ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ชูแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว "รพ.อุ้มผาง" ใช้แพทย์จบใหม่หมุนเวียนงาน 3-4 เดือน  (อ่าน 113 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ปลัดสธ.ชูแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวช่วย รพ.อุ้มผาง นอกจากส่งงบฯ ช่วยเหลือ ยังมีแนวคิดใช้แพทย์จบใหม่หมุนเวียนปฏิบัติงาน 3-4 เดือน จากที่ต้องอยู่ประจำ 1-2 ปี เพื่อสร้างพลังบวก ขณะเดียวกันสั่งการสำรวจ รพ.ต่างๆ ที่มีสถานะใกล้เคียงกับ รพ.อุ้มผาง เพื่อแก้ไขปัญหาภาพรวม

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวัดลาดปลาดุก (รพ.สต.) จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นโรงพยาบาล (รพ.) อุ้มผาง จ.ตาก การบริหารจัดการงบการเงินติดลบ จากปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา ทำให้ชนกลุ่มน้อยเข้ามารับการรักษาใน รพ. จำนวนมาก ส่งผลให้งบประมาณ รพ. ขาดทุนถึง 40 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ส่งงบประมาณส่วนกลาง 20 ล้านบาท ให้กับ รพ.อุ้มผาง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนเป็นข่าวด้วยซ้ำ ตนยืนยันว่า ทั้งในประเทศและต่างชาติ ต่างชื่นชม นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการ รพ.อุ้มผาง ที่เสียสละตนดูแลสถานการณ์สาธารณสุขชายแดนมาตลอด

"ปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่ได้เกิดจากการบริหารจัดการ แต่เพราะสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ที่ต้องดูแลชนกลุ่มน้อยตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งการส่งงบประมาณไปช่วยเหลือ เป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น แต่การแก้ไขระยะยาว ก็มีแนวคิดหมุนเวียนแพทย์จบใหม่ไปดูแลที่ รพ.อุ้มผาง 3-4 เดือน จากที่ต้องอยู่ประจำ 1-2 ปี เพื่อสร้างพลังบวก และเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ดูแลประชาชนตามแนวชายแดน เพราะเข้าใจลักษณะของแพทย์จบใหม่ที่ต้องการประสบการณ์ แต่ไม่ต้องการอยู่นานเป็นปี ซึ่งการไปอยู่ รพ.ตามแนวชายแดน จะสร้างพลังบวก และทัศนคติเชิงบวก พร้อมเข้าใจงานของระบบสาธารณสุข ให้เข้าใจว่าเงินไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด" นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนให้มอบหมายให้มีการสำรวจ รพ. ต่างๆ ที่มีสถานะใกล้เคียงกับ รพ.อุ้มผาง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่อไป อย่างไรก็ตาม ระบบการบริหารจัดการสถานพยาบาลในรูปแบบเขตสุขภาพ ตามนโยบาย  “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital)  ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้ตรวจราชการสาธารณสุขในแต่ละเขตสุขภาพ สามารถหมุนเวียนงบประมาณ บุคลากรและทรัพยากร เพื่อไปช่วยเหลือ รพ. ที่เกิดปัญหาได้

Friday, 11 August 2023
https://www.hfocus.org/content/2023/08/28170

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
รพ.อุ้มผาง จ.ตาก วิกฤติหนัก งบติดลบ 40 ล้านบาท หลังเมียนมาเผชิญสงครามภายใน ทำให้คนไข้ทะลักมารักษาที่โรงพยาบาล ทั้งอาการบาดเจ็บจากกับระเบิด และโรคระบาดที่เสี่ยงแพร่กระจายเข้ามาสู่ไทย หากไม่มีการรักษา หมอย้ำกระทรวงสาธารณสุขควรให้การช่วยเหลือระบบการแพทย์ริมชายแดน ไม่ใช่ปล่อยทิ้งอย่างที่เป็นอยู่

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า หลังจากที่มีการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยริมชายแดน ทำให้ระบบการแพทย์ของประเทศเพื่อนบ้านถูกตัดขาด จากเดิมที่ประสิทธิภาพการรักษาก็ต่างจากไทยค่อนข้างมาก เลยทำให้มีคนไข้ชาวเมียนมาเข้ามารักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น และส่งผลต่องบประมาณในการดูแลคนเหล่านี้ เพราะคนไข้หลายคนไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา แต่ด้วยมนุษยธรรม หมอไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ประกอบกับโรคส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อ หากไม่รักษาจะมีการแพร่ระบาดมายังคนไทย

ชาวเมียนมาที่เข้ามารักษาหลายคนเป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายและทำให้เสียชีวิตได้ เช่น มาลาเรีย ที่มียุงเป็นพาหะ ถ้าไม่รักษาจะกลายเป็นรังของโรค แพร่กระจายจนไม่สามารถควบคุมได้ หรืออหิวาตกโรค มีอาการท้องร่วง ถ่ายอุจจาระได้แค่ 3 ครั้งก็เสียชีวิต หากไม่รักษาคนไข้จะถ่ายไปทั่วในป่า ทำให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง

“หมอริมชายแดน เป็นเหมือนทหารด่านหน้าคอยสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อไม่ให้แพร่เข้าไปยังพื้นที่ชั้นในของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนเมียนมาที่ตอนนี้หนีสงครามเข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพ แม้ในศูนย์มีกลุ่มเอ็นจีโอคอยดูแล แต่บางโรคต้องใช้การรักษาซับซ้อน ก็ต้องส่งคนไข้มายังโรงพยาบาล คนไข้กลุ่มนี้บางครั้งโรงพยาบาลจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยโรงพยาบาลจะต้องสำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อน แม้คนไข้รายนั้นไม่มีเงินค่ารักษา”

โรงพยาบาลอุ้มผาง มีชาวเมียนมามาพบแพทย์เฉลี่ยตอนนี้ 21 เปอร์เซ็นต์ โดยคนไข้ 5 คน มี 1 คนเป็นชาวต่างด้าว ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้โรงพยาบาลทั้งหมดใน จ.ตาก โรงพยาบาลอุ้มผาง มีคนไข้มาหาหมอมากที่สุด โดยไม่มีสัญชาติไทยประมาณ 47 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเกือบครึ่งของคนไข้ทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่เขตแดนไม่มีแม่น้ำเมยกั้น สามารถเดินไปมาถึงกัน ประกอบกับชนกลุ่มน้อยที่ตั้งหมู่บ้านในเขตแดนไทยมานาน แต่ไม่มีสัญชาติอยู่มาก

จากข้อมูลค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลอุ้มผาง ปี 2566 ที่ผ่านไป 9 เดือน ต้องสำรองจ่ายงบประมาณให้กับคนไข้ต่างด้าวที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาแล้ว 40 ล้านบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลต้องไปหาเงินมาอุดหนุนจากการบริจาคที่มีมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละปี แต่มีการควบคุณคุณภาพการรักษาไม่ให้คนไข้สัญชาติไทยได้รับผลกระทบ

การโจมตีของทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อย ทำให้มีคนไข้ที่อพยพเข้ามารักษาในพื้นที่มากขึ้น จากเดิมมีการฝังกับระเบิดในพื้นที่ ทำให้มีคนไข้ที่เหยียบกับระเบิดเข้ามารักษาจำนวนมาก แต่ตอนนี้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น ทำให้ทหารเมียนมากดดันกลุ่มแพทย์เอ็นจีโอที่เข้าไปรักษาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ทำให้คนไข้ต้องอพยพมารักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก

ค่าใช้จ่ายคนไข้ต่างด้าวที่เข้ามารักษามีตั้งแต่หลักร้อย-หลักแสนบาท แนวทางการแก้ไขกรณีที่งบการเงินติดลบ จะมีโครงการขอรับบริจาคยาที่เหลือใช้ เพื่อนำมาใช้รักษาคนต่างด้าวในพื้นที่ ตอนนี้เครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลค่อนข้างเพียงพอ แต่งบประมาณที่ต้องใช้ในการรักษาคนต่างด้าวยังขาดแคลนทุนทรัพย์

หลายคนมีคำถามว่าทำไมต้องรักษาให้คนไข้ต่างด้าวที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา หมอเจอคำถามนี้อยู่ตลอด แต่สิ่งสำคัญคือมนุษยธรรม ไม่มีแพทย์คนไหนอยากปล่อยให้คนไข้ตาย เพราะเขาไม่มีสัญชาติไทย หรือบัตรประชาชน อีกอย่างคนไข้ริมชายแดนเมื่อเป็นโรคที่สามารถระบาดสู่คนอื่นได้ ถ้าไม่รักษา สุดท้ายจะแพร่ระบาดมายังคนไทย บางโรคถ้าปล่อยให้มีการแพร่ระบาดหนักแล้วมารักษาเมื่อสาย ค่าใช้จ่ายการรักษาจะแพง เช่น บางโรคต้องใช้การรักษาเริ่มต้นถึงแสนบาท แต่ถ้ารักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะมีค่าใช้จ่ายไม่กี่ร้อยบาท

สิ่งที่ผมอยากขอร้องท่านผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขคือ การสนับสนุนระบบสาธารณสุขชายแดน บางงานมีการทำอยู่แล้ว แต่ไม่มีงบประมาณมาช่วย ที่ผ่านมาเคยมีการสนับสนุนแล้วก็หยุดไป แต่ถ้ามีงบประมาณมาช่วยในการส่งเสริมป้องกันบ้างก็จะดี เช่น สนับสนุนวัคซีน โดยที่โรงพยาบาลไม่ต้องไปหาเอง เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลต้องไปขอรับบริจาควัคซีนจากสภากาชาดไทย เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพราะวัคซีนมีราคาแพง ทางหน่วยงานไม่มีงบเพียงพอในการจัดซื้อ

สำหรับผู้ที่อยากบริจาคทุนทรัพย์สิ่งของให้กับโรงพยาบาล สามารถติดต่อ หรือส่งไปรษณีย์มายังโรงพยาบาลได้โดยตรง อย่างน้อยก็ถือเป็นการทำบุญกับเพื่อนมนุษย์ แม้เขาไม่มีสัญชาติไทย แต่การมอบสิ่งเหล่านี้ให้ถือเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการในสภาวะที่ประเทศของเขาเผชิญกับการสู้รบ.

8 ส.ค. 2566
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2715794

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ผอ.รพ.อุ้มผาง เสนอ ปลัด สธ. ขอให้ความสำคัญงานสาธารณสุขชายแดน ตั้งกองทุนเฉพาะ งบประมาณ กำลังคน ป้องกันปัญหาโรคชายแดน ที่มีความเสี่ยงแพร่มาไทยได้ภาพรวมทั้งประเทศ

จากกรณีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เผยถึงแนวทางช่วยเหลือ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หรืองบติดลบ 40 ล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ พร้อมแนวทางช่วยเหลือระยะยาวต่างๆ ไม่เพียงแต่รพ.อุ้มผาง แต่รวมถึงรพ.ตามแนวชายแดนต่างๆ

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า  ต้องขอขอบคุณปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  และสื่อมวลชนที่สนใจปัญหาชาวบ้านตามแนวชายแดน ซึ่งล่าสุดท่านปลัดกระทรวงฯ ได้จัดสรรงบฯให้รพ.อุ้งผางจำนวน 20 ล้าน และเป็นงบเหลือจ่ายให้ รพ.ได้ชำระหนี้อีกรวมเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งก็จะช่วยในเรื่องงบประมาณได้  อย่างไรก็ตาม ปัญหาสาธารณสุขชายแดน ไม่ใช่แค่รพ.อุ้มผาง แต่ยังมีชายแดนอื่นๆ อีก อย่างเรื่องการปรับเกลี่ยหมุนเวียนแพทย์ปฏิบัติงานนั้น มีการดำเนินการทั้งประเทศในรูปแบบเขตสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital)

“อย่างของรพ.อุ้มผาง ก็มีการดำเนินการตามนโยบาย One Province One Hospital โดยผมเป็นหนึ่งในคณะทำงานในการจัดสรรแพทย์ประจำบ้านของเขตสุขภาพที่ 2 ทำให้รู้ว่า การปรับเกลี่ยแพทย์ไม่ใช่ว่าจะทำได้ตามต้องการทั้งหมด เนื่องจากจำนวนทั้งประเทศมีจำกัด ทรัพยากรมีแค่นี้ การปรับเกลี่ยในพื้นที่ก็จะได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งในส่วนรพ.อุ้มผาง ได้น้องหมอมาช่วยเพิ่ม 2 คน ซึ่งถือว่าดีมากแล้ว” นพ.วรวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีการหมุนเวียนแพทย์จบใหม่ปรับเป็น 3-4 เดือน จาก 1-2 ปีจะช่วยได้หรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า  การหมุนเวียนแพทย์ต้องหารือกันในรูปแบบจังหวัดหรือเขตสุขภาพนั้นๆ  สำหรับรพ.อุ้มผาง ถือว่าได้มาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากต้องดูภาพรวม เพราะกระทรวงสาธารณสุข ทำเต็มที่แล้ว ที่เหลือเป็นปัญหาด้านทรัพยากร ซึ่งไม่มีจริงๆ ทั้งระบบ  อย่างที่ผ่านมา รพ.อุ้มผาง มีทุนแพทย์ประจำบ้าน มีทุกสาขา แต่กลับไม่มีน้องมาเอาทุน ซึ่งก็บังคับไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาขาดสภาพคล่องของรพ. ถือว่าวิกฤตระดับ 7 สีแดงใช่หรือไม่ นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากหากพูดถึงสภาพคล่องก็จะมี 0- 7   เราก็ระดับ 7 เนื่องจากรพ.อุ้มผาง จะมีคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมารับบริการด้วย อย่างชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนกระเหรี่ยงฝั่งประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีคนที่ข้ามชายแดนมา ทั้งหนี้ภัยสงคราม บาดเจ็บ คลอดบุตร มีหมด เพราะการแพทย์การสาธารณสุขฝั่งเมียนมา ล้าหลังกว่าไทยไป 30-40 ปี และเขาสู้รบกันด้วย ซึ่งพวกเขาไม่มีที่พึ่ง เขาก็ต้องข้ามมาเพื่อพึ่งพาประเทศไทย  ดังนั้น เราก็ต้องช่วยตามหลักมนุษยธรรม

 “หากพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว อยากเรียนนำเสนอ ผู้บริหารระดับสูง ขอให้ท่านให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขชายแดนครอบคลุมทั้งประเทศ   ที่ผ่านมามีการดำเนินงานด้านสาธารณสุขชายแดนมีการทำกัน แต่ผู้บริหารที่เคยทำเมื่อเกษียณไป ก็อาจไม่ต่อเนื่อง จึงขอท่านผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องกำลังคนทำงานชายแดน งบประมาณ หรือตั้งกองทุนเฉพาะ” นพ.วรวิทย์ กล่าว

ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าวอีกว่า การให้ความสำคัญงานสาธารณสุขชายแดน จะไม่ใช่แค่การช่วยรพ.อุ้มผางเท่านั้น แต่จะช่วยรพ.ที่อยู่ตามแนวชายแดนต่างๆ อีกจำนวนมาก จะช่วยได้ทั้งประเทศไทย ที่ผ่านมาเคยดำเนินการมาก่อน แต่จะเป็นช่วงๆ ดังนั้น งานก็ไม่ต่อเนื่อง จึงขอความเมตตาให้ชาวบ้านชายขอบ เรื่องงานสาธารณสุขชายแดนด้วย ไม่ใช่แค่ไทยเมียนมา ยังมีไทยลาว ไทยกัมพูชา ซึ่งปัญหาก็จะแตกต่างกันไป


Saturday, 12 August 2023
https://www.hfocus.org/content/2023/08/28180