ผู้เขียน หัวข้อ: ลูกเข็นรถแม่ ร้องรพ.ดังไร้มาตรฐาน-ใช้แม่บ้านวัดความดัน พิการตลอดชีวิต  (อ่าน 58 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ลูกเข็นรถแม่ ร้อง ชลน่าน โรงพยาบาลดังย่านบางใหญ่ นนทบุรี รักษาพยาบาลผิดมาตรฐาน ใช้แม่บ้านวัดความดันคนไข้ วินิจฉัยช้า ทำพิการตลอดชีวิต

วันที่ 25 ม.ค.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้พาครอบครัวผู้เสียหายมายื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กรณีการรักษาพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานจนทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นผู้พิการ

นายรณณรงค์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 โดยครอบครัวผู้เสียหายได้พาคุณแม่ อายุ 57 ปี ไปรักษาที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการวินิจฉัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ทางครอบครัวจึงพาคุณแม่ไปเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 5 คืน

นายรณณรงค์ กล่าวต่อว่า กระทั่งคืนที่ 6 ทางโรงพยาบาลได้ส่งตัวฉุกเฉินไปยัง โรงพยาบาลอีกแห่งในพื้นที่ อ.เมือง จ.นนทบุรี เพื่อไปสแกนสมอง พบว่าเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้คุณแม่เกิดความพิการขึ้น
นายรณณรงค์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญคือในช่วงที่อยู่โรงพยาบาลแรกถึง 5 วันทำไมจึงไม่มีการตรวจให้ละเอียดและก็ยังมีการวินิจฉัยว่า เป็นไข้หวัดใหญ่อยู่ จนกระทั่งผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก ด้านลูกสาวจึงได้ไปร้องเรียนตามหน่วยงานที่เปิดให้ร้องเรียน

นายรณณรงค์ กล่าวว่า จนสุดท้ายทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ได้เข้ามาเยียวยาแต่ก็มีเงื่อนไขที่เป็นปัญหาว่า "การจะรับเงินเยียวยาจากภาครัฐจะต้องเซ็นยินยอมไม่ติดใจเอาความ ในวงเงินชดเชย 400,000 บาท ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดความผิดพลาดระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาล"

นายรณณรงค์ กล่าวด้วยว่า ตนจึงได้พาครอบครัวผู้เสียหายมาร้องเรียน เนื่องจากรัฐบาลเองก็มีนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาบัตรทอง 30 บาท

"ผมรู้ว่าเรามีสวัสดิการบัตรทอง 30 บาท แต่เราไม่ได้อยากนั่งรอ 5 วัน แล้วค่อยไปสแกนสมองและการส่งต่อก็ใช้เวลานาน จึงเกิดเป็นความผิดพลาดขึ้นมา โดยเฉพาะตอนอยู่โรงพยาบาลแห่งแรก ที่มีการให้แม่บ้านเป็นคนมาวัดความดันให้คนไข้ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นเลย" นายรณณรงค์ กล่าว

ด้าน น.ส.ธัญวรินทร์ (ขอสงวนนามสกุล) ลูกสาวของผู้เสียหาย กล่าวว่า หลังจากที่ตนพาคุณแม่รักษาที่คลินิกแล้ว ก็ตัดสินใจมาที่โรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ตอนแรกคุณหมอบอกว่า อาจจะเป็นนิ่วก็เลยมีการเจาะเลือดไปตรวจ จนแอดมิตแล้วก็ยังไม่มีผลเลือดอะไรออกมา

น.ส.ธัญวรินทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ตนจึงติดใจเรื่องการรักษาจึงอยากให้มีมาตรฐานมากกว่านี้ อย่างกรณีคุณแม่ของตน ที่มีค่าความดันสูงถึง 200 กว่า แต่ผู้ที่ดูแลก็ได้แค่จดไป ไม่มีการกระทำการใด ๆ เลย ส่งผลให้คุณแม่เป็นหนักขนาดนี้

น.ส.ธัญวรินทร์ กล่าวอีกว่า ตนเข้าใจว่าเรื่องเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อคุณแม่ได้ไปนอนอยู่ในโรงพยาบาล แล้วก็ควรจะมีวิธีที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงขนาดนี้ได้ แต่เขากลับไม่ทำ เพราะอยู่เขาไม่ใส่ใจ ขาดจรรยาบรรณ ขาดความใส่ใจ

น.ส.ธัญวรินทร์ กล่าวยอมรับว่า ตนได้ไปเรียกร้องที่โรงพยาบาล แต่ก็มีการโยนกันไปโยนกันมา จนสุดท้ายกลายเป็นทุกคนบอกว่าเพราะแม่บ้านเป็นคนวัดความดัน ส่วนพยาบาลก็อ้างว่าความดันขึ้นสูงนั้นเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ จึงไม่ได้คิดเรื่องของเส้นเลือดตีบ

"ตอนอยู่โรงพยาบาลแม่มีอาการปวดหัว กินอะไรไม่ได้ อาเจียนจนไม่มีแรง ทำให้พยาบาลเร่งเอาน้ำเกลือให้เพราะอ้างว่าคนไข้กินอะไรไม่ได้ แล้วก็น่าจะมีการผสมยาฆ่าเชื้อด้วย แล้วเมื่อมีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอีกแห่ง ก็ไม่มีประวัติคนไข้ไปเลย ทำให้คุณหมอต้องเริ่มต้นการวินิจฉัยใหม่ทั้งหมด" น.ส.ธัญวรินทร์ กล่าว

น.ส.ธัญวรินทร์ กล่าวต่อว่า ปรากฏว่า คุณหมอบอกว่าแม่ได้รับน้ำเกลือมากเกินไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แม่เกิดอาการ จนแม่ต้องเป็นคนพิการแบบนี้ จนได้บัตรคนพิการ ส่วนรายได้จากเดิมแม่เคยทำงานได้เดือนละ 50,000 บาท แต่ตอนนี้ต้องอาศัยแค่เบี้ยคนพิการอย่างเดียว

น.ส.ธัญวรินทร์ กล่าวอีกว่า ที่มาวันนี้ก็หวังให้มีการสร้างมาตรฐานโรงพยาบาลให้ดีขึ้น เราไม่ได้จะมาเรียกร้องข้อเสียหายอะไร ถ้าเลือกได้เราต้องการไม่ให้แม่ต้องมาพิการแบบนี้ และก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนอื่นอีก

ขณะที่ นายปิยวัฒน์ ศิลปรัศมี ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้บังคัญบัญชาให้มารับเรื่องนี้ และให้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย

นายปิยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ตนจะต้องนำเรียนผู้บังคับบัญชาระดับสูงถึงการดูแลผู้ป่วยและอีกเรื่องคือการดูแลมาตรฐานการการรักษาพยาบาลว่าถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ถูกต้องเราก็จะต้องช่วยเหลือเยอะที่สุด ส่วนเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ ก็จะต้องไปตรวจเรื่องนี้ด้วย

เมื่อถามว่า หากฟังจากข้อมูลที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนวันนี้ เข้าข่ายความผิดด้านมาตรฐานการรักษาพยาบาลหรือไม่ นายปิยวัฒน์ กล่าวว่า ถ้าฟังจากผู้ป่วยก็ดูแล้วมีส่วนอยู่ประมาณหนึ่ง แต่อย่างไรก็ต้องไปดูรายละเอียดข้อเท็จจริง

ถามต่อว่า กรณีที่ให้แม่บ้านมาเป็นผู้ตรวจวัดความดันผู้ป่วยในโรงพยาบาลถือว่าผิดตามมาตรฐานด้วยหรือไม่ นายปิยวัฒน์ กล่าวว่า ก็น่าจะใช่ แต่ก็ต้องไปดูรายละเอียดก่อน

https://www.khaosod.co.th
25 ม.ค.2567