ผู้เขียน หัวข้อ: ส่องทางออก แก้วิกฤตการศึกษา-คะแนน PISA ต่ำ  (อ่าน 24 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ส่องทางออก แก้วิกฤตการศึกษา-คะแนนPISAต่ำ

หมายเหตุ – ความเห็นต่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ปี 2022 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จากนักเรียน 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ พบว่านักเรียนไทยมีคะแนนตกต่ำต่อเนื่องในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

กรณีผลคะแนนสอบ PISA ของเด็กนักเรียนไทย ปี 2022 ที่มีคะแนนตกต่ำลงที่สุดในรอบ 20 ปี และมีคะแนนต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ต้องทำความเข้าใจว่า PISA เป็นการทดสอบความรู้ ความสามารถพื้นฐานของเยาวชนจากทั่วโลก ที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตในโลกที่เปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นการวัดระดับทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน เป็นการสอบเด็กอายุประมาณ 15 ปี เข้าสอบทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ โดยวัดความรู้ทั้งหมด 3 ด้าน ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้ได้เพิ่มขึ้นมาอีก 1 หัวข้อ คือการวัดความฉลาดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะมีข้อสอบทั้งปรนัยและอัตนัย โดยนำปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงนำมาตั้งคำถาม

คำถามของ PISA อาจไม่ตรงกับหลักสูตรการเรียนในปัจจุบันของไทย ที่มุ่งเน้นแต่เพียงวิชาการความรู้จากตำราในห้องเรียน จึงน่าจะเป็นสาเหตุทำให้คะแนนของเด็กไทยได้คะแนนต่ำ ปัญหาที่อยากจะสะท้อนไปยังภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหานี้ คือ อย่าไปเพิ่มวิชาการการติวเพื่อจะทำให้คะแนนของเด็กที่เข้าสอบ PISA ผ่านเกณฑ์ และสิ่งที่อยากให้ทุกคนพูดถึงและให้ความสำคัญก็คือผลของการสอบ O-NET ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งไม่มีการหยิบมาพูดถึงเท่าที่ควร ทั้งที่การสอบ O-NET ก็มีแบบทดสอบทั้งทางวิชาการในหลักสูตรการเรียนการสอน และแบบทดสอบความรู้และสมรรถนะในการดำรงชีวิตของเด็กในโลกยุคใหม่ แบบทดสอบที่ดียิ่งกว่าแบบทดสอบของ PISA เสียอีก

การเตรียมตัวแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยการลดตัวชี้วัดต่างๆ ที่ปัจจุบันนี้มีปริมาณมากเกินไป การมุ่งเน้นให้เด็กเรียนมากจนเกินไป ไม่สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบันหรือแบบทดสอบของ PISA ฉะนั้นต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนก็คือ Learning How to Learn ส่งเสริมให้เด็กเรียนในสิ่งที่เด็กอยากเรียน เด็กจะได้นำสิ่งที่เรียนไปต่อยอดเรียนรู้ต่อ

จากแบบทดสอบของ PISA จะเห็นได้ว่าเป็นทักษะความรู้พื้นฐานที่เด็กจะสามารถนำไปเรียนรู้ต่อได้ เรื่องนี้ต้องยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติในการปรับปรุงการเรียนการสอนรวมไปถึงการปรับปรุงหลักสูตรทางการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหมด โดยมุ่งเน้นมาสอนทักษะแทนการสอนแบบท่องจำ ปัจจุบันครูผู้สอนหลายคนพยายามปรับปรุงการเรียนการสอนของตัวเอง แต่ยังไม่มีความชัดเจนและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะในการทำวิทยฐานะของครูที่จะใช้ในการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ ยังคงผูกติดกับผลการเรียนของนักเรียนเป็นตัวชี้วัด ทำให้ครูผู้สอนไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิมได้

อยากฝากไปยังรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการให้ใช้แบบทดสอบที่มีอยู่แล้ว อย่างแบบทสอบ O-NET ที่มีแบบทดสอบไม่ต่างจาก PISA อยากให้นำผลที่ได้จากการสอบ O-NET มาวิเคราะห์และปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน

ภาพรวมของการศึกษาไทยแย่อยู่แล้ว ตกต่ำเป็นปกติโดยสภาพ แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ปฏิรูปให้ดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย พอมันมีข่าวคะแนนตกก็มักจะมีการแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง ทั้งที่ระบบการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด กลับกลายเป็นเรื่องสำคัญน้อยที่สุด เป็นเพราะเกี่ยวกับเรื่องทางตำแหน่ง วิทยฐานะ และอำนาจ เรากำลังยึดเป้าหมายผิดหลัก

การประเมินของ PISA เป็นเหมือนฝีกลัดหนอง เป็นภาพสะท้อนระบบการศึกษาที่หลอกกันไปมาแต่ละวัน พอมีแบบทดสอบจากภายนอก ก็หลอกตัวออกไม่ได้แล้ว เป็นการฟ้องแบบรุนแรงและชัดเจน ตอนนี้มันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลสนใจปัญหาเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

ผลคะแนนมันสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาในรอบ 20 ปี ไม่ได้โงหัวขึ้นเลย มีแต่ตกต่ำลง และเป็นทักษะสำคัญทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ทั้งสามทักษะคะแนนตกลงต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

หากวิเคราะห์หนึ่งในทักษะที่คะแนนตกต่ำ ด้านการอ่านเป็นทักษะพื้นฐานแต่พบว่าระยะหลังเด็กไทยมีทักษะการอ่านไม่ดี การอ่านจับใจความ การอ่านเอาเรื่องจับประเด็นต่างๆ ไม่ดี รวมถึงเรื่องสำคัญที่สุดช่วงระยะหลัง คือเด็กอยู่กับมือถือมาก การอ่านแบบยาวน้อยลง สั้นลง และฉาบฉวย

อีกทั้งถูกซ้ำเติมให้เด็กขาดการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้ทักษะการอ่านเกิดยากขึ้น การพัฒนาการของเด็กแต่ละระดับเกิดภาวะความรู้ถดถอยไปหนึ่งปี เช่น เด็กอนุบาลที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ เด็กประถมที่เคยอ่านหนังสือเป็นคำได้ กลับอ่านไม่ได้เลย หรือเด็กมัธยมต้นที่เขียนอ่านเรื่องยาวได้ กลายเป็นอ่านหนังสือไม่คล่อง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ประเทศอื่นมีการส่งเสริมเติมเต็มด้านการศึกษา แต่ประเทศไทยไม่สามารถเยียวยาเด็กได้

ถ้าทักษะการอ่านไม่ดี การจะไปอ่านโจทย์ในข้อสอบที่ยาว ยาก ซับซ้อน จะไปเหลืออะไร ส่งผลถึงทักษะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ด้วย รวมถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากของการศึกษา คือ ระบบหลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดผล ยังเป็นระบบแบบเดิมที่ล้าหลังตกยุค ใช้ระบบแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2544 พัฒนามาจนถึง 2550 และยังใช้อยู่ในปัจจุบัน คือเป็นหลักสูตรเน้นเรื่องมาตรฐาน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ตัวบ่งชี้พันกว่าตัว และเน้นเรื่องการท่องจำเพื่อสอบแข่งขันเรียนต่อ ถือเป็นสิ่งที่ตกยุคล้าสมัยแล้วยังใช้อยู่ จึงไม่สอดคล้องกับหลักสูตรสากลที่ใช้กันทั่วโลก คือ หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) เน้นการลงมือกระทำ นำความรู้ที่เรียนมาลงปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ชีวิตประจำวัน แต่หลักสูตรบ้านเราเน้นที่การท่องจำ

อยากเสนอว่ารัฐบาลจะต้องยกเลิกหลักสูตรเดิมที่ใช้อยู่ มาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เปลี่ยนครูที่เป็นผู้สอนหนังสือมาเป็นคนผู้จัดการการเรียนรู้ และต้องสอนให้เกิดการตั้งคำถามและการแก้ปัญหา กล่าวคือ ต้องเรียนแบบโครงงานฐานวิจัยให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างการตั้งโจทย์การหาคำตอบ เชื่อมโยงไปถึงสถานการณ์ในชีวิตจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มของระบบการศึกษาโลก

ดังนั้น งานที่รัฐบาลจะต้องทุ่มเทคือต้องกล้าปฏิรูประบบหลักสูตรเรื่องการเรียนรู้ และการวัดผล ให้ตอบโจทย์ตรงนี้ รวมถึงสิ่งที่เราต้องพูดกันต่อไป คือการให้คำมั่นสัญญาเอาตำแหน่งเป็นประกัน แสดงกรอบเวลาที่บอกว่าจะดำเนินการอะไร ด้วยวิธีการอะไรบ้าง มิเช่นนั้นพอข่าวจบไป 5 วันก็เลิกทำ พอปีหน้าก็ต้องมานั่งวิจารณ์กันใหม่

ผลการประเมิน PISA ของเด็กไทยต้องแยกเป็น 2 ข้อใหญ่
1.หลักสูตรโบราณ ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย ไม่เน้นการวิเคราะห์
2.ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สะท้อนผ่านคะแนนรายโรงเรียนและรายกลุ่มโรงเรียน บางโรงเรียนที่มีคะแนนค่อนข้างมาก เป็นโรงเรียนดังที่เน้นเฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอีกกลุ่มที่เป็นโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีคะแนน PISA น้อยกว่าโรงเรียนกลุ่มแรก
นี่คือความเหลื่อมล้ำ

ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่สำคัญ อย่างเรื่องการใช้งบประมาณรายหัวผิดพลาด โรงเรียนขนาดใหญ่อาจจะได้งบประมาณมากหน่อย แต่โรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนจำนวนน้อยมาก จนทำให้ได้งบประมาณน้อยจนไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้เพียงพอ

สำหรับทางออกของปัญหา ในระยะสั้นต้องแก้ปัญหาที่การใช้งบประมาณที่กำหนดเป็นรายหัวไม่ตอบโจทย์กับการแก้ปัญหา ต้องแยกประเภทโรงเรียน อย่างโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขยายโอกาส ต้องให้งบประมาณเป็นพิเศษ และโรงเรียนขนาดเล็กอีกประเภทที่สามารถควบรวมได้ พร้อมการจัดงบประมาณแบบใหม่ อย่างที่พรรค ก.ก.เคยเสนอไว้ว่า อย่างการให้งบประมาณเป็นก้อน แต่ต้องตั้งกรรมการขึ้นมา เพื่อคำนวณว่าเท่าไรถึงจะเพียงพอ และสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีมาตรฐาน

ระยะกลาง แก้ที่หลักสูตรการศึกษา ปัจจุบันเด็กไทยเรียนหนักมากตั้งแต่ชั้นประถมใน 8 กลุ่มสาระ หากดูข้อสอบ PISA ไม่ได้มีความยากมาก แต่เด็กไทยทำไม่ได้ เพราะข้อสอบต้องอ่านและวิเคราะห์แบบ 2 ชั้น แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยยังคงอ่านและวิเคราะห์ไม่ได้ตามมาตรฐาน จึงต้องมีการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ในทุกวิชา จริงๆ ก็พูดมาหลายครั้งในเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ จุดประสงค์ของหลักสูตรนี้ คร่าวๆ คือหลักสูตรที่เน้นการวัดผลแบบสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหา ฝั่งตะวันตกมีการใช้มาอย่างยาวนานแล้ว เมื่อมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดในไทย มีนักวิชาการหลายคนได้เสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการ แต่น่าเสียดายที่มีการสั่งชะลอหลักสูตรนี้ไป เข้าใจว่าอาจจะเพราะเป็นเรื่องที่ยังทำได้ยาก และครูในขณะนั้นยังไม่มีความพร้อม จึงอยากให้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการปัดฝุ่นเรื่องนี้ นำมาพูดคุยอีกครั้ง เพื่อนำมากระตุ้นให้เด็กเกิดทักษะและสมรรถนะที่ตรงตามสังคมสมัยใหม่ที่ประกอบไปด้วย เช่น ทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะการสื่อสาร ทักษะการจัดการตนเอง ยอมรับว่าหลักสูตรนี้มีความยาก แต่ต้องทำโดยค่อยๆ ลงมือทำต่อเนื่อง อาจจะต้องมีการรีสกิล-อัพสกิลครูไทยครั้งใหญ่

นอกจากนี้ ต้นทางอย่างการเรียนการสอนศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ในไทย ยังไม่สามารถดึงคนเก่งมาเรียนได้ หากเทียบกับการเรียนแพทย์ ทั้งที่การเรียนครูก็มีความสำคัญไม่แพ้กับสายอื่น จริงๆแล้วการเรียนหมอกับครูเทียบกันได้ หมอรักษาโรคร้าย ครูก็รักษาโรคทั้งสังคม โรคแห่งความไม่ฉลาด ความไม่รู้เท่าทันต่างๆ

ครูก็ควรมีรายได้เทียบเท่าแพทย์ และดึงคนเก่งมาเรียนครู แต่อย่างที่รู้กันว่า ครูเป็นอาชีพที่เด็กเก่งๆ ไม่สนใจ ต้องแก้ตรงนี้ให้ได้ ในขณะที่ต้องดึงคนเก่งมาเป็นครู ต้องพัฒนาวิชาชีพครู สวัสดิการเพื่อรองรับและจูงใจคนเหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย

8 ธค 2566
มติชน