ผู้เขียน หัวข้อ: สสจ.ตรังสั่งตรวจสอบ รพ.เอกชน หลังพยาบาลให้ยาผิดช่องทาง ทำน้อง 4 ขวบโคม่า  (อ่าน 76 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ตรัง - สสจ.ตรัง สั่งตรวจสอบ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง หลังมีข่าวพยาบาลพาร์ทไทม์ให้ยาอะดรีนาลีนผิดช่องทาง โดยการให้ยาทางเส้นเลือด แทนที่จะให้ทางพ่นละอองฝอย ทำน้องวัย 4 ขวบ เกิดอาการโคม่า

จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวน้อง 4 ขวบ เกิดอาการโคม่า หลังจากพยาบาลพาร์ทไทม์ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งให้ยาอะดรีนาลีนทางเส้นเลือด ทั้งที่ปกติจะให้โดยการพ่นละอองฝอย ขณะที่ฝ่ายแม่เตรียมตั้งทนายดำเนินเรื่องให้ถึงที่สุดนั้น

นพ.สินชัย รองเดช นายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) จังหวัดตรัง กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ล่าสุด ทางสำนักงานได้รับทราบข้อมูลคร่าวๆ มาบ้างแล้ว ซึ่งเหตุเกิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โดยภาพรวมในเรื่องนี้ที่ถูกกล่าวถึงคือ การสั่งการรักษา และการเกิดผลกระทบ ทำให้น้องวัย 4 ขวบกว่าๆ มีปัญหาอาการเข้าขั้นสาหัส จนต้องรีบช่วยชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ แล้วส่งต่อไปโรงพยาบาลตรัง และโรงพยาบาล ม.อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งทราบว่าล่าสุดอาการน้องพ้นวิกฤตแล้ว แต่ยังมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ไม่สามารถที่จะไปโรงเรียนได้

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้ลงไปดูในเรื่องของผู้ให้บริการวิชาชีพเฉพาะสาขาต่างๆ ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ว่า ได้แจ้งรายชื่อขออนุญาตมาที่สำนักงานอย่างถูกต้องทุกคนหรือเปล่า รวมทั้งไปดูในเรื่องของมาตรฐานการให้บริการ และเรื่องความผิดพลาดในการบริหาร กรณีของการให้ยาที่ไม่ถูกช่องทาง โดยตนเองได้มอบให้กลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภคลงไปตรวจสอบ และเก็บหลักฐานต่างๆ ว่า ยาที่ให้ผู้ป่วยเป็นยาอะไร สั่งโดยใคร และผู้รับออเดอร์ในการให้ยาครั้งแรกคือใคร ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของยาพวกนี้หรือเปล่า

โดยเฉพาะจากกรณีนี้คือ ยาอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นยาอันตราย ฉะนั้น การสั่งออเดอร์ หรือรับออเดอร์ จนไปถึงห้องยาต้องมีความรอบคอบ และให้ถูกช่องทางในการเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงฉับพลันได้ เพราะยาอะดรีนาลีนโดยปกตินั้นจะไม่นิยมให้ทางเส้นเลือด ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้นเพื่อช่วยฟื้นคืนชีพ แต่ถ้าให้ในผู้ป่วยปกติจะเน้นการพ่นละอองฝอย เพื่อให้ค่อยๆ รับยาเข้าไป

ขณะเดียวกัน ยังได้ไปติดตามเรื่องของทางโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ว่า จะออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างไร และมีการเยียวยาให้ผู้เสียหายอย่างไรบ้างแล้ว แม้เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดทางญาติจะไม่ได้ร้องเรียนมาที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง แต่ตนเองได้สั่งการให้รองนายแพทย์สาธารณสุขลงไปดูแล้ว เนื่องจากเหตุเกิดในพื้นที่ของ จ.ตรัง ซึ่งพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ รวมทั้งไปตรวจสอบในส่วนของพยาบาลที่ให้ยาว่าเป็นพยาบาลพาร์ทไทม์หรือไม่ ทำงานที่ไหน อยู่ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังหรือเปล่า และได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ความผิดหลักคือเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว

28 ส.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
แม่เล่าทุกช็อต ใจสลายแล้ว ส่งลูก 4 ขวบรักษา กลับฉีด ‘ยาใช้พ่น’ เข้าเส้นเลือด เกือบเสียลูก วอน รพ.รับผิดชอบค่าสินไหมที่ทนายยื่นไป เช็กบุคลากรให้ดี พยาบาลพาร์ตไทม์ที่ทำผิด ตั้งแต่เกิดเรื่องจนถึงวันนี้ไม่เคยพบหน้า

จากกรณีที่โลกออนไลน์แชร์เรื่องราวคุณแม่รายหนึ่งขอความเป็นธรรมให้ลูกน้อย ซึ่งเป็น ลูกชายวัย 4 ปี เข้ารักษาใน รพ.เอกชนชื่อดัง จ.ตรัง 1 คืน ด้วยอาการไข้หวัดธรรมดา แต่หมอและพยาบาลฉีดยาผิดประเภท โดยเอายาพ่นฉีดเข้าเส้นเลือด เด็กมีเลือดออกทางปาก ช็อก ตาลอย อาการสาหัส

ต่อมา โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ตรัง ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ยืนยันว่า ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ปรากฏในข่าว ขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวผู้ป่วย และขอให้ผู้ป่วยกลับมาสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม น.ส.สุพินญา อายุ 35 ปี แม่ของ ด.ช.วัย 4 ปี ระบุว่า วันที่ 21 มิ.ย.66 ลูกชายมีอาการไข้หวัดและไอจึงพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.ตรัง จากนั้นวันที่ 22 มิ.ย.66 พยาบาลนำยามาฉีดให้น้อง 1 เข็ม แจ้งว่าเป็นยาอะดรีนาลีน 2 มิลลิกรัม ฉีดเพื่อขยายหลอดลม แต่หลังจากฉีดเข้าไปแล้วน้องมีอาการช็อก ตัวเกร็ง มีเลือดออกทางปาก ฉี่ราด และไม่ค่อยได้สติ

จากนั้นส่งตัวน้องไปห้องฉุกเฉินนานประมาณ 4-5 ชั่วโมง คุณหมอบอกว่าน้องอาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งมีเครื่องมือที่พร้อมกว่า ตอนนั้นคุณหมอแจ้งอาการของน้องว่ามีน้ำท่วมในปอด ยาตัวนี้อาจไปทำให้แพ้ยารุนแรง และระหว่างอยู่ในรถพยาบาลก็จะมีเครื่องช่วยหายใจแบบปั๊ม เมื่อปั๊มแต่ละทีก็มีเลือดกระฉูดออกมาตลอดเวลา แม้มีผ้าสีขาวที่ปิดหน้าอกน้องไว้ แต่ก็เปื้อนเลือดเต็มไปหมด เมื่อไปถึงโรงพยาบาลประจำจังหวัดคุณหมอก็แจ้งอาการน้องเพิ่มมาอีกอย่างคือ มีเลือดออกในปอด ไม่ใช่น้ำ

น้องแอดมิตอยู่ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด 1 คืน พยาบาลบอกว่าน้องอาการทรุดตัวหนัก จำเป็นต้องส่งไปโรงพยาบาลศูนย์ที่ภาคใต้ เมื่อไปถึงคุณหมอก็แจ้งเพิ่มว่าน้องมี 3 อาการ คือหัวใจวายเฉียบพลัน มีเลือดออกในปอด และปอดข้างขวาทะลุ จากนั้นน้องรักษาตัวอยู่ในไอซียูนานถึง 12 วัน

ระหว่างรักษาลูกมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมาอีก 8 อาการ ทั้งหัวใจวายเฉียบพลัน มีเลือดออกในปอด อะดรีนาลีนเกินขนาด ภาวะทางเดินหายใจติดเชื้อ โพแทสเซียมสูง สายตาเอียง กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวไม่ดี ปอดข้างขวาทะลุและฮอร์เนอร์

หลังจากนั้น โรงพยาบาลแรก ชี้แจงว่า คุณหมอสั่งยาผ่านระบบคอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์รวน คุณหมอสั่งเป็นพ่นยาให้น้อง แต่ในระบบไปติ๊กให้เป็นฉีด พยาบาลจึงเอายามาฉีดให้น้อง ทำให้ยาตัวนี้เกินขนาดไป

น.ส.สุพินญากล่าวอีกว่า ถ้าเป็นพยาบาลวิชาชีพ หรือพยาบาลชำนาญการจะทราบว่าอะดรีนาลีน 2 มิลลิกรัมฉีดเข้าเส้นเลือดไม่ได้ เพราะอันตรายมาก แต่พยาบาลคนที่มาฉีดให้น้องเป็นพยาบาลพาร์ตไทม์ ไม่ใช่พยาบาลวิชาชีพ ไม่ใช่พยาบาลชำนาญการ แล้วก็ไม่ใช่พยาบาลของโรงพยาบาลด้วย ทางโรงพยาบาลเพิ่งจะมาแจ้งตนตอนน้องอาการดีขึ้นแล้ว ทั้งที่ผ่านมาระหว่างที่รักษาตัวน้องตนก็ถามทางโรงพยาบาลมาตลอดว่าเกิดอะไรขึ้น เขาได้แต่บอกว่าเดี๋ยวรอน้องอาการดีขึ้นก่อนแล้วค่อยชี้แจงทีเดียว

“ตอนแรกลูกเราป่วยแล้วเอาลูกไปรักษาเพื่อที่จะให้ลูกหาย แต่กลับกลายเป็นว่าเกือบเสียลูกไป แล้วก็ได้อีก 8 อาการเพิ่มมา ความรู้สึกของแม่ตอนนั้นคือใจสลายไปแล้ว คิดว่าไม่ได้ลูกกลับคืนมาแล้ว เพราะอาการน้องที่เห็นตอนนั้นคือหนักมาก

“หลังจากน้องออกมาจากไอซียูก็มีผลข้างเคียง คือกล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจหอบง่าย มีนอนผวากลางคืนก็จะสะดุ้ง และครึ่งฝั่งขวาของใบหน้าระบบประสาททำงานบกพร่อง ไม่มีเหงื่อออก ไม่มีเลือดหมุนเวียน หนังตาตก และรูม่านตาหดตัวลงไป” แม่เล่า

แม่เด็กบอกอีกว่า สำหรับการรับผิดชอบ โรงพยาบาลได้ติดต่อมาขอตัวน้องไปดูแลต่อจนหาย และรักษาฟรี 2 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งเงินค่าทดแทนสินไหมอยู่ที่กว่า 870,000 บาท แต่ครอบครัวไม่ได้รับข้อเสนอไว้ เพราะประเมินจากอาการน้องระยะยาวและอาการที่เกิดอยู่ในช่วงระหว่างที่อยู่ไอซียูหนักมาก

จำนวนเงินที่โรงพยาบาลเสนอมา คิดว่าถ้าต้องดูแลน้องไปยาวๆ ตนไม่สามารถรู้ได้เลยว่าน้องจะเกิดอะไรขึ้น หรือเป็นอะไรในอนาคตหรือไม่ เพราะน้องเพิ่งผ่านวิกฤตรุนแรงไปกับปอดและหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ

ด้านสภาพจิตใจของน้องหลังจากออกจากไอซียู แม่เผยว่า น้องกลายเป็นเด็กขี้น้อยใจ บางครั้งก็จะมีอารมณ์รุนแรง สันนิษฐานว่าตอนอยู่ไอซียูมีการมัดมือมัดเท้าน้องไว้ และน้องไม่เคยห่างพ่อแม่แล้วต้องไปอยู่ในไอซียูคนเดียว น้องอาจมีสภาพจิตใจที่แย่ในจุดนั้น ส่วนสภาพจิตใจของทางครอบครัวตอนนี้ก็ยังมีความกังวลว่าน้องจะกลับมาเป็นปกติไหม น้องจะหายไหม และในอนาคตน้องจะเป็นยังไง ก็ยังมีความหวาดกลัวกันอยู่

อยากให้โรงพยาบาลช่วยดูเรื่องค่าสินไหมที่ทนายของครอบครัวได้ยื่นไป เพราะว่าเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาล ตอนนี้น้องยังอยู่ในความดูแลของครอบครัว อนาคตไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น อยากให้ทางโรงพยาบาลช่วยดูในจุดนี้

อยากฝากถึงเรื่องระบบการสั่งจ่ายยาและบุคลากรที่นำมาปฏิบัติงานในโรงพยาบาล อยากให้ช่วยดูแลให้ดีกว่านี้ อยากให้ตรวจสอบให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์มาดูแลผู้ป่วย จะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดแบบนี้อีก เพราะพยาบาลคนที่ฉีดยาให้น้อง ตั้งแต่วันเกิดเรื่องก็ไม่เจอพยาบาลคนนั้นอีกเลย

มติชน