ผู้เขียน หัวข้อ: วิกฤติผู้สูงวัยในญี่ปุ่นอยากติดคุกมากขึ้น ยอดตายโดดเดี่ยวในบ้านพุ่ง (1)  (อ่าน 60 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ประเทศญี่ปุ่นได้มีชื่อเสียงว่ามีผู้ที่อายุยืนมากที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลกแต่การที่ประชากรมีอายุยืนในญี่ปุ่นได้กลายเป็นปัญหาใหญ่อีกหลายด้านตามมา

ญี่ปุ่นเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมานานทำให้ปัญหาได้มีพัฒนาการเป็นระดับ  “วิกฤติ” ต่อเนื่องไปอีกหลายปี เพราะไม่ใช่เพียงแค่ประชากรมีอายุยืนมากขึ้นเท่านั้น แต่ประชากรที่เกิดมาก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมีอัตราการเกิดของประชากรต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี

การที่ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน และรัฐบาลต่อๆ ไปเริ่มจะมีนโยบายบำนาญของผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมความพร้อมในสังคมผู้สูงวัยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เงินบำนาญผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาที่เป็นลูกโซ่อีกหลายด้าน ดังนั้นการถอดบทเรียนจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องสังคมผู้สูงวัยมาก่อนประเทศไทยเป็นเวลานานจึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยควรจะได้เรียนรู้ เพื่อเตรียมตัววางแผนสำหรับประเทศไทยต่อไปในวันข้างหน้า

บำนาญผู้สูงวัยที่ได้เริ่มมีการหาเสียงเป็นนโยบายของหลายพรรคการเมืองแต่ญี่ปุ่นก็ได้ใช้งบประมาณอันมหาศาลให้กับผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่นเองมาเป็นเวลานาน ขนาดว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศร่ำรวยอย่างมหาศาล แต่งบประมาณรายงานด้านประกันสังคมได้เพิ่มสัดส่วนอย่างมหาศาล

เมื่อประมาณ 33 ปีก่อน ในปี 1990 (พ.ศ.2533) งบประมาณรายจ่ายด้านประกันสังคมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.5 ของงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน แต่ในปี 2023 (พ.ศ. 2566) งบประมาณรายจ่ายด้านประกันสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32.3 ของงบประมาณแผ่นดิน

  ปัญหาทางด้านงบประมาณรายจ่ายด้านประกันสังคมของญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยผู้สูงวัย ยังได้ก่อหนี้สินของญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปี พ.ศ. 2564 พบว่าประเทศญี่ปุ่นมีหนี้สินของรัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงที่สุดอันดับ 1 ของโลก (จาก 172 ประเทศ) ซึ่งปัญหายังบานปลายไปถึงการออกพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะเริ่มขายยากขึ้น หรือไม่ก็ต้องมีรายจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น[1]

ยิ่งมีผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะคนอายุยืนมีมากขึ้น สัดส่วนรายจ่ายของรัฐบาลในกลุ่มผู้สูงวัยก็ยิ่งมากขึ้น โดยปี พ.ศ. 2565 พบว่าผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า65 มีสัดส่วนร้อยละ 29.1[2] หรือประมาณการว่ามีผู้สูงอายุมากถึง 36 ล้านคน และมีผู้สูงอายุเกิน 100 ปีถึง 9 หมื่นคน[3]
แต่ปัญหาที่กำลังรุนแรงขึ้นเพราะมีผู้สูงวัยที่อายุ 75 ปีขึ้นไปเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี พ.ศ. 2563 มีจำนวน 18.72 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ14.92 แต่ในปี พ.ศ. 2568 มีจำนวน 21.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ17.8[1] ซึ่งยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัยอายุเกินกว่า 75 ปี เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ปัญหาไม่ได้หยุดเพียงแค่ประชากรคนเกิดใหม่ลดลงเท่านั้น แต่ปัญหาของประเทศญี่ปุ่นยังมีปัญหาที่ผู้สูงวัยถูกทอดทิ้งจากครอบครัว ด้วยเพราะคนญี่ปุ่นต้องทำงานหนัก มีวินัย และใช้ชีวิตอยู่กับงานมากกว่าครอบครัว ได้ส่งผลทำให้คนญี่ปุ่นได้ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวอยู่คนเดียวและเหงามากขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมที่ต้องทำงานหนักอยู่แล้ว แต่ตัวกระตุ้นในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาในการทำให้สังคมญี่ปุ่นมีความโดดเดี่ยวมากขึ้น คือการเกิดโรคระบาดทั่วโลก[4]

แต่ความจริงก่อนการเกิดโรคระบาด ปัญหาผู้สูงวัยในประเทศญี่ปุ่นที่โดดเดี่ยวถูกทอดทิ้งนั้น ความจริงการสำรวจอาจจะไม่ครบทั้งหมด และกว่าจะรู้ได้ก็จะมาพบเมื่อเกิดการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวแล้ว ผลสำรวจการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวของชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้นนั้นพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ลดการสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัว ลดการสื่อสารกับเพื่อนบ้าน และการเพิ่มขึ้นของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากนิวเคลียร์[5] แต่งานวิจัยพบว่าการสร้างกิจกรรมในการมีส่วนร่วมของสังคมจะทำให้ภาวะการโดดเดี่ยวของผู้สูงวัยลดลงได้[6]

ภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่าสังคมเกิดวิกฤตินั้น ผ่านภาพของสังคมในหลายมิติ คือ ผู้สูงวัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวและตายโดดเดี่ยวมากขึ้น ผู้สูงวัยตั้งใจทำผิดกฎหมายเพื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำมากขึ้นเพราะมีอาหารให้กิน มีงานให้ทำและมีผู้ดูแลโดยไม่ต้องใช้เงินบำนาญจากภาครัฐที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ค่าครองชีพแพง ขาดแรงงานที่ดูแลผู้สูงวัยอย่างเพียงพอ การรอคิวเผาศพเพิ่มขึ้นจำนวนมากจนต้องเช่าที่เก็บศพที่รอวันเผา 3-7 วัน บ้านร้างเพิ่มมากขึ้น จนรัฐต้องยึดคืนเพราะไม่มีทายาทรับมรดกเพราะกลัวเรื่องภาษีและค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง[7]

ตัวอย่างปัญหาในคุกที่มีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ทำให้หลายเรือนจำได้กลายเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงวัย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องแบกรับปัญหามากขึ้น และทำให้ลูกจ้างจำนวนมากต้องลาออก ปัญหาดังกล่าวนี้ยิ่งกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติมากขึ้นไปอีก[7]

ยังไม่นับพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นที่มีความโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้นในแทบทุกวัย ร้านคาราโอเกะเฉพาะที่ร้องคนเดียวเพิ่มมากขึ้น บริการรับฟังปัญหาคนอื่นกลายเป็นธุรกิจ ตุ๊กตายางได้ถูกซื้อเป็นเพื่อนให้กับผู้สูงวัยมากขึ้น แม้แต่หุ่นยนต์สุนัขก็ได้กลายเป็นสินค้าที่สร้างขึ้นมาให้เอาใจคนเหงาในญี่ปุ่น ถึงขนาดว่ายังต้องมีการจัดงานศพให้กับหุ่นยนต์สุนัขของแต่ละบ้าน กลายเป็นว่าคนญี่ปุ่นเหงามากขึ้นและแสวงหาความสัมพันธ์กับสิ่งไม่มีชีวิตมากขึ้นหรือคนที่ไม่รู้จักมากขึ้น[8]

ปัญหาดังกล่าวจึงทำให้วัยทำงานและผู้ประกอบการต้องจ่ายภาษีมากขึ้น เพื่อมารองรับสังคมผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยถูกสังคมมองว่าคือปัญหาของประเทศโดยรัฐบาลได้จัดงานทุกวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน เป็นวันให้ความเคารพนับถือผู้วัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 หรือประมาณ 57 ปีมาแล้ว [9]

ปัญหาผู้สูงวัยจำนวนมากของญี่ปุ่นเป็นปัญหาวิกฤติ ได้มีมุมมองที่น่าสนใจผ่านภาพยนตร์ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี 2565 เรื่อง Plan 75 เลือกวันตาย โดยนำเสนอเรื่องปัญหาของผู้สูงวัยในญี่ปุ่น และรัฐบาลได้มีนโยบายให้ลดประชากรผู้สูงวัยให้เร็วขึ้น เพื่อลดภาระรัฐบาลและภาษีของประชาชน ด้วยการให้ชาวญี่ปุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปสามารถสมัครเข้ารับการการุณยฆาต (Euthanasia)หรือรัฐให้บริการฆ่าตัวตายอย่างสงบ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดการตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครไปจนถึงการฌาปนกิจ และมีแรงจูงใจให้ได้รับเงิน 1 แสนเยน สำหรับใช้จ่ายอย่างเต็มที่ และยังมีผู้ให้คำปรึกษาและใช้ชีวิตดื่มด่ำในโรงแรม 5 ดาวฟรีในช่วงสุดท้ายของชีวิต[10]


 สำหรับประเทศไทย กรมกิจการผู้สูงอายุได้บันทึกสถิติไว้ พบว่าเมื่อสิ้นปี2565 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,519,926 คน หรือคิดเป็นจำนวน 18.94% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน [11]

ซึ่งประเทศจะต้องเตรียมการนั้นมีหลายมิติ เช่น งบประมาณแผ่นดินมาตรการทางภาษี เงินออม การมีงานทำ แรงงาน การสาธารณสุข การดูแลผู้สูงวัย และมาตรการรองรับทางสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาผลกระทบ 5 ด้านดังต่อไปนี้

 1)ปัญหาทางด้านสุขภาพกาย  ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหา ด้านสุขภาพเสื่อมโทรมมีโรคภัยต่าง ๆ เบียดเบียน ทั้งโรคทางกาย และทางสมอง ผู้มีอายุเกิน 65 ปีมักมีการ เปลี่ยนแปลงทางสมองคือ โรคสมองเสื่อม โรคหลงลืม โรคซึมเศร้า

 2) ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ
ผู้สูงอายุที่มี ฐานะไม่ดี ไม่มีลูกหลานดูแลอุปการะเลี้ยงดู อาจจะไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เพียงพอสําหรับการเลี้ยงชีพอาจจะไม่มีที่อยู่อาศัย ทําให้ได้รับความลําบาก

 3) ปัญหาทางด้านความรู้  ผู้สูงอายุไม่มีโอกาสได้รับความรู้เพื่อ การพัฒนาตนเอง ให้เหมาะสมกับวัย และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้เข้ากันได้กับเยาวชนรุ่นใหม่

 4) ปัญหาทางด้านสังคม  ผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้รับการยกย่องจากสังคมเหมือนเดิม โดยเฉพาะผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ ตําแหน่งสูงซึ่งเคยมีอํานาจและบริวารแวดล้อม เมื่อเกษียณอายุราชการ อาจเสียดายอํานาจและตําแหน่งที่เสีย ไปเยาวชนและหนุ่มสาวหลายคนมีทัศนคติไม่ดีต่อผู้สูงอายุ เห็นคนรุ่นเก่าล้าสมัย พูดไม่รู้เรื่องและไม่มี ประโยชน์

 5) ปัญหาทางด้านจิตใจ  ผู้สูงอายุจะไม่ได้รับความเอาใจใส่ และความอบอุ่นจากลูกหลานอย่าง เพยีงพอทําให้รู้สึกว้าเหว่อ้างว้าง

 แม้จะยังไม่เข้าสู่วิกฤติเหมือนประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงนโยบายเบี้ยคนชรา หรือบำนาญประชาชนมากขึ้น ประเทศไทยจะต้องวางแผนในเรื่องการรองรับผู้สูงวัยอย่างรอบด้าน… “ตั้งแต่วันนี้”!!!

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] Ministry of Finance, Japanese Public Finance Sheet, April 2023.

https://www.mof.go.jp/english/policy/budget/budget/fy2023/02.pdf
[2] nippon.com, Japan Continues to Gray: Baby Boomers Reach 75, October 5,2022
https://www.nippon.com/en/japan-data/h01446/
[3] ย่อโลกเศรษฐกิจ TNN Online, ผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ทะลุ 36 ล้าน อายุเกินร้อยพุ่ง 9 หมื่น, youtube, 20 กันยายน 2565
https://youtu.be/_LOO_aEVj_U
[4] Hiroshi Murayama, et al., Changes in social isolation and loneliness prevalence during the COVID-19 pandemic in Japan: The JACSIS 2020–2021 study., Front. Public Health, 16 February 2023
Sec. Life-Course Epidemiology and Social Inequalities in Health Volume 11 - 2023
https://doi.org/10.3389/fpubh.2023.1094340
[5] Mayuko Nomura, et al., Isolation and unnatural death of elderly people in the aging Japanese society., ScienceDirect, Science & Justice, Volume 56, Issue 2, March 2016, Pages 80-83
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1355030615001574?via%3Dihub
[6] Manami Ejiri, et al., Social participation reduces isolation among Japanese older people in urban area: A 3-year longitudinal study, PlosOne, Published: September 20, 2019
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0222887
[7] The Standard, ส่องมุมมืดสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น “ระเบิดเวลา” ที่อาจเกิดขึ้นกับไทย, youtube, 2 สิงหาคม 2566
https://youtu.be/TWBg15iVQpU
[8] กรุณา บัวคำศรี ร้อยเรื่องรอบโลก EP.251, ชีวิตเหงาแบบคนญี่ปุ่น, Youtube, 16 มีนาคม 2566
https://youtu.be/_LOO_aEVj_U
[9] Amy Chavez, What is Respect for the Aged Day?, Planet Tokyo, September 2,2008
https://web.archive.org/web/20101228131259/http://www.planettokyo.com/news/index.cfm/fuseaction/story/ID/94/
[10] Mongkol Major Mongkok Cenema, Plan 75 วันเลือกตาย Official Trailer, 19 สิงหาคม 2565
https://youtu.be/aNqGJzX-p-g
[11] กรมกิจการผู้สูงอายุ, สถิติผู้สูงอายุ รวบรวมจากข้อมูลของกรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์และผู้มีสัญชาติไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
https://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/2387

19 ส.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์