ผู้เขียน หัวข้อ: แตกตื่นอาคาร 9 ชั้นตึกรพ.ศูนย์สกลนครสั่นไหว เร่งอพยพผู้ป่วย  (อ่าน 48 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินและผู้ป่วยนอก 9 ชั้น โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร จนท.รพ. ที่ให้บริการอยู่ชั้น 9 ได้รับความรู้สึกว่าอาคารเกิดการสั่นไหวจนรู้สึกได้ และโต๊ะให้บริการเคลื่อนตัว เหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ประมาณ 1-2 นาที โดยรับความรู้สึกได้ตั้งแต่ชั้น 5-9 จึงต้องแจ้งเตือนเร่งอพยพผู้มารับบริการออกจากตัวอาคาร ทั้ง 9 ชั้น รวมถึงผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยห้องไอซียู ไปอยู่ที่ปลอดภัย และตั้งกองอำนวยการติดตามสถานการณ์ ประกาศงดใช้อาคารห้ามบุคคลไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในอาคาร โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รอง ผวจ.สกลนคร นายแพทย์ ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผอ.รพ.สกลนคร นายโกมุท ทีฆธนานนท์ นายกเทศมนตรีนครสกลนคร โยธาธิการและผังเมือง ปภ.เขต 7 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบสถานการณ์ เบื้องต้นตรวจไม่พบรอยแตกร้าวในจุดโครงสร้างสำคัญ หลังจากนั้น จนท. จึงได้ประชุมสถานการณ์หลายฝ่าย เพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งในที่ประชุมได้สรุปข้อมูลจากเหตุการณ์ทั้งหมด คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นผลกระทบมาจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเช้านี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน

นายกฤษฎา ฤทธิ์ศรีบุญ พนักงานราชการ กล่าวว่า ขณะเดินทางมารับบริการตรวจสุขภาพประจำปีที่ชั้น 9 กล่าวว่า ในขณะนั้นตนเองคิดว่ามีอาการวิงเวียนศีรษะ และเหมือนจะหน้ามืด พอสังเกตอาการดีๆ ก็พบว่าอาคารโยกไปมาอยู่ชั่วครู่หนึ่ง และรับรู้สึกได้ ทุกคนในช่วงเวลานั้น เจ้าหน้าที่จึงพากันรีบอพยพลงมาจากตัวอาคารในทันที และไปอยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากยังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น

นายไพรัตน์ ทรงเย็น โยธาธิการและผังเมือง จ.สกลนคร กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับทีมผู้เชี่ยวชาญ พบว่าตึกมีการออกแบบที่แข็งแรง เป็นไปตามมาตรฐานใช้งานมา 4 ปี ฟังจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งตรวจสอบความเสียหายต่อโครงสร้างที่สำคัญในการรับน้ำหนัก ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนอาการที่รับรู้ว่าอาคารมีอาการสั่นไหว โดยเฉพาะชั้นสูงของอาคาร น่าจะได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเช้านี้ในประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 08.37 น. ขณะที่รอยร้าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นรอยร้าวตามผนังที่มีอาการร้าวบ้าง เป็นไปตามอายุการใช้งาน ซึ่งไม่ใช่รอยร้าวใหม่แต่อย่างใด

นายแพทย์ ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผอ.รพ.สกลนคร กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร ได้งดใช้บริการตัวอาคารชั่วคราว ส่วนงานบริการด้านสุขภาพทั้งฉุกเฉินและผู้ป่วยทั่วไป ได้ย้ายไปยังอาคารข้างเคียงแล้ว เพื่อยังสามารถให้บริการได้ จนกว่าจะมีการตรวจสอบยืนยันจนแน่ชัดจากผู้เชี่ยวชาญ ถึงจะกลับมาดำเนินการปกติได้ ต้องขออภัยความไม่สะดวกต่อพี่น้องประชาชน

นางรณิดา ขอยืนยันว่า วันนี้เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นนั้นทราบว่า อาคารยังแข็งแรงปลอดภัยดี ขออย่าให้พี่น้องประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกตามข่าวโซเชียลที่แชร์ออกไป ตอนนี้งดใช้อาคารไว้ก่อน และพรุ่งนี้เมื่อสภาวิศวกร และกรมโยธาธิการ มาตรวจสอบแล้วยืนยันว่าอาคารนั้น ยังคงสภาพแข็งแรงดี ก็จะสามารถเปิดให้บริการได้ไม่วันอาทิตย์ หรือวันจันทร์นี้


เดลินิวส์
17 พ.ย. 2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
วิศวกรลุยตรวจตึก 9 ชั้น รพ.สกล สั่งปิดอาคาร 3 อาทิตย์ หลังเจอแผ่นดินไหว เผยยังไม่พบการทรุดตัว

จากกรณีเมื่อเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน เกิดเหตุแผ่นดินไหว ทำให้อาคารโรงพยาบาลศูนย์สกลนครเกิดการสั่นไหว รู้สึกได้ที่บริเวณชั้น 8-9 เป็นเหตุให้ต้องเร่งอพยพบุคลากร ผู้ป่วยและประชาชน ออกจากตึกไปยังพื้นที่ปลอดภัย ต่อมาได้มีกองอำนวยการชั่วคราวเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าสำรวจบริเวณตัวอาคารและประเมินสถานการณ์ พร้อมทั้งปิดกั้นห้ามไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าบริเวณโดยรอบตัวอาคารนั้น

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินและผู้ป่วยนอก หรือตึก 9 ชั้น โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร อ.เมือง จ.สกลนคร ตลอดทั้งวัน นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร นายพิศุทธิ์ สุขุม วิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และทีมวิศวกรอาสา ตรวจสอบอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินฯตามหลักวิศวกรรม และยังนำอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นโยกและกล้องพิสูจน์ความละเอียดเพื่อตรวจวัดประเมินผลในเชิงลึก โดยทีมวิศวกรเดินสำรวจตั้งแต่ด้านนอกอาคารไปจนถึงด้านในอาคาร ชั้นใต้ดินไปจนถึงดาดฟ้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า วันนี้ทีมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยและทีมวิศวกรอาสาเข้าสำรวจตรวจสอบอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินฯว่ามีปัญหาอย่างไรหรือไม่ เริ่มจากการสำรวจสภาพรอยร้าวทั้งเก่าและใหม่ในเบื้องต้นว่ามีรอยแตกร้าวที่สำคัญตรงไหนบ้าง พร้อมทั้งนำเอาเครื่องมือในการตรวจวัด ซึ่งทำหน้าที่วัดการสั่นหรือโยกของอาคาร สามารถเก็บข้อมูลได้ตลอด 24 ชม. มาติดตั้งไว้ที่ชั้น 9 และดาดฟ้าเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อตรวจวัดค่าว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกหรือไม่ และตามปกติแล้วอาคารมีการสั่นไหวอย่างไร ขณะเดียวกันมีการตรวจวัดค่าการทรุดตัวโดยใช้กล้องพิสูจน์ความละเอียด ซึ่งขณะนี้ยังตรวจไม่พบค่าการทรุดตัวใดๆ

จากการสำรวจในเบื้องต้นโครงสร้างหลักของอาคารไม่ได้มีการแตกร้าวใดๆ ด้านฐานรากของตัวอาคารยังไม่พบร่องรอยของการแตกฉีกของผนังตั้งแต่ชั้นล่างไปจนถึงชั้น 3 ฉะนั้นยังไม่ได้เกิดการทรุดตัวของอาคาร รอยแตกร้าวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนผนังลักษณะไม่ได้เกิดจากการโยกตัว

ส่วนสาเหตุของการสั่นไหวจนทำให้รับรู้ได้นั้นคาดว่าน่าจะเป็นผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ภายหลังจากนี้ 3 สัปดาห์ก็จะนำผลมารวบรวมและวิเคราะห์ในเชิงลึกว่าต้องมีการปรับปรุงแก้ไขตรงไหนหรือไม่ ระหว่างรอการตรวจสอบเชิงลึกก็สามารถเข้าใช้งานในตัวอาคารได้ตามปกติ พร้อมกันนี้ยังกำชับให้ รพ.ศูนย์สกลนคร หมั่นตรวจเช็กร่องรอยต่างๆ ของตัวอาคารเป็นประจำ

ด้าน นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า วันนี้ทีมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ พร้อมอุปกรณ์การตรวจวัดการสั่นไหวของอาคารเข้ามาตรวจสอบตึกอุบัติเหตุฉุกเฉินฯอย่างละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้อาคารของ รพ.ศูนย์สกลนคร หลังจากนี้ไม่ว่ารอยร้าวจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใดปัญหาจะได้รับการแก้ไข ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในศักยภาพของทีมวิศวกรระดับประเทศที่มาในวันนี้

เพื่อให้เกิดความชัดเจนของผลการตรวจสอบเชิงลึกของอาคาร ทาง รพ.ศูนย์สกลนคร จึงปิดบริการอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินฯเป็นเวลา 3 สัปดาห์ และอาจจะเปิดใช้พื้นที่ในบางส่วนเท่านั้น สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถรับบริการได้ที่ตึกร่มโพธิ์ ชั้น 1 เป็นการชั่วคราว และผู้ป่วยนอกได้มีการวางแผนรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้ง

มติชน
19พย2566