ผู้เขียน หัวข้อ: อนุทิน นั่งหัวโต๊ะประชุม ลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด  (อ่าน 81 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
วันที่ 13 ธันวาคม ที่ห้องประชุม 1 ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ

นายอนุทิน  เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ได้ร่วมกันพิจารณาแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2567 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางการบูรณาการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลและวันหยุดต่าง ๆ ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้ชื่อการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ซึ่งแผนดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมาย แนวทาง และมาตรการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่น ๆ ในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุดยาว

พร้อมกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่ระดับภาพรวม ระดับหน่วยงาน และระดับพื้นที่ อีกทั้งยังได้กำหนด 5 มาตรการในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่

1. มาตรการด้านการบริหารจัดการ
2. มาตรการด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม
3. มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ
4. มาตรการด้านผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย
5. มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ

เพื่อที่ทุกหน่วยงานจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตทางถนนกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2567 และได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทราบ

เพื่อทุกภาคส่วนจะได้นำไปวางแผนเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุดต่อไป สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 ที่ใกล้จะถึงนี้ ได้แบ่งแนวทางการดำเนินงาน ออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ไปจนถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2566 และช่วงดำเนินการ ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2566 – 11 มกราคม 2567 โดยควบคุมเข้มข้นช่วงวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 ในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนน ให้อยู่ที่ 12 คนต่อแสนประชากร และ 150 คนต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน ประกอบด้วย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การจัดการความเร็วให้ปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม การเร่งพัฒนาระบบการทำงานเพื่อสนับสนุนกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ

รวมถึงการสร้างมาตรฐานยานพาหนะปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย ตลอดจนขับเคลื่อนมาตรการเพื่อหาทางเลือกอื่นแทนการใช้รถจักรยานยนต์ที่มีความเสี่ยง และสนับสนุนการลงทุนทางงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาดำเนินการตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติทราบต่อไป

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อบรรุลุเป้าหมายลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คน ต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 และบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ “ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง” เกิดการสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับในระดับพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้กลไกของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ. 2554 บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

โดยอาศัยกลไกขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม ตลอดจนให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักและเสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ ประชาชนมักนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการสังสรรค์เพื่อเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ จึงขอเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกรอบแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 อย่างเข้มข้น โดยเน้นมาตรการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเชิงรุกในพื้นที่ เพื่อร่วมกันป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน มุ่งเน้นการควบคุมพฤติกรรมการดื่มแล้วขับ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นหรือสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการ สถานบันเทิง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งผู้ประกอบการจะต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายสุราตามกฎหมาย

รวมถึงไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจัดระเบียบสังคมและป้องปราบผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำการรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ” เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เนื่องด้วยทุกเหตุการณ์ของการสูญเสีย คือ เป้าหมายสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ดังนั้น ยิ่งลดความเสี่ยงได้มากเท่าไหร่ นั่นคือ สามารถหยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้มากขึ้นเท่านั้น

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ และเลขานุการคณะศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะเร่งเสนอแผนบูรณาการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ. 2567 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ เพื่อที่ทุกภาคส่วนจะได้นำไปวางแผนเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุดต่อไป

โดยเฉพาะการตั้งด่านตรวจบนถนนสายหลักเพื่อควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลซึ่งมีประชาชนใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก และตั้งด่านตรวจในบริเวณพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน อาทิ ทางโค้ง ทางตรงยาว รวมถึงกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งด่านตรวจแบบเชิงรุก โดยอาศัยกลไกของฝ่ายปกครอง อาทิ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของคนในพื้นที่ในรูปแบบเคาะประตูบ้าน เพื่อควบคุมและสกัดกั้นพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนของคนในชุมชนอย่างจริงจัง ตลอดจนขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ สร้างจิตสำนึก และสร้างวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยผ่านช่องทางสื่อที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ซึ่งมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง เพื่อให้เกิดความตระหนัก มีจิตสำนึก ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน

มติชน
13 ธันวาคม 256ุ6