียนรู้แต่ละอวัยวะหรือระบบหรือหัวข้อทางคลินิก เช่น ปอด ระบบการหายใจ อาการหอบ โดยนักศึกษาจะเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานและความรู้ทางคลินิกที่เกี่ยวข้องนำมาบูรณาการกัน ไม่
ศึกษาแยกเป็นรายวิชา) Problem base learning (ศึกษาจากผู้ป่วยหรือปัญหา ค้นคว้าทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและทางคลินิคด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยอาจารย์เป็นผู้ให้คำแนะนำ) และTraditional lecture (อาจารย์แพทย์เป็นผู้สอนทั้งความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน (basic science) เช่น กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ชีวเคมี และความรู้ทางคลินิก)
คำตอบ      เห็นว่าระบบการเรียนการสอนแพทย์ควรใช้ระบบหลัก คือ Integrated curriculum 62 คน (45.9%),
Problem base learning 37 คน (27.4%), Traditional lecture 36 คน (26.7%) อื่นๆ ได้แก่ ควรผสมผสานกัน

คำถามที่ 8   ท่านคิดว่าความรู้ด้านทฤษฎีของท่าน เพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพแพทย์เมื่อจบการศึกษาหรือไม่
คำตอบ   เพียงพอ 85 คน (61.6%) และ ไม่เพียงพอ 53 คน (38.4%)

คำถามที่ 9   ท่านคิดว่าทักษะในการทำหัตถการของท่าน เพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพแพทย์เมื่อจบการศึกษาหรือไม่
คำตอบ   เพียงพอ 77 คน (55.8%) และไม่เพียงพอ 61 คน (44.2%), หัตถการที่ไม่เพียงพอ ได้แก่ intercostal drainage, endotracheal intubation, normal labor
                        นักศึกษาที่คิดว่ามีทั้งความรู้ด้านทฤษฎี และ ทักษะในการทำหัตถการเพียงพอ จำนวน 59 คน (42.8%)

คำถามที่ 10   ท่านเห็นว่าการฝึกหัตถการจากหุ่นทดลอง มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการฝึกจากผู้ป่วยจริงหรือไม่
คำตอบ      ไม่เทียบเท่า 121 คน (87.7%) เทียบเท่า 17 คน (12.3%)

คำถามที่ 11    ท่านเห็นว่าการฝึกงานในฐานะแพทย์ Intern จะช่วยเพิ่มทักษะ ความรู้ ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพให้กับท่านหรือไม่
คำตอบ      เห็นว่าช่วยเพิ่มทักษะ ความรู้ ความชำนาญ 134 คน (97.1%) ไม่ช่วย 4 คน (2.9%)

คำถามที่ 12   ความเห็นเพิ่มเติมต่อคำถามข้างต้น และต่อหลักสูตรแพทยศาสตร์ และชีวิตนักศึกษาแพทย์
คำตอบ      ความเห็นเพิ่มเติม ได้แก่ ข้อดีของคณะแพทย์ คือ ความรู้ด้านวิชาการทันสมัย ภาระงานไม่หนักจนเกินไป อาจารย์มีหน้าที่สอนโดยตรงไม่ถูกรบกวนด้วยงานตรวจรักษา ข้อดีของศูนย์แพทย์ คือ ได้ฝึกฝนหัตถการอย่างเพียงพอ ได้เจอผู้ป่วยหลากหลายโรคและอาการ
                                อื่นๆ เช่น นักศึกษาฝึกอบรมหนักจนเกินไป ควรลดชั่วโมงการอยู่เวรถ้าอยู่เวรทั้งคืนควรได้หยุดในวันต่อไป ควรมีวันหยุดบ้างอย่างน้อย 1 วันต่อ 1-2 สัปดาห์ (โดยไม่ต้องไปราวน์วอร์ด)



สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปฯ
28 พฤษาคม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 พฤษภาคม 2024, 10:29:33 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 10044
    • ดูรายละเอียด
ประกาศแพทยสภา ที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2563
หัตถการที่สถาบันผลิตแพทย์ต้องสอนและประเมินนิสิตนักศึกษาแพทย์จนทำให้ เชื่อมั่นได้ว่าเมื่อนิสิตนักศึกษาแพทย์ทุกคนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ... สามารถทำได้ด้วยตนเอง มีจำนวนทั้งสิ้น 30 หัตถการ

1 Advanced cardio-pulmonary resuscitation
2 Amniotomy (artificial rupture of membranes at time of delivery)
3 Anterior nasal packing
4 Aspiration of skin, subcutaneous tissue
5 Capillary puncture
6 Endotracheal intubation (adult)
7 Episiotomy
8 External splinting
9 FAST ultrasound in trauma
10 First aid management of injured patient
11 Incision and drainage
12 Injection: intradermal, subcutaneous, intramuscular, intravenous
13 Intravenous fluid infusion
14 Intercostal drainage
15 Local infiltration and digital nerve block
16 Lumbar puncture (adult)
17 Nasogastric intubation and related procedures (gastric gavage, lavage)
18 Neonatal resuscitation
19 Normal labor
20 Pap smear
21 Radial artery puncture for blood gas analysis
22 Removal of nail or nail fold
23 Skin traction of limbs
24 Strengthening and stretching exercise
25 Stump bandaging
26 Suture
27 Urethral catheterization
28 Vaginal packing
29 Venipuncture
30 Wound dressing