ผู้เขียน หัวข้อ: สป.สธ. มีคำสั่งให้ข้าราชการเกษียณปฏิบัติงานต่อได้กลุ่มแพทย์ 3 สาขา  (อ่าน 57 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผู้ตรวจราชการ สธ. และ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่  1 – 12 เรื่องการดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไปในสังกัด สป.สธ. ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ลงนามโดย นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการ สธ. รักษาราชการแทนรองปลัด สธ. ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ.

โดยหนังสือระบุว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จะดำเนินการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2567 รับราชการต่อไปในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ตามมาตรา 108 แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 เพื่อให้ข้าราชการผู้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ หรือความสามารถเฉพาะตัวรับราชการต่อไป เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ จึงกำหนดขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

 หลักการ

1. หลักประโยชน์แก่ทางราชการ การให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปี บริบูรณ์รับราชการต่อไป ต้องเป็นความประสงค์ของทางราชการ เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ไม่ใช่สิทธิของ ข้าราชการที่จะร้องขอ

2. หลักความสมัครใจของข้าราชการ แม้ส่วนราชการจะมีความประสงค์ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ แต่ต้องคํานึงถึงความสมัครใจและความพร้อมของข้าราชการรายดังกล่าวด้วย

3. ระยะเวลาที่จะให้รับราชการต่อไป เป็นครั้งแรก เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2567ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569
 

ขั้นตอนการดําเนินการ

1. สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กําหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบ หกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไปในสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในตําแหน่งนายแพทย์ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ในสาขาวุฒิบัตรความเชี่ยวชาญ ดังนี้
    1) สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
    2) สาขาประสาทศัลยศาสตร์
    3) สาขาความขาดแคลนตามบริบทของพื้นที่

โดยให้คณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ พิจารณาสาขาวุฒิบัตรความเชี่ยวชาญ ที่จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไปในเขตสุขภาพ และให้ผ่านความเห็นชอบจากผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุขประจําเขตสุขภาพ นั้น

2. สํานักงานเขตสุขภาพ ดําเนินการแจ้งให้หน่วยงานในเขตพื้นที่พิจารณาความจําเป็น จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไป โดยยึดหลักประโยชน์แก่ทางราชการ ภายในวันที่ 12 มกราคม 2567

3. หน่วยงานที่มีความจําเป็นที่จะให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รับราชการต่อไป ดําเนินการสอบถามความสมัครใจของข้าราชการ พร้อมจัดทํา เอกสารตามแบบแสดงความประสงค์ขอรับราชการต่อไป และจัดส่งเอกสารไปยังสํานักงานเขตสุขภาพ ภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

19 December 2023
https://www.hfocus.org/content/2023/12/29290

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
การขยายอายุเกษียณราชการ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 22 ธันวาคม 2023, 19:54:38 »
การขยายอายุเกษียณราชการ
ผู้เรียบเรียง :
ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์, วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ
แหล่งที่มา :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
วันที่ออกอากาศ :
2563-12
ประเภทสิ่งพิมพ์ :
ร้อยเรื่องเมืองไทย
หน่วยงานที่เผยแพร่ :
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักวิชาการ
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
เอกสารฉบับเต็ม
 
ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” (Ageing Society) อย่างเต็มตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงการสร้างของประชากรศาสตร์ (Demographic Changes) กล่าวคือ อัตราการเกิดของประชากรโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัว ประกอบกับความเจริญทางด้านการแพทย์ทำให้อายุเฉลี่ยของคนสูงขึ้น ดังนั้น องค์การต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องเตรียมการรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหนึ่งมาตรการที่ภาครัฐในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ การขยายอายุที่จะเกษียณให้เพิ่มขึ้นโดยผ่านมาตรการทางกฎหมาย

สำหรับประเทศไทยนั้นถึงแม้ยังไม่มาตรการขยายกรอบอายุที่จะเกษียณอย่างชัดเจน แต่มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือสำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลา 6 ปี คือ 2 ปี ขยาย 1 ปี ซึ่งไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุราชการที่ 63 ปี ในปี พ.ศ. 2567 โดยสำนักงาน ก.พ. ได้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การศึกษาเพื่อกำหนดอายุที่ควรเกษียณจากราชการ (Retire from service) 2) อายุที่ควรเกษียณจากงาน (Retire from job) 3) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4) การประมาณการค่าใช้จ่ายในการขยายอายุเกษียณ 5) การพัฒนาศักยภาพของข้าราชการ และ 6) การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการขยายอายุเกษียณ

ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบ 60 ปี บางตำแหน่งสามารถรับราชการต่อไปได้อีกไม่เกิน 10 ปี ได้แก่ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป และประเภททั่วไประดับอาวุโสขึ้นไป โดยให้คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง (อ.ก.พ. กระทรวง) เป็นผู้พิจารณาข้าราชการตามเหตุผลความจำเป็นใน 8 สายงาน คือ นักกฎหมายกฤษฎีกา แพทย์ ทันตแพทย์ นายสัตวแพทย์ ปฏิบัติงานช่างศิลปิน คีตศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของการขยายอายุเกษียณราชการควรสอดคล้องกับอายุขัยและศักยภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากร และคำนึงถึงลักษณะงาน รวมทั้งต้องดำเนินมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานหลังอายุ 60 ปี การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้พร้อมรองรับการทำงานร่วมกันของคนหลากหลายวัย ในเบื้องต้น ก.พ. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าว และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นและหารือร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่าง ๆ รวมทั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณให้สอดคล้องกับลักษณะงาน แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องศึกษาในรายละเอียดประกอบการพิจารณา อาทิ

1) งบประมาณค่าใช้จ่ายในการขยายอายุเกษียณ (สำนักงาน ก.พ. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางในการศึกษาเรื่องดังกล่าว)
2) การจำแนกตำแหน่งตามลักษณะงานของข้าราชการพลเรือนสามัญ และข้าราชการประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ
3) การศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับหากมีการขยายอายุเกษียณ

อย่างไรก็ตาม โครงการขยายอายุเกษียณราชการจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหรือไม่ ระบบราชการไทยควรจะต้องมีมาตรการในการรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของข้าราชการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติราชการ รวมถึงการสูญเสียกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทั้งจากสายงานหลักและสายงานสนับสนุน 3 มาตรการ คือ 1) มาตรการบริหารกำลังคนเพื่อรองรับข้าราชการสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการใช้ประโยชน์จากข้าราชการสูงอายุและการรักษาข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถเฉพาะตัวที่หาผู้อื่นมาปฏิบัติแทนได้ยากเพื่อให้รับราชการต่อไป 2) มาตรการเตรียมการเพื่อรองรับการสูญเสียกำลังคนเนื่องจากการเกษียณอายุราชการ ซึ่งประกอบด้วยการส่งเสริมให้ส่วนราชการพัฒนาระบบการวางแผนสร้างความต่อเนื่องในการบริหารงาน และเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมต่อการดำรงตำแหน่ง และ 3) มาตรการสร้างสมดุลของกำลังคนในระบบราชการ ซึ่งประกอบด้วยการใช้มาตรการเกษียณอายุก่อนกำหนด และการเพิ่มจำนวนข้าราชการบางระดับในสายงานหรือตำแหน่งที่ขาดแคลน นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้วการจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถภายหลังการเกษียณอายุราชการยังเป็นอีกวิธีหนึ่งของการลดการขาดแคลนบุคลากรในบางตำแหน่ง ทั้งนี้ ต้องมีการวิเคราะห์เหตุผลและความจำเป็นในการจ้างบุคลากรผู้ที่เกษียณอายุราชการ ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสมควรจ้างภายหลังเกษียณอายุราชการให้ปฏิบัติงานต่อหรือไม่ พร้อมทั้งการประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและจัดให้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำด้วย

โดยสรุปการขยายอายุเกษียณราชการเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูประบบราชการด้านกำลังคนของภาครัฐ ที่รัฐควรต้องมีการศึกษาการขยายอายุเกษียณราชการอย่างรอบด้าน ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค โดยต้องมีการร่วมระดมความเห็นเชิงบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลเท็จจริงและสามารถนำไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการขยายอายุเกษียณราชการได้ต่อไป