ผู้เขียน หัวข้อ: “แบ่งแยกแล้วปกครอง” นโยบาย “เขมือบ” อินเดียของจักรวรรดิอังกฤษ  (อ่าน 61 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
การครอบครอง “อินเดีย” ของจักรวรรดิอังกฤษ ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของลัทธิจักรวรรดินิยมหรือการล่าอาณานิคมโดยชาติยุโรปชาวตะวันตก เพราะอินเดีย หรือ “อนุทวีป” คือดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นอู่อารยธรรมระดับสูงแต่โบราณ อุดมไปด้วยมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากมาย โดยเฉพาะความร่ำรวยที่ทำให้ราชวงศ์โมกุล (Mughal) ถือเป็นจักรวรรดิที่มั่งคั่งที่สุดในโลก ตลอดยุคสมัยที่พวกเขาปกครองอินเดียระหว่างศตวรรษที่ 16-18

แต่ยุคทองย่อมมีวันสิ้นสุด เมื่ออังกฤษเข้ามาแทรกแซงและแสวงหาผลประโยชน์จากอินเดีย พวกเขาเริ่มกลืนกินอนุทวีปทีละเล็กทีละน้อยด้วยนโยบาย “Divide and rule” คือการแบ่งแยกแล้วปกครอง บ้างเรียก “Divide and Conquer” การแบ่งแยกแล้วพิชิต เพราะท้ายที่สุดอังกฤษในนาม “บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ” (British East India Company หรือ EIC) ก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการครอบครองอาณาบริเวณทั้งหมดของอนุทวีป

อังกฤษดำเนินการอย่างไรบ้าง พวกเขาใช้การ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เขมือบอินเดียได้อย่างไร?

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งราชวงศ์โมกุลปกครองอินเดียหลังการล่มสลายของรัฐสุลต่านแห่งเดลีเมื่อ ค.ศ. 1526 อนุทวีปที่ประกอบด้วยรัฐและอาณาจักรขนาดย่อมของชาวมุสลิมและฮินดูค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโมกุล ซึ่งมีเอกภาพและยิ่งใหญ่เกรียงไกรอย่างมากในยุคของอักบาร์มหาราช (ครองราชย์ ค.ศ. 1556-1605) หลังสมัยของพระองค์ อังกฤษเริ่มเข้ามาติดต่อกับทางการโมกุล และสถาปนานิคมการค้าในพื้นที่เล็ก ๆ ทางชายฝั่งตะวันออก

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อังกฤษเริ่มสร้างสถานีการค้าในอินเดียตามเมืองท่าตะวันออก ได้แก่ มัทราส บอมเบย์ และกัลกัตตา ซึ่งต่อมากลายเป็นที่มั่นของการขยายอิทธิพลในอินเดียของพวกเขา อังกฤษยังเอาแบบอย่างจากดัตช์ด้วยการระดมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เกิดเป็น “บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ” โดยให้พ่อค้าอังกฤษล่องเรือไปทำการค้าในเอเชียพร้อมกองทัพจำนวนหนึ่ง ภายใต้ใบอนุญาตจากราชสำนักและรัฐสภาอังกฤษ

ตลอดคริสต์ศตวรรษดังกล่าว อิทธิพลของบริษัทอินเดียตะวันออกฯ ค่อย ๆ แผ่ออกนอกนิคมการค้า แล้วเข้าไปแทรกแซงการเมืองท้องถิ่นของดินแดนในปกครองราชวงศ์โมกุล

สมัยจักรพรรดิโอรังเซบแห่งโมกุล (ครองราช ค.ศ. 1658-1707) นอกจากอังกฤษ เมืองท่าต่าง ๆ ของอินเดียยังมีพวกโปรตุเกส ฝรั่งเศส และดัตช์ ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าเช่นกัน คนเหล่านี้ทั้งสร้างป้อมปราการ คุกคาม และทำสงครามกันอยู่บ่อยครั้ง สร้างความไม่พอใจแก่ราชวงศ์โมกุลในฐานะเจ้าบ้านอย่างยิ่ง กลายเป็นเชื้อไฟความขัดแย้งระหว่างคนพื้นเมืองกับชาติตะวันตก

แต่การขยายอำนาจของอังกฤษค่อนข้างเหนือชั้น นอกจากใช้อำนาจทางการทหารและกองทัพเรือที่มีประสิทธิภาพแล้ว อังกฤษยังใช้การเจรจาทางการทูตอย่างยอดเยี่ยม บริษัทดำเนินการต่อรองผลประโยชน์แบบเอื้อประโยชน์ฝ่ายตนกับจักรพรรดิโมกุลโดยตรง ตั้งแต่การขอสิทธิพิเศษทางการค้าต่าง ๆ เช่น ละเว้นภาษีการค้า ขออำนาจเก็บภาษีในพื้นที่ควบคุมของตนเอง ทำให้ต้นทุนสินค้าที่ส่งกลับไปขายในยุโรปถูกกว่าของพ่อค้าชาติอื่น ๆ และสร้างกำไรมหาศาลให้กับบริษัท

ต่อมาเมื่อโปรตุเกสแผ่วอำนาจลงเรื่อย ๆ อังกฤษเริ่มกำจัดดัตช์และฝรั่งเศสออกจากการเป็นคู่แข่ง เกิดสงครามอังกฤษ-ดัตช์ (Anglo-Dutch Wars) 4 ครั้ง ระหว่างปี 1652-1784 และสงครามคาร์เนติกกับฝรั่งเศส (Carnatic War) 3 ครั้ง ระหว่างปี 1746-1763 ชัยชนะเป็นของอังกฤษ พวกเขาจึงกลายเป็นมหาอำนาจตะวันตกหนึ่งเดียวในอนุทวีป

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภายในจักรวรรดิโมกุลดูจะเอื้อให้อิทธิพลของอังกฤษแผ่ไพศาลมากยิ่งขึ้น หลังการสวรรคตของจักรพรรดิโอรังเซบเมื่อปี 1707 ทายาทของพระองค์เผชิญการแข็งข้อจากอาณาจักรต่าง ๆ ภายในจักรวรรดิ ปัญหาเหล่านี้บ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยโอรังเซบแล้ว

ตลอดศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิโมกุลค่อย ๆ ล่มสลายจากภายใน เพราะสงครามระหว่างบรรดาเชื้อพระวงศ์โมกุลเอง การก่อกบฏและแยกตัวเป็นอิสระของขุนศึกตามหัวเมือง รวมถึงการคุกคามจากภายนอก หรืออังกฤษนั่นเอง เป็นที่เข้าใจว่า อังกฤษก็มีส่วนไม่น้อยในการยุยงให้ดินแดนต่าง ๆ ปลดแอกตนเองจากการปกครองของราชสำนักที่กรุงเดลี จักรวรรดิโมกุลจึงเป็นจักรวรรดิแต่เพียงในนาม เพราะดินแดนต่าง ๆ ล้วนเป็นอิสระภายใต้นาวาบ (Nawab) และมหาราชา (Maharaja) ซึ่งเป็นผู้ครองรัฐที่ปกครองพื้นที่ของตนเอง ไม่ได้ขึ้นตรงต่อราชวงศ์โมกุลอีกต่อไป

สภาวการณ์ดังกล่าวส่งเสริมการขยายอำนาจของอังกฤษอย่างมาก เพราะเหล่านาวาบและมหาราชาต้องดูแลพื้นที่ของตนจากการขยายอำนาจของอังกฤษแบบตัวใครตัวมัน โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ นาวาบแห่งเบงกอลต้องเผชิญหน้ากับอังกฤษโดยตรง เมื่อทนพฤติกรรมของบริษัทอินเดียตะวันออกฯ ต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจทำสงครามกับอังกฤษ ฝ่ายเบงกอลยึดป้อมที่ฟอร์ดวิลเลียมในกัลกัตตา เป็นเหตุให้อังกฤษส่งกองทัพจากมัทราสไปกู้คืนป้อมปราการ เกิดเป็นการรบในเบงกอล เรียกว่า “ยุทธการพลาสซีย์” (Battle of Plassey)

ปี 1757 อังกฤษชนะศึกพลาสซีย์ด้วยการติดสินบนแม่ทัพฝ่ายเบงกอล พร้อมตั้งผู้ทรยศเป็นนาวาบหุ่นเชิดของตน ต่อมาชาวอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ไคล์ฟ (Robert Clive) ได้เป็นผู้ว่าการรัฐเบงกอล เขาสร้างกำไรและส่งมอบรายได้จำนวนมหาศาลแก่รัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอน

สงครามพลาสซีย์คือเหตุการณ์ “ปลดล็อก” การขยายอำนาจของอังกฤษ เพราะอังกฤษสามารถประเมินความอ่อนแอภายในอินเดียได้จากสงครามครั้งนี้ จึงมุ่งยึดเอาแคว้นเบงกอลไว้ทั้งหมด ก่อนจะขยายดินแดนต่อไปยังรัฐต่าง ๆ ที่ขณะนั้นปกครองตนเองอย่างอิสระ เกิดสงครามไมซอร์ 4 ครั้ง ระหว่างปี 1766-1799 สงครามมาราทา 3 ครั้ง ระหว่างปี 1775-1818 สงครามซินด์เมื่อปี 1843 และสงครามซิกข์ 2 ครั้งระหว่างปี 1845-1849 รวมถึงการเข้าควบคุมกรุงกรุงเดลี ที่มั่นสุดท้ายของราชวงศ์โมกุลตั้งแต่ปี 1803

แน่นอนว่าบทสรุปของสงครามเหล่านี้คือชัยชนะอันท่วมท้นของจักรวรรดิอังกฤษ หรือขณะนั้นคือ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ นโยบายสงครามที่อังกฤษใช้พิชิตดินแดนต่าง ๆ ในอินเดียมักจะวนอยู่กับการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” หรือ “แบ่งแยกแล้วพิชิต” ทั้งสิ้น เพราะอนุทวีปนั้นไปด้วยรัฐเล็กรัฐน้อยที่ง่ายต่อการยึดครอง นอกจากนั้น รัฐเหล่านี้ยังทำสงครามกันเองอยู่เรื่อย ๆ อังกฤษสามารถดึงรัฐอื่นมาเป็นพันธมิตรโจมตีรัฐเป้าหมายได้ด้วย

อีกวิธีที่อังกฤษใช้บ่อยคือการซื้อตัวบุคคลสำคัญของรัฐที่กำลังจะพิชิตให้มาเป็นหนอนบ่อนไส้ นี่เป็นเหตุผลที่รัฐในอินเดียจำนวนไม่น้อยต้องล่มสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ เพราะการทรยศของคนในรัฐเอง

นอกจากนี้ อังกฤษยังแก้ปัญหากำลังทหารไม่เพียงพอกับการขาดแคลนงบประมาณทางทหารด้วยวิธีการอันแยบยล นั่นคือรับสมัครชาวอินเดียมาเป็นทหารรับจ้างจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็บีบให้เหล่านาวาบและมหาราชาที่พ่ายแพ้ทำสัญญาเป็น “รัฐในอาณัติ” ต้องส่งทหารของตนมาขึ้นตรงต่ออังกฤษ พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทางการทหารเอง อังกฤษจึงมีทั้งกำลังพลของตนเอง และกองทัพพื้นเมืองชาวอินเดียที่ถูกฝึกอย่างตะวันตก เรียกว่า ทหารซีปอย (Sepoy) แนวทางนี้เพิ่มพูนอำนาจทางการทหารให้พวกเขานำกำลังไปยึดครองดินแดนอื่น ๆ ในอินเดียเองด้วย

เรียกได้ว่า อังกฤษใช้ทหารอินเดียและทรัพย์จากผู้ปกครองรัฐในอินเดียเองนั่นแหละเป็นกำลังหลักในการพิชิตดินแดนเกือบทั้งหมด โดยอาศัยความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวภายในอนุทวีปเป็นทั้งช่องโหว่และตัวสนับสนุนชั้นดี

เป็นเวลาเกือบร้อยปีที่อังกฤษรุกคืบ “เขมือบ” เอาพื้นที่ต่าง ๆ ของอินเดีย กระทั่งปี 1859 รัฐบาลที่ลอนดอนมีมติเปลี่ยนการปกครองอินเดียจากผู้ว่าการแคว้นและการกำกับดูแลของบริษัทอินเดียตะวันออกฯ เป็นการปกครองภายใต้ราชสำนักอังกฤษเอง เรียกว่า บริติชราช (British Raj) อินเดียจึงกลายเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังฤษอย่างเป็นทางการ โดยมี สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นประมุข ปกครองผ่านผู้ว่าการบริติชราชหรืออุปราช ที่ขึ้นตรงต่อราชสำนักที่อังกฤษ


อ้างอิง :

Encyclopedia Britannica. East India Company. Jul 2, 2023. From https://www.britannica.com/money/topic/East-India-Company

The Victorian Web. Timeline of British India. Retrieved August 4, 2023. From https://victorianweb.org/history/empire/india/timeline.html

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน, 8 Minute History. East India Company รากฐานการปกครองของอังกฤษในอินเดีย. 11 มกราคม 2565. จาก https://www.youtube.com/watch?v=qfUdUvBfLUk

ภูมิ พิทยา, มติชนสุดสัปดาห์. อังกฤษใช้เวลา 100 ปี ยึดครองอินเดียสำเร็จ เพราะการทรยศของคนในรัฐ. 23 กันยายน 2559. จาก https://www.matichonweekly.com/scoop/article_8891

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2566

เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม