ผู้เขียน หัวข้อ: 'โลกร้อน' ไม่หยุด! กระทบแม่น้ำโขง - ไนล์ - มิสซิสซิปปี เสี่ยงจมหายใต้ทะเล  (อ่าน 26 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ปี 2566 กำลังจะผ่านพ้นไป แต่ปัญหาโลกร้อนก็ยังคงอยู่ และในปีต่อๆ ไปก็มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือนก่อนมีรายงานข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานด้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก” ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประมาณการว่า ภายใต้สภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้ “ระดับน้ำทะเล” เฉลี่ยทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 8-29 เซนติเมตร ภายในปี 2030 โดยประเทศบริเวณเส้นศูนย์สูตรจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ เช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปี แม่น้ำโขง และแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของโลก กำลังจมลงใต้ทะเล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกนำมารายงานบนเวที Climate Ambition Summit 2023 หรือการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

เดนนิส ฟรานซิส นักการทูตผู้มีประสบการณ์จากตรินิแดด และโตเบโก หนึ่งในบุคคลสำคัญในวงประชุมครั้งนี้ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การคาดเดาหรือเป็นเรื่องเกินจริง แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว และจะเห็นปรากฏการณ์นี้ในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะเล็กๆ หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำ ได้เร็วกว่าประเทศอื่นของโลก (อ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : IPCC)

อู่ข้าวอู่น้ำของโลกกำลังจมหายไป กระทบ 900 ล้านคนทั่วโลก
เดนนิส เตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้ผู้คนจำนวน 900 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในเขตชายฝั่งทะเล (พื้นที่ลุ่มต่ำ) มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียบ้านเรือน เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และอาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ขยายพื้นที่ไปไกลเกินกว่าชุมชนชายฝั่ง อีกทั้งยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ครอบคลุมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน 

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่จะยิ่งร้อนขึ้นอีกเรื่อยๆ จนส่งผลให้ธารน้ำแข็งบนภูเขา และพื้นที่แผ่นน้ำแข็งหลายแห่งบนโลกละลายอย่างหนัก จึงมีการคาดการณ์ในอนาคตว่า ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นอีกถึง 70 เซนติเมตร ภายในปี 2070
“เราไม่เพียงเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน และบ้านเรือน แต่หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก็จะทำให้มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของเกาะ และภูมิภาคเหล่านี้ ซึ่งช่วยกำหนดอัตลักษณ์ของผู้คนหายไปจากโลกด้วย” เดนนิส กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำทุกประเทศทั่วโลก ยกระดับการดำเนินงานทุกมิติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้จริงจัง และรวดเร็วมากกว่านี้

"ระดับน้ำทะเล" หากยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ชายหาดทั่วโลกจมหายไป ภายในปี 2100
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2020 ก็เคยมีรายงานคาดการณ์เกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเป็นงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้ “หาดทราย” มากกว่า 1 ใน 3 ของโลกจมหายไป ภายในปี 2100

“เนื่องจากหาดทรายมักทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันพายุชายฝั่งและน้ำท่วม และหากไม่มีชายหาดเหล่านี้ ผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วก็อาจจะสูงกว่านี้” มิชาลิส วูดูคัส นักวิจัยจากศูนย์วิจัยร่วมของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวผ่านสำนักข่าวเอเอฟพี

มิชาลิส ยังบอกอีกว่า ปัญหาเรื่องชายฝั่งทะเลกำลังจะจมหายไปนั้น สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังวางแผนระบบการป้องกันอย่างเต็มที่ แต่ในอีกหลายๆ ประเทศส่วนใหญ่ แผนการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้อาจเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้นวัตกรรมที่ล้ำหน้ามาก

ทั้งนี้ ผลการวิจัยระบุด้วยว่า “ออสเตรเลีย” อาจได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมีแนวชายฝั่ง (พื้นที่ลุ่มต่ำ) ที่มีหาดทรายขาวยาวเกือบ 15,000 กิโลเมตร (มากกว่า 9,000 ไมล์) กำลังจะถูกคลื่นซัดหายไปในอีก 80 ปีข้างหน้า ตามมาด้วยชายฝั่งของประเทศแคนาดา ชิลี สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา อินเดีย และบราซิล

ไม่ใช่แค่แม่น้ำสายหลักของโลกจะหายไป แต่กรุงเทพฯ ก็อาจไม่รอด!
ส่วนประเทศไทยนั้น มีรายงานจากเว็บโซต์ The Asean Post ที่ตั้งสมมติฐานว่า หากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส โดยไม่มีมาตรการเตรียมพร้อม คาดว่าประมาณ 40% ของพื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมจากฝนตกชุก และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 15 เซนติเมตรในปี 2573

นอกจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากโลกร้อน จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมง่ายขึ้นแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุก็คือ "ผังเมืองที่แออัดของชุมชน" ในกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ มีพื้นที่สีเขียว และพื้นที่ชุ่มน้ำลดลง เมื่อมีน้ำเหนือไหลหลากมาหรือมีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่มาก ก็จะทำให้ไม่มีพื้นที่รองรับน้ำไม่เพียงพอ

ขณะที่ข้อมูลจาก กรีนพีซ เอเชียตะวันออก ก็รายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า พื้นที่พักอาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นสูง จึงทำให้เกิดอุทกภัยอุบัติซ้ำซากบ่อยครั้ง หากปล่อยไว้แบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่แก้ไข อาจมีผลให้ภายในปี 2573 พื้นที่กว่า 96% ของกรุงเทพฯ จะเจอน้ำท่วมใหญ่ จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปริมาณมาก และความเข้มข้นรุนแรงของพายุที่มากขึ้น

ก็ได้แต่หวังว่าปีหน้า และปีต่อๆ ไป รัฐบาลนานาชาติทั่วโลกรวมถึงไทย จะเร่งดำเนินงานร่วมกันเพื่อหาทางลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้น้อยลงได้ในที่สุด

Bangkokbiznews
15พย2566