หมวดหมู่ทั่วไป > สหสาขาวิชาชีพ

คนไทยเข้าถึงหมอฟันน้อย สธ.ลุยแยกตั้ง รพ.ทันตกรรมทุกจังหวัดปี'67เพิ่มเข้าถึงทำฟัน

(1/1)

story:
สธ. เผยบริการทันตกรรมคนไทย 10 ล้านครั้งต่อปี แจงบุคลากรไม่พอ จ่อปรับรูปแบบเข้าถึงบริการ แยกส่วนงานทันตกรรม ตั้ง รพ.ทันตกรรม ปี'66 ดำเนินการแล้ว39แห่ง ตั้งเป้าปี'67 ขยายทุกจังหวัด

4 ส.ค. 66 - นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บรรยายพิเศษ “รพ.ทันตกรรม ทางออกของการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากคนไทย” ภายในการประชุมพัฒนาศักยภาพทันตแพทย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า

ชมรมทันตแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย เคยหารือถึงงานบริการทันตกรรม ที่ให้บริการประชาชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประมาณ 10 ล้านครั้งต่อปี ขณะที่บุคลากรยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่ม ทั้งทันตแพทย์ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ทันตาภิบาล ฯลฯ หากเพิ่มบุคลากรก็ต้องขยายการบริการมากขึ้น อย่างปี 2566 จะเพิ่มบริการประชาชนเป็น 12 ล้านครั้งต่อปีได้หรือไม่ ก็เห็นพ้องกันว่า ทำได้

ทั้งนี้ จากการทบทวนข้อมูลพบว่า ประชาชนต้องการเข้าถึงงานบริการสุขภาพช่องปากมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามปกติควรต้องพบหมอฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คนไทยมี 70 ล้านคน ก็จะอยู่ที่ 140 ล้านครั้ง ดังนั้น การบริการทันตกรรมที่ผ่านมา 10 ล้านครั้งต่อปีเท่ากับ 8% หาก สธ.มีนโยบายดูแลประชาชนทุกมิติ งานทันตกรรมก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงจำเป็นต้องเดินหน้าให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากมากยิ่งขึ้น

“เรื่องบุคลากร การผลิตทันตแพทย์ถือว่าน้อยมาก แต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 6,000 กว่าคน จาก 5 ปีก่อนอยู่ 5,000 กว่าคน แต่ละปีจะมีทันตแพทย์เพิ่มขึ้นแค่ราว 200 คน อย่างจบทันตแพทยศาสตรบัณฑิตปีละ 800 คน อยู่ใน สธ.เพียง 1 ใน 4 ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ การจะให้บริการทันตกรรมแก่ประชาชนให้ได้มากกว่า 100 ล้านครั้งภายใน 10 ปี จะต้องปรับเปลี่ยนระบบใหม่ ทั้งรูปแบบบริการ เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอ เพราะหากทำเหมือนเดิมกว่าจะได้ตามเป้าหมายต้องใช้เวลา 50 ปี” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ดังนั้น จึงเกิดโครงการ รพ.ทันตกรรมขึ้น มีตัวอย่างกรมการแพทย์ที่มีสถาบันทันตกรรมก็มีการบริหารจัดการได้ดี แต่ทำไมสำนักงานปลัด สธ. ถึงไม่มี รพ.ทันตกรรม ทั้งที่เรามีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการบริการ การบริหาร การพัฒนาบุคลากร เดิมมีหน่วยบริการทันตกรรมทุก รพ.อยู่แล้ว จึงไม่น่ายากที่จะขับเคลื่อนให้เป็น รพ.ทันตกรรม

อย่างปี 2566 มี รพ.ที่พร้อมและดำเนินการแล้ว 39 แห่ง และปี 2567 ตั้งเป้าให้มี รพ.ทันตกรรมทุกจังหวัดเป็นอย่างน้อย เมื่อทุกอย่างลงตัวก็ค่อยๆ ขยายไปยังอำเภอ และภายใน 10 ปี จะครอบคลุมมากขึ้น

สำหรับงบประมาณก่อสร้าง รพ.ทันตกรรม ปัจจุบันงบ รพ.มาจากสำนักงบประมาณ สิทธิบัตรทอง เงินบำรุง และอื่นๆ เช่น การบริจาค และกิจกรรมต่างๆ โดยงบบัตรทองต้องมีการหารือกับ สปสช.ว่า จะมีการเพิ่มเติมอย่างไร ที่ไม่ใช่งบเหมาจ่ายรายหัว มิเช่นนั้นจะกลายเป็นงบเท่าเดิม แต่การบริการเพิ่มขึ้น รวมทั้งประกันสังคมด้วย ส่วนข้าราชการก็จะเป็นการเบิกจ่ายตามจริงอยู่แล้ว

"รพ.ทันตกรรมจะอยู่ในนโยบายหนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล (One Province One Hospital) โดยทางสสจ.จะสามารถจัดสรรเงินในจังหวัดให้กับ รพ.ทันตกรรมได้ไม่แตกต่างกับ รพ.อื่นๆ ในสังกัดเช่นกัน นอกจากนี้ รพ.ทันตกรรมยังมีข้อดีคือ วิชาชีพและสายงานที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรมจะสามารถเข้ามาบริหารงานได้ เพื่อให้เป็น รพ.ทันตกรรมที่บริหารโดยสายงานทันตกรรม" นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รพ.ที่เข้าร่วมนโยบาย รพ.ทันตกรรม 39 แห่ง ประกอบด้วย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ , รพ.นครพิงค์ , รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก , รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ , รพ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ , รพ.พระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี , รพ.ศูนย์บริการการแพทย์ นนทบุรี , รพ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา , รพ.หนองแค จ.สระบุรี , รพ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี,รพ.นครปฐม , รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี , รพ.สมุทรสาคร , รพ.ประจวบคีรีขันธ์ , รพ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี , รพ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี , รพ.นภาลัย จ.สมุทรสงคราม , รพ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี , รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี , รพ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว , รพ.มหาสารคาม , รพ.ขอนแก่น , รพ.อุดรธานี , รพ.บึงกาฬ , รพ.ชัยภูมิ , รพ.มหาราชนครราชสีมา,รพ.บุรีรัมย์ , รพ.สุรินทร์ , รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี , รพ.ยโสธร , รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช , รพ.วชิระภูเก็ต , รพ.สงขลา , รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา , รพ.ยะลา , รพ.ห้วยยอด จ.ตรัง , รพ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี , รพ.ธารโต จ.ยะลา และ รพ.พัทลุง

ข่าวสด
4สค2566

story:
ปลัด สธ.แจงเหตุผลแยก "รพ.ทันตกรรม" ช่วยเพิ่มบริการ ปชช. แทนที่จะไปเอกชน เพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากร รั้งให้อยู่ในระบบ เกิดโครงสร้างบริหารสายงานทันตกรรม เล็งให้ก้าวหน้าถึงซี 9 เหมือนแพทย์ ย้ำยังไม่จำเป็นต้องสร้างตึกใหม่ หาพื้นที่ว่างลุยทำก่อนได้ ให้ ก.พ.เห็นประโยชน์เพื่อขอตำแหน่ง หากผลดีค่อยขยาย อนาคตอาจตั้งแยกมีกอง หรือกรมทันตกรรม

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเดินหน้า รพ.ทันตกรรม เพื่อแยกบริการทันตกรรมออกมาจาก รพ. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยปี 2566 มีแล้ว 39 แห่ง และตั้งเป้าในปี 2567 มีครบทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง ก่อนขยายสู่ระดับอำเภอ ว่า การผลักดันนโยบาย รพ.ทันตกรรม จะเป็นการให้สายงานทันตกรรมดำเนินการกันเอง ส่วนบุคลากรที่ยังไม่เพียงพอก็จะต้องมีการจัดหามารองรับเพิ่มเติมและทำให้ทันตแพทย์อยู่ในระบบมากขึ้น ซึ่งปีหนึ่งๆ มีทันตแพทย์จบ 800 คน มาอยู่ สธ.ไม่ถึงครึ่ง หรือ 1 ใน 4 ย่อมไม่เพียงพอ ยิ่งมี รพ.ทันตกรรมขึ้นมาในแต่ละพื้นที่ก็ยิ่งต้องมีบุคลากรมารองรับเพิ่มเติม อย่างตอนนี้มี 6,000 คน เราต้องผลิตอีกเท่าไร หากต้องการถึง 30,000 คน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ สธ. จะต้องเดินหน้าผลิตทันตแพทย์ขึ้นเอง

“สธ.มีศักยภาพผลิตทันตแพทยศาสตรบัณฑิตได้ เพราะปัจจุบันเราผลิตแพทย์ได้เองแล้ว ประกอบกับเรามี รพ.จำนวนมากในภูมิภาค เป็นข้อดีที่เราจะสามารถฝึกปฏิบัติได้จริง เรื่องทักษะ ความชำนาญจึงไม่ต้องกังวล ส่วนเรื่องวิชาการสามารถฝึกอบรมเพิ่มเติมได้ แต่เราจะไม่เน้นเพียงบริการดูแลรักษา เราต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ทันตแพทย์คงอยู่ในระบบ สธ. ซึ่งมีหลายปัจจัย ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า มีทันตแพทย์จบการศึกษาปีละ 800 คน อยู่ สธ.เพียง 200 คน ที่เหลือลาออก ส่วนใหญ่ไปอยู่ภาคเอกชน จะทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาตรงนี้ การรวบรวมข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า บุคลากรที่จะอยู่ใน สธ.มีอยู่ 5 ปัจจัย จึงต้องวางปัจจัยเหล่านี้ให้บุคลากรอยู่ในระบบให้ได้ คือ
1.ค่าตอบแทน การจะมีค่าตอบแทนได้ ต้องมีกิจการที่ตอบสนองกัน อย่างที่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มจะเป็นกลุ่มนอกเวลา หากเปิดรพ.นอกเวลาให้บุคลากรได้มีค่าตอบแทนเพิ่ม ประชาชนยังได้รับบริการอีกด้วย ที่ผ่านมาตนเคยถามกับเพื่อนๆ ข้าราชการว่า เวลาไปรักษาหรือดูแลสุขภาพช่องปากไปที่ไหน ส่วนใหญ่ตอบไปเอกชน เห็นได้ชัดว่าข้าราชการเข้าไม่ถึงบริการเหมือนกัน เราจึงควรเปิดรพ.ทันตกรรมขึ้น และให้บุคลากรได้รับค่าตอบแทน

2.สวัสดิการ บ้านพักส่วนใหญ่ได้รับการดูแลพอสมควร แต่หากบริหารจัดการเอง มีรพ.เฉพาะก็สามารถสร้างบ้านพักให้บุคลากรภายในองค์กรได้ ที่ผ่านมาหลายวิชาชีพ อย่างพยาบาลเคยได้ยินข่าว 1 ห้องพักอยู่กัน 4 คน ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ ขณะนี้มีการสร้างหอพักเพิ่มแล้วราว 4,000 ยูนิต สิ้นปีนี้น่าจะได้ 10,000 ยูนิต และในปี 2567 น่าจะถึง 20,000 ยูนิต อยู่ที่การบริหารจัดการ

3.ความก้าวหน้า ต้องให้บุคลากรได้มีโอกาสเลื่อนระดับเทียบเท่าแพทย์เป็นอย่างน้อย คือ ระดับซี 9 โดยก่อนเกษียณต้องมีโอกาสเลื่อนระดับได้ทุกคน ซึ่งการจะทำตรงนี้ได้สำเร็จก็จะกลับมาที่ รพ.ทันตกรรม เมื่อมี รพ. ต้องมีบุคลากรมารองรับภารกิจงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำข้อมูลไปเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาเรื่องความก้าวหน้าได้ หากเรามีข้อมูลข้อเท็จจริงก็จะเหมือนกรณีพยาบาลที่เพิ่งได้รับความก้าวหน้าเลื่อนระดับชำนาญการพิเศษ หรือ ซี 8 กว่า 1 หมื่นตำแหน่ง ที่นำเสนอข้อมูลภาระงาน ความจำเป็นตามเหตุผลที่เกิดขึ้นจริง จน ก.พ.เห็นชอบ

4.ภาระงาน ปัจจุบันทันตแพทย์มีจำนวนน้อย ต้องผลิตเพิ่ม แต่เมื่อเพิ่มแล้วก็ต้องจัดบริการทันตกรรมมากขึ้น และครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งก็กลับมาที่ รพ.ทันตกรรม ที่จะแก้ไขและตอบโจทย์ตรงนี้ และ 5.เรื่องอื่นๆ โดยต้องให้ความสำคัญทั้งหมด

"การมีรพ.ทันตกรรม จะช่วยเรื่องความก้าวหน้าให้กับวิชาชีพ และสายงานต่างๆ ด้านทันตกรรมทั้งหมด บุคลากรมีโอกาสเติบโตเข้าสู่สายงานบริหารได้ ล่าสุดสำนักงานเขตสุขภาพ เสนอว่า น่าจะมีทันตแพทย์สำนักงานเขตสุขภาพ (Chief Dental Officer :CDO) ได้ฝากผู้ตรวจราชการฯ รับเรื่องนี้ไปดำเนินการ" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วน รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป หากยังไม่มีรพ.ทันตกรรม ให้พัฒนาเป็นศูนย์ทันตกรรม ตั้งเป็นรอง ผอ.ฝ่ายทันตกรรม หรือเป็น ผอ.ศูนย์ทันตกรรม พิจารณาตามความเหมาะสม โดยหลักเราต้องการเปิดโอกาสให้ทันตแพทย์เป็นผู้บริหารจัดการเอง สธ.จะดูภาพรวม ดูเป้าหมายเป็นสำคัญ ย้ำว่า รพ.ทันตกรรม ยังไม่จำเป็นต้องสร้างตึกใหม่ จัดทำชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือมีพื้นที่ที่ว่างก็สามารถทำได้ หรือจะใช้โมบายยูนิตทำก่อน เพื่อให้เห็นว่าปีหนึ่งประชาชนได้อะไร ประเทศได้อะไร ก็จะเสนอ ก.พ.ให้เห็นความจำเป็นได้ ก็จะและในอนาคตหากดำเนินการแล้วผลดีเกิดขึ้นมาก ก็สามารถขยายไปสู่การมีกอง เป็นกรมทันตกรรมก็ว่ากันไป ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสถานการณ์

5 ส.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version