ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อรัฐเร่งอัตราการผลิตแพทย์... จะวัด ‘คุณภาพแพทย์’ กันอย่างไร? ตอนที่ 1  (อ่าน 873 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด


‘คุณภาพแพทย์’ จะวัดกันอย่างไร?

การวัด ‘คุณภาพแพทย์’ หรือความสามารถหลังจบการศึกษาที่ดีที่สุดควรเป็นวัดผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ป่วย แต่การนำผลการรักษามาเปรียบเทียบระหว่างแพทย์แต่ละคนแต่ละสถาบันหรือหลักสูตร แล้วนำไปปรับใช้กับกระบวนการแพทยศาสตร์ศึกษาเป็นเรื่องยาก กระทบต่อความน่าเชื่อถือของคณะแพทย์และความรู้สึกของแพทย์ ทำให้การวัดจากผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ป่วยมักไม่นำมาใช้ การวัดคุณภาพจึงวัดทางอ้อม คือวัดที่ปัจจัยนำเข้าและกระบวนการผลิตแทน โดยอาศัยหลักคิดว่า ‘วัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่ดี ย่อมได้แพทย์ที่มีคุณภาพ’ ซึ่งปัจจัยนำเข้าและกระบวนการผลิต ได้แก่ ผู้เข้ารับการศึกษา หลักสูตร การสอบ เกณฑ์มาตรฐานด้านแพทยศาสตรศึกษา ทรัพยากรในการผลิต(1)(2)

Ep1: การคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษา

วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานในการเข้าใจทฤษฎีและแนวคิดทางการแพทย์ที่ซับซ้อน การใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ยังส่งเสริมทักษะในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา สร้างแพทย์ให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based practice) รู้จักเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อมีข้อบ่งชี้ รู้จักเลือกการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่แสดงว่า นักศึกษาแพทย์ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีมีแนวโน้มสูงที่จะประสบความสำเร็จในการศึกษา(3)(4)(5)

ต้นแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ ประเทศตะวันตก ได้แก่ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศจะมีกระบวนการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาที่จริงจังหลายขั้นตอน เช่น ในอังกฤษเข้าศึกษาแพทย์ได้เมื่อจบระดับมัธยมปลาย (year13) ด้วยหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับ ได้แก่ GCSE, A-Level เป็นต้น และมีผลการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับสูง เช่น ต้องได้เกรด A หรือ A* หากผู้สมัครไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (ไม่จบสายวิทย์) ส่วนใหญ่ต้องเรียนเพื่อปรับพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (foundation course) ก่อน และต้องผ่านการทดสอบความถนัดทางแพทย์ ได้แก่ BMAT UCAT(6)(7)

ในสหรัฐอเมริกาผู้สมัครต้องจบปริญญาตรี (มักเป็นสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ) คณะแพทย์ส่วนมากกำหนดให้ผู้สมัครต้องสอบ medical college admission test (MCAT) ซึ่งส่วนใหญ่ทดสอบพื้นฐานวิทยาศาสตร์(9) (คะแนนประมาณ 90% จึงผ่านการทดสอบ)(10) เห็นได้ว่าการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาของทั้งสองประเทศ จะคัดผู้ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ดี คือ biology, chemistry, physics และ mathematics ด้วยแบบทดสอบส่วนกลางที่มีมาตรฐาน

ประเทศไทยมีระบบการคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาแพทย์ 4 ระบบ คือ portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) quota (โควตา) admission (รับตรง) และ direct admission (รับตรงอิสระ) เช่นเดียวกับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS)

ระบบ portfolio, quota และ direct admission ดำเนินการโดยคณะแพทย์เอง มีหลายวิธี ได้แก่ ไม่ต้องสอบคัดเลือก, ไม่กำหนดเกณฑ์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์, คัดเลือกจากผู้มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ข้าราชการด้านสาธารณสุข ตัวแทนแข่งขันด้านวิชาการ ทักษะด้านกีฬา ด้านภาษา, นำผลการเรียนระดับมัธยมปลายมาใช้ในการคัดเลือก (GPA, GPAX), นำแบบทดสอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในการคัดเลือก เช่น TGAT, BMAT, นำแบบทดสอบความรู้วิทยาศาสตร์ เช่น MCAT มาใช้ แต่ไม่กำหนดคะแนนขั้นต่ำ, ใช้คะแนนขั้นต่ำวิชาวิทยาศาสตร์ในการคัดเลือก แต่ใช้แบบอิงกลุ่ม (T-SCORE), กำหนดคะแนนขั้นต่ำวิชาวิทยาศาสตร์ไว้ต่ำเกินไป

แต่คุณสมบัติเฉพาะไม่ใช่หลักประกันว่าจะมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีทุกสาขา ควรมีการทดสอบเช่นเดียวกับผู้สมัครทั่วไป, การนำผลการเรียนในระดับมัธยมปลายมาใช้อาจไม่สะท้อนความรู้ที่แท้จริง เนื่องจาก GPA, GPAX แต่ละสถานศึกษามาตรฐานแตกต่างกัน(11)(12), TGAT คือแบบทดสอบความถนัดทั่วไป(13) และ BMAT คือแบบทดสอบความถนัดทางแพทย์ ประกอบด้วย 3 ส่วน แต่มีส่วนเดียวที่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คือ ส่วนที่ 2 จึงไม่ควรนำคะแนนรวมไปใช้ในการประเมินความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ หากจะนำไปใช้ควรใช้เฉพาะส่วนที่ 2(14), T-Score เป็นการปรับคะแนนเพื่อใช้ในการคัดเลือกแบบอิงกลุ่ม(15)(16) แต่การคัดเลือกแบบอิงกลุ่มหากกลุ่มที่ทำแบบทดสอบได้คะแนนต่ำเป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่มีคะแนนดิบต่ำอาจผ่านการคัดเลือกไปด้วย

ระบบ admission เป็นระบบเดียวที่มีการคัดเลือกจากส่วนกลาง (ป้องกันอคติ) คือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และใช้ข้อสอบกลาง (ลดความแตกต่างของมาตรฐานในการคัดเลือกของแต่ละคณะแพทย์) คือ แบบทดสอบวิชาสามัญ หรือ A-level (ชื่อพ้องกับหลักสูตร A-Level ของอังกฤษ) ที่ออกโดยสสวท. และ TPAT1 (ความถนัดทางแพทย์) ที่ออกโดย กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) มีการทดสอบความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คือ แบบทดสอบวิชาสามัญวิทยาศาสตร์ ของสสวท. และกำหนดคะแนนขั้นต่ำ(17) แต่ยังมีปัญหาจากระบบคิดคะแนน เนื่องจากนำคะแนนวิชา biology, chemistry และ physics ไปรวมกัน และกำหนดคะแนนขั้นต่ำเพียง 30% ของคะแนนเต็ม

การไม่แยกคะแนนวิทยาศาสตร์แต่ละสาขาทำให้ไม่สามารถทดสอบความรู้เป็นรายวิชา ผู้สอบอาจทำคะแนนได้ดีเพียงวิชาใดวิชาหนึ่งแต่ได้คะแนนต่ำในวิชาอื่น และข้อสอบวิชาสามัญวิทยาศาสตร์ ของสสวท. เป็นข้อสอบปรนัยถึง 75 - 84%(18) ซึ่งทราบกันดีว่าข้อสอบปรนัยนั้นการเดาสุ่มก็อาจได้คะแนนถึง 20-25% การกำหนดคะแนนขั้นต่ำ 30% จึงน้อยเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเกณฑ์คัดเลือกของประเทศตะวันตก คะแนนขั้นต่ำรายวิชาจึงไม่ควรต่ำกว่า 50% ของคะแนนเต็ม

การประเมินความรู้ อาจใช้ผลการเรียนระดับมัธยมปลายโดยใช้ข้อสอบกลางเช่นเดียวกับ หลักสูตร A-Level ของอังกฤษ หรือข้อสอบส่วนกลางที่ใช้ทดสอบความรู้ระดับมัธยมปลายโดยเฉพาะ เช่น แบบทดสอบวิชาสามัญวิทยาศาสตร์ ของสสวท. หรือ แบบทดสอบที่นานาชาติยอมรับ เช่น MCAT และหากต้องการทดสอบความสามารถด้านอื่น เช่น วิชาสามัญอื่นๆ ความถนัดทางแพทย์ ทางภาษา อาจนำคะแนนด้านนั้นๆ ไปถ่วงน้ำหนักกับคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำแล้ว

แพทย์เป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่ง ทั้งยังต้องรับผิดชอบชีวิตมนุษย์ การทดสอบความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของผู้สมัครเข้ารับการศึกษาจึงมีความจำเป็น ดังนั้นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับแพทยศาสตรศึกษาควรปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ กสพท และคณะแพทย์ ควรพิจารณาหลักเกณฑ์รับบุคคลเข้ารับการศึกษาให้มีการประเมินความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในทุกระบบการคัดเลือก และ แพทยสภาและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ควรกำหนดหลักเกณฑ์การขอเปิดหลักสูตรและคณะแพทย์ให้ครอบคลุมถึงมาตรฐานในการคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม

นพ.ภีศเดช  สัมมานันท์  อดีตกรรมการแพทยสภา
นพ.ยุทธนา ป้องโสม      นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

เอกสารอ้างอิง
1.   Matt Emery, Margaret Wolff, Chris Merritt, et all., An outcomes research perspective on medical education: Has anything changed in the last 18 years?, Medical Teacher, 2022.
2.   Med Ed Tweet, งานวิจัยทางเเพทยศาสตรศึกษา กี่ % ที่วัด outcomes ที่ตัวผู้ป่วย, 23 มกราคม 2566, ค้นวันที่ 23 ตุลาคม 2566 จากhttps://www.facebook.com/mededtweet/posts/pfbid0J7hW4Svy57nSvv1YHfe6bFiNFqVkxxdZcpGD1GsU5CNQE35Z94UdfWU8amSRveZol.
3.   Donald B. DeFranco and Gwendolyn Sowa, The Importance of Basic Science and Research Training for the Next Generation of Physicians and Physician Scientists, Mol Endocrinol (Dec 2014): 28(12): 1919–1921.
4.   Medical University of The Americas, The role of Basic Sciences in medical education, Retrieved November 2023, 2023 from https://www.mua.edu/resources/blog/basic-sciences-in-medical-education
5.   Joshua T. Hanson, Kevin Busche, Martha L. Elks, et all., The Validity of MCA alidity of MCAT Scores in Pr es in Predicting Students' P edicting Students' Performance formance and Progress in Medical School: Results From a Multisite Study, University of New Mexico UNM Digital Repository, January,1 2022, 1372-1384
6.   BMA, Applying to medical school, September 1, 2021, Retrieved October 24, 2023 from https://www.bma.org.uk/advice-and-support/studying-medicine/becoming-a-doctor/applying-to-medical-school.
7.   APSthai, เรียนหมอที่อังกฤษดีอย่างไร, 5 ธันวาคม 2564, ค้นวันที่ 23 ตุลาคม 2566 จาก                  https://www.siuk-thailand.com/popular-courses/medicine/.
8.   Become, How to become a doctor, February 28, 2023, Retrieved October 23, 2023 from https://www.learnhowtobecome.org/doctor/.
9.   AAMC, About the MCAT® Exam, Retrieved October 23, 2023                                                           from https://students-residents.aamc.org/about-mcat-exam/about-mcat-exam.
10.   MEDISTUDENTS TEAM, What is a Good MCAT Score?, October 18, 2022, Retrieved November 3, 2023 from  https://www.medistudents.com/mcat/what-is-a-good-mcat-score/.
11.   อรทัย เจริญสิทธิ์, ดร.ไพรัตน์ วงษ์นาม และดร.สมพงษ์ ปั้นหุ่น, การพัฒนาวิธีการปรับเทียบสเกลผลการเรียนสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษา ตอนปลายหรือเทียบเท่า โดยการขจัดอิทธิพลของขนาดโรงเรียน และใช้คะแนน ผลการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานเป็นคะแนนเชื่อมโยง, วารสารการศึกษาและการพัฒนาสังคม ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 ปีการศึกษา 2559, หน้า 1.
12.   ไพศาล วรคำ, การพัฒนาวิธีการปรับเทียบผลการเรียนโดยอาศัยหลักการสเกลชั้นเดียวและสองชั้น (สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2552), หน้า 1.
13.   Plook TCAS, ข้อสอบ TGAT/TPAT คืออะไร มีวิชาอะไรบ้าง, 03 ต.ค. 65, ค้นวันที่ 23 ตุลาคม 2566 จาก https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/92280.
14.   Cambridge University, BIOMEDICAL ADMISSIONS TEST (BMAT) Content Specification, 2023, Retrieved October 23, 2023 from
https://www.admissionstesting.org/Images/47829-bmat-test-specification.pdf.
15.   Dek-D's TCAS สอบติดไปด้วยกัน, T-Score คืออะไร?, 11 มกราคม 2566, ค้นวันที่ 24 ตุลาคม 2566 จาก https://www.facebook.com/dekdTCAS/photos/a.147178538654808/6042562749116328/?type=3&_rdc=2&_rdr.
16.   Big Brain Academy, ค่า T-Score ตอนสอบคืออะไร ?, ค้นวันที่ 24 ตุลาคม 2566 จาก https://bbaonline.net/tscore/.
17.   กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย, ประกาศกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1 เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา หลักสูตรคณะแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2567 ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย, 8 สิงหาคม 2566.
18.   WE BY THE BRAIN, การเปลี่ยนแปลง จากวิชาสามัญ สู่ข้อสอบ A-Level, 26 พฤษภาคม 2565, ค้นวันที่ 24 ตุลาคม 2566 จาก https://www.webythebrain.com/article/tcas66-what-is-a-level-test

4 พฤศจิกายน 2566
สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 พฤศจิกายน 2023, 19:23:56 โดย story »