ผู้เขียน หัวข้อ: “กายภาพบำบัด” ใกล้บ้าน สิทธิประโยชน์ใหม่และดีในระบบ “บัตรทอง”  (อ่าน 77 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
“กายภาพบำบัด” ใกล้บ้าน สิทธิประโยชน์ใหม่และดีในระบบ “บัตรทอง”

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หรือ 30 บาท นอกเหนือจากการไปรับบริการที่โรงพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ รวมถึงคลินิกกายภาพบำบัด

ในส่วนของ คลินิกกายภาพบำบัดŽ นั้น สปสช.ร่วมกับสภากายภาพบำบัด เชิญชวนคลินิกเอกชนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการในระบบมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพได้สะดวกและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศในเครือข่าย จำนวน 68 แห่ง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงแนวคิดนำคลินิกกายภาพบำบัดร่วมเป็นหน่วยบริการในเครือข่ายว่า เนื่องจากต้องการเพิ่มการเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดแก่ผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติ ช่วยหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดการรอคอยของผู้ป่วย การดึงคลินิกกายภาพบำบัดของเอกชนเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น สะดวก ปลอดภัย ใกล้บ้าน

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านการทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยระยะกลางนั้น สปสช.ได้กำหนดไว้ 4 กลุ่มโรค
1.ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
2.ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brain injury)
3.ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ (Spinal cord injury) และ
4.ผู้ป่วยภาวะกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip)

“ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย เมื่อมีอายุมากขึ้นก็มีโอกาสพลัดตกหกล้ม และเมื่อรักษาจนพ้นช่วงวิกฤตแล้วก็ต้องเข้าสู่การฟื้นฟู ถ้ามีเครือข่ายคลินิกกายภาพบำบัดร่วมจัดบริการ ผู้ป่วยก็จะมีทางเลือกในการไปรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดใกล้บ้าน เดินทางสะดวก หรือในรายที่ไม่สะดวกในการเดินทาง นักกายภาพบำบัดก็จะลงไปจัดบริการกายภาพบำบัดแบบเข้มข้นที่บ้านของผู้ป่วย ช่วยประเมินสภาพแวดล้อม และให้คำแนะนำในการดูแลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นๆ ด้วย” ทพ.อรรถพร กล่าวและว่า ทั้งนี้ คลินิกกายภาพบำบัดที่ร่วมเป็นเครือข่าย สปสช.จะต้องผ่านเกณฑ์การขึ้นทะเบียนโดยมีนักกายภาพบำบัดอยู่ประจำ ซึ่งสังเกตได้ที่หน้าคลินิกจะมีป้ายแสดง คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่นŽ หรือสามารถสอบถามสายด่วน สปสช. 1330 ได้ว่า ในพื้นที่นั้นๆ มีคลินิกกายภาพบำบัดในเครือข่าย สปสช.หรือไม่

ด้าน รศ.กภ.มัณฑนา วงศ์ศิรินวรัตน์ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ป่วยระยะกลางใน 4 กลุ่มโรค ที่จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น กระดูกสะโพกหักที่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้ม ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เมื่อได้รับการรักษาจนพ้นขีดอันตรายแล้วจะมีความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องมีนักกายภาพบำบัดเข้ามาช่วยดูแลเพื่อลดภาระโรคและความเสื่อม ซึ่งช่วงเวลาทองให้การกระตุ้นให้ใช้งานกล้ามเนื้อได้ดีที่สุด คือภายใน 6 เดือนแรก ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อรักษาเสร็จแพทย์จะให้ผู้ป่วยกลับบ้านแล้วนัดทำกายภาพที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดของบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีน้อย และผู้ป่วยต้องการกายภาพบำบัดในแต่ละวันจำนวนมาก ไม่สามารถนัดได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ประกอบกับความไม่สะดวกในการเดินทาง เพราะส่วนใหญ่ต้องให้ญาติพาไป ทำให้ผู้ป่วยส่วนมากขาดนัดและหายไปจากระบบ เหลือแต่การทำกายภาพกันตามมีตามเกิด

“การจัดระบบของ สปสช.จึงช่วยกระจายผู้ป่วยให้มีนักกายภาพบำบัดไปให้บริการกายภาพบำบัดที่บ้าน โดยที่ สปสช.ให้การสนับสนุนงบประมาณ ประโยชน์ทางอ้อมคือ เมื่อนักกายภาพเห็นสิ่งแวดล้อมที่บ้านของผู้ป่วยจะสามารถให้คำแนะนำการฝึกทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง หรือให้ญาติช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ฝึกการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ช่วยลดภาระงานในโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง ที่สำคัญคือผู้ป่วยไม่หายไปจากระบบการรักษา แต่ปัญหาขณะนี้คือ

1.ตัวผู้ป่วยไม่รู้สิทธิว่าเมื่อเจ็บป่วยและเป็นผู้ป่วยระยะกลางใน 4 โรคนี้สามารถรับบริการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในโรงพยาบาลและคลินิกกายภาพบำบัดของเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช.
2.บุคลากรในโรงพยาบาลที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำ หรือส่งต่อผู้ป่วย ยังไม่รู้ว่ามีทางเลือกนี้ ดังนั้น หากทำให้ระบบนี้ไหลลื่นได้ดีก็จะทำให้เกิดการให้บริการอย่างแท้จริง ผลลัพธ์ที่จะตามมาคือ อย่างน้อยช่วยลดจำนวนคนพิการ หรือลดจำนวนผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือลดการเสียชีวิตได้” รศ.กภ.มัณฑนากล่าว

กภ.ระพีพัฒน์ จิตมาลย์ นักกายภาพบำบัด กนก เฮลท์ แคร์ กล่าวว่า การทำกายภาพบำบัดไม่ได้มองว่าต้องทำกี่ครั้ง แต่สำคัญที่ความสม่ำเสมอมากกว่า เช่น สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ก็ควรต้องทำสม่ำเสมอ และไม่จำเป็นต้องทำแค่ 6 เดือน บางรายก็นานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย ดังนั้น การที่ สปสช.จัดระบบบริการในลักษณะนี้ถือว่าตอบโจทย์อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพราะหากคนไข้ไปรับบริการที่

โรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เช่น อาจต้องเรียกรถพยาบาลไปรับ เสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500-2,000 บาท หรือหากไปรับบริการที่คลินิกเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,000 บาท ไปรับบริการ 20 ครั้ง เป็นเงินกว่า 20,000 บาท ยิ่งถ้ามีอุปกรณ์ก็ต้องบวกเพิ่มอีก ซึ่งสูงกว่าให้นักกายภาพลงไปเยี่ยมที่บ้าน

กภ.ระพีพัฒน์ กล่าวถึงขั้นตอนการใช้สิทธิเพื่อรับบริการกายภาพบำบัดว่า สามารถรับบริการได้ 2 รูปแบบคือ
1.รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลที่รักษาให้ไปรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัด และ
2.ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ของผู้ป่วยส่งต่อ แต่ผู้ป่วยต้องแจ้งความประสงค์ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขก่อน แล้วจะส่งไปรับบริการที่คลินิกกายภาพในเครือข่ายบริการนั้นๆ ซึ่งเมื่อมีรายชื่อเข้าระบบ คลินิกกายภาพบำบัดจะทำนัดและจัดบริการกายภาพบำบัดทั้งที่คลินิกและที่บ้านหากผู้ป่วยมีข้อจำกัดในการเดินทาง

“การเยี่ยมบ้านมีข้อดีคือ ได้เห็นสภาพแวดล้อม ได้ดูว่าการใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้ป่วยเป็นอย่างไร สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามสภาพความเป็นจริง แต่ก็จะมีข้อจำกัดตรงที่อุปกรณ์บางอย่างไม่สามารถขนย้ายไปที่บ้านได้ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรสลับไปรับบริการที่คลินิกด้วย ส่วนกระบวนการฟื้นฟูนั้นจะเน้นไปที่การทำกิจวัตรประจำวันให้ได้เร็วที่สุด หรือเป็นภาระญาติให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การเคลื่อนไหวบนเตียง การนั่งทรงตัว การนั่งแล้วยืน ยืนแล้วเดินได้ เป็นลำดับไป รวมทั้งการปรับสภาพแวดล้อม แนะนำการจัดบ้าน การปรับทางเดินให้เอื้อต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วย” กภ.ระพีพัฒน์ กล่าวและว่า นอกจากโฟกัสที่ตัวผู้ป่วยแล้ว นักกายภาพบำบัดจะให้คำแนะนำต่างๆ แก่ญาติผู้ดูแลด้วย เพราะญาติคือหัวใจหลักในการดูแลผู้ป่วย จึงต้องทำให้ญาติเข้าใจการดูแลที่ถูกต้อง

ด้าน นายธงชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 57 ปี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า ตนมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เกิดอาการยืนไม่ตรง เดินเซ ถือแก้วน้ำไม่ได้ จึงรีบไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงโรงพยาบาลก็เริ่มพูดไม่รู้เรื่องแล้ว รักษาที่โรงพยาบาลแรกได้ 2 สัปดาห์ก็ย้ายไปโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ เมื่อรักษาเสร็จแล้วก็คิดว่าจะฝึกกล้ามเนื้อให้กลับมาเดินด้วยตัวเอง แต่ก็ได้ทราบจากคนรู้จักว่าสิทธิบัตรทองรับบริการกายภาพบำบัดได้ จึงไปใช้สิทธินี้ ซึ่งช่วยประหยัดเงินได้มาก เนื่องจากหมดเงินกับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนไปกว่า 2 แสนบาท โดยปัจจุบันมีนักกายภาพบำบัดไปช่วยให้คำแนะนำถึงที่บ้าน เช่น ท่าทางการยืนที่ถูกต้อง เป็นต้น ถือว่าบริการนี้มีประโยชน์มาก

นางยุวรินธร บุบผา ญาติของนายธงชัย กล่าวว่า ช่วงแรกตกใจกับค่ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนพอสมควร เมื่อย้ายไปโรงพยาบาลที่ 2 ยังจ่ายเงินเอง แต่ก็มีราคาถูกลง จนช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนออกจากโรงพยาบาล ตัดสินใจใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาฟื้นฟู

“ รู้สึกกังวลใจมาก เพราะตอนผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กังวลว่าตัวเองจะดูแลได้หรือไม่ จะปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะไม่ได้มีความรู้เหมือนคนที่ผ่านการอบรมมา โชคดีที่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 แนะนำว่าจะส่งทีมสหวิชาชีพมาเยี่ยมบ้าน“ นางยุวรินธร กล่าวและว่า การมีนักกายภาพบำบัดช่วยให้คำแนะนำทำให้รู้สึกอุ่นใจมากขึ้น การมีบริการแบบนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประชาชน

มติชน
29 สค 2566