ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.สั่งป้องกันโดนแฮ็ก หลังรพ.อุดรฯถูกป่วน!  (อ่าน 247 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
โรงพยาบาลอุดรธานีป่วน ถูกมือดีโจมตีทางไซเบอร์แฮ็กระบบ จนไม่สามารถให้บริการ จ่ายยา หรือนัดหมายผู้ป่วยได้ ด้าน ‘ชลน่าน’ รมว.สาธารณสุข สั่งป้องกันและแก้ไขไม่ให้ถูกโจมตีซ้ำ พร้อมใช้ระบบแมนวลในการส่งต่อผู้ป่วย ไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง ชี้การโจมตีลักษณะนี้ทำให้กระทรวงตื่นตัวมากขึ้นเพราะในวันที่ 8 ม.ค.2567 จะประกาศใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่นำร่องใน 4 จังหวัด จึงต้องยกระดับการป้องกันให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี จ.อุดรธานี ถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Hacker) ระบบของร.พ. ทำให้ไม่สามารถให้บริการ จ่ายยา หรือนัดหมายผู้ป่วยได้ว่า เรื่องนี้ ดร.นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้รายงานมายังกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2566 เนื่องจากได้รับแจ้งเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ที่ร.พ.อุดรธานี ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ และได้มีแนวทางดำเนินการดังนี้ 1.กรณีส่งต่อผู้ป่วยมารักษาที่ร.พ.อุดรธานี จะใช้ระบบการทำงานด้วยการเขียนมือ (Manual) และ 2.เชื่อมระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ (PAC) โดยแจ้งร.พ.ทุกแห่งที่เกี่ยวข้องในการส่งต่อผู้ป่วยสามารถพิมพ์ผลทางห้องปฏิบัติการ (Lab) พิมพ์ผลการอ่านฟิล์ม และพิมพ์ใบสั่งยามาพร้อมกับผู้ป่วย

นพ.ชลน่านกล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาขณะนี้ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เพื่อแก้ปัญหาการให้บริการและติดตาม ตั้งทีมบริหารทางเทคนิคเพื่อฟื้นระบบไอที (IT) และแจ้งความ เก็บหลักฐานดำเนินการโดยรองบริหารและนิติกร โดยตนได้กำชับปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องระมัดระวังการนำเข้าข้อมูลที่ ไม่ผ่านการตรวจสอบเข้าสู่ระบบ และ ในระยะต่อไป ต้องนำเอาระบบรับรองคุณภาพ HAIT มาใช้ เพราะถ้าผ่านระดับ 2 แล้วจะเป็นหลักประกันในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี

“อย่างไรก็ตาม การโจมตีในลักษณะนี้ทำให้เราตื่นตัวมากขึ้นจากเดิมที่ตื่นตัวอยู่แล้ว เพราะในวันที่ 8 ม.ค.2567 จะประกาศใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่นำร่องใน 4 จังหวัด ดังนั้น เรายกระดับการป้องกันให้มากขึ้น” นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.ได้รับรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ทางร.พ.มีการจัดการแก้ไขเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการอยู่บ้าง จึงปรับเปลี่ยนวิธีการมาใช้แบบแมนวลเพื่อแก้ไขปัญหา ส่วนระยะถัดไปทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้ามาช่วยดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว

13 ธ.ค. 2566
ข่าวสด