ผู้เขียน หัวข้อ: นักกฎหมาย ติงรัฐ ออก กม. ทำคนอยู่กับป่าเดือดร้อนมากขึ้น  (อ่าน 75 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
นักกฎหมาย ติงรัฐ ออก กม. อ้างว่าช่วยเหลือ แต่ทำคนอยู่กับป่าเดือดร้อนมากขึ้น แนะต้องรับรองสิทธิดั้งเดิมของกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ใช่ริดลอน และควบคุม

วันที่ 22 ก.ค.2566 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เสนอให้พระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ต้องให้คนที่อยู่มาก่อนไม่ผิดกฎหมาย และยอมรับสิทธิดั้งเดิมของประชาชน

จากกรณีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ให้คนอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้

โครงการนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติก่อนที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย โดยการเข้าร่วมโครงการไม่ส่งผลให้บุคคลดังกล่าวมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น

นอกจากนี้บุคคลดังกล่าวยังมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพภายในเขตพื้นที่โครงการ ไม่สามารถขยายเขตพื้นที่ ขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้ยืม หรือโอนการครอบครองให้ผู้อื่นได้ โดยโครงการมีกำหนดระยะเวลา 20 ปี

ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯดูแลพื้นที่ป่า จำนวน 67,633 ล้านไร่ คิดเป็น ร้อยละ 20.67 ของพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่จำนวนมาก อุทยานแห่งชาติอยู่ทั้งหมด 133 แห่ง เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีคนอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่และร่วมในโครงการนี้ 126 แห่ง ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กำหนดเริ่มใน 7 แห่งก่อน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อุทยานแห่งชาติ 7 แห่งที่เริ่มในโครงการนี้ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี, อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี, อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี, อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์, อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์, อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอุทยานแห่งชาติลานสาง จังหวัดตาก

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า แม้โครงการนี้จะอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชน และเป็นการยอมรับให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยมีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าร่วมล้านคนในกว่า 3,000 หมู่บ้านได้รับการช่วยเหลือ

แต่ตามกฎหมายพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ยังถือว่าคนที่อยู่มาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติเหล่านี้เป็นคนที่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ผ่อนผันให้อยู่ทำกินตามเงื่อนไขที่กรมอุทยานแห่งชาติกำหนด โดยไม่ได้รับสิทธิครอบครองและมีสิทธิไม่เกิน 20 ปี

เดิมคนนับล้านเหล่านี้อยู่มาเนิ่นนานก่อนถูกการประกาศอุทยานแห่งชาติทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ก็ได้รับการผ่อนปรนทางนโยบายให้อยู่อาศัย ตั้งหมู่บ้าน และทำกินตามปกติได้ แต่เมื่อเข้าสู่โครงการจะถูกบังคับให้ใช้ชีวิตและทำกินตามที่กรมอุทยานกำหนดเงื่อนไขเท่านั้น หากทำผิดเงื่อนไขก็จะไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ร่วมโครงการและถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้มีสิทธิร่วมโครงการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรืออยู่ระหว่างรอการพิจารณาสัญชาติไทยของเจ้าหน้าที่ แต่ในข้อเท็จจริงมีชาวเขาหรือชนกลุ่มน้อยที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่ามาเนิ่นนาน เป็นคนดั้งเดิมและชนเผ่าพื้นเมือง คนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แม้รัฐจะเข้าไปสำรวจและจัดทำบัตรชนกลุ่มน้อยให้เนิ่นนานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้สัญชาติไทย ก็จะไม่ได้สิทธิร่วมโครงการและถูกผลักดันหรือจับกุม

รวมทั้งคนดั้งเดิมที่ทำกินในพื้นที่ ต่อมาประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับ ซึ่งกฎหมายเดิมไม่ได้มีการผ่อนผันให้อยู่ จึงถูกดำเนินคดี แม้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับปัจจุบันจะผ่อนผันให้คนอยู่กับป่าได้ แต่คนกลุ่มนี้ถูกจำกัดสิทธิไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

โครงการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ยังไม่ยอมรับวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า เช่น ไม่ยอมรับการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมการเกษตรที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ดีที่สุดของชาวกะเหรี่ยงและอีกหลายชาติพันธุ์ จนได้รับการยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยในปี 2556

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 ยอมรับถึงสิทธิของบุคคลและชุมชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ ตลอดจนจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน แต่โครงการนี้กลับไม่มีการรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่า ได้รับสิทธิในการอาศัยทำกินตามธรรมชาติอย่างเสรีโดยไม่ถูกควบคุม แต่คนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในป่ามาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ และรักษาพื้นที่ที่อยู่ที่ทำกินเป็นป่าสมบูรณ์ จนถูกประกาศอุทยานแห่งชาติทับ กลับกลายเป็นคนผิดกฎหมายและถูกจำกัดเงื่อนไขในการอยู่ทำกินในพื้นที่เดิมของตนเอง

การออกพระราชกฤษฎีกาเป็นโครงการที่ไม่รับรองสิทธิดั้งเดิมของประชาชน กลับตั้งเงื่อนไขไปบังคับประชาชน จะกลายเป็นโครงการที่ทำความเดือดร้อนให้ประชาชนนับล้านคนที่อยู่ในพื้นที่ป่ามาดั้งเดิม ไม่ใช่การช่วยเหลือประชาชนตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

ข่าวสด
22 ก.ค.2566