ผู้เขียน หัวข้อ: กางนโยบายสธ. “เอกชน-รัฐ” จับมือขยายบริการสาธารณสุข  (อ่าน 23 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา 1 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข โดยยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคให้เป็นนโยบายสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคสาธารณสุขของไทย

หากวิเคราะห์ภาพรวมของนโยบายสาธารณสุขภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านใหม่ จะพบว่า มีหลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนในกลุ่มใหญ่ และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและโรคที่มีอัตราการป่วยสูง

กางนโยบายสธ. “เอกชน-รัฐ” จับมือขยายบริการสาธารณสุข (1)

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการขยายโรงพยาบาลรัฐให้ครอบคลุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีประชากรหนาแน่น ซึ่งในหลายนโยบายเหล่านี้ จะช่วยทำให้บริการต่างๆ นั้นมีความครอบคลุม แต่ก็จะมาพร้อมกับงบประมาณในการดูแลด้านสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ประชาชนยังสามารถนำบัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาได้ทั่วไทย นัดคิวออนไลน์ โดยไม่ต้องรอคิวนานๆ และสามารถตรวจเลือดจากคลินิกใกล้บ้าน และนัดหมายแพทย์ได้เลย ประกอบกับในปัจจุบันนี้ มีช่องทางการรักษาและจ่ายยาออนไลน์ สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับบริการโดยเฉพาะโรคเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือการติดตามอาการ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีแผนระดมฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีให้เด็กผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9-11 ปีทุกคน และผู้หญิงที่ยังไม่เคยรับเชื้อ HPV ซึ่งเป็นการบริการสาธารณสุขเชิงป้องกันที่ช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากกว่าครึ่ง การตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับและไวรัสตับอักเสบซี รับยา-รักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลด้านสุขภาพจิตผ่านระบบการรักษาผ่านโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine และยังมีแผนเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลรัฐในแต่ละเขตของกรุงเทพฯ อีกด้วย

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,926 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566

2 ตุลาคม 2566
https://www.thansettakij.com/health/wellbeing/577413
.................................................................

พอมาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดพื้นที่กรุงเทพมหานครยังจำเป็นต้องมีสถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเพิ่มเติมอีก หากในมุมมองของเอกชนนั้น การเพิ่มจำนวนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการให้บริการมากกว่า เพราะการจัดตั้งโรงพยาบาลรัฐขนาด 120 เตียงขึ้นไป ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล

รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้เองสถานพยาบาลของรัฐก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อยู่ นอกจากการเพิ่มสถานพยาบาลประเภทโรงพยาบาลแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป คืออัตรากำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องหามาเติมให้พอโดยเร็ว

ในขณะเดียวกัน ก็มีการบริการสาธารณสุขอีกโมเดลที่ภาคเอกชนร่วมดูแลอยู่ คือรูปแบบการดูแลรักษาผ่าน Primary Care (การแพทย์ปฐมภูมิ) ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขยายบริการคลินิกชุมชน ผ่านการดูแลสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. และเป็นโมเดลที่ถูกขับเคลื่อนมาตั้งแต่อดีต ที่พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถร่วมดูแลประชากรกลุ่มใหญ่ได้ โดยคลินิกนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการคัดกรองผู้ป่วยเพื่อส่งต่อไปยังระบบทุติยภูมิ (Secondary care) หรือโรงพยาบาล เป็นต้น

ซึ่งโดยหลักการนี้ สามารถช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลรัฐได้ ขณะที่รูปแบบและกลไกการดูแลรวมถึงการให้บริการ ยังคงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจากการพูดคุยหารือกับเอกชนที่เข้าร่วมในระบบดังกล่าว ล้วนยังรอความหวังจากรัฐบาลใหม่ที่จะมาช่วยพัฒนาระบบที่ทำให้เอกชนสามารถร่วมงานกับภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
และผมเชื่อว่า ยังมีกลไกการขับเคลื่อนด้านสาธารณสุขอีกหลายมิติในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะในพื้นที่แออัดยากแก่การเข้าถึงด้วยข้อจำกัดด้านสถานะเศรษฐกิจและสังคม ที่แม้จะมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอยู่จำนวนมากแล้วก็ตาม แต่การเข้าถึงบริการสาธารณสุขในกลุ่มคนโดยเฉพาะผู้เปราะบางหรือในพื้นที่แออัด ยังมีความต้องการอีกมาก

ท้ายสุดนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลายนโยบายที่กำลังคลอดออกมา จะนำไปสู่การแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขในทุกระดับอย่างแท้จริง และเชื่อว่าระบบการร่วมดูแลระหว่างภาครัฐกับเอกชน จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการลดภาระด้านงบประมาณสาธารณสุขควบคู่กับการสร้างความเติบโตให้กับชุมชนไปพร้อมกัน

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,930 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2566