ผู้เขียน หัวข้อ: ปลัดสธ.เผย ครม.ไฟเขียว ก.พ.ปรับระบบดูแลบุคลากรสาธารณสุข ชี้ต้องตามเรื่องงบประมาณ  (อ่าน 87 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการหารือระหว่าง สธ. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องการเพิ่มอัตรากำลัง ความก้าวหน้าในสายอาชีพ ไปจนถึงสวัสดิการให้แก่บุคลากร ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการหารือและแนวทางในการดำเนินการ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณ โดย ครม. รับทราบสิ่งที่ สธ. ดำเนินการร่วมกับ ก.พ. ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ครม. ในการดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีปัญหาเรื่องภาระงานเยอะ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ การจัดหางบประมาณมาสนับสนุนเพิ่มเติมเวลาเพิ่มความก้าวหน้าของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน ค่าตอบแทนต่างๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีการคำนวณแล้วว่า หากมีบุคลากรเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 คนก็จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละราว 2,000 ล้านบาท แต่จำนวน 10,000 คนไม่ได้แปลว่า จะเพิ่มขึ้นทีเดียว แต่เป็นขั้นตอน โดยขณะนี้กำลังทำตัวเลขกับทางสำนักงบประมาณอยู่

เมื่อถามว่ากรณีการเพิ่มตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษของพยาบาลวิชาชีพกว่า 9 พันตำแหน่ง ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของการผลักดันความก้าวหน้าบุคลากรหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ทาง ก.พ.พิจารณาแล้วว่าเหมาะสม คงไม่เรียกว่าความสำเร็จอะไร เพราะเป็นสิ่งที่พยาบาลควรจะได้รับ เนื่องจากมีภาระงานหนักเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นๆ ที่จบสายงานเดียวกันในหลายกระทรวงที่ได้ขึ้นซี 8 บางกระทรวง ได้เกือบ 20% บางกระทรวงเกิน 20% แต่ส่วนนี้พวกเขาได้เพียง 3% ตัวเลขตรงนี้เป็นที่ยอมรับของทั่วไปว่า ที่ผ่านมาดูแลน้อยไปหน่อย จึงต้องดำเนินการให้อย่างเหมาะสม

เมื่อถามว่าวิชาชีพอื่นๆ อาจน้อยใจที่พยาบาลได้ความก้าวหน้าเลื่อนระดับก่อน นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องบอกว่าพยาบาลได้น้อย อย่างพยาบาล 100 คน ได้ซี 8 แค่ 3 คน ไม่ใช่เรามุ่งเน้นแต่พยาบาล เราก็จะไปดูวิชาชีพอื่นๆ ด้วย พิจารณาจากข้อมูลที่มีและบริหารจัดการให้เหมาะสม ขอย้ำว่า ดูแลทุกวิชาชีพ ดูแลทุกคนไม่ได้ทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเรื่องนี้ไทม์ไลน์ในการดำเนินการของพยาบาลวิชาชีพนั้นจะมี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. เป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ตาม หลังจาก ครม. รับทราบกรอบดำเนินการแนวทางแก้ปัญหาบุคลากร ทั้งกรณีพยาบาล และอื่นๆ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ ก.พ.และสธ. แล้วนั้น ขณะนี้มีการหารือร่วมกันว่าจะนำสู่การปฏิบัติภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวถามเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 ที่ยังตกค้าง นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามให้ตลอด ขณะนี้อยู่ที่สำนักงบประมาณ 3 พันล้านบาท ที่เหลือต้องรอ ครม.ชุดใหม่

เมื่อถามว่า การเปลี่ยนรัฐบาลจะไม่มีผลต่อการของงบประมาณส่วนนี้ใช่หรือไม่ ปลัดสธ. กล่าวว่า ไม่ทราบ เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ฝ่ายประจำไม่มีความเห็นส่วนนี้

มติชน
28 กรกฎาคม 2566