ผู้เขียน หัวข้อ: จี้ “หมอชลน่าน” เร่งเคลียร์ปัญหา สปสช.บริหารงานผิดพลาด ก่อนบริการสาธารณสุขล่ม  (อ่าน 29 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ตัวแทนผู้ให้บริการทางการแพทย์ทั่วประเทศและตัวแทนเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ UHosNet ทนแบกรับความกดดันสภาพปัญหาการให้บริการประชาชนไม่ไหว บุกยื่นหนังสือ “หมอชลน่าน” เจ้ากระทรวงฯเร่งเคลียร์ปัญหาการบริหารงานผิดพลาดของ สปสช.ด่วน ก่อนระบบบริการสาธารณสุขล่ม กระทบต่อประชาชนผู้ป่วยที่ใช้บริการ

เป็นเรื่องใหญ่และน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยมีส่วนได้เสียโดยตรง แต่กลับได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนค่อนข้างน้อย กรณีการเข้ายื่นหนังสือต่อนายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาของตัวแทนผู้ให้บริการทางการแพทย์ทั่วประเทศ นำโดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป นพ.เกรียงไกร นามไธสง ประธานชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ และ พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อให้ข้อมูลปัญหาการบริหารงานของ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในหลายประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของบรรดาแพทย์ผู้ให้บริการรักษาผู้ป่วยและหลายกรณีที่ส่งผลกระทบต่อคนป่วยที่ได้รับยาและเวชภัณฑ์ราคาถูก คุณภาพต่ำ ทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์อันควรได้รับจากบริการสวัสดิการของรัฐ

โดยปัญหาอันเนื่องมาจากการบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ที่ยื่นถึงมือเจ้ากระทรวงฯในวันนั้น สรุปโดยสังเขป ประกอบด้วย

1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายค่าบริการผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลต่ำกว่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาล 2. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในให้แก่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ต่ำกว่าค่าบริการที่เคยตกลงไว้ในปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิดในช่วงปี 2563-2565 ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากตกค้างจากการผ่าตัด บางโรคมีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ยอดบริการผู้ป่วยสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่องในปี 2566 แต่ด้วยการบริหารงานที่ผิดพลาดของ สปสช. ที่คาดการณ์บริการผู้ป่วยในปี 2566 ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก จึงทำให้วงเงินงบประมาณผู้ป่วยในไม่เพียงพอ

ทาง สปสช.จึงใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการดึงเงินค่าบริการผู้ป่วยในที่จ่ายแก่โรงพยาบาลแล้วในอัตราที่ตกลงกันไว้แต่แรก (อัตรา 8.350 บาทต่อ 1 AdjRW) กลับจากโรงพยาบาล 710 แห่ง รวมเป็นเงินกว่า 2,200 ล้านบาท โดยปรับอัตราจ่ายที่ลดต่ำลงเป็น 7,678 บาทต่อ 1 AdjRW โรงพยาบาลที่ถูกหักคืนสูงสุดคือโรงพยาบาลอุดรธานี จำนวนกว่า 69 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าโรงพยาบาลใดยิ่งให้บริการประชาชนมาก จะถูกหักเงินคืนมากขึ้น

3. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปรับเพิ่มขั้นตอนในการเรียกเก็บ โดยมีการกำหนดให้เพิ่มข้อมูลที่นอกเหนือข้อมูลค่าใช้จ่าย เช่น มีการกำหนดให้เพิ่มข้อมูลสำคัญทางคลินิกต่างๆ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่โรงพยาบาลเก็บรักษาไว้

4. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศอัตราเบิกจ่ายโดยไม่ได้มีการตกลงร่วมกับสถานพยาบาลและไม่คำนึงถึงต้นทุนที่โรงพยาบาลแต่ละระดับจะสามารถจัดหาซื้ออุปกรณ์ในราคาที่เหมาะสม ทำให้หากโรงพยาบาลจัดซื้อวัสดุและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ในราคาที่สูงกว่าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดแม้ว่าจะเป็นวัสดุครุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เหมาะแก่การให้บริการและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า แต่หากราคาเกินที่กำหนดก็ไม่สามารถเบิกได้เต็มจำนวน ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

5. เมื่อการจ่ายค่าบริการต่ำกว่าต้นทุนมากและต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลต่างๆประสบปัญหาวิกฤตการเงินในอนาคตสุดท้ายจะกระทบต่อการบริการที่ให้แก่ประชาชน

มีรายงานว่า ทางคณะตัวแทนผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่เข้ายื่นหนังสือได้เสนอสภาพปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งเรื้อรังมานานจากการบริหารจัดการของสำนักงาน สปสช. และพร้อมกันนั้นได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาจากชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปหลายประการ เช่น ขอให้มีการจัดตั้ง Provider board เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในการตกลงร่วมกันในการบริหารการเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลและธำรงระบบสุขภาพของประเทศไทยให้มีความโปร่งใสและยั่งยืน, ขอให้มีการลดขั้นตอนและลดการกำหนดข้อมูลที่มากเกินไปและไม่จำเป็นในการเรียกเก็บ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ยังได้ยื่นหนังสือขอให้ สปสช.ชำระค่ารักษาพยาบาลที่ค้างชำระให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่าย ซึ่งทาง สปสช.ยังคงติดค้างอยู่หลายโรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช (จำนวนเงินที่ค้างชำระจ่ายถึงปัจจุบัน 460 ล้านบาท) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นต้น

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของ สปสช. ส่งผลกระทบถึงการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนของสถานให้บริการต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลในเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ สถานบริการสังกัดหน่วยงานรัฐ รวมไปถึงสถานบริการภาคเอกชนเป็นอย่างมาก คงจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่าภายหลังจากผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะได้รับทราบปัญหา จะมีแนวทางในการแก้ปัญหาสอดคล้องกับข้อเสนอแนะมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องกระทำอย่างเร่งด่วน

ที่สำคัญ ต้องเร่งส่งเสริมให้มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ สถานบริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน กับ สปสช.เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้เข้ารับบริการเหมือนที่ผ่านมา

19 ก.พ. 2567  ผู้จัดการออนไลน์