ผู้เขียน หัวข้อ: กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ติดตามกรณีชาวไต้หวันถูกรถชน รพ.ปฏิเสธรับรักษาจนเสียชีวิต  (อ่าน 165 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาชี้แจง จะติดตามกรณีที่นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกรถชน และโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งปฏิเสธรับตัวเพื่อรักษาพยาบาลจนเสียชีวิตในที่สุด หวั่นส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวไต้หวัน 700,000 คน

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงฯ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของนักท่องเที่ยวไต้หวันที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย แล้วถูกปฏิเสธการรักษาหลังโดนรถชนจนเสียชีวิตระหว่างการส่งตัวไปโรงพยาบาล ซึ่งกระทรวงฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (TAC) และตำรวจท่องเที่ยว เข้าไปดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ญาติผู้ป่วยซึ่งเดินทางมาถึง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แล้ว

ส่วนเรื่องของการปฏิเสธการรักษานั้น กระทรวงฯ จะดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางป้องกัน และหาแนวปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต

ขณะนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังเร่งจัดทำกลไกด้านการประกันภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ระบบการประกันภัยจะสามารถช่วยเหลือเยียวยาให้นักท่องเที่ยวได้อย่างทันท่วงที

กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวไต้หวันต่อประเทศไทยอย่างมาก รายงานจาก ททท.ไต้หวัน แจ้งว่า เริ่มมีการเสนอข่าวนี้ในไต้หวันบ้างแล้ว และ ททท.ไต้หวันกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อพยายามไม่ให้ลุกลามจนเกิดผลกระทบทางการตลาด เพราะไต้หวันเป็นตลาดเป้าหมาย และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวไต้หวันมาประเทศไทยประมาณ 677,000 คน

ท่องเที่ยวไทยสะเทือน! นักท่องเที่ยวไต้หวันถูกรถชน รพ.ปฏิเสธรับตัว สุดท้ายเสียชีวิต

สื่อไต้หวันรายงาน นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันวัย 41 ปี เดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนบนถนนพัฒนาการ เหตุเกิดหลังเที่ยงคืนวันที่ 8 ธ.ค.

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งนำตัวผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างไปราว 500 เมตร แต่ทางโรงพยาบาลปฏิเสธรับตัว อ้างว่าเป็นชาวต่างชาติ กลัวไม่มีเงินค่ารักษา พร้อมให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ห่างออกไปไกลกว่า 10 กิโลเมตร ทำให้นักท่องเที่ยวเคราะห์ร้ายเสียชีวิตระหว่างทาง

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามจับกุมคนขับรถที่ก่อเหตุวัย 51 ปี และนำตัวไปสอบปากคำ โดยมีข้อมูลว่าคนขับรถรายนี้ไม่ได้ลงจากรถมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และมีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในขณะขับรถ

กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันระบุว่า ได้รับรายงานเรื่องแล้ว และกำลังประสานงานเพื่อให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตเดินทางไปรับศพที่ประเทศไทย

กรณีดังกล่าวเป็นข่าวใหญ่ในไต้หวัน และส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของชาวไต้หวันที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังจากรัฐบาลไทยเพิ่งประกาศให้ “ฟรีวีซ่า” แก่นักท่องเที่ยวไต้หวันเมื่อวันที่ 10 พ.ย.

12 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
"ชลน่าน" สั่ง สบส.-สพฉ. ตรวจสอบด่วน รพ.เอกชน ไม่รักษษนักท่องเที่ยวไต้หวันเกิดอุบัติเหตุทางถนน จนเสียชีวิตระหว่างทาง หากมีมูลความจริง ผิดทั้งหลักมนุษยธรรมและกฎหมาย ให้เอาผิดจนถึงที่สุด ขัดนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย

จากกรณีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกรถเฉี่ยวชนจนหมดสติ ทีมกู้ชีพของมูลนิธิได้ช่วยทำ CPR และนำส่งโรงพยาบาลเอกชนย่านพัฒนาการซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร แต่ถูกปฏิเสธรับตัวผู้ป่วยและให้นำส่งโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตรแทน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างนำส่งนั้น

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับรายงานกรณีดังกล่าว ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบศ.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วนแล้ว ซึ่งหากพบว่าโรงพยาบาลมีการปฏิเสธรับผู้ป่วยจริงตามที่เป็นข่าว จะถือว่ามีความผิดทั้งหลักมนุษยธรรมและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด เบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ในเวลาที่ผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงโรงพยาบาล ได้มีการประเมินและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่ และ 2) โรงพยาบาลมีการประเมินผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (UCEP) หรือไม่

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทย จะไม่ปล่อยให้ไม่ได้รับความปลอดภัย หรือถูกกระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเด็ดขาด

12 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สพฉ.เร่งรวบรวมข้อมูลสอบสวน รพ.เอกชน ปัดรักษาหนุ่มไต้หวันจนดับ หลังสอบถ้อยคำเจ้าหน้าที่อีอาร์ เบื้องต้นอ้างไม่รับเพราะเกินศักยภาพเตียง ส่วนผิดหรือไม่ต้องรอชงบอร์ด กพฉ.พิจารณาในเดือนนี้

ความคืบหน้ากรณีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้าตรวจสอบและสอบถ้อยคำเจ้าหน้าที่ รพ.วิภาราม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา จากกระแสข่าวปฏิเสธการรักษาหนุ่มนักท่องเที่ยวขาวไต้หวัน ที่ประสบอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนจนหมดสติ โดยให้ไปรักษา รพ.รัฐที่อยู่ห่างออกไป 10 กิโลเมตร และเสียชีวิตระหว่างทาง

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่าที่ร้อยตรี การันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ทีมของ สพฉ.และ สบส.ได้ลงไปสอบถ้อยคำสัมภาษณ์พยาน ซึ่งหลักๆ เราพิจารณาตามข้อกฎหมาย คือ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มาตรา 28 และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 36 ซึ่งทั้ง 2 กฎหมายนี้จะพูดคล้ายกัน หลักการคือสถานพยาบาลจะต้องมีการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเต็มความสามารถก่อน โดยไม่เอาเรื่องของสิทธิ เรื่องของเงินมาเกี่ยวข้อง นี่เป็นธงของกฎหมาย ดังนั้น ทีมจึงลงไปสอบสวนข้อมูลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายตรงนี้หรือไม่ เพราะเราเห็นแค่เพียงจากคลิป เราก็ต้องไปดูว่าเรื่องราวในห้องฉุกเฉินเป็นอย่างไรถึงไม่ได้รับ

"อย่างแรกคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินที่นำไปส่งห้องฉุกเฉินในวันที่เกิดเหตุนั้น อาการเป็นอาการในเคสที่ รพ.จะต้องปฏิเสธไม่ได้หรือไม่ ต้องรับเท่านั้นหรือไม่ ข้อมูลก็จะมาจากศูนย์เอราวัณที่เป็นผู้ไปส่งเคส สองคือไปดูว่าเวลานั้น เราทราบจากสื่อว่า รพ.ไม่ได้รับคนไข้ แต่ที่ไม่รับมีเหตุผลอะไร ไม่รับด้วยเงื่อนไขอะไร เช่น มีความจำเป็นอื่น เช่น รพ.เตียงเต็มจริงๆ ผู้ป่วยเกินศักยภาพในการรักษาหรือไม่ แต่หากบอกไม่รับเพราะไม่มีเงิน ก็จะเป็นเงื่อนไขในความผิด เมื่อวานทีมสืบสวนจึงลงไปดูว่ามีเหตุผลอะไรหรือไม่ ที่ รพ.ไม่รับ ก็เป็นการไปสอบถาม รพ.เอกชนที่เกี่ยวข้อง" ว่าที่ร้อยตรี การันต์กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี การันต์กล่าวว่า ข้อมูลการสอบถ้อยคำตรงนี้อาจจะยังเปิดเผยได้ยาก เพราะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเชิงกฎหมาย คดี ข้อมูลผู้ป่วยด้วย จึงอาจเปิดเผยได้ไม่ครบทุกอย่าง ส่วนการพิจารณาและประกาศว่ามีความผิดหรือไม่ผิด และหากผิดโทษคืออะไร คนที่จะดำเนินการคือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่วน สพฉ.เองจะนำข้อมูลทั้งหมด ผลการสอบสวน หลักฐานทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (บอร์ด กพฉ.) ในการพิจารณาว่า จากข้อมุลที่ให้มานั้นผิดหรือไม่

เมื่อถามว่าทาง รพ.ได้ให้เหตุผลหรือไม่ว่า ที่ไม่รับคนไข้รายนี้เนื่องจากเหตุผลใด ว่าที่ร้อยตรี การันต์กล่าววว่า จริงๆ มีเหตุผลหลายอย่างที่จะไม่รับ เหตุผลของทาง รพ.อาจเป็นเรื่องข้อจำกัดการรับผู้ป่วยเพิ่ม หรือเตียงเต็มเกินศักยภาพการรักษา จริงๆ แล้วก่อนที่กู้ภัยหรือรถแอมบูแลนซ์จะเอาผู้ป่วยไปส่งห้องฉุกเฉิน ศูนย์เอราวัณจะมีการโทรไปถามอยู่แล้วว่า รพ.รับเคสนี้ได้ไหม เกิดเหตุใกล้ๆ ซึ่งในข่าว รพ.ก็ให้ข่าวอยู่แล้วว่า ตอบศูนย์เอราวัณไปแล้วว่ารับไม่ได้ แต่สถานที่เกิดเหตุกับ รพ.ค่อนข้างใกล้ รถกู้ชีพเลยตัดสินใจเอาไปอยู่ที่หน้าอีอาร์หรือฉุกเฉินก่อน ซึ่งการอยู่ที่หน้าอีอาร์แล้วกับการโทรถามว่ารับไม่รับ จริงๆ เรื่องเดียวกัน แต่บริบทต่างกัน

ถามย้ำว่าที่ รพ.ไม่รับคือให้เหตุผลว่าศักยภาพเตียงไม่สามารถรับได้ใช่หรือไม่ ว่าที่ร้อยตรี การันต์กล่าวว่า ใช่ ซึ่งเขาให้เหตุผลนี้มา แต่คณะกรรมการฯ จะต้องไปดูองค์ประกอบอื่นอีกว่า เข้าข่ายที่จะยกเว้นความผิดนี้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องให้ทางคณะกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเราจะมีการประชุมคณะกรรมการฯ กันทุกเดือน แต่เรื่องนี้เป็นวาระเรื่องด่วน ก็คาดว่าจะเข้าภายในเดือนนี้ ส่วนผลการพิจารณาจะเป็นอย่างไร จะมีการแจ้งข้อมูลต่อสาธารณะอีกครั้ง


14 ธ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์