ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.ขอนแก่นจ้างเอกชนวัดค่ามลพิษและกลิ่นโรงบำบัดขยะฯหลังไม่เชื่อถือผลตรวจวัดกรม  (อ่าน 116 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เทศบาลนครขอนแก่นยอมให้ รพ.ขอนแก่นจ้างผู้เชี่ยวชาญบริษัทเอกชนเข้าตรวจวัดค่ามลพิษและกลิ่นรบกวนจากกระบวนการทำงานโรงบำบัดขยะติดเชื้อภายในโรงพยาบาลเพื่อเทียบกับผลตรวจวัดจากกรมอนามัยที่ชี้ว่าค่ากลิ่นอยู่ในขั้นอันตรายต่อสุขภาพ เชื่อผลตรวจพิสูจน์จากบริษัทเอกชนน่าเชื่อถือมากกว่า

จากกรณีนายธีระศักดิ์ ฆีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่นลงนามหนังสือแจ้งให้โรงพยาบาลขอนแก่นหยุดกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อด้วยระบบไอน้ำทันที เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เนื่องจากผลตรวจวัดค่ากลิ่นของกรมอนามัยระบุว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีผลต่อสุขภาพประชาชน ต่อมาวันที่ 18 ก.ย.66 ทางโรงพยาบาลฯโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกุลเกียรติ ผู้อำนวยการฯได้ทำหนังสือขออนุญาตเปิดดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยตนเองเป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจวัดค่ามลพิษและกลิ่นรบกวนจากผู้เชี่ยวชาญ บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนค์ เอ็นจิเนียวิ่งคอนชัลแตนท์ จำกัด ผลตรวจวัดฯที่ได้จากบริษัทเอกชนแห่งนี้น่าเชื่อถือมากกว่ากรมอนามัย

โดยจะตรวจวัดค่ามลพิษและกลิ่นรบกวนทั้งในอาคารกำจัดมูลฝอยติดเชื้อและบ้านพักข้าราชการ ศูนย์อนามัยที่ 2 ขอนแก่น (แฟลตกระดังงา) ระหว่างวันที่ 25 - 26 กันยายน 2566 ในช่วงเวลา 08.30 - 16.30 น. ซึ่งล่าสุด วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางเทศบาลนครขอนแก่นได้มีหนังสืออนุญาตดำเนินการได้ เพื่อนำผลการตรวจวัดค่ามลพิษและกลิ่นรบกวนใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาโรงบำบัดขยะของโรงพยาบาล

ความคืบหน้ากรณีปัญหาดังกล่าว วันนี้(25 ก.ย.)เวลาประมาณ 09.00 น. บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนค์ เอ็นจิเนียริ่งคอนชัลแตนท์ จำกัด(UAE) โดยนายอภิวิชญ์ ท่วงที นักวิชาการสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ,นพ.ปิติ จันทร์เมฆา หัวหน้ากลุ่มงาน อาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น, ผู้สังเกตุการณ์ร่วมจากศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่นและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากเทศบาลนครขอนแก่นได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจวัดค่ามลพิษและกลิ่นรบกวน(air contaminants ) ทั้งในอาคารกำจัดมูลฝอยติดเชื้อและบ้านพักข้าราชการ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น

นายอภิวิชญ์ ท่วงที นักวิชาการสิ่งแวดล้อม บริษัท UAE กล่าวว่า การตรวจวัดค่ามลพิษกรณีที่เป็นงานเร่งด่วนหรือกรณีที่มีข้อร้องเรียน ใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วันก็ทราบผล ผลการวัดค่าจะมีความแม่นยำ ประมาณ 90% บริษัท UAE ได้รับมาตรฐาน ISO ของแลป การตรวจสอบของเราเริ่มจากการเก็บฝุ่นในกล่องไฟที่อยู่ด้านนอกมาเป็นตัวอย่าง ตัวอย่างจะถูกส่งเข้าแลป เพื่อวิเคราะห์แปรผล ทาง UAE สามารถตรวจวัด ตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง ค่าเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคารสาธารณะ 2565

ด้าน นพ.ปิติ จันทร์เมฆา หัวหน้ากลุ่มงาน อาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า จากที่มีข่าวว่าทางโรงพยาบาลขอนแก่น ปล่อยมลพิษไป และทำให้ส่งผลต่อสุขภาพ เพราะล่าสุดเราโดนสั่งปิดจุดกำจัดขยะ โดยทางเทศบาลนครขอนแก่น เลยอยากรู้ว่าเราปล่อยมลพิษจริงหรือเปล่า ถ้าเกิดเราปล่อยจริงเรายินดีแก้ไข แต่ข้อมูลที่ได้มาจากฝ่ายที่กล่าวหา ตอนนี้เราจึงอยากได้ข้อมูลมาจากบริษัท ที่เป็นกลาง ถ้าเกิดว่าเกินค่า มาตรฐานหรือเกินค่าลิมิต หรือในข้อกำหนดในข้อกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือไม่ว่าจะเป็นพวกฝุ่นละออง หรือแม้แต่พวกก๊าชละลาย หรือใดๆก็ตามถ้าเราปล่อยเกิน เราก็ยินดี และพร้อมที่จะแก้ไขใน ส่วนผลการตรวจวัดค่ามลพิษต่างๆ ที่ปล่อยออกทางอากาศ ทางโรงพยาบาลขอนแก่นจะชี้แจง ภายหลังจาที่ทางบริษัท UAE แจ้งผลมา

25 ก.ย. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เหม็นสุดทน! ชาวแฟลตกระดังงาพร้อมชมรมผู้สูงอายุโร่ร้องศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่นให้หยุดกำจัดขยะติดเชื้อภายในโรงพยาบาลขอนแก่น หลังทนกลิ่นเหม็นรุนแรงนานร่วมปี ทั้งผลตรวจจากกรมอนามัยระบุพบสารก่อมะเร็ง

วันนี้ (5 ก.ย.) ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากระบบบำบัดขยะติดเชื้อโรงพยาบาลขอนแก่น นำโดย ดร.อธิวัฒน์ บุตรดาบุตร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น พร้อมด้วยผู้พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงและตัวแทนจากชมรมผู้สูงอายุ นำโดยนายอุดม เย็นสบาย ประธานชมรมสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น นำหนังสือไปยื่นต่อ นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

กรณีได้รับผลกระทบจากการเปิดดำเนินการบำบัดขยะติดเชื้อ พร้อมกับเรียกร้องให้หยุดใช้เตากำจัดขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น หลังจากผู้พักอาศัยใกล้กับโรงบำบัดขยะติดเชื้อ ประกอบด้วยแฟลตกระดังงา ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ต่างได้รับผลกระทบจากควันที่เกิดจากการบำบัดขยะ มีกลิ่นรุนแรง และหวั่นกระทบต่อสุขอนามัยของผู้พักอาศัย รวมไปถึงสมาชิกในชมรมผู้สูงอายุด้วย

ดร.อธิวัฒน์ บุตรดาบุตร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า ตนพักอยู่ที่แฟลตกระดังงาภายในศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น เป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ที่จัดสรรไว้ให้ โดยอาศัยอยู่กับครอบครัวชั้นที่ 2 ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ปลายปี 2565 มาจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้เมื่อได้กลิ่นตนจะรู้สึกปวดศีรษะทันที

อยากเรียกร้องให้ผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ให้หยุดกำจัดขยะติดเชื้อและให้ย้ายโรงบำบัดขยะติดเชื้อไปจุดอื่น อาจจะย้ายไปที่โรงพยาบาลขอนแก่นแห่งที่ 2 บ้านโคกสี ต.โคกสี อ.เมืองขอนแก่น ซึ่งอยู่ห่างไกลชุมชน อีกทั้งเทศบาลนครขอนแก่นก็มีคำสั่งให้หยุดกำจัดขยะแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังกำจัดขยะติดเชื้ออยู่ทุกวัน ซึ่งจากข้อมูลของกองสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ที่เข้ามาตรวจสอบแล้ว ระบุว่าการกำจัดขยะติดเชื้อมีสารก่อมะเร็งด้วย

หากต้องทนสูดกลิ่นควันแบบนี้ไปทุกวัน ตนก็ไม่รู้ว่าตำแหน่งของตนจะว่างลงวันไหน ขณะเดียวกันการยื่นร้องเรียนปัญหาดังกล่าว ได้ร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแล้ว แต่ก็ไม่มีการจัดการปัญหาอย่างชัดเจน โรงบำบัดขยะติดเชื้อก็ยังกำจัดขยะติดเชื้ออยู่ทุกวัน หากการร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมไม่มีความคืบหน้า ทางตนและผู้เดือดร้อนทั้งหมดอาจจะนำเรื่องนี้ไปร้องที่ศาลปกครองขอนแก่นต่อไป

ด้านนายอุดม เย็นสบาย ประธานชมรมสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น กล่าวว่า ตนและเพื่อนๆ ในชมรมได้มีการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการออกกำลังกายและสร้างเสริมสุขภาพทุกวันจันทร์ถึงวันพุธ ซึ่งชมรมตั้งอยู่ห่างจากอาคารบำบัดขยะติดเชื้อโรงพยาบาลขอนแก่นประมาณ 10 เมตร ก็ได้กลิ่นเช่นเดียวกัน โดยในชมรมมีสมาชิกราวๆ 300 คน

เราอยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อยากให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมมลพิษเข้ามาตรวจสอบ ว่ากลิ่นและควันจะส่งผลกระทบต่อชุมชน หรือร่างกายของคนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงหรือไม่ เมื่อมีหน่วยงานที่เข้ามาตรวจและสรุปได้ว่ากลิ่นและควันไม่ส่งผลต่อสุขภาพ ตนก็จะไม่ว่าอะไร แม้ว่าทางชมรมฯ จะเป็นผู้สูงวัยแต่ก็อยากจะมีอายุที่ยืนยาว อยู่กับลูกหลานไปนานๆ

5 ก.ย. 2566 ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ผอ.ศูนย์อนามัยฯแถลงข่าวโต้ ผอ.รพ.ขอนแก่นกรณีปัญหาโรงกำจัดขยะติดเชื้อไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน แต่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่พักอาศัยติดกับโรงกำจัดขยะ ชี้ถ้าไม่สร้างภายในโรงพยาบาลและได้รับความเห็นชอบจากท้องถิ่นแต่แรกปัญหาก็คงไม่มี

วันนี้(2ก.ย.)นพ.ชาตรี เมธาธราธิป ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่นได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนชี้แจงกรณีปัญหาโรงกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ โรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งมีการพาดพิงกันไปมาระหว่าง2หน่วยงานนี้ว่าไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งส่วนตัวหรือการปฏิบัติงานแต่อย่างใด ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นของโรงกำจัดขยะติดเชื้อ จึงนำไปสู่การร้องเรียนและตรวจสอบมาตรฐานของโรงกำจัดขยะตามที่มีข่าวเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ

“จริงๆแล้วปัญหาการร้องเรียนจะไม่เกิดขึ้นเลยหากทางโรงพยาบาลขอนแก่นไม่สร้างโรงกำจัดขยะอยู่ภายในโรงพยาบาลและติดกับอาคารที่พักของเจ้าหน้าที่บุคคลากรทางการแพทย์ของศูนย์อนามัย และหากทำตามขั้นตอนกฏระเบียบ ก็เชื่อว่าโรงกำจัดขยะจะไม่สามารถตั้งอยู่ภายในสถานพยาบาลได้ ทำอะไรต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนรอบข้างด้วย อย่าลืมว่าบ้านเมืองมีขือมีแป”นพ.ชาตรีกล่าวและว่า

ภายหลังเทศบาลนครขอนแก่นมีหนังสือถือโรงพยาบาลขอนแก่นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 แจ้งผลตรวจประเมินมาตรฐานระบบกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อและตรวจสอบกลิ่นรบกวนของกรมอนามัยว่าไม่ได้มาตรฐานมีสารเคมีอันตรายฯและได้สั่งให้ทางโรงพยาบาลหยุดกำจัดขยะฯจนกว่าจะมีการปรับแก้ไข แต่ทาง ผอ.โรงพยาบาลยืนยันจะดำเนินการกำจัดขยะต่อ โดยอ้างผลตรวจไม่น่าเชื่อถือนั้น ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานท้องถิ่นจะใช้อำนาจทางกฎหมายจัดการต่อไป

อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบกระบวนการกำจัดขยะพบข้อบกพร่องที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง 3 ข้อ คือ ผู้ปฏิบัติงานกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลจำนวน 7 ใน 9 คนไม่ผ่านการอบรมหลักสูตรการป้องกันและระงับการแพร่เชื้อหรืออันตรายที่อาจเกิดจากมูลฝอยติดเชื้อตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ17(1) ข้อ 20(2)และข้อ 24(4)ของกฎกระทรวงฯซึ่งตามกฎหมายต้องจัดให้ผู้ปฏิบัติงานขยะมูลฝอยติดเชื้อเข้ารับการฝึกอบรมฯ,กฎกระทรวงฯข้อ 16 การจัดให้มีที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อต้องมีขนาดกว้างเพียงพอที่จะเก็บกักภาชนะขยะมูลฝอยติดเชื้อได้อย่างน้อย 2 วัน

แต่ในความเป็นจริงสามารถเก็บกักขยะได้เพียง 1 วันก็เต็มความจุแล้ว นอกจากนี้ยังไม่ปรากฎการรายงานผลการตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานทางชีวภาพให้ราชการส่วนท้องถิ่นทราบเป็นประจำภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน(ในกรณีที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว)

“เห็นด้วยอย่างมากที่โรงพยาบาลขอนแก่นสร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อมูลฝอยฯเพราะจะได้ไม่มีการแพร่กระจายเชื้อโรคภายในโรงพยาบาลและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะติดเชื้อจากเดิมที่ต้องจ้างเหมาเอกชน แต่ตำแหน่งที่ตั้งของโรงกำจัดขยะมันไม่เหมาะสม ตั้งอยู่ติดกับตึกผู้ป่วย ติดกับที่พักอาศัยของคน ปัญหาก็เลยเกิดขึ้นอย่างที่เห็น” นพ.ชาตรีกล่าว

2 ก.ย. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “หมอเกรียงศักดิ์” ผอ.รพ.ขอนแก่นโต้กลับรายงานผลตรวจสอบโรงกำจัดขยะติดเชื้อฯ ของกรมอนามัย ซัดชุดตรวจไม่น่าเชื่อถือไม่ผ่านมาตรฐาน ISO 16000-6:2001 ยืนยันเดินเครื่องกำจัดขยะต่อพร้อมเสนอเทศบาลนครขอนแก่นจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเป็นที่ยอมรับระดับสากลมาตรวจสอบจะออกค่าใช้จ่ายให้หมด

จากกรณีบุคลากรทางการแพทย์พักอาศัยในแฟลตกระดังงา ภายในศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม/เทศบาลนครขอนแก่น ฯลฯ ได้รับความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นรบกวนจากโรงกำจัดขยะติดเชื้อด้วยไอน้ำของโรงพยาบาลขอนแก่นที่สร้างขึ้นเมื่อปลายปี 2565 ติดกับอาคารที่พัก อาคารหอผู้ป่วย และจากการตรวจพิสูจน์ของกรมอนามัยระบุว่า โรงกำจัดขยะดังกล่าวยังไม่ผ่านเกณฑ์สุขลักษณะตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545, ผลการตรวจสอบกลิ่น พบว่าเป็นเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพบสารเคมีที่เป็นอันตราย และสารก่อมะเร็ง

ภายหลังกรมอนามัยรายงานผลตรวจสอบต่อเทศบาลนครขอนแก่นเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างขึงขังว่าเมื่อผลตรวจสอบพบความผิดชัดเจน จึงอาศัยอำนาจท้องถิ่นออกคำสั่งให้โรงพยาบาลขอนแก่น หยุดดำเนินการกำจัดขยะและแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนยืนยันทางโรงพยาบาลขอนแก่นจะไม่หยุดเดินเครื่องกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำดังกล่าวเด็ดขาด ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมอนามัย ซึ่งผู้บริหารกรมอนามัยมีอคติกับตนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่สำคัญทีมตรวจวัดของกรมอนามัยที่มาตรวจไม่ผ่านมาตรฐาน ISO 16000-6:2001 ตามที่กรมอนามัยกำหนดไว้เอง

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับโรงพยาบาลขอนแก่น ตนในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะทำหนังสือทักท้วงไปยังนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมกับแจ้งข้อสังเกตจากการตรวจวัดของกรมอนามัยที่ไม่น่าจะถูกต้องตามเกณฑ์ ขาดความน่าเชื่อถือ

“โรงพยาบาลขอนแก่นมั่นใจระบบกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำที่ใช้อยู่ว่าได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีโรงพยาบาลหลายแห่งก็ใช้เช่นกันและก็ซื้อกับทางบริษัทผู้จำหน่ายเดียวกัน แรกๆที่เริ่มกำจัดขยะก็อาจจะมีกลิ่นเล็ดลอดออกไปบ้างแต่เราก็ได้ปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง”

ส่วนเหตุผลที่ไม่น่าเชื่อถือในผลการตรวจสอบ เพราะกรมอนามัยใช้เกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกรมอนามัยเรื่องค่าเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคารสาธารณะ พ.ศ. 2565 มาใช้เทียบเคียงกับอาคารบำบัดขยะติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นอาคารควบคุมไม่ได้ เนื่องจาก อาคารสาธารณะ มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ เป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์ในการชุมนุมคนได้โดยทั่วไปเพื่อกิจกรรมต่างๆ, เป็นอาคารที่มีลักษณะปิดทึบทำให้พบปัญหาด้านการถ่ายเทอากาศ รวมถึงปัญหาการสะสมมลภาวะภายในอาคาร และเป็นอาคารที่มีการใช้ระบบปรับอากาศ ซึ่งอาคารบำบัดขยะติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นอาคารควบคุมไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใดเลย รวมถึงแฟลตที่พักอาศัยตามที่มีการกล่าวอ้างถึงด้วย

“ดังนั้น ทางโรงพยาบาลจะยังดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อต่อไป เพราะขณะนี้ทางเทศบาลนครขอนแก่นเองก็ยังไม่มีหนังสือสั่งการอะไรมาถึงโรงพยาบาล เรายังมั่นใจว่าการตรวจวัดไม่น่าเกินตามค่าที่ยอมรับได้ การตรวจวัดจะต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ปราศจากอคติใดๆ” นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว และว่า

การตรวจวัดควรตรวจวัดว่ากรณีบำบัดขยะติดเชื้อมีผลกระทบต่อกลิ่นหรือสารปนเปื้อนในอากาศอย่างไร โดยต้องตัดปัจจัยแปรปรวนอื่นออกไป กล่าวคือ บริเวณแฟลตเจ้าหน้าที่นั้นติดกับลานล้างถังขยะและบริเวณอาคารเก็บพักขยะทั่วไป ซึ่งมีทั้งกลิ่นและสาร TVOC ตลอดจน Acrolein เป็นปกติ และยังใกล้โรงอาหารของโรงพยาบาลที่ทำให้เกิด TVOC และ Acrolein ได้ จึงไม่ควรเอา TVOC และ Acrolein มาโยนให้ระบบบำบัดขยะติดเชื้อต้องรับผิดชอบทั้งหมด

กระนั้นก็ตาม โรงพยาบาลขอนแก่นพร้อมที่จะให้เทศบาลนครขอนแก่นเข้ามาตรวจสอบกรณีปัญหานี้จากแหล่งตรวจสอบที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือมาตรฐานอื่นอันเป็นที่ยอมรับได้ระดับสากล โดยทางโรงพยาบาลขอนแก่นยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดและจะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมตรวจสอบและให้คำแนะนำ

ให้เป็นไปตามมาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมหรือมาตรฐานที่เป็นการยอมรับในระดับสากล โรงพยาบาลยินดีออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และพร้อมที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้เข้ามาร่วมสังเกตและให้คำแนะนำ

รายงานข่าวเพิ่มเติมแจ้งว่า สำหรับผลตรวจของกรมอนามัยกับเทศบาลนครขอนแก่นล่าสุดที่สรุปผลออกมาแล้วและนำไปสู่การใช้อำนาจของเทศบาลนครขอนแก่น สามารถสั่งปิดโรงกำจัดขยะมูลฝอยด้วยไอน้ำ โรงพยาบาลขอนแก่นดังกล่าว ดังนี้

1. การตรวจวัดกลิ่นรบกวน ด้วยเครื่องมือตรวจวัดกลิ่นในบรรยากาศภาคสนาม (Nasal Ranger) ผลการตรวจพบว่าบริเวณจุดที่ทำการตรวจวัดมีค่าระดับความเข้มข้นกลิ่นทุกครั้งที่ทำการตรวจวัดเกินมาตรฐานกลิ่นรบกวน

2. การตรวจวัดชนิดและปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายภาคสนามด้วยเทคนิค Gas Chromatography พบว่า
2.1 มีค่าความเข้มข้นของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายทั้งหมด (TVOC) เกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศภายในอาคาร
2.2 ตรวจพบสาร Acrolein ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่นที่มีลักษณะคล้ายกลิ่นคาวปลา ซึ่งมีปริมาณความเข้มข้นสูงก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและระคายเคืองตา

3. การตรวจระดับความแรงกลิ่นภาคสนามโดยคณะเจ้าหน้าที่จำนวน 5 คนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทดสอบกลิ่นของกรมอนามัย พบว่าคณะผู้ตรวจสอบจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งสามารถรับรู้กลิ่นที่ความแรงของกลิ่นระดับที่บ่งชี้ว่าเป็นกลิ่นที่น่ารังเกียจ และทำให้บุคคลใดๆ มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการสูดดมและเป็นกลิ่นที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายระหว่างการสัมผัสในระยะสั้นหรือระยะยาว

1 ก.ย. 2566 ผู้จัดการออนไลน์


story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - รองอธิบดีกรมอนามัยพร้อมทีมงานเข้าพบนายกเล็กเมืองขอนแก่นรายงานผลตรวจสอบโรงกำจัดขยะติดเชื้อ รพ.ขอนแก่นไม่ได้มาตรฐาน ส่งกลิ่นรบกวน-พบสารเคมีสารก่อมะเร็ง ด้านเทศบาลนครขอนแก่นเตรียมแจ้งให้หยุดกำจัดมูลฝอยติดเชื้อทันที จนกว่าจะมีการแก้ไขให้ได้มาตรฐานตามกฎหมาย

รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 29 ส.ค. 2566 ณ ห้องปฏิบัติการนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และคณะ ได้เข้าพบนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรี ร่วมด้วย นายณัฐกร ศรีนวกุล เลขานุการนายกเทศมนตรี, นางสาวศิริกัลยา โพธิ์จันทร์ ผู้อำนวยการสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม, นายทัศนัย ประจวบมอญ ผอ.ส่วนส่งเสริมสาธารณสุขฯ ทั้งนี้เพื่อแจ้งผลการตรวจประเมินมาตรฐานระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำ (Autocleave) และตรวจสอบกลิ่นรบกวน โรงบำบัดขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลขอนแก่น

ภายหลังได้รับแจ้งผลการตรวจสอบจากผู้แทนกรมอนามัย นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากมีเรื่องร้องเรียนกรณีโรงพยาบาลขอนแก่นก่อสร้างอาคารบริหารจัดการขยะติดเชื้อ (โรงกำจัดขยะติดเชื้อ) ภายในโรงพยาบาล ก่อสร้างขึ้นมาเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2565 เกิดปัญหากลิ่นของขยะติดเชื้อรบกวนพื้นที่รอบข้าง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่และบุคลากรแพทย์ภายในแฟลตและอาคารหอพักภายในศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ซึ่งพักอาศัยอยู่ติดกับโรงกำจัดขยะติดเชื้อ ทางเทศบาลนครขอนแก่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมหารือเพื่อหาทางแก้ไข

พร้อมทั้งลงพื้นที่ไปตรวจสอบตามประเด็นข้อร้องเรียนโรงกำจัดขยะติดเชื้อดังกล่าวหลายรอบ และต่อมาได้ร้องขออธิบดีกรมอนามัยร่วมตรวจสอบมาตรฐานระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำ (Autoclaeve) และการตรวจสอบกลิ่นรบกวน

ซึ่งผลตรวจสอบพบปัญหาดังนี้ 1. โรงกำจัดขยะดังกล่าวยังไม่ผ่านเกณฑ์สุขลักษณะตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 จำนวน 3 ข้อ 2.ผลการตรวจสอบกลิ่น พบว่าเป็นเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพบสารเคมีที่เป็นอันตราย และสารก่อมะเร็ง 3. มีข้อแนะนำในการเฝ้าระวังมลพิษที่เกิดจากกระบวนการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำของโรงพยาบาลขอนแก่น

ดังนั้น เทศบาลนครขอนแก่นจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1. แจ้งให้โรงพยาบาลขอนแก่นทราบผลการตรวจประเมินมาตรฐานระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ 2. แจ้งให้หยุดดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อทันที จนกว่าจะมีการแก้ไขให้ได้มาตรฐานตามกฎหมาย 3. แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น (สสจ.ขอนแก่น) ทราบ และ 4. รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นทราบการดำเนินงานของเทศบาลนครขอนแก่น ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมกรณีโรงกำจัดขยะติดเชื้อที่ทางฝ่ายบริหารโรงพยาบาลขอนแก่นลงทุนสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องกำจัดฯ ดังกล่าว หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องแม้แต่บุคลากรระดับหัวหน้าหน่วยในโรงพยาบาลเองก็ไม่เห็นด้วย มองว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องจัดตั้งโรงบำบัดขยะขึ้นภายโรงพยาบาล จัดซื้อเครื่องบำบัดขยะมากำจัดขยะเอง ทั้งๆ ที่ นโยบายเดิม ระบบเดิมจ้างบริษัทรับเหมาจากภายนอกเข้ามาจัดเก็บไปดำเนินการกำจัดให้ เหมาะสมและคุ้มค่ากับโรงพยาบาลอยู่แล้ว

ที่สำคัญ ขั้นตอนการดำเนินการจัดสร้างอาคารและเครื่องกำจัดขยะฯ ไม่ถูกต้อง ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่แจ้งเทศบาลก่อน และซื้อเครื่องกำจัดขยะจากบริษัทผู้จำหน่ายเจ้าเดิมในทุกโรงพยาบาลที่ท่านผู้อำนวยการเคยไปนั่งบริหาร ทั้งที่โรงพยาบาลชุมแพ โรงพยาบาลที่จันทบุรี สร้างโรงกำจัดขยะฯ ที่ไหนก็มีปัญหาที่นั่น

เหตุปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายอดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เป็นคำถามที่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่นค้างคาใจและรอคำตอบกันมานาน

30 ส.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เงียบเหมือนเป่าสาก...กรณีกลิ่นเหม็นโรงบำบัดขยะติดเชื้อ รพ.ขอนแก่นยังไม่มีหน่วยงานไหนกล้าชี้ขาดทางออกปัญหา วงในเผยไม่จำเป็นต้องลงทุนเองแต่แรก จ้างเหมาแบบเดิมเหมาะสมที่สุด ซ้ำทำเองมีข้อพิรุธเพียบ ทั้งใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค ซื้อเครื่องจักรจากบริษัทขาประจำที่เคยซื้อตอนเป็น ผอ.รพ.ชุมแพ-รพ.จันทบุรี ซึ่งมีปัญหาเรื่องกลิ่น-ควันรบกวนเหมือนกัน

กรณีปัญหาโรงกำจัดขยะติดเชื้อภายในโรงพยาบาลขอนแก่นส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งรบกวนคนไข้, ผู้ป่วย, บุคลากรทางการแพทย์และผู้พักอาศัยในแฟลตภายในพื้นที่ศูนย์อนามัยที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับโรงกำจัดขยะล่วงเลยจนถึง ณ วันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้ผู้พักอาศัยในแฟลตดังกล่าวจะรวมตัวกันยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานเข้ามาเคลียร์ปัญหาดังกล่าวให้ ทั้งเทศบาลนครขอนแก่น, ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น ฯลฯ ก็พากันร้องทุกข์ไปแล้วก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ผู้บริหารโรงพยาบาลขอนแก่นเองก็ไม่ได้สนใจในผลกระทบที่เกิดขึ้น ยังคงสั่งเดินเครื่องกำจัดขยะตามปกติ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานแจ้งว่ากรณีปัญหาโรงกำจัดขยะติดเชื้อโรงพยาบาลขอนแก่นดังกล่าว ทางกรมอนามัยจะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบติดตามปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครขอนแก่นก่อนในเร็วๆ นี้ ซึ่งตามขั้นตอนการจัดการปัญหา เทศบาลนครขอนแก่นควรจะสั่งให้โรงพยาบาลขอนแก่นปิดเดินเครื่องกำจัดขยะไปก่อนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจนกว่าจะหาทางออกปัญหาระยะยาว ระหว่างนี้ก็ให้โรงพยาบาลขอนแก่นกลับไปจ้างเหมากำจัดขยะแบบเดิม สามารถลดกลิ่นควัน ลดความเสี่ยงติดเชื้อได้มากกว่า

แหล่งข่าวกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า แต่เดิมโรงพยาบาลขอนแก่นไม่เคยมีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ เพราะใช้วิธีจ้างบริษัทเอกชนรับเหมาเบ็ดเสร็จ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมีหน้าที่เพียงรวบรวมขยะใส่ถุงเรียบร้อยมาวางให้ทางเอกชนมาเก็บ มาตรการนี้ได้มีการประชุมระหว่างผู้บริหารท่านก่อน ทางหน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ (IC) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และ โดยมาตรฐาน HA แล้วว่าวิธีให้เอกชนรับเหมาเบ็ดเสร็จนี้ดีที่สุดสำหรับโรงพยาบาลขอนแก่น เนื่องจากตั้งอยู่กลางชุมชน และอาคารคนไข้ไม่มีสถานที่พักหรือจะบำบัดขยะเองได้ และใช้เจ้าหน้าที่คนงานที่ดูแลเรื่องขยะน้อย และใช้งบประมาณเหมาะสม

แต่หลังจาก นพ.เกรียงศักดิ์เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้ไม่นานก็ให้คนของตัวเองชงเรื่องว่าการกำจัดขยะแบบเดิมมีปัญหา และหน่วยงานที่ชงเรื่องนี้เข้ากรรมการบริหารคือ ห้องแล็บ ไม่ใช่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอนามัยสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด

ขณะที่ตัว ผอ.โรงพยาบาลเองก็ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าหากโรงพยาบาลซื้อเครื่องบำบัดขยะและกำจัดขยะเองจะประหยัดงบประมาณมากกว่า โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือหน่วยโรคติดเชื้อไม่ได้รู้เห็นด้วย และมีข้อสั่งการออกจากกรรมการบริหารออกมาเลยว่าให้จัดหาซื้อเครื่องบำบัดขยะ โดยใช้เงินบริจาค ซึ่งเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค

หลังจากนั้นคนของผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ได้ทำการออกสเปกเครื่องบำบัดขยะเอง โดยผู้ออกสเปกไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องบำบัดขยะเลยแม้แต่นิด และในที่สุดก็ตั้งเรื่องจัดซื้อเครื่องบำบัดขยะของบริษัทนำวิวัฒน์ มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท โดยอ้างว่าได้มีการคัดเลือกจากหลายบริษัทแล้ว

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า สมัยที่ นพ.เกรียงศักดิ์นั่งเป็น ผอ.โรงพยาบาลชุมแพ, โรงพยาบาลจันทบุรี ก็ซื้อเครื่องบำบัดขยะของบริษัทนำวิวัฒน์จากเงินบริจาคของโรงพยาบาลทั้งหมดเช่นกัน มีการอ้างว่าใช้เงินบริจาคแบบไม่มีวัตถุประสงค์มาใช้ซื้อโดยผ่านมติคณะกรรมการเงินบริจาค แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว เงินบริจาคในบัญชีเงินบริจาคแบบไม่มีวัตถุประสงค์ไม่พอ ได้ไปเอาเงินบริจาคแบบมีวัตถุประสงค์ที่ระบุให้ซื้อเฉพาะเครื่องมือแพทย์ เอามารวมก่อนแล้วโดยไม่แจ้งคณะกรรมการเงินบริจาคก่อน เป็นการใช้เงินบริจาคผิดระเบียบคือไม่ตรงวัตถุประสงค์

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อว่า ภายหลังได้เดินเครื่องบำบัดขยะเอง เกิดปัญหากลิ่นเหม็นเเละควันสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตึกผู้ป่วย ได้แก่ ตึกเด็ก และตึกอายุรกรรม รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของศูนย์อนามัยที่ 7 ที่อาศัยใกล้เคียง โดยกลุ่มผู้พักอาศัยที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นได้ทำหนังสือร้องเรียนไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศูนย์อนามัยที่ 7, ศูนย์ดำรงธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่น ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่าหากลงทุนทำการบำบัดขยะเองจะใช้งบประมาณถูกกว่าจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ก็ไม่เป็นความจริง

เพราะแต่ละเดือนต้องมีภาระเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าคนงาน อีกทั้งซากขยะที่บำบัดขยะออกมา ต้องจ้างเทศบาลมาเก็บอีกต่อหนึ่ง, เครื่องบำบัดไม่สามารถบำบัดขยะที่เป็นเศษชิ้นเนื้อและของมีคมได้ ขณะนี้ก็ต้องจ้างเอกชนมารับเหมากำจัดให้ เสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนโดยใช่เหตุ

แหล่งข่าวรายเดิมบอกอีกว่า ที่โรงพยาบาลจันทบุรีสมัย นพ.เกรียงศักดิ์เป็นผู้อำนวยการ ก็ทำโรงบำบัดขยะติดเชื้อลักษณะเดียวกัน ซื้อเครื่องจักรบริษัทเดียวกัน และก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน จนต้องปิดโรงบำบัดขยะไป สูญเงินบริจาค โดยเปล่าประโยชน์มากกว่า 14 ล้านบาท

ที่สำคัญ เครื่องบำบัดขยะรุ่นเดียวกัน ความจุและสเปกเหมือนกันกับเครื่องบำบัดขยะของโรงพยาบาลนครพนม ซึ่งใช้งบประมาณซื้อเพียง 10 ล้านบาทเศษ แต่โรงพยาบาลขอนแก่นกลับซื้อแพงกว่า คือ 19 ล้านกว่าบาท

“ตอนนี้มีการร้องเรียนเรื่องซื้อผิดระเบียบเงินบริจาคและส่อทุจริต ซื้อบริษัทเดียวกันทุกโรงพยาบาทที่ไปเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งทุกแห่งมีปัญหากลิ่นและควัน และที่จันทบุรีต้องปิดใช้งาน เมื่อมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่นก็ยังทำและซื้อบริษัทเดิม ทราบว่าทางกระทรวงได้ตั้ง กรรมการสอบข้อเท็จจริงลงมาสอบสวนและอยู่ในระหว่างการสรุปสำนวนสอบ” แหล่งข่าวระบุ

22 ส.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์