ผู้เขียน หัวข้อ: สพฉ.เร่งสอบ รพ.เอกชนในสมุทรปราการ ไม่รับรักษา ตร.เจ็บสาหัสจนตาย  (อ่าน 22 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สพฉ.เร่งตรวจสอบ รพ.เอกชน จ.สมุทรปราการ ไม่รับตำรวจเกิดอุบัติเหตุเจ็บสาหัสรักษา จนเสียชีวิต ย้ำผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือตาม กม.และนโยบาย UCEP หากทำผิดจริง จ่อชงเอาผิดตาม กม.

จากกรณีตำรวจนายหนึ่งประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำบาดเจ็บสาหัส ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือ นำส่ง รพ.เอกชนที่อยู่ใกล้เคียง และให้ข้อมูลว่า รพ.ปฏิเสธให้การรักษา เนื่องจากเป็นสิทธิข้าราชการ ให้ไปส่ง รพ.รัฐที่อยู่ไกลออกไป จนภายหลังผู้บาดเจ็บเสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในฐานะโฆษก สพฉ. กล่าวว่า สพฉ. ได้รับรายงานข้อมูลในเบื้องต้น ได้สั่งการให้สำนักบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่ 3 ร่วมกับกลุ่มกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูล โดยถือเป็นเรื่องร้องเรียนที่ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วย

ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง อำนาจหน้าที่ ขอบเขต ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของสถานพยาบาลในการปฏิบัติการฉุกเฉิน พ.ศ. 2557 กำหนดให้สถานพยาบาลควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติการให้ดําเนินการการปฏิบัติการฉุกเฉินต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นไปตามความจําเป็นและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมิให้นําสิทธิการประกัน การขึ้นทะเบียน สถานพยาบาล หรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยฉุกเฉินหรือเงื่อนไขใด ๆ มาเป็น เหตุปฏิเสธผู้ป่วยฉุกเฉินให้ไม่ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินอย่างทันท่วงที เช่น การเรียกเก็บเงินทั้งหมด หรือบางส่วน หรือการลงนามรับสภาพหนี้ก่อนให้การปฏิบัติการฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน การให้ผู้ป่วยลงชื่อ สละสิทธิการรักษาใด ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ข้อกำหนดว่าด้วยสถานพยาบาล พ.ศ. 2554 กำหนดว่า กรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน หากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินได้  ให้สถานพยาบาลมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 หากสถานพยาบาลใดฝ่าฝืน ให้ สพฉ. รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสนอ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 31 , 32 และ 37 แห่ง พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

"ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉิน ดำเนินโครงการ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชม. หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย จากกรณีดังกล่าว สพฉ. จะรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน กรณีมีมูลความผิดตามกฎหมาย จะเสนอคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป" โฆษก สพฉ.กล่าว

26 พ.ย. 2566  ผู้จัดการออนไลน์