ผู้เขียน หัวข้อ: “น่าน”…ไง เมืองที่ออกเเบบพื้นที่สุขภาพดี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  (อ่าน 49 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
"แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง" คำขวัญประจำจังหวัดที่บ่งบอกความเป็น เมืองเก่าที่ยังมีชีวิต ได้เป็นอย่างดี เรากำลังพูดถึงเมือง “น่าน” หมุดหมายเล็ก ๆ ในภาคเหนือที่ยังคงไว้ซึ่งความเรียบง่าย มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งทางด้านวัฒนธรรมประเพณี แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตคนท้องถิ่น

และอีกหนึ่งความน่าสนใจของ จังหวัดน่าน ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงคือ “การพัฒนาที่เข้มแข็งแต่ยังคงซึ่งเสน่ห์ของเมืองน่านไว้”

น่าน…น่าอยู่ ปลดล็อกเมืองเก่าที่มีชีวิต
สร้างเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล
“เรามั่นใจความเป็นน่านของเรา อธิบายความเป็นน่าน เสมือนน่านเป็นหนึ่งเดียว เรามีครบทุกมิติ มิติวิถีชีวิตความเป็นเมืองที่ปกครองตนเอง วิถีชีวิตของความเป็นคนน่าน วิถีชีวิตการเป็นอยู่ผสมผสานอารยธรรม วิถีชีวิตของประเพณีวัฒนธรรม ทุกมิติตรงนี้มันเอื้อต่อการที่เราจะเป็น 1 ใน 10 ต้นแบบเมืองสุขภาพดี (Healthy & Wellness City) ผมเชื่อว่า เราพร้อมแล้ว ซึ่งคนในประเทศก็กำลังให้ความสนใจว่า น่านกำลังจะเป็นดาวเด่นขึ้นมา เพราะฉะนั้นแรงขับเคลื่อนจากภายนอกเองก็จะเป็นพลังสำคัญเช่นกัน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวบนเวทีเปิดงาน “เมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน” ในฐานะประธานเปิดงานและฐานะเจ้าบ้าน

"เมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล" จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อขับเคลื่อน “น่านโมเดล” สู่ 1 ใน 10 เมืองต้นแบบสุขภาพ โดยจะพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สาธารณะให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งสภาพแวดล้อม อารยสถาปัตย์ สิ่งอำนวยความสะดวก เอื้อต่อกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุและคนพิการ ให้สามารถออกจากบ้านมาใช้ชีวิต ทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ภายใต้แนวคิดการออกแบบ Universal Design (UD) หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนสู่ภาพใหญ่อย่างการเป็น เมืองมรดกโลก ในเร็ว ๆ นี้

โดยครั้งนี้เป็นการร่วมมือครั้งสำคัญของหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมพลังกับ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เทศบาลเมืองน่าน(ทม.น่าน) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเมืองสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ตลอดจนส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมของผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายและรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องใด ๆ ทุกคนต้องมีสิทธิ์ ทุกคนต้องเข้าถึงการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยจังหวัดน่านจะถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยภายใต้นโยบายเมืองสุขภาพดี (Blue Zone) ของกระทรวงสาธารณสุข

จากข้อมูล ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ด้วยจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20 % ของประชากรไทย และมีคนพิการมากกว่า 2.1 ล้านคน คิดเป็น 3% ของประชากรไทย ในขณะที่จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรเพียง 476,727 คน เฉพาะเทศบาลเมืองน่าน มีประชากรเพียง 18,788 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุกว่า 5,769 หรือคิดเป็นร้อยละ 30.71 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก

“เราใช้คำว่า อารยสถาปัตย์ หรือการออกแบบที่เป็นมิตรกับทุกคน เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงการให้บริการได้ทุกที่ ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ท่องเที่ยว สถานที่ให้บริการในภาครัฐ บริการสุขภาพ วัดวาอาราม สนามบิน ซึ่งสถานที่เหล่านี้จำเป็นต้องถูกออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเข้าถึงในการใช้บริการ นี่จะเป็นแผนทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาวที่ร่วมกันวางไว้”

“สิ่งที่เราคาดหวังคือ เมื่อเราทำตรงนี้มันเหมือนการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ ทุกคนที่มาน่านก็จะเห็นว่า น่านเป็นต้นแบบ ซึ่งเรามีจุดแข็งเรื่องนี้อยู่แล้วโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีข้อจำกัดทางการเข้าถึง ถ้าเราปรับช่องทางตรงนี้ให้ดีขึ้น เป็นที่ได้รับการยอมรับโดยเฉพาะในมิติสากล นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะไทยหรือสากลเขาก็มา ก็จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี ในฐานะเจ้าบ้าน นพ.ชลน่าน ย้ำด้วยความมั่นใจว่า “เราจะทำให้น่านเป็นต้นแบบของเมืองอารยสถาปัตย์และเมืองสุขภาพดี (Healthy & Wellness City)”

ทั้งนี้ กิจกรรมเปิดเมืองอารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล จังหวัดน่าน ยังถือเป็นโครงการที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ในการส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub and Wellness) และระบบโลจิสติก เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์ และการบริการด้านสุขภาพการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย มีเป้าหมาย 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ขับเคลื่อนเมืองสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) 2.ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health & Wellness Tourism) 3.การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ของจังหวัดน่าน 4.ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของคนพิการรองรับสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว

นพ.ชลน่าน เสริมว่า นอกเหนือจาก Healthy & Wellness City ต่อไปอาจมีการสนับสนุนให้เกิด Product Hub ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพจากคนในพื้นที่ Service Hub บริการการรักษาพยาบาลให้กับนักท่องเที่ยว และ ศูนย์แพทศาสตร์ศึกษา สำหรับด้านการแพทย์ที่จะลงสู่ชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนเมืองสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

สสส. หนุนสร้างพื้นที่สุขภาวะ ที่เอื้อต่อกลุ่มเปราะบาง
พบผู้สูงอายุหกล้มในบ้านเกือบ 9 แสนคนต่อปี

สำหรับภาพรวมความสำเร็จของการขับเคลื่อนเมืองอารยสถาปัตย์ฯ มากน้อยแค่ไหนนั้น นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมของจังหวัดน่านตอนนี้ประมาณ 60-70% บางสถานที่มีข้อจำกัด บางพื้นไม่สามารถเจาะได้ บางพื้นเป็นปัญหาเรื่องโบราณสถาน ซึ่งอาจจะมีความลำบากในการทำทางลาดอะไรต่าง ๆ เข้าไป รวมถึงบางพื้นที่ก็อาจจะเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ท่องเที่ยว 100% นักท่องเที่ยวไม่เยอะ ทั้งนี้ การที่จะพัฒนาทุกพื้นที่ให้เข้าถึงหมดอาจใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้น ในส่วนของท้องถิ่นจำเป็นต้องเลือกว่า พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ และดำเนินการก่อนเพื่อทำให้เกิดการเข้าถึงที่มากขึ้น ตลอดจนสามารถพัฒนาสู่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลได้ในลำดับต่อไป

แต่จะทำอย่างไรให้ทุกพื้นที่ ทุกภาคให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล นั่นก็ยังเป็นโจทย์สำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายกำลังร่วมกันมองหาทางออก

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรมเปิดเมืองอารยสถาปัตย์ฯ เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดย สสส. มีบทบาทในการจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเป้าหมายหลัก สสส. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุและคนพิการได้ออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างมีอิสระ สนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการออกแบบเพื่อทุกคน ปรับปรุง พัฒนา อาคาร สถานที่ ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและคนทั้งมวล ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมต่าง ๆ โดยอาศัยภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาคประชาชน รวมทั้งภาควิชาการอย่างเครือข่ายสถาบันการศึกษาเข้าช่วย

จากข้อมูลพบว่า ปี 2564 มีผู้สูงอายุ 853,390 คน ระบุว่า เคยหกล้มในบริเวณบ้าพักมากที่สุด ผู้สูงอายุ 216,078 คน ที่เคยหกล้มภายในตัวบ้าน หกล้มในห้องน้ำมากที่สุด รองลงมาคือ ห้องนอน ระเบียงบ้าน และบันได ตามลำดับ

ขณะที่ข้อมูลคนพิการ ปี 2566 มีคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั่วประเทศ 2.18 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางในการดำเนินชีวิต จากความเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยของผู้สูงอายุ และข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ และการเข้าถึงสถานที่สาธารณะ

“น่านมีอีกหลายพื้นที่ที่จำเป็นต้องพัฒนาเพื่อสามารถทำให้ผู้สูงอายุและกลุ่มผู้พิการสามารถเข้าถึง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นการท่องเที่ยวในอนาคตเพราะว่า พอเราก้าวสู่สังคมสูงวัย แน่นอนว่า การติดบ้าน ติดเตียงก็จะตามมาในที่สุดก็จะส่งผลให้สุขภาพเสื่อมถอยมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าสามารถส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถที่จะไปท่องเที่ยวอย่างมีความสุขก็จะลดเรื่องภาวะซึมเศร้า ลดความรู้สึกถูกทอดทิ้ง แต่เขาสามารถที่จะรวมกลุ่มกันและไปในสถานที่ไหนก็ได้อย่างมีอิสระ ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่สังคมไทยพยายามผลักดันนั่นก็คือสังคมเอื้ออาทรที่จะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นพ.พงศ์เทพ เสริม

ดังนั้น สสส. คาดหวังว่า จังหวัดน่านในฐานะประตูบานแรก จะมีการพัฒนาและขับเคลื่อนเรื่องภูมิสถาปัตย์ อารยสถาปัตย์ ตลอดจนสามารถเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ได้เรียนรู้ จนกระทั่งครอบคลุมทั้งประเทศได้ อย่างไรก็ดี สสส. มองไปถึงการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็น Standard โลก หมายความว่า คนทั้งโลกเดินทางมาก็รู้สึกว่า ได้รับความสะดวกสบาย อำนวยความสะดวกเพื่อทุกกลุ่ม และสามารถไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ประเทศไทยว่า มีการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลที่เป็นมาตรฐานสากลได้

ทั้งนี้ เมืองอารยสถาปัตย์ฯ จะถูกขยายพื้นที่ต้นแบบไปอีกอย่างน้อย 10 จังหวัด ในประเทศไทย

มาเตอะ! วัดภูมินทร์ และ วัดสวนตาล
พลิกภาพจำเมืองเก่า ใคร ๆ ก็เที่ยวได้

จังหวัดน่านถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อมากมาย อาทิ วัดพระธาตุเขาน้อย วัดภูมินทร์ ปู่ม่านย่าม่านกระซิบรัก วัดสวนตาล วัดพระธาตุเขาน้อย วัดช้างล้อม วัดช้างค้ำ วัดพระธาตุแช่แห้ง ที่ปี ๆ หนึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 1,570,213 คน โดยเป็นข้อมูลในปี 2566 แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 1,554,216 คนและชาวต่างชาติ 15,997 คน สร้างรายได้ให้จังหวัดมากถึง 4,415 ล้านบาท

นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล

จุดมุ่งหมายแรกที่ทำคือ “วัดภูมินทร์” และ “วัดสวนตาล” นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ให้เหตุผลว่า วัดภูมินทร์ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล เพราะเป็นสถานที่สำคัญที่อยู่คู่เมืองมามากกว่า 400 ปี นำแนวคิดอารยสถาปัตย์ ปรับบริเวณจุดทางลาดให้ถูกต้องหรือแพลตฟอร์มลิฟต์สำหรับขึ้นวิหาร ชมจิตรกรรมปู่ม่านย่าม่าน ปรับปรุงทางลาดบริเวณฟุตบาทรอบวัดและทำทางลาดจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ให้ผู้ที่ใช้วีลแชร์เข้าถึงได้ สะดวก ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

ตามหลักอารยสถาปัตย์ 7 ประการ คือ 1.ความเสมอภาค ทุกคนใช้งานได้ ไม่เลือกปฏิบัติ 2.ความยืดหยุ่น ใช้งานได้กับผู้ที่ถนัดซ้ายและขวา หรือปรับสูงต่ำได้ตามความสูงของผู้ใช้ 3.เรียบง่ายและเข้าใจได้ดี เช่น มีภาพ คำอธิบาย สัญลักษณ์สากล สำหรับทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีความรู้ระดับไหน อ่านหนังสือออกหรือไม่ 4.เข้าใจง่าย มีข้อมูลคำอธิบายหรือรูปภาพประกอบการใช้ 5.ปลอดภัยขณะใช้งานทนทาน 6.ทุ่นแรง สะดวก 7.มีขนาด-สถานที่ที่เหมาะสม ออกแบบคิดเผื่อสำหรับคนร่างกายใหญ่โต คนที่เคลื่อนไหวร่างกายยาก

“ที่ผ่านมาหลายท่าน หลายครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ผู้พักฟื้นสุขภาพ ผู้พิการนั่งวิลแชร์ หรือใช้เครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ อาจจะไม่ค่อยกล้ามาเพราะด้วยภาพลักษณ์ของน่าน ด้วยความเป็นเมืองคลาสสิค เมืองเก่าโบราณ เกรงว่า มาแล้วก็จะต้องอุ้ม ต้องแบก ต้องหาม แต่ว่าปัจจุบันนี้น่านที่ผมมา ต้องบอกเลยว่า มันสะดวกขึ้นมากซึ่งผมเองก็นั่งวิลแชร์มาเหมือนกัน จังหวัดเขาพัฒนาทุกวันโดยเฉพาะเรื่องอารยสถาปัตย์ เพื่อจะตอบโจทย์และรองรับการท่องเพื่อคนทั้งมวล นี่เป็นเป้าหมายหลักที่ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน”

นอกจากนั้น การเปิดเมืองฯ ในครั้งนี้ ยังถือเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาคประชาชน ตัวแทนจากโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และชุมชนท่องเที่ยวร่วมด้วย

“เราก็มีภารกิจไปอีกหลายจังหวัด ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปทั่วประเทศ ทุกเมืองท่องเที่ยว ทุกอำเภอ ทุกตำบลถ้าเป็นไปได้ แต่เฉพาะเร่งด่วน 2-3 ปีนี้ เราวางเป้าไว้ประมาณ 10 กว่าจังหวัด นอกจากน่านก็จะมีอุดรธานี เพราะอีก 3 ปี อุดรธานีมีโจทย์สำคัญคือการจัดงานอีเวนท์ระดับโลกอย่างพืชสวนโลก ดังนั้น จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสากลนั่นคืออารยสถาปัตย์ อย่างทางลาด ห้องสุขา ที่จอดรถ รถติดลิฟต์ และสายการบินก็ต้องพร้อม แน่นอนว่า ทุกจังหวัดจะได้รับประโยชน์พื้นฐานนั่นคือโอกาสทางธุรกิจ สังคมและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น” นายกฤษณะ กล่าวถึงความตั้งใจต่อไป


11 มี.ค. 2567  ผู้จัดการออนไลน์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มีนาคม 2024, 13:53:13 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ถอดบทเรียน “ชุมชนน้ำล้อม”
แก้โจทย์ปัญหาเรื่องบ้าน ๆ

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่สาธารณะตามที่กล่าวมาข้างต้น สสส. ยังลงไปสนับสนุนการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ หนุนให้เกิดการปรับสภาพแวดล้อมและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ตามแนวคิด UD ในพื้นที่ “บ้าน” ผ่านกำลังสำคัญอย่าง เครือข่ายศูนย์การออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design Center ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ Universal Design แก่ผู้ที่สนใจ จัดอบรมช่างชุมชนให้มีความรู้ในประเด็น UD สามารถไปดำเนินการปรับสภาพแวดล้อมในส่วนบ้านพักและสถานที่สาธารณะ รวมทั้งสนับสนุนมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เพื่อพัฒนาทูตอารยสถาปัตย์กว่า 300 คน มีทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ สามารถเป็นตัวแทนในการให้ข้อมูลและร่วมขับเคลื่อนประเด็นการปรับสภาพแวดล้อมและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกตามแนวคิด UD ในพื้นที่ต่าง ๆ

ตลอดจนให้คำปรึกษาในการปรับสภาพบ้านอย่างเหมาะสม รวมทั้งใน “ชุมชนน้ำล้อม” ที่เราลงพื้นที่ในครั้งนี้

ผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ผศ.ดร.วุฒิกานต์ ปุระพรหม หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ประธานเครือข่าย UDC ภาคเหนือ กล่าวว่า UDC ม.แม่โจ้ ภายใต้ สสส. เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการพัฒนาเมืองน่าน เติมเต็มการออกแบบกายภาพ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาร่วมกับเครือข่าย UDC ภาคเหนืออีก 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา นอกจากนี้ยังมีเจ้าของพื้นที่อย่างโรงพยาบาลน่าน เทศบาลเมืองน่าน ชมรมผู้สูงอายุและภาคเอกชนร่วมด้วย

โดยอันดับแรกในการดำเนิน UDC จะเข้าไปประเมินและวิเคราะห์ โดยเน้นไปที่ ห้องน้ำและห้องนอน เป็นหลัก ซึ่งถือว่าเป็น 2 พื้นที่ที่ผู้สูงวัยใช้ชีวิตสูงที่สุดในรอบวัน

“น่านมีสัดส่วนของผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นบ้านจึงถือได้ว่าเป็นหัวใจหลัก ซึ่งโครงสร้างบ้านของน่านค่อนข้างแตกต่างจากจังหวัดอื่นคือ เป็นบ้านพื้นถิ่นเกือบทุกหลัง มีอายุการสร้างไม่ต่ำกว่า 20 ปี มีลักษณะเป็นไม้ ยกใต้ถุนสูง 50 เมตร คนรอดเข้าไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าไปทำพื้นที่ใต้บ้านหรือบนบ้าน มันมีผลต่อโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว ฉะนั้น การที่จะยกบ้านหรือดีดบ้านให้สูงขึ้นหรือการที่จะทำโครงสร้างใหม่มาพิงกับบ้านเดิม ต้องใช้วิชาชีพเฉพาะทางของฝ่ายกองช่อง ซึ่งสาธารณสุขของเมืองน่านก็เข้ามาช่วยในส่วนนี้เพื่อประเมินว่า โครงสร้างไหนทำได้หรือไม่ได้”

“ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ห้องน้ำแสงส่วางไม่เพียงพอและเป็นพื้นคอนกรีต ไม่ได้ปูกระเบื้อง ซึ่งเมื่อประกอบกับแสงแดดที่เข้าไม่ถึงก็ส่งผลทำให้เกิดเชื้อรา เกิดตะไคร่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยลื่นล้มหกล้มได้ โดยอันดับแรกก็ต้องเพิ่มแสงสว่าง ทำให้เขามองเห็นเยอะขึ้น พอเขามองเห็นเยอะขึ้น ก็ตามมาด้วยการอุปกรณ์ราวจับ ซึ่งต้องติดตั้งตามพฤติกรรมของเขาด้วย บางคนใช้วีลแชร์ บางคนนั่ง บางคนคลาน เราก็ต้องติดตั้งราวจับให้ได้ระดับเขา ปรับปรุงให้รับกับสภาพแวดล้อมในบ้านแต่ละหลังมากที่สุด”

“ปรับปรุง” แต่ไม่เปลี่ยนแปลง
แก้ไขความเคยชินไม่ใช่เรื่องง่าย

อย่างไรก็ตาม ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา UDC มีปรับปรุงสภาพแวดล้อมบ้านไปกว่า 785 หลังในเทศบาลเมืองน่านเป็นหลัก โดยปัจจัยหลักของการทำงานภายใต้พื้นฐานการพัฒนาคือ “ปรับปรุงให้ดีขึ้น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยให้น้อย” โดยผศ.ดร.วุฒิกานต์ ให้เหตุผลว่า ถ้าเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเขา เขาจะอยู่ไม่สนุก ซึ่งบั้นปลายสุดท้ายของคนคือบ้าน สถานที่ที่เขาอยู่อาศัยแล้วจะมีความสุขมากที่สุด

“UDC จะเข้าไปประเมินในขั้นแรกว่า พื้นที่ทำกิจกรรมของแต่ละคนเป็นอย่างไร ลักษณะพฤติกรรมของเขาตั้งแต่ตื่นเช้ายันเย็นเขาทำอะไรบ้างในบ้านหลังนั้น คือเราต้องศึกษาเรียนรู้เจ้าของบ้านจริง ๆ ก่อนพอรู้ว่า เขาเป็นยังไง เสร็จปุ๊บ ค่อยย้อนกลับมาดูว่า เราควรจะปรับปรุงอะไรแบบไหนให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเขาน้อยที่สุด วิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ต่างกัน ภูมิภาคแต่ละภูมิภาคมีวิถีชีวิตต่างกัน ซึ่งอย่างที่นพ.พงศ์เทพบอก เราตัดเสื้อเชิ้ตชุดเดียวกันไม่ได้ เราต้องคล้อยไปตามพื้นที่นั้น ๆ อันนี้คือประเด็นหลักที่ผมมองเห็นมานานแล้วและคิดว่า ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปเรื่อย ๆ”

“ผมยกตัวอย่างบันไดนะ ระยะความสูงถ้าจะปรับให้เหมือน UD เลย มันทำไม่ได้ หลาย ๆ หลังเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงเช่นเดียวกับ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ซึ่งบันไดเป็นสิ่งแรกที่คุณยาย คุณตาในบ้านเขาบอกผมเลยว่า อาจารย์ปรับได้ทุกอย่างในบ้านยกเว้นบันได ถ้าอาจารย์ปรับเพื่อให้ยายไม่ล้ม อาจารย์ปรับบันไดวันนี้ พรุ่งนี้ยายล้มเลย เพราะว่าความเคยชินกับพฤติกรรมที่เขาใช้มาตั้งแต่เด็กจนแก่ เขาเคยชินกับพฤติกรรมแบบนี้ ถึงแม้ว่า เราจะมองว่ามันสูงไป แต่เราก็ต้องคล้อยตามพฤติกรรมของเขาด้วย”

ผศ.ดร.วุฒิกานต์ กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดน่าน มีการปรับภูมิทัศน์ ได้แก่ 1.ที่ชุมชนบ้านน้ำล้อม ต.ในเวียง อ.เมือง มีการจัดสภาพแวดล้อมบ้านผู้สูงอายุกลุ่มยากไร้และอยู่เพียงลำพัง โดยปรับปรุงห้องน้ำ บันได พื้นบ้าน จัดระเบียบของใช้ และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก 2.ศาสนสถาน มีการปรับปรุงพื้นที่ และอาคารสาธารณะ เช่น แก้ไขพื้นผิวทาง เพิ่มราวจับ 3.ตลาดชุมชนบ้านพระเนตร มีการปรับห้องน้ำสาธารณะ เพิ่มราวจับ 4.เตรียมสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย แบบไปเช้า-เย็นกลับ (DAYCARE) ที่โรงพยาบาลน่าน มีเนื้อที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยออกแบบให้เป็นสถานบริบาลให้ผู้สูงอายุมาตรวจเช็คร่างกาย ทำกายภาพบำบัด รับยา และจัดร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำนอกบ้าน ไม่ต้องอยู่บ้านเพียงลำพัง ช่วยลดความกังวลของบุตรหลาน

ทั้งนี้ สำหรับเส้นทางที่จะนำ “น่านโมเดล” ก้าวไปสู่ความเป็น “น่านที่ยั่งยืน” ผศ.ดร.วุฒิกานต์ ในฐานะคนทำงานคลุกคลีกับจังหวัดนี้มาพอสมควร มองว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะคงอยู่คู่กับน่านคือองค์ความรู้ที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหัวใจของ UDC อย่างไรก็ดี แผนอนาคตอันใกล้นี้คงมีการเตรียมขยายพื้นที่ไปอีก 15 อำเภอในจังหวัดน่าน

ตัวอย่างท้องถิ่นเข้มแข็ง
พัฒนาไปด้วยกัน ไปได้ไกล

นายณกรณ์ ศิริรัตน์พิริยะ รองนายกเทศบาลเมืองน่าน
นายณกรณ์ ศิริรัตน์พิริยะ รองนายกเทศบาลเมืองน่าน

ส่วนอีกหนึ่งความร่วมมือที่ขาดไม่ได้จากภาคท้องถิ่น นายณกรณ์ ศิริรัตน์พิริยะ รองนายกเทศบาลเมืองน่าน เล่าว่า เทศบาลเมืองน่านได้ปรับปรุงสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการ ด้วยการเพิ่มทางลาดในทุก ๆ อาคารรวมทั้งในจุดจอดรถ นอกจากนั้นยังมีวีลแชร์ รถราง รถสามล้อไฟฟ้า และรถ 1669 ไว้รอบริการประชาชน ปัจุบันเทสบาลเมืองน่านมีการปรับปรุง อาคารจามจุรี อาคารพญานาคของศูนย์ท่องเที่ยวเมืองน่าน และอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน และยังบูรณาการทำงานกับหลายฝ่ายในการสำรวจชุมชนเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมตามความต้องการของประชาชน ทั้งนี้เทศบาลเมืองน่านได้ส่งทีมประเมินบ้านของผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นประจำ และมีทีมอนุกรรมการลงพื้นที่สำรวจเยี่ยมบ้านทุกวันพุธ เพื่อนำข้อเสนอต่าง ๆ ของประชาชนนำไปวางแผนการพัฒนาให้เหมาะสม

นอกจากนี้ยังได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ โรงพยาบาลน่าน จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย สมาคมสถาปัตย์ภาคเหนือ และวิทยาลัยชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงาน UD ในจังหวัดน่าน ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

“การดูแลประชาชนถือเป็นภารกิจของเทศบาลอยู่แล้วที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน ซึ่งในวันนี้รู้สึกยินดีที่ สสส. ลงพื้นที่และให้ความรู้กับทีมงานของกองช่างและชุมชน เพื่อจะได้ป้องกันการหกล้มในบ้านพักอาศัย ทั้งนี้ บทบาทเทศบาลในการพัฒนาเมืองน่าน เราถือว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติมากกว่า โดยร่วมกับหลายภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ ส่วนสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือวิธีแนวทางปฏิบัติ ซึ่งต้องยอมรับว่า มีบางส่วนที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้แบบ 100% แต่ถึงอย่างนั้นเราในนามของท้องถิ่น เราก็จะดูแลพี่น้องประชาชนให้อยู่อย่างมีความสุข ครอบคลุมทุกมิติ โดยเริ่มจาการปรับปรุงพื้นที่ของเราให้ดีที่สุดก่อน” นายณกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

11 มี.ค. 2567  ผู้จัดการออนไลน์