ผู้เขียน หัวข้อ: วาระแห่งชาติ 'ปัญหาเด็กเกิดน้อย' เรื่องของคนอื่น แต่กระทบโครงสร้างการพัฒนาประเทศ  (อ่าน 35 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
15 ก.ย.2566- สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ , กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงแรงงาน , สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 4 ในหัวข้อเรื่อง “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย : ปัญหาและทางออก” ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

จากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้วีดีโอคอล ชี้แจงถึงนโยบายการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกัลปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลง ช่วงหนึ่งว่า ใน 12-13 เรื่องที่ได้นำเสนอและจะประกาศเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ปัญหาเด็กแรกเกิด ปัญหาการดูแลเด็กเล็ก โดยเฉพาะการให้นมบุตรอย่างน้อยตั้งแต่ 0-6 เดือน ซึ่งปัญหาที่พบคือ โครงสร้างประชากรของคนไทยขณะนี้เกิดการบิดเบี้ยว ประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ขณะที่อัตราการเกิดใหม่น้อยมาก โดยอัตราเกิดที่เหมาะสมคือ 2.1 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่ปัจจุบันพบว่าอัตราเกิดอยู่ที่ 1.6 คนต่อประชากร 100,000 คน หมายความว่าใน 1 ปีมีจำนวนการเกิดที่น้อยกว่า 50,000-60,000 คน ดังนั้นจากความคิดที่ว่าลูกมากจะยากจน ต้องเอาออกจากสมองคนไทย ทำให้คนไทยไม่ยอดมีบุตร โดยเฉพาะคนที่พื้นฐานการศึกษาที่ดี หรือกลุ่มคนที่มีฐานเศรษฐกิจรองรับ จึงเป็นปัญหาต่อการพัฒนาและการแข่งขันระดับประเทศ หากไม่เพิ่มฐานประชากร ในฐานะกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ จึงอยากจะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ

นางวรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ขยายถึงโครงสร้างประชากร ปัญหา โอกาส ที่บ่งชี้ผลกระทบหากเด็กเกิดน้อยว่า เนื่องจากโครงสร้างประชากรไทยมีการเปลี่ยนแปลง ในปี2566 ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แต่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นสังคมสำหรับผู้สูงอายุ แต่ในความจริงเป็นสังคมสำหรับทุกช่วงวัย เพียงแต่สัดส่วนประชากรแต่ละช่วงวัยเปลี่ยนไป แบ่งเป็นผู้สูงวัย 20% วัยเด็กจำนวน 16% และวัยแรงงาน 63% แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด จะมีผู้สูงอายุมากถึง 28% วัยแรงงานจะลดลงเหลือเพียง 57% และวัยเด็ก 14% และในอีก 7 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุอาจจะเพิ่มจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประเทศ และวัยเด็กที่เกิดขึ้นลดลงเหลือเพียง 12% ในเชิงพื้นที่ยังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวมยอด(TFR ) กำหนดอยู่ที่ 1.6 คน แต่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำสุด

วรวรรณ กล่าวต่อว่า จากโครงสร้างประชากรดังกล่าว ปัจจุบันมีจำนวนประชากรไทยประมาณ 66 ล้านคน เมื่อเทียบการเกิดของเด็กในพ.ศ. 2508 มีอัตราเกิดอยู่ที่ปีละ 6 คน แต่ตอนนี้อัตราเกิดอยู่ที่ปีละ 1 คนกว่า และได้มีการคาดประมาณการไว้ว่าเด็กประถมวัยจะลดจำนวนลง โดยในปีพ.ศ. 2566 มีเด็กประถมวัย 0-6 ปี จำนวน 4.3 ล้านคน แต่ในปีพ.ศ. 2583 จะเหลือเพียง 3.1 ล้านคน ในขณะที่ปีพ.ศ. 2564 อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดประมาณ 2,700 คน คิดเป็น 5.2 คนต่อทารกแรกเกิดมีชีพ 1,000 คน หรือตายก่อนวัยอันควรด้วยอุบัติเหตุและจมน้ำกว่า 1,200 คน อีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ขนาดครอบครัว เพราะขนาดครอบครัวที่มีเพียงสามี-ภรรยา และไม่มีลูกเพิ่มขึ้น 20% ส่วนครอบครัวแบบพ่อแม่-ลูกลดลงเหลือ 52% และเด็กที่อยู่ในครัวเรือนยากจนมีถึง 3.5 แสนคน ทางด้านโภชนาการที่เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนได้รับนมแม่อยู่ที่ 28.6% จึงทำให้เด็กโตสมวัยตั้งแต่ 0-5 ปีมีเพียง 73% เท่านั้น


15 กันยายน 2566
https://www.thaipost.net/news-update/449459/