ผู้เขียน หัวข้อ: "ตายมากกว่าเกิด" วาระแห่งชาติของประเทศไทย ในวิกฤตด้านประชากร  (อ่าน 325 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด


เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว เรื่องการเกิดน้อย  ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า
ในปี 2564 มีคนเกิด 544,570 คน แต่มีคนตาย 563,650 คน (-19,080 คน)
ในปี 2565 มีคนเกิด 502,107 คน แต่มีคนตาย 595,965 คน (- 93,858 คน)
มีการคาดการว่า ถ้าปล่อยไปแบบนี้ อีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน คือ ประมาณ 33 ล้านคน แน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านความมั่นคง

เป็นวาระแห่งชาติ ไปอีกเรื่องแล้ว นอกจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการมีบุตรแล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นสำคัญที่ซ่อนอยู่   



1. หากเด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ควรเริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่อยู่ในท้อง  ตอนที่แม่ตั้งครรภ์ ให้ “เด็กในครรภ์เป็นทรัพยากรที่สำคัญของรัฐ” เรามีกฎหมายที่ให้สิทธิแก่หญิงที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ “ทำแท้ง” (abortion) ในกรณีที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม หรือไม่พึงประสงค์ หากรัฐจะพยายามมากขึ้นอีกนิด  รัฐต้องลงทุนสร้างทางเลือกที่ดี และเป็นไปได้ เพื่อให้หญิง เลือกที่จะเก็บเด็กไว้  สร้างระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลที่ดี  และระบบบุตรบุญธรรม(adoption)ที่เข้มแข็งทั้งส่วนบุคคล และส่วนของรัฐเอง... มีตัวอย่างมากมายที่คนที่เกิดมาในขณะที่พ่อแม่ไม่พร้อม แต่เป็นคนที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและโลกเราอย่างมากมาย

2.การบาดเจ็บ(Injury) เป็นสาเหตุสำคัญที่เราสูญเสีย เด็ก วัยรุ่น และวัยทำงานไปอย่างมากมายในแต่ละปี โดยเฉพาะ อุบัติเหตุทางถนน รัฐต้องจริงจัง ในการดูแลไม่ให้ประเทศไทย มีถนนที่อันตรายแบบเช่นทุกวันนี้  + สร้างวัฒนธรรมที่ไม่สนับสนุนความรุนแรง มีกระบวนการป้องกัน ดูแลรักษา และฟื้นฟู... และระบบการรักษาผู้บาดเจ็บ(Trauma care)ต้องถูกสังคายนาครั้งใหญ่เสียที



สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ
๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๖
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 ตุลาคม 2023, 23:12:25 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
นายกฯ ตกใจ! อัตราการเกิดของคนไทยขั้นวิกฤต ต่ำสุดในรอบ 71 ปี สั่งรัฐบาลต้องเอาไปทำการบ้าน สร้างความสุข เศรษฐกิจดี มีความปลอดภัย

วันที่ 21 ธ.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างลาพักผ่อน นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ทวิตแสดงความเห็น กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ เรื่องอัตราการเกิดในปีที่แล้วอยู่ในขั้นวิกฤต มีเด็กเกิดในประเทศไทยเพียง 502,000 คน ต่ำกว่าเป้าหมาย 700,000 คน ประมาณ 30% และเป็นอัตราการเกิดต่ำสุดในรอบ 71 ปีว่า

“เห็นข้อมูลชุดนี้แล้วน่าตกใจนะครับ แม้ปัญหาอัตราการเกิดของประเทศไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จากบทความในสื่อสารมวลชน จะเห็นว่าอัตราการเกิดปีที่ผ่านมาของไทยต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี ซึ่งประเด็นนี้ละเอียดอ่อน”

“ผมในฐานะนายกฯ และรัฐบาล ตระหนักในเรื่องสิทธิเหนือร่างกายและอำนาจของผู้หญิงที่พึงมีสิทธิ์เต็มที่ในการตัดสินใจที่จะมีลูกหรือไม่มีลูก”
“ขณะเดียวกันในฐานะนายกฯ ผมมีหน้าที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่แล้วมีความสุข เศรษฐกิจดี มีความปลอดภัย ถ้าคนจะมีลูกก็มั่นใจว่าลูกหลานเขาจะได้รับการศึกษาที่ดี มีงานทำ ไม่มีเรื่องยาเสพติด ผู้หญิงมี work life balance ทำงานได้ มีลูกได้เรื่องใหญ่ครับ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเอาไปทำการบ้าน”

Amarin TV News
21 ธ.ค. 66

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ปี 2023 อัตราเกิดของเด็กยังมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศรายได้สูงและรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง พบ 123 ประเทศมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าเกณฑ์ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าการเกิด เสี่ยงประชากรลด ขาดแรงงานอายุน้อยดำเนินเศรษฐกิจในอนาคต

จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) อัตราการเกิด (birth rate) ของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 17.464 คนต่อประชากร 1,000 คน ลดลง 1.15% จากปีก่อนหน้า และลดลง 16.9% จากปี 2003 หรือ 20 ปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 21.017 คน ขณะอัตราเจริญพันธุ์ (fertility rate) ของโลก หรือ จำนวนบุตรเกิดที่รอดชีวิตโดยเฉลี่ยต่อสตรีในวัยเจริญพันธุ์ 1 คน (อายุ 15 – 49 ปี) อยู่ที่ 2.3118 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน จาก 2.6 คนในปี 2003

ข้อมูลนี้สะท้อนเทรนด์การเกิดที่ลดลงในหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศรายได้สูงและปานกลางค่อนไปทางสูง เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน รวมไปถึงประเทศไทย ที่ประชาชนส่วนมากมีรายได้และค่าครองชีพค่อยไปทางสูง ผู้หญิงมีการศึกษา เข้าร่วมตลาดแรงงานได้เต็มที่ มีอิสระทางการเงิน และสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขอนามัยและการคุมกำเนิดได้อย่างสะดวก

ในปัจจุบัน หลายๆ ประเทศรวมไปถึงประเทศไทยเริ่มมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าการเกิด ทำให้จำนวนประชากรมีแนวโนที่จะลดจำนวนลงในอนาคตหากอัตราเกิดต่ำกว่าอัตราการเสียชีวิตมาก และในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน และประเทศยุโรป เช่น อิตาลี ตุรกี โปรตุเกส ก็เริ่มมีจำนวนประชากรลดลงแล้ว

123 ประเทศอัตราเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เกาหลีใต้ต่ำสุด
ในปี 2023 มีถึง 123 ประเทศ ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศต่ำกว่าอัตราเจริญพันธุ์ทดแทน (replacement fertility level) หรือ อัตราเจริญพันธุ์ระดับที่สตรีตลอดวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะให้กําเนิดบุตรเพียงพอที่จะทดแทนตนเองและคู่สมรส ซึ่งอยู่ที่ 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน

ในปัจจุบัน ประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1) เกาหลีใต้ ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 0.8831 คน 2) หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.0277 คน 3) แซ็ง-บาร์เตเลมี ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.0277 คน 4) สิงคโปร์ ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.0426 คน และ 5) อันดอร์รา ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.145 คน ส่วนทางด้านของ ‘ประเทศไทย’ อยู่ที่อันดับที่ 18 ด้วยอัตราการเจริญพันธุ์ที่ 1.3158 คน

จากข้อมูลของ UN ประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าอัตราเจริญพันธุ์ทดแทนมาตั้งแต่ปี 1992 หรือประมาณ 32 ปีมาแล้ว แต่อัตราการเกิดของไทยเริ่มน้อยกว่าอัตราเสียชีวิตเป็นครั้งแรกในปี 2021 โดยในปีดังกล่าว ประเทศไทยมีการตายมากกว่าการเกิด 19,080 คน ในขณะที่ปี 2020 ประเทศยังมีการเกิดมากกว่าการตายอยู่ถึง 85,930 คน และเลวร้ายลงในปี 2022 ที่ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าการเกิด 93,858 คน
 
UN คาดประชากรโลกเสียชีวิตมากกว่าเกิดในปี 2086
ในปัจจุบัน หลายๆ ประเทศในโลกโดยเฉพาะประเทศยากจนยังมีอัตราการเกิดและอัตราเจริญพันธุ์ในระดับที่สูง ทำให้โดยรวมแล้วประชากรโลกยังมีการเกิดมากกว่าการเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเทรนด์นี้ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะประเทศที่กำลังพัฒนาในที่สุดก็จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจจนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและค่านิยมในการสร้างครอบครัวอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว

โดยจากการคาดการณ์ของ UN อัตราการเกิดโดยรวมในโลกจะเริ่มน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2086 หรืออีก 62 ปีข้างหน้า โดยจะมีการเกิดประมาณ 118.98 ล้านคน และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 119.21 ล้านคน และดำเนินไปในทางตรงข้ามกันเรื่อยๆ ในอนาคต

ส่วนในประเทศไทย ได้มีการศึกษาเพื่อคาดการณ์อัตราเจริญพันธุ์และจำนวนประชากรของไทยในอนาคตหลายชิ้น โดยในงานวิจัยหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2023-2083 อัตราเจริญพันธ์ุ์ของไทยจะลดลงไปเรื่อยๆ เหลือ 0.7 ในปี 2050 ใกล้เคียงกับภาวะเจริญพันธุ์ของเกาหลีใต้ในปัจจุบัน และลดลงเหลือ 0.5 ในปี 2083

และจากการคาดการณ์ดังกล่าว ในปี 2023-2083 จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคนเหลือเพียง 33 ล้านคน มีจำนวนประชากรวัยแรงงาน (อายุ15-64 ปี) ลดลงจาก 46 ล้านคนเหลือเพียง 14 ล้านคน และประชากรผู้สูงวัย (อายุ 65 ขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคนไปเป็น 18 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ
 
การลดลงของประชากรจะส่งผลอย่างไรบ้าง?
การลดลงของประชากรจะส่งผลกระทบชัดเจนในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะประชากรคือแรงงานซึ่งเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจในทุกที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหลักที่ใช้แรงงานมาก เช่น อุตสาหกรรมการผลิต และการก่อสร้าง และจะทำให้ภาครัฐมีรายได้และงบประมาณลดลงในการนำมาพัฒนาประเทศ เพราะจำนวนผู้เสียภาษีจะลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ การลดลงของประชากรยังส่งผลต่อการบริโภคในประเทศ ทำให้หากประชากรลดลงไปเรื่อยๆ ธุรกิจที่ต้องพึ่งพาผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น อสังหาริมทรัพย์ อาหาร และบริการต่างๆ ก็จะมีรายได้ลดลง เพราะดีมานด์ลด ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาป้อนตลาดได้ในปริมาณเท่าเดิมได้

ในด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรนี้จะทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุสูงขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุส่วนมากไม่มีลูกหลานคอยดูแลในยามบั้นปลาย ทำให้หากประเทศนั้นๆ ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพมากพอ ประชากรสูงอายุอาจจะได้เกษียณอายุการทำงานช้ากว่าเดิม เพราะต้องหารายได้เลี้ยงชีพ เกิดปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งไม่มีคนดูแล รวมไปถึงเกิดปัญหาสุขภาพจิตเพราะผู้สูงอายุขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุก็เป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล ยา อุปกรณ์ช่วยเหลือ รวมไปถึงบริการและกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจุบันไทยมีครัวเรือนที่ “ไร้บุตรหลาน” ในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยในปี 2018  นั้นมีสัดส่วนสูงถึง 37.4% ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มจาก 26.1% ในปี 2006 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่สูงถึง 43.3% ทำให้ถือได้ว่าประเทศไทยกำลังเจอความท้าทายจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเร่งแก้ไขเพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างระบบสวัสดิการเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต

   
อ้างอิง: CU, Macro Trends, Our World in Data, Database Earth

 
AmarinTV
1 มค 2567