ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤตแก่เยอะเกิดน้อย ขาดแคลนแรงงาน ธุรกิจญี่ปุ่นล้มละลายมากขึ้น  (อ่าน 45 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ปัญหาสังคมผู้สูงวัยของญี่ปุ่นกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้จะเห็นข่าวผู้สูงวัยของญี่ปุ่นยังคงทำงานอยู่ในตลาดแรงงาน และแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย โดยมีหลายเหตุผลตั้งแต่ความพึงพอใจอยากจะทำงานต่อไป และเหตุผลจำเป็นทางชีวิตที่ยังต้องทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง บางคนถึงกับยังต้องช่วยเหลือครอบครัว ทำให้ตอนนี้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่อายุเกิน 65 ปี ขึ้นไป สมัครงานเพิ่มขึ้นในตำแหน่งที่พอจะทำได้ในวัยนี้

แต่ในบางธุรกิจก็ต้องการแรงงานในแบบที่เป็นคนหนุ่มสาว หรือวัยทำงานนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ด้วยวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นค่อนข้างไม่เปิดรับแรงงานต่างชาติเท่าที่ควร แต่หลายปีมานี้หลังจากปัญหาขาดแคลนแรงงานเริ่มหนักขึ้น ทำให้หันมาเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันบริษัทและสถานที่ต่างๆ ที่จ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น 6.7% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 318,775 แห่ง เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

แต่ก็ยังมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องยื่นขอล้มละลายจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รายงานที่ออกโดย Tokyo Shōkō Research เปิดเผยว่า จำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ล้มละลายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 35.2% คิดเป็น 8,690 แห่ง และหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น

ถ้ามองแบบใกล้ๆ ตัวเลย ร้านซูชิ ที่ถือเป็นอาหารโดดเด่นระดับซอฟท์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นเองก็ปิดตัวเพิ่มขึ้น ทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อ ขาดแคลนแรงงาน ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

ข้อมูลจาก Tokyo Shōkō Research ระบุว่า การล้มละลายมากสุดอยู่ในอุตสาหกรรมบริการ คือยื่นขอล้มละลาย 2,940 แห่ง เพิ่มขึ้น 41.6 % ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและราคาวัสดุที่พุ่งสูงขึ้น แจ้งล้มละลาย 1,693 แห่ง เพิ่มขึ้น 41.7 %

ถัดมาคืออุตสาหกรรมการผลิตมี 977 แห่ง เพิ่มขึ้น 35.3 % เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ภาพรวมจำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ล้มละลายเนื่องจากขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีบริษัทที่ล้มละลายเพราะปัญหานี้ 158 แห่ง ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกในปี 2556 นอกจากนี้ยังมีการล้มละลาย เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้นด้วย

จากผลสำรวจนี้จะเห็นว่า การเพิ่มค่าจ้างเพื่อรักษาทรัพยากรมนุษย์และการรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกำลังกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญของฝ่ายบริหารของหลาบริษัท ซึ่งปีที่่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งใช้วิธีเพิ่มค่าตอบแทนและเพิ่มโบนัสเพื่อดึงบุคลากรไว้กับองค์กร

แต่สภาพที่ปฏิเสธไม่ได้คือ วันนี้ปัญหาสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นที่ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และญี่ปุ่นก็ต้องปรับตัวยอมเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น

กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ระบุว่าจำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดพุ่งสูงกว่าระดับ 2 ล้านคนเป็นครั้งแรก โดยมีสัดส่วนแรงงานต่างชาติในงานภาคการก่อสร้าง การแพทย์ และสวัสดิการมากที่สุด

แรงงานต่างชาติที่มากที่สุดตอนนี้ เป็นแรงงานชาวเวียดนาม 518,364 คน รองลงมาคือจีน 397,918 คน ตามด้วยฟิลิปปินส์ 226,846 คน และเนปาล 145,587 คน

ในกรุงโตเกียวมีแรงงานต่างชาติมากที่สุดจำนวน 542,992 คน รองลงมาคือจังหวัดไอจิในภาคกลางมีแรงงานต่างชาติ 210,159 คน และโอซาก้ามีแรงงานต่างชาติ 146,384 คน

มองสถานการณ์ญี่ปุ่นแล้วย้อนมองมาที่ประเทศไทยก็อาจจะเห็นภาพที่อาจคล้ายกันได้ (ในส่วนของสังคมผู้สูงวัย) เพราะประเทศไทยใช้เวลาแค่ 19 ปี ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ถือว่าใช้เวลาเร็วมากถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ

ตอนนี้ถ้าดูสัดส่วนของไทย เรามีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16%

ประชากรวัยทำงานของไทยปัจจุบันมีอยู่ 42.4 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ประเมินกันว่าในอีกไม่ถึง 30 ปี แรงงานของไทย ที่มีอายุ 15-59 ปี ต่อประชากรทั้งหมด จะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียง 50% ในปี 2593

เรื่องนี้ไม่ใช่เกิดแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาร่วมทั่วโลกที่ขาดแคลนแรงงานภาคการผลิต หลายอุตสาหกรรมสามารถผลิตต่อโดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนบางอุตสาหกรรมปรับไปใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ AI มากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ประเมินกันว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยแก้ปัญหาวิกฤติเกิดน้อยได้สำเร็จจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน

WORKPOINT
19 กพ 2567