ผู้เขียน หัวข้อ: โรงพยาบาลในกาซาวิกฤตหนัก หมอต้องผ่าตัดโดยไม่มียาชาและยาแก้ปวด  (อ่าน 18 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
เปิดประสบการณ์ทีมแพทย์ในกาซา เมื่อพวกเขาต้องผ่าตัดผู้ป่วยโดยปราศจากยาชา หันหลังให้กับผู้ที่มีโรคเรื้อรัง และการรักษาบาดแผลเน่าเปื่อยด้วยยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์อันจำกัด

“ด้วยความไม่เพียงพอของยาแก้ปวด เราต้องปล่อยให้ผู้ป่วยกรีดร้องเป็นชั่วโมง ๆ” แพทย์คนหนึ่งกล่าวกับบีบีซี

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำจำกัดความสภาวะทางสาธารณสุขของกาซาว่า “เกินคำบรรยาย”

WHO ระบุว่า หากนับถึงวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา โรงพยาบาลในกาซายุติการให้บริการไปแล้ว 23 แห่ง ขณะที่โรงพยาบาลอีก 12 แห่งให้บริการได้เพียงบางส่วน และมีอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ให้บริการได้อย่างจำกัดมาก ๆ

WHO กล่าวว่าการโจมตีทางอากาศและทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอ ได้ “ขูดรีดระบบที่มีทรัพยากรไม่เพียงพออยู่แล้ว” ให้ยิ่งร่อยหรอลงไปอีก

กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) กล่าวว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาส “วางแผนใช้โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์เพื่อดำเนินกิจกรรมก่อการร้ายอย่างเป็นระบบ”
ในแถลงการณ์ถึงบีบีซี กองกำลังป้องกันอิสราเอลระบุว่า กองกำลังฯ “ไม่ได้ ‘โจมตี’ โรงพยาบาล แต่บุกเข้าไปยังพื้นที่เฉพาะ… [เพื่อ]ทำลายโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ของฮามาส และจับกุมผู้ก่อการร้ายฮามาส โดยการกระทำทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนความระมัดระวังอย่างสูง”

กองกำลังฯ ระบุว่า พวกเขาอนุญาตให้มีความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่กาซา ซึ่งนั่นรวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ

ด้านหน่วยงานให้ความช่วยเหลือรวมไปถึง WHO กล่าวว่า พวกเขาถูก “ตั้งเงื่อนไขและปฏิเสธการเข้า[พื้นที่]บ่อยครั้ง”

สุดความสามารถของโรงพยาบาล
บุคคลกรณ์ทางสาธารณสุขหลายคนกล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลจำนวนมากให้กาซามีคนไข้เยอะกว่าที่จะรับรองไหว และเครื่องมือทางการแพทย์ก็มีไม่เพียงพอ มีรายงานจำนวนมากที่ระบุด้วยว่า โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซาให้บริการในอัตรามากกว่า 300% ของจำนวนเตียงที่มีเพื่อรองรับผู้ป่วย

โรงพยาบาลสนาม 4 แห่งได้ถูกตั้งขึ้นในกาซา โดยมีจำนวนเตียงรวมกัน 305 เตียง ตามข้อมูลจาก WHO

เมื่อวันอาทิตย์ (18 ก.พ.) ที่ผ่านมา WHO รายงานว่า โรงพยาบาลนาสเซอร์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซา เป็นโรงพยาบาลล่าสุดที่ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ หลังจากถูกโจมตีโดยกองกำลังของอิสราเอล

กองกำลังป้องกันอิสราเอลกล่าวเมื่อคืนวันศุกร์ (16 ก.พ.) ว่ากองกำลังฯ พบอาวุธจำนวนหนึ่งที่โรงพยาบาลดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบยาซึ่งมีชื่อและภาพของตัวประกันแปะอยู่ด้วย นอกจากนี้ ไอดีเอฟยังระบุว่าได้จับกุม “ผู้ก่อการร้ายนับร้อย ๆ คน” ที่หลบซ่อนอยู่ที่นั่น

ไอดีเอฟบอกกับบีบีซีก่อนหน้านี้ว่า “ฮามาสยังคงทำให้ประชากรที่เปราะบางที่สุดของกาซาอยู่ในอันตรายร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้โรงพยาบาลเป็นแหล่งก่อการร้ายอย่างไร้ความสำนึกคิดถึงผู้อื่น”

บุคลากรที่โรงพยาบาลใกล้ ๆ กล่าวว่า ปฏิบัติการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลนาสเซอร์ทำให้พวกเขามีความเครียดมากขึ้น ยูเซฟ อัล-อักกาด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาซายูโรเปียน ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองข่าน ยูนิส ให้คำจำกัดความสถานการณ์ปัจจุบันว่า “เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ที่เราเผชิญหน้ากับสงครามมา”

“ก่อนหน้านี้สถานการณ์ก็รุนแรงอยู่แล้ว คุณคิดว่ามันจะเป็นยังไงล่ะเมื่อเราต้องรับ[ผู้ป่วย]อีกหลายพันคน ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานแล้วมาอยู่ตามโถงทางเดินและพื้นที่สาธารณะ”

เขากล่าวว่าโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษา ดังนั้นบุคลากรของโรงพยาบาลจึงเอาผ้ามาปูบนแผ่นเหล็กหรือไม้ และต้องให้ “ผู้ป่วยจำนวนมากนอนอยู่บนพื้นโดยไม่มีอะไรเลย”

แพทย์อื่น ๆ ทั่วฉนวนกาซาอธิบายสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน “ถ้าหากมีใครบางคนเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือมีปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับหัวใจ เราก็จับพวกเขานอนบนพื้นและเริ่มรักษากันตรงนั้น” ดร.มาร์วาน อัล-ฮามส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาร์เทอร์ โมฮัมเหม็ด ยูซุฟ อัล-นัจญาร์ กล่าว

คณะกรรมการการเมืองแห่งฮามาสเป็นคนแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐในกาซา ในบางกรณี ผู้อำนวยการเหล่านี้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่ฮามาสจะเข้ามาปกครองพื้นที่ฉนวนกาซา

ยาและทรัพยากร
แพทย์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาเผชิญหน้ากับความยากลำบากเมื่อต้องทำงานในภาวะที่มีทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ “เราหาออกซิเจนไม่ได้สักหยด” แพทย์คนหนึ่งบอกกับบีบีซี

“เราไม่มียาชา สิ่งจำเป็นสำหรับห้องไอซียู ยาค่าเชื้อ และล่าสุดคือยาแก้ปวด” ดร.อัล-อักกาด กล่าว “มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีบาดแผลไฟลวกสาหัส… เราไม่มียาแก้ปวดที่เหมาะสมให้กับพวกเขา”

แพทย์คนหนึ่งยืนยันว่า มีการผ่าตัดเกิดขึ้นจริงโดยปราศจากยาชา ทีมงานของ WHO คนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาพบกับเด็กหญิงวัย 7 ขวบคนหนึ่ง ณ โรงพยาบาลกาซายูโรเปียน ที่มีแผลไฟลวกมากถึง 75% ของร่างกาย แต่ก็ไม่ได้รับยาแก้ปวดเพราะยามีจำกัด

ดร.โมฮัมเหม็ด ซัลฮา รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลอัล-ออว์ดา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกาซา กล่าวว่า ผู้คนถูกพาตัวมารักษาด้วยลาหรือม้า

“หายนะเกิดขึ้นเมื่อแผลของผู้ป่วยเริ่มเน่า เนื่องจากบาดแผลเหล่านี้เปิดมาแล้วกว่าสองถึงสามสัปดาห์” เขากล่าว

ดร.ซัลฮา กล่าวว่า แพทย์จำนวนหนึ่งต้องผ่าตัดด้วยไฟฉายคาดหัวเนื่องจากทรัพยากรไฟฟ้าที่ขาดแคลน

บุคลากรต้องแยกจากครอบครัว
WHO ระบุว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ราว 20,000 คนอยู่ในกาซา ทว่าบุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ “เนื่องจากพวกเขาต้องพยายามเอาชีวิตรอดและดูแลครอบครัวตัวเอง”

ดร.อัล-อักกาด กล่าวว่า ตัวเลขบุคลากรและอาสาสมัครในโรงพยาบาลของเขาเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนที่พลัดถิ่นมาจากพื้นที่อื่นได้อาสาเข้ามาช่วยเหลือ แต่เขากล่าวว่านั่นก็ยังไม่พอเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยและรูปแบบของการเจ็บป่วยที่หลากหลาย

หลังการทิ้งระเบิด เขากล่าวว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะเดินทางมาที่โรงพยาบาล “ด้วยสภาพราวกับคอฟตา” ซึ่งหมายถึงอาหารชนิดหนึ่งที่ทำมาจากเนื้อบด

“คน ๆ เดียวกันมาด้วยอาการบาดเจ็บทางสมอง กระดูกซี่โครงและแขนขาหัก และบางครั้งก็สูญเสียดวงตา… ทุกการบาดเจ็บที่คุณจะจินตนาการได้ คุณจะได้เห็นมันที่โรงพยาบาลของเรา”

เขาเล่าว่า มีผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 5 คนในการดูแลรักษา เนื่องจากผู้ป่วยคนดังกล่าวบาดเจ็บหนักในหลายส่วนมาก

แพทย์จำนวนหนึ่งที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ต้องแยกจากครอบครัวของพวกเขา

“ครอบครัวของผมไม่ได้อยู่กับผมมามากกว่าสามเดือนแล้ว และผมอยากจะโอบกอดพวกเขาเหลือเกิน” ดร.ซัลฮา ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทางตอนเหนือ ขณะที่ครอบครัวได้ลี้ภัยไปอยู่ทางตอนใต้แล้ว กล่าว

“สิ่งปลอบประโลมใจผมคือการที่ผมได้อยู่ที่นี่เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ผู้หญิง และคนสูงอายุ ให้ได้รับบริการทางสาธารณสุขและช่วยชีวิตพวกเขา”

ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง
แพทย์หลายคนกล่าวกับบีบีซีว่า ผู้คนในกาซาที่มีโรคเรื้อรังต้อง “จ่ายด้วยราคามหาศาล”

“พูดตรง ๆ คือเราไม่มีเตียงจะรองรับพวกเขา หรือติดตามอาการกับพวกเขาได้” ดร.อัล-อักกาด กล่าว

“ใครก็ตามที่ต้องฟอกไตสี่ครั้งต่อสัปดาห์ก่อหน้านี้ ตอนนี้พวกเขาได้ฟอกไตสัปดาห์ละครั้ง ถ้าคนคนนี้เคยได้ฟอกไต 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนนี้เขาจะได้ฟอกไต 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”

ผู้หญิงบางคนต้องคลอดลูกในเต็นท์โดยไร้ซึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่โรงพยาบาลที่ให้บริการการผดุงครรภ์ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถรองรับคนป่วยได้มากกว่านี้แล้ว

“ในแผนกหนึ่งมีคนตาย ขณะที่อีกแผนกหนึ่งมีเด็กเกิดใหม่ เด็กเกิดขึ้นมาใหม่แต่ไม่มีนมให้พวกเขา โรงพยาบาลจะเตรียมนมหนึ่งกล่องให้กับเด็กทุกคน” ดร.ซัลฮา กล่าว

ผู้คนเดินทางมายังโรงพยาบาลพร้อมกับโรคต่าง ๆ ที่แพร่ระบาดได้ในภาวะที่มีผู้คนแออัดและไม่สะอาด

“มีภาวะเจ็บป่วยเกิดขึ้น แล้วเราก็หาที่ที่จะรักษาโรคเหล่านี้ไม่ได้” อาบู คาลิล วัย 54 ปี ผู้ที่พลัดถิ่นมายังเมืองราฟาห์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซา กล่าว

“เราต้องออกเดินทางกันตั้งแต่รุ่งเช้าเพื่อไปเข้าแถว และบางครั้งคุณจะพบกับผู้คนราว 100 คน ที่มาก่อนคุณ คุณอาจต้องกลับบ้านมือเปล่า”

รายงานเพิ่มเติมโดย มูอัธ อัล คาทิบ

BBC News ไทย
19 กพ 2567