ผู้เขียน หัวข้อ: 5เครือข่ายสถานพยาบาลยื่น "ชลน่าน" ขอตั้ง Provider Board-ทบทวนระบบ สปสช.บิดเบี้ยว  (อ่าน 27 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
5 เครือข่ายสถานพยาบาล ระดมพลยื่นหนังสือ "ชลน่าน" ขอตั้ง Provider Board ทบทวนระบบบริหารจัดการ สปสช. หลังพบบิดเบี้ยว เมินผู้ให้บริการ ทำ รพ.-คลินิกเอกชนหนีหาย ค้างจ่ายโรงเรียนแพทย์ปี 66 มากกว่าพันล้านบาท หวั่นปี 67 ซ้ำรอยเดิม ลั่นทนมา 10 ปีต้องถึงเวลาเปลี่ยน อย่าเอาการเงินนำบริการ ด้านคลินิกจี้หางบประมาณมาจ่าย

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายสถานพยาบาล 5 สถาบัน ได้แก่ ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) เดินทางมายื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เรียกร้องให้มีการจัดตั้ง Provider Board เพื่อจรรโลงระบบสุขภาพไทยให้ยั่งยืน และขอให้ทบทวนระบบบริหารจัดการของ สปสช. เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุน และเกิดการค้างจ่ายเงินจำนวนมาก โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เป็นตัวแทน รมว.สธ.มารับหนังสือเนื่องจากยังติดภารกิจประชุม ครม.

เครือข่ายสถานพยาบาลร้องระบบ สปสช.บิดเบี้ยว

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ประเทศไทย (UHosNet) กล่าวว่า ระบบสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ การจะทำให้ระบบยั่งยืนต้องมีคนที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการตามที่ควรเป็น ที่ผ่านมามีการทักท้วงภายในเป็นระยะ เพราะระบบ สปสช.ค่อนข้างบิดเบี้ยว ไม่มีการคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะสถานพยาบาลทั้งใน กทม.และภูมิภาค ถ้าเปรียบกับตอนโควิด รพ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยออกแบบระบบ แล้วคนจ่ายเงินตามหลังก็ตามนั้นก็ผ่านวิกฤตมาได้ แต่ระบบปกติมีตรงนี้ไม่ครบถ้วน ทำให้สถานประกอบการภาคเอกชนหนีหายไปเยอะ แต่ภาครัฐหนีไม่ได้ อย่าง รพ.เอกชนในระบบบัตรทองแทบไม่เหลือแล้ว เหลือแต่ รพ.เอกชนเล็กๆ ซึ่งถามจากนายกสมาคม รพ.เอกชน บอกว่ามีเพียง 20-30 รพ.ทั่วประเทศที่ต้องพึ่งพาเพื่อไปลด Fix Cost ซึ่งถ้าเราขาดพวกนี้ก็ทำให้ดำเนินการไม่ได้

"คนที่อยู่ในระบบ ซึ่งอัตราค่าบริการต่างๆ ไม่เป็นธรรม เราต้องการความเป็นธรรมและยุติธรรม จึงเดินทางมาวันนี้ เพื่อขอให้ รมว.สธ.นำเรื่องนี้ไปพิจารณา ทั้งนี้ ยืนยันว่า ระบบบริหารจัดการของ สปสช.ต้องแก้โดยด่วน ส่วนจะรูปแบบใด รมว.สธ.ที่มองภาพกว้างของระบบ จะเป็นหัวโต๊ะทำให้มันดีขึ้นกว่าปัจจุบัน" รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวและว่า เราจึงมายื่นข้อเรียกร้อง 2 ประการ คือ 1. ทบทวนการบริหารจัดการของ สปสช. เรื่องของกองทุน และ 2.เราสนับสนุนให้มีตัวแทนเครือข่ายสถานพยาบาลหรือ Provider Board เพื่อจรรโลงระบบสุขภาพของประเทศไทย

ค้างจ่ายงบประมาณกว่าพันล้านบาท

ถามว่าการค้างจ่ายค่าบริการทำให้ขาดทุนมากน้อยแค่ไหน รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 ในส่วนของโรงเรียนแพทย์ ขาดทุนในส่วนของผู้ป่วยในค่อนข้างเยอะ แต่เราก็ทน แต่ระบบผู้ป่วยนอก มูลค่ารวมกันพันกว่าล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวบรวมครบทุกสมาชิก ส่วนปีงบประมาณ 2567 ก็คงไม่แคล้วถ้ายังดำเนินการแบบนี้ จึงต้องออกมาเรียกร้องตรงนี้

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า รพ.สังกัด สธ.ในภูมิภาคทั้ง 12 เขตสุขภาพ เรื่องขาดทุนเท่าไรนั้น ต้องมามองว่าต้นทุนเท่าไร อัตราที่ สปสช.จัดสรรให้ รพ.ต่ำกว่าต้นทุนค่อนข้างมาก อย่างผู้ป่วยใน เรามีการศึกษาต้นทุนจากนักวิจัย พบว่า รพ.สังกัด สธ.ต้นทุน 1 หน่วยบริการประมาณ 1.3 หมื่นบาท แต่ สปสช.กำหนดให้จ่าย 8,350 บาทต่อหน่วย ถามว่าขาดทุนเท่าไรย้อนหลังเท่าไรก็ต้องคำนวณ เพราะเรามีการเคลียร์ว่ามีให้จ่ายเท่าไรเราก็รับเท่านั้นมาตลอด

ถามว่า สปสช.เคยชี้แจงหรือไม่ว่าทำไมจึงจัดสรรต่ำกว่าค่อนข้างมาก นพ.อนุกูลกล่าวว่า เข้าใจว่า สปสช.มีข้อจำกัดส่วนหนึ่งด้วยงบประมาณได้มาเท่านี้ และบริหารด้วยงบเท่าที่มี จึงเกิดสภาวะจ่ายต่ำกว่าต้นทุน

เมื่อถามว่ากองทุนย่อย สปสช.ทำให้เกิดผลกระทบและขาดงบประมาณหรือไม่ นพ.อนุกูลกล่าวว่า มีผลเยอะ ถ้ากรณีแบ่งเป็นกองทุนย่อย เพราะเป็นลักษณะของการเงินนำบริการ แต่หลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) จริงๆ ที่ยึดถือใช้กันคือ บริการที่จำเป็นต่อประชาชนนำก่อน แล้วการเงินมาสนับสนุน หลักการคือตรงนั้นไม่ใช่เอาการเงิน (Financial) นำ

ชงตั้ง Provider Board

ถามว่าทางออกของการมี Provider Board จะช่วยอย่างไร รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันถ้าไปดูกรรมการของ สปสช.ไม่ว่าชุดใหญ่ชุดเล็ก จะมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholder) แต่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง กรรมการแต่ละชุดมีข้อมูลการตัดสินใจไม่กี่นาที ตัวเลขหลายอย่างผิดไปจากความเป็นจริง บางครั้ง 50% หรือ 80% ทำให้การดำเนินการไม่สามารถดำเนินการไปได้ จึงอยากมีตัวแทนของเราเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งถ้าดูการประกาศของ สปสช. จริงๆ ต้องออกตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ คือ ก่อน ต.ค. ไม่ใช่มาออกช่วงหลังปีใหม่ ถ้าวางแผนดีต้องออกก่อนต้นปีงบประมาณจะได้เตรียมตัวและไปได้

จี้เพิ่มงบประมาณบรรเทาเดือดร้อน

พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า เรารับผลกระทบเดือดร้อนจำนวนมาก ถึงพากันมาเรียกร้องให้ สปสช.ช่วยจ่ายเงินให้แก่คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ทำงานไปแล้วในปีงบประมาณ 2566 แต่จ่ายมาครึ่งเดียว ส่วนปีงบประมาณ 2567 งบประมาณไม่เพียงพอ เพียงไตรมาสแรก 3 เดือน งบประมาณถูกใช้เกินครึ่งแล้ว คาดว่าไม่ถึง 6 เดือนงบประมาณของปี 2567 ก็จะหมดลง ส่วนการตรวจสอบอยากให้เกิการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สปสช.ย้อนหลัง ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆ จาก สปสช.เลย ทั้งที่เราขอตรวจสอบมาตลอด อีกประการคือ Provider Board ทีมที่เข้ามาต้องเป็นคนกลางและควรจะมีการแยกฝ่ายบริการออกจากการเงินเพื่อความโปร่งใสยุติธรรม สำคัญคือหัวใจของปัญหา เงินในระบบไม่เพียงพอจริงๆ กับภาระที่ดูแลประชาชนอยุ่ รวมถึง สปสช.มีการบริหารงานที่ทำให้เกิดความเสี่ยง ให้ผู้อยู่ในระบบเกิดความเดือดร้อน เราต้องแก้ที่รากเหง้าปัญหา คือถ้าเงินไม่พอก็ควรสนับสนุนงบประมาณมาให้คลินิกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ถามว่าต้องของบประมาณจากรัฐบาลมากขึ้นหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า 1.งบประมาณขาขึ้นที่ สปสช.ต้องนำข้อมูลจริงไปขอ 2.ต้องกลับมานั่งดูว่าจะวางระบบอย่างไร ไม่ใช่เรื่องเงินเรื่องเดียว เพราะจะเกี่ยวพันกันหมด จึงอยากให้มีการทบทวน ผู้ให้บริการทนมานานมาก เรายืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาช แต่เราสู้มาจนถึงทุกวันนี้จึงต้องมาแสดงพลังให้เห็น ท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับระบบจะได้กลับไปพิจารณา แต่จะเป็นอย่างไรก็ต้องว่าอีกที

จ่อยื่นเรื่องถึงซูเปอร์สุขภาพช่วยแก้ไข

ถามว่าหากการเรียกร้องยังไม่เป็นผล ระบบจะทนได้อีกกี่ปีแล้วจะทนไม่ได้อีก รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า คงไม่มีคำตอบ ณ วันนี้ หน่วยบริการเราคำนึงถึงประชาชน และคิดว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมือง โดยเฉพาะ รมว.สธ.และนายกรัฐมนตรี ไม่ทิ้งเรื่องนี้ไว้แน่ๆ ถ้าภาคบริการสาธารณสุขทรุดไป จะไม่มีใครมาปกป้องด้านสุขภาพอีก หากโควิดกลับมางวดหน้าจะมีแต่คนหนี แต่ที่ทนอยู่ เราไม่ได้อยู่เพราะเงิน แต่ต้องมีไว้เพื่อพัฒนาหน่วยงาน หลายอย่างขึ้นราคาไปเยอะ แล้วระบบจะทำอย่างไร ต้องให้ซูเปอร์บอร์ด (คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ) พิจารณา เราอาจจะมีข้อเสนอ แต่คงเป้นมุมมองมุมหนึ่งในระบบที่จะอภิบาลไปให้ต่อเนื่อง

ถามว่าจะทำหนังสือถึงซูเปอร์บอร์ดด้วยหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เราคงไม่หยุดยั้งที่จะดำเนินการ แต่จะรูปแบบไหนก็พูดตรงๆ ด้วยความ Professional ทุกอย่างสันติและเราเองคำนึงถึงผู้รับผลประโยชน์ ทุกคนถูกสอนให้ดูแลคนไข้ ฉะนั้นเราก็ต้องทน แต่ความทนก็มีขีดจำกัดก็ได้สะท้อน ไม่ได้สะท้อนไปที่ประชาชน แต่สะท้อนกลับไปที่ผู้บริหารที่จะดูเชิงระบบ

อย่าให้ 30 บาทเป็นผู้ป่วยชั้นสอง

ถามว่า สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้คนไข้ เพิ่มภาระงานหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เพิ่มทั้งสองอย่าง คือ สปสช.งานหลักคือเพื่อประชาชน แต่ส่วนหนึ่งควรมองผู้ร่วมงานถ้ายังมองเราเป็นผู้ร่วมงาน สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไรท่าน รมว.สธ.จะดำเนินการ เพราะมันหลายครั้งแล้ว ถึงต้องมาถึงตัวพ่อ

ถามว่าถ้าไม่ได้แก้ไขเลยจะกระทบ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ด้วยหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จะมีหน่วยบริการที่หนีหายจากระบบ เช่น คลินิกเอกชนออกไปแน่ๆ ก็จะเหลือร่อยหลอ แต่ รพ.รัฐหนีไม่ได้ เราไม่อยากให้มองผู้ป่วย 30 บาทเป็นผู้ป่วยชั้นสอง เราให้ความสำคัญกับผู้ป่วยทุกกองทุน แต่ไม่อยากให้เกิดสภาพนั้น เช่น รพ.ต้องออกนโยบายระมัดระวังเวลามีคนไข้ 30 บาท ภาพนั้นไม่ควรจะมี

เชื่อ "ชลน่าน" แก้ปัญหาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาดหรือเข้าข่ายล้มเหลวหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า อยากให้นักข่าวเป็นผู้ตอบ เพราะตนไม่มีสิทธิบอกว่าล้มเหลวหรือไม่ล้มเหลว แต่บอกแค่ว่าต้องทบทวนการบริหารจัดการจะเหมาะกว่า เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสิน เราแค่บอกข้อเท็จจริงให้รู้

ถามถึงกรอบระยะเวลาจะให้แล้วเสร็จเมื่อไร ถ้าไม่เป็นไปตามกรอบจะมีการยกระดับ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เราก็จะทวนถามจาก รมว.สธ.เป็นระยะ เพราะหลายอย่างต้องดำเนินการ อย่างน้อยเชิงนโยบาย ซึ่งกระบวนการระบบมันซับซ้อนเรายอมรับได้ที่จะแก้ไขช้า เพราะเรารับมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ที่มากคือความเชื่อมั่น เราเชื่อมั่นท่านว่าจะดำเนินการได้

เมื่อถามว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขครั้งนี้ จะไปหานายกฯ หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขอไม่ตอบ อย่างไรก็ตาม คงต้องถามท่านรัฐมนตรีเป็นระยะ การแก้ไขช้าเราเข้าใจ เพราะเราก็ทนรับมาเป็น 10 ปีแล้ว

ทั้งนี้ หลังจาก นพ.โอภาส และ นพ.จเด็จ รับหนังสือแล้ว ได้มีการเชิญตัวแทนเครือข่ายสถานพยาบาลขึ้นไปยังห้องประชุมชั้น 2 เพื่อหารือร่วมกัน ระหว่างรอ นพ.ชลน่านมาร่วมประชุมต่อไป

13 ก.พ. 2567  ผู้จัดการออนไลน์