ผู้เขียน หัวข้อ: เห็นชอบ ตั้งคณะแพทยศาสตร์ในสถาบันพระบรมราชชนก รองรับแพทย์ขาดแคลน  (อ่าน 56 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงตั้งคณะแพทยศาสตร์ในสถาบันพระบรมราชชนก รองรับการผลิตบุคลากรการแพทย์ที่ขาดแคลน และสนับสนุนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เตรียมลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ส.ค. 66 ได้รับทราบร่างกฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข  พ.ศ. ... โดยมีสาระสำคัญเป็นจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ เป็นส่วนราชการภายในสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งขาดแคลน รวมถึงเป็นการสนับสนุนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (Project to Increase Production of Rural Doctor : CPIRD) ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบโครงการนี้เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 65 เรื่อง โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561-2570

สำหรับคณะแพทยศาสตร์ ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับศูนย์การแพทย์ศาสตรศึกษาชั้นคลินิกของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งไม่มีโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยจะมีการแบ่งส่วนราชการในคณะออกเป็น 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย
1) สำนักงานคณบดี
2) วิทยาลัยแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์
3) วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และ
4) วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลราชบุรี

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 65 และได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 10 ม.ค. และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งเป็นการดำเนินตามขั้นตอนตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 49 เรื่องขั้นตอนการแบ่งส่วนราชการภายในสถาบันอุดมศึกษา ที่กำหนดว่าเมื่อมีการจัดทำกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการให้เสนอคณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณากลั่นกรอง และเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ให้ถือว่า ครม. ให้ความเห็นชอบแล้ว

เมื่อได้มีการส่งร่างกฎกระทรวงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จึงถือว่าร่างกฎกระทรวงฯ เป็นร่างอนุบัญญัติที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติหลักการไว้ก่อนที่จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 มี.ค. 2566 เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ แล้วเสร็จ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามขั้นตอน เพื่อให้ร่างกฎกระทรวงประกาศใช้บังคับต่อไป การเสนอต่อ ครม. ในครั้งนี้จึงเป็นการเสนอเพื่อรับทราบ ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักเลขาคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะได้ส่งร่างกฎกระทรวงฯ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป.


www.thairath.co.th
29 ส.ค. 2566