ผู้เขียน หัวข้อ: ศาล ปค.กลางเพิกถอนคำสั่ง สบส.ให้ รพ.รามฯ คืนค่ารักษาคนไข้หลอดเลือดแดงโป่งพอง  (อ่าน 67 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ศาล ปค.กลางสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดี สบส.ที่สั่งให้ รพ.รามคำแหงคืนเงินค่ารักษาพยาบาลคนไข้โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง และให้ทาง รพ.ไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช.แทน เนื่องจากเห็นว่า ผลวินิจฉัยแรกรับผู้ป่วยใน 72 ชม. ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามคู่มือคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน

วันนี้ (25 ม.ค.) ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกคำสั่งอธิบดีกรมสนับสนุนสุขภาพ ที่ให้ บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายหนึ่งที่เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรามคำแหงในอาการปวดขวาและขาชา เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2562 จนถึง 72 ชั่วโมงจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ลงวันที่ 29 มี.ค.2560 และให้คืนเงินที่ผู้ป่วยหรือญาติได้ชำระมาแล้วนั้นแก่ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยรายดังกล่าว ตามหนังสือ ที่ สธ 0702.03.4/1947 ลงวันที่ 2 ก.ย.2564 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงขณะที่คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ตามที่บริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นฟ้องกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ว่า ออกคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้คืนเงินค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยรายดังกล่าว

ศาลให้เหตุว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้จะรับฟังได้ว่า สาเหตุการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นผลจากการเป็นโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองอันเป็นโรคที่มีความรุนแรงและเป็นอันตรายและเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สพฉ.จึงมีมติและความเห็นทางการแพทย์ว่าผู้ป่วยรายนี้เข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่การวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือไม่ ต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์ตามคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เกณฑ์ และวิธีปฏิบัติการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินและการจัดลำดับการบริบาล ณ ห้องฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ที่ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.)กำหนดเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงดังกล่าวและในเวชระเบียนไม่ปรากฎว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการป่วย ผลการตรวจ หรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดแยกตามคู่มือดังกล่าวแต่อย่างใด ผู้ป่วยรายนี้จึงมิใช่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ดังนั้น การที่คณะทำงานและรับเรื่องร้องเรียน สพฉ.ได้พิจารณาทบทวนผลการตรวจประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินแล้วให้ความเห็นว่า อาการแรกรับของผู้ป่วยรายนี้เข้าข่ายระดับความฉุกเฉินเป็น วิกฤตแดง ESI-2 ตามคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เกณฑ์ และวิธีปฏิบัติการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินและจัดลำดับการบริบาล ณ ห้องฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์ ที่ กพฉ.กำหนด และมีมติให้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต "เข้าเกณฑ์" จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่โรงพยาบาลรามคำแหงซึ่งเป็นผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรา พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 อธิบดี สบส.จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้โรงพยาบาลรามคำแหงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยรายดังกล่าวจนถึง72ชั่วโมง จาก สปสช. ในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ลงวันที่ 29 มี.ค.2560 และให้โรงพยาบาลรามคำแหงคืนเงินที่ผู้ป่วยหรือญาติได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่แก่ผู้ป่วยหรือญาติ ดังนั้น คำสั่งของอธิบดี สบส. ดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

25 ม.ค. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สบส.ยื่นอุทธณ์หลังศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่ง รพ.เอกชนคืนเงินผู้ป่วย เหตุไม่เข้าเกณฑ์สิทธิ UCEP เผยมีอุทธรณ์ 2 คดี ยังอยู่ระหว่างรอศาลวินิจฉัยอีก 21 คดี ย้ำต้องพิทักสิทธิ์คนไข้ถูกเรียกเก็บเงิน ยันไม่เป็นบรรทัดฐานจนกระทบหน้างาน ยันไม่เพิ่มกลุ่มอาการ "สีส้ม" เข้า UCEP

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดี สบส. ที่สั่งให้ รพ.รามคำแหงคืนเงินค่ารักษาพยาบาลคนไข้โรคหลอดแดงโป่งพองและให้ทาง รพ.ไปเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช.แทน เนื่องจากเห็นว่า ผลวินิจฉัยแรกรับผู้ป่วยใน 72 ชั่วโมง ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามคู่มือคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน ว่า เรื่องนี้ทางรพ.รามคำแหงฟ้อง สบส. และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แล้วศาลวินิจฉัยว่า การที่สพฉ.วินิจฉัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้หนังสือที่ สบส.สั่งให้ รพ.รามคำแหงคืนเงินที่เรียกเก็บจากผู้ป่วย ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ขณะนี้ทางฝ่ายกฎหมายจึงอยู่ระหว่างทำเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ทำเรื่องอุทธรณ์ไปแล้ว 1 คดี ในประเด็นเดียวกันนี้ แต่จาก รพ.คนละแห่งกัน

“ตอนนี้มีคดีลักษณะนี้อยู่ 23 คดี จาก รพ.หลายๆ แห่ง บางคดีเป็นกลุ่ม รพ.รวมยอดเงินที่มีการเรียกเก็บจากคนก็ราวๆ หลายสิบล้านบาท 2 คดีวินิจฉัยแล้ว และเรากำลังอุทธรณ์ จึงเหลือ 21 คดีที่รอศาลพิจารณา ซึ่งเราบอกให้ รพ.จ่ายคืนให้กับคนไข้ เพราะเราให้เขาเก็บเงินตามโครงการ UCEP หรือจากสปสช. แต่พอ รพ.เรียกเก็บจากคนไข้ เราก็ต้องพิทักษ์คนไข้เอาไว้ บางอย่างเป็นความเจ็บป่วยใกล้เป็นใกล้ตาย ถ้าอาการป่วยเข้าได้กับการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามโครงการ UCEP ก็ต้องเอา UCEPให้เรา” นพ.สุระ กล่าว

ถามว่าการที่ศาลมีผลตัดสินออกมาเช่นนี้ จะกลายเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ นพ.สุระกล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นบรรทัดฐาน เพราะการเจ็บป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่ง สพฉ.ก็มีเกณฑ์อยู่แล้ว และหากเกิดความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างสถานพยาบาลกับผู้ป่วย สพฉ.ก็มีคณะทำงานศูนย์ประสานและคุ้มครองสิทธิ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทุกสาขาอยู่แล้ว ที่จะดูเรื่องอาการเจ็บป่วยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

เมื่อถามว่า การที่ รพ.เรียกเก็บเงินคนไข้ไม่ว่าจะเข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ ถือว่าผิดจากมาตรฐานของ สบส.หรือไม่ จำเป็นต้องพูดคุย ตักเตือนหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า เราได้ส่งหนังสือไปแจ้งว่า ไม่ให้เก็บเงินคนไข้ เพราะการเรียกเก็บนั้น หากผู้เสียหายร้องเรียน รพ.มา สบส.ก็ต้องลงไปดู และมีหนังสือให้ทบทวน ถ้าเก็บไม่ได้แล้วยังไปเก็บเงินกับคนไข้ ก็จะถือว่ามีความผิดตามที่ได้ขออนุญาตจากสบส.ไว้ ส่วนหนึ่ง ก็มีบทลงโทษอยู่

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ที่จริงแล้ว หาก รพ.รับผู้ป่วยเข้ามาแล้ว ไม่มั่นใจว่า อาการนั้นๆ เข้าข่ายเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ ก็จะประสานเข้ามาที่ศูนย์ประสานและคุ้มครองสิทธิ สพฉ. เพื่อตัดสินว่าเป็นกลุ่มอาการใด แต่ที่ผ่านมา รพ.ส่วนใหญ่จะคีย์ข้อมูลเข้าเครื่องมือพิจารณาจัดกลุ่มอาการอัตโนมัติ ซึ่ง สพฉ.ก็มองว่า นั่นไม่ใช่คำวินิจฉัยของ สพฉ. เพราะเมื่อเครื่องอัตโนมัติบอกว่า อาการนั้นเป็นเพียงกลุ่มอาการสีเหลือง ทำให้เกิดการเข้าใจผิดกัน แล้ว รพ.ก็เลยเก็บเงินคนไข้ ทั้งที่จริงแล้ว สพฉ.ยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าคณะทำงานศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ เพื่อวินิจฉัยเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่าง รพ.กับสพฉ.

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะพิจารณากลุ่มอาการสีส้ม ซึ่งก้ำกึ่งระหว่างฉุกเฉินสีเหลืองและวิกฤตสีแดง ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการตีความ เข้าสิทธิ์ UCEP ที่สามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ไม่ถูกเรียกเก็บเงิน เหมือนช่วงโควิดที่มีการประกาศกลุ่มอาการสีส้มเป็น UCEP+ นพ.สุระ กล่าวว่า จริงๆ UCEP จะเป็นสีแดงอย่างเดียว ไม่ให้สีส้ม แต่สีส้ม เป็นอาการที่หย่อนๆ ลงมา ยังสามารถรอได้ ไม่ใช่ว่าเป็นสีส้ม ถ้าไม่ได้รับการดูแลแล้วจะเสียชีวิต

27 ม.ค. 2567  ผู้จัดการออนไลน์