ผู้เขียน หัวข้อ: เช่าที่ราชพัสดุสืบทอดถึงทายาท ซัดเอาที่ดินรัฐมาออกโฉนดหมดไม่ได้  (อ่าน 39 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
“จุลพันธ์” แจง ที่ราชพัสดุ ไม่เคยเรียกสิทธิการเช่าคืน ชี้ ระบบสิทธิการเช่า 3 ปี เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียค่าธรรมเนียมมาก ยันสืบทอดถึงทายาทได้ ด้าน “ชนินทร์” อัด “พิธา” จะให้นำที่ดินของรัฐมาออกเป็นโฉนดหมดไม่ได้

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 2 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่หนองวัวซอ รับฟังปัญหาที่ดินของประชาชน แล้วพูดถึงการให้สิทธิในการเช่าที่ดิน 3 ปีไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ ทำให้ไม่มีความมั่นคงในชีวิตนั้น ล่าสุดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน x ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับนโยบายมอบสิทธิการเช่าที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำกินในการดูแลของกรมธนารักษ์ ผมขออนุญาตเพิ่มเติมรายละเอียดสิทธิประโยชน์ในการเข้าสู่ระบบเช่าของกรมธนารักษ์ดังนี้ครับ

พื้นที่ราชพัสดุถูกจัดสรรให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องและยังไม่เคยเรียกคืนสิทธิการเช่า เว้นพื้นที่ติดภารกิจสำคัญทางราชการ เช่น ภารกิจทางทหารที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชน ก็จะไม่สามารถให้เช่าได้

ระบบสิทธิการเช่า 3 ปี เป็นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ หากจัดให้เช่ามากกว่าสามปี เช่น 30 ปี จะมีการต่ออายุสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่องคราวละ 3 ปี เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิการเช่าจำนวนมาก (ในกรณีเช่าคราวละเกิน 3 ปี)

สิทธิในการเช่าที่ดินราชพัสดุสามารถสืบทอดไปยังทายาทได้ ตั้งแต่ดำเนินการมารัฐยังไม่เคยเรียกคืนสิทธิการเช่า

มีอัตราค่าเช่าที่ต่ำ ดังนี้

สำหรับการเช่าเพื่ออยู่อาศัย เนื้อที่เช่าทั้งหมดไม่เกิน 100 ตารางวา คิดอัตรา 25 สตางค์/ตารางวา/เดือน เกินกว่า 100 ตารางวา คิดอัตราค่าเช่า 50 สตางค์/ตารางวา/เดือน
หากเช่าเพื่อการเกษตร เนื้อที่เช่าทั้งหมดไม่เกิน 50 ไร่ คิดอัตราค่าเช่า 20 บาท/ไร่/ปี เกินกว่า 50 ไร่ คิดอัตราค่าเช่า 30 บาท/ไร่/ปี กรมธนารักษ์จะยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าทั้งหมด ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการรังวัดทั้งหมด และเรียกเก็บหลักประกันสัญญาเช่าเท่ากับอัตราค่าเช่าเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

ผู้เช่าจะได้รับการอำนวยความสะดวกและการดูแลจากรัฐในฐานะที่ดินเช่า มีการจัดการสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขอทะเบียนบ้าน และการช่วยบรรเทาความเสียหายเมื่อเกิดเหตุอุบัติภัยต่างๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ในการกำกับดูแลของรัฐโดยตรง

ผู้เช่าสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เพราะสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุสามารถนำไปเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากธนาคารที่ดำเนินการโดยรัฐได้ เมื่อทำสัญญาเช่าที่ดิน จะมีการยกเว้นค่าเสียหายฐานบุกรุกที่ดินราชพัสดุให้ผู้ได้สิทธิเช่า เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐและประชาชนอย่างยั่งยืน

ด้านนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน X ตอบโต้นายพิธา เช่นเดียวกัน ว่า คุณพิธาต้องเข้าใจว่า สิทธิทำกิน มีหลายประเภท จะคาดหวังให้นำที่ดินของรัฐมาออกเป็นโฉนดทั้งหมดไม่ได้ครับ

ทั้งนี้ที่ดินหนองวัวซอ ที่รัฐบาลส่งมอบ 9,000 ไร่ ให้ประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่ ‘กรรมสิทธิ์ขาด’ แต่ก็เป็น ‘สิทธิการเช่า’ ที่พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นแน่นอน ทั้งนี้การจะวิพากษ์วิจารณ์ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ดินหนองวัวซอ เป็นที่ดินธนารักษ์ (ของรัฐ) มาอยู่แล้ว แต่มีกองทัพเข้าไปใช้งาน

สิ่งที่รัฐบาลทำ คือเจรจาดึงสิทธิบนที่ดินกลับมา แล้วมาออกเอกสารสิทธิการเช่าให้ประชาชน มีที่ดินทำกิน “แบบถูกต้องตามกฎหมาย” ไม่ต้องบุกรุก ไม่ต้องมีข้อพิพาท

การเช่าจากรัฐครั้งนี้ เป็นการเช่า 3 ปี ต่อ 3 ปี ไปเรื่อยๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และค่าเช่าถูกมากกกก

(จะให้โอนกรรมสิทธิ์ของรัฐให้เป็นที่ดินประชาชนโดยขาดไปเลย ก็อาจจะยังไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมในกรณีนี้)

สิทธิการเช่านี้ ใช้เป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อได้ อาจจะไม่มากเท่ากรรมสิทธิ์ขาด แต่ก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทุนของประชาชน


ไทยรัฐ
2 มีนาคม 2567