ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.(ยะลา) แจงเคส หนุ่มอ้างแพทย์วินิจฉัยผิด ผ่าตัดไม่เจอลำไส้ทะลุ  (อ่าน 31 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
รอง ผอ.โรงพยาบาลยะลา ชี้แจง เคสอดีต ผอ.โรงเรียน เล่าอุทาหรณ์แพทย์วินิจฉัยผิด ผ่าตัดด่วนที่ลำไส้ ทำชีวิตเปลี่ยน

จากกรณี อดีต ผอ.โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา เล่าอุทาหรณ์ แพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ยะลาวินิจฉัยผิด ผ่าตัดด่วน ลำไส้รั่ว แต่หลังจากที่ผ่าตัดแล้ว แพทย์มาแจ้งว่าไม่พบลำไส้ทะลุ พยายามหารอยที่ทะลุแล้วแต่หาไม่เจอ ทุกอย่างปกติ ซึ่งจากการตรวจวินิจฉัยที่ผิดพลาดของแพทย์ในครั้งนี้ ทำให้แผนการรักษาโรคเดิมของผู้ป่วยต้องเปลี่ยนไปตลอดชีวิต จากล้างไตทางหน้าท้องก็ไม่สามารถใช้งานได้อีก จนต้องเปลี่ยนเป็นฟอกเลือดแทน ทำให้ผมมีความลำบากในการเดินทาง และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 2 ม.ค.67 นายแพทย์ประภัศร์ ติปยานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลยะลา ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า คนไข้มารักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง ประวัติเดิมของคนไข้มีโรคไตวายเรื้อรังอยู่แล้ว คนไข้มีการฟอกไต ด้วยการล้างไตที่หน้าท้อง ซึ่งอาการที่ปวดท้องขึ้นมาในคืนนั้น มีลักษณะก้ำกึ่งโรคลำไส้ทะลุในช่องท้อง คือมีอาการปวดท้อง มีอาการทางหน้าท้อง และมีลมรั่วจากการเอกซเรย์ที่ตรวจพบได้ โดยแพทย์ที่ทำการรักษาในคืนนั้น พิจารณาจากสถานการณ์โดยรวมทั้งหมด คิดว่าการที่ปล่อยให้มีลมรั่วที่ช่องท้อง หากเป็นอาการทะลุจากลำไส้ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตคนไข้ได้ จึงตัดสินใจในการรักษาโดยการผ่าตัด

เมื่อทำการผ่าตัดไปแล้วปรากฏว่ามีการติดเชื้อในช่องท้อง จากตัวน้ำล้างไตในช่องท้องเอง ซึ่งอาการติดเชื้อในช่องท้องตรงนี้ จะแยกกันได้ยากมาก มีลักษณะก้ำกึ่ง ดังนั้นแพทย์ที่ทำการรักษาได้ตัดสินใจในการรักษา เพื่อให้คนไข้ปลอดภัยมากที่สุด กระบวนการผ่าตัด แพทย์ได้นำน้ำที่ติดเชื้อออกมาตรวจ พบว่ามีการติดเชื้อจริง ซึ่งนำออกมาทั้งหมด จากนั้นได้มีการล้างช่องท้องทำความสะอาด ทำการเย็บปิดแผล คนไข้ย้ายจากห้องผ่าตัดได้ อาการคงที่ ในครั้งที่ 1 คนไข้สามารถกลับบ้านได้ และกลับมาที่โรงพยาบาลในครั้งที่ 2 ด้วยอาการติดเชื้อเหมือนเดิม คุณหมอได้ทำการพิจารณา พบว่าสายที่ล้างไตในช่องท้องยังอยู่ และน่าจะเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อ จึงทำการผ่าตัดครั้งที่ 2 เพื่อนำสายออก หลังจากนั้นคนไข้อาการดีขึ้นสามารถกลับบ้านได้

กระบวนการหลังจากนั้น เนื่องจากคนไข้เดิมมีการฟอกไตทางช่องท้อง เมื่อนำสายที่ฟอกไตทางช่องท้องออก ในกระบวนการติดเชื้อที่ผ่านมา ทำให้คนไข้ไม่สามารถฟอกไตทางช่องท้องได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นคุณหมอโรคไตที่ดูแลอยู่ ต้องเปลี่ยนวิธีในการฟอกไต โดยการเปลี่ยนไปใช้การฟอกไตทางเส้นเลือด การทำเส้น ต้องใช้วิธีการทำเส้นชั่วคราวไปก่อน เพราะคนไข้ต้องทำการฟอกไตเร่งด่วน จึงได้ทำเส้นฟอกไตชั่วคราวที่ลำคอ จากนั้นทำการหาสถานที่ในการฟอกไตให้ ซึ่งในช่วงนั้น สถานที่ฟอกไตที่เร็วที่สุด คือ ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.หนองจิก จ.ปัตตานี

แต่ปัจจุบัน คนไข้มีปัญหาเรื่องสถานที่ฟอกไต ซึ่งทางโรงพยาบาลทราบเรื่อง และพยายามหาคิวการฟอกไตให้ในตัวเมืองยะลา อาทิตย์หน้าคนไข้ก็จะมาฟอกไตที่โรงพยาบาลยะลา

สรุปว่าในกระบวนการวินิจฉัยรักษา แพทย์ต้องเลือกวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างทันท่วงที ซึ่งไม่มีวิธีการวินิจฉัยไหนที่แม่นยำ ชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ แพทย์จึงได้ตัดสินใจในทางที่ปลอดภัยสำหรับคนไข้ให้มากที่สุด ถึงแม้ผลลัพธ์สุดท้าย ไม่ใช่โรคตรงกับที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนแรก แต่แพทย์ได้ทำการล้างท้องในการรักษาโรค ที่มีการติดเชื้อในช่องท้อง ก็สามารถจัดการโรคนั้นได้เรียบร้อยเป็นอย่างดี

ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลได้มีการติดต่อกับคนไข้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงที่คนไข้อยู่ในโรงพยาบาล และกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งด้วยอาการติดเชื้อในครั้งที่ 2 เข้าใจว่าประเด็นปัญหาอาจจะอยู่ในเรื่องของการสื่อสารบ้างในบางครั้ง ซึ่งทางโรงพยาบาลได้นำมาวิเคราะห์ พร้อมที่จะนำมาปรับปรุงทุกอย่าง

ในส่วนของการเยียวยา ขอนำเรียนว่า ในเบื้องต้น ช่วงที่คนไข้ผ่าตัดเสร็จใหม่ๆ ช่วงที่อยู่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการทำการฟอกไตในระยะเฉียบพลันให้ ทำเส้นชั่วคราวขึ้นมาหาทางในการฟอกไตที่เร็วที่สุดให้ก่อน เพราะคนไข้กลุ่มนี้จะทิ้งระยะในการฟอกไตไม่ได้ เร็วที่สุดส่งไปค่ายอิงคยุทธบริหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี ก่อน ช่วงระหว่างดำเนิการฟอกไต ทางโรงพยาบาลยะลา ได้จัดหาคิวและสถานที่ให้ที่สะดวกกว่าเดิม ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ ซึ่งปัจจุบันได้สถานที่ฟอกไต ที่โรงพยาบาลยะลา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนระยะยาว ต้องคุยกับทางคนไข้อีกครั้ง ขณะนี้ทางผู้บริหารโรงพยาบาลยะลา กำลังพิจารณาอยู่ พร้อมที่จะดูแลทุกเรื่องที่คนไข้ร้องขอมา

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการเข้าสู่การทบทวนหาสาเหตุ ทั้งในมุมมองของคนไข้เอง ในส่วนของตัวโรค และในทีมของโรงพยาบาลในการรักษา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีใครอยากให้เกิด ทั้งตัวคุณหมอเอง ทางทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล รู้สึกเสียใจ ขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ทุกอย่างก็จะเป็นสิ่งที่นำมาปรับปรุงสำหรับคนไข้ต่อๆ ไปในอนาคต.

2 ก.พ. 2567
ไทยรัฐออนไลน์