ผู้เขียน หัวข้อ: “ไซเบอร์บูลลี่” การหมิ่นประมาทด้วยข้อความทางออนไลน์ โทษหนักถึงคุก  (อ่าน 77 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
จากกรณี นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในวันนี้ (17 ก.ค.) จะให้ตัวแทนยื่นฟ้องบุคคล จำนวน 2 คนที่ “โพสต์ข้อความในโลกออนไลน์” ที่ทำให้ตนเกิดความเสียหาย ต่อศาลอาญาตลิ่งชัน ถือเป็นการฟ้องร้องคดีแรกของตนหลังจากที่ถูก หมิ่นประมาทด้วยข้อความทางโลกออนไลน์ มาหลายครั้งหลายคราวก่อนหน้านี้ หรือที่เรียกว่า ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) โดยระบุ

“รอบนี้เอาจริงและไม่ทน พวกเขาทำตัวเป็นอันธพาล คอยหาเรื่องและคุกคามมากเกินไป ทั้งด่าทอและใส่ร้ายคนอื่น ส่วนกรณีที่โลกออนไลน์ รณรงค์สืบหาธุรกิจ ส.ว. หรือ เมียน้อย ส.ว.นั้น หากทำผิดกฎหมายต้องดำเนินคดี” 

เรามาดูกันว่า ไซเบอร์บูลลี่ คืออะไร และมีโทษรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

ไซเบอร์บูลลี่ คือการใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่คนอื่น ๆ สามารถเห็นได้ มีการแชร์ต่อ หรือมีการพูดถึงประเด็นนั้น ๆ ต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม แชต หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือหลักในการรังแก และกลั่นแกล้งกัน
โดยไซเบอร์บูลลี่ อาจเป็นไปในลักษณะของการคุกคาม แอบอ้างตัวตนคนอื่น เผยแพร่ข่าวลือหรือนินทาเกี่ยวกับเหยื่อบนโลกออนไลน์ โพสต์ข้อความหยาบคายหรือดูถูกเกี่ยวกับเหยื่อ โพสต์ข้อความที่คลุมเครือบนโลกออนไลน์ ล้อเลียนด้วยรูปภาพหรือคลิปวิดีโอ หรือเป็นไปเพื่อการแบล็คเมล์ ส่งโปรแกรมแฮกไปยังเป้าหมายเพื่อที่จะคอยสอดแนม หรือควบคุมคอมพิวเตอร์ของเหยื่อ เป็นต้น
ตกเป็นเหยื่อ-เจอแบบนี้ โดนไซเบอร์บูลลี่ต้องทำอย่างไร

อย่าตอบโต้ เพราะยิ่งมีปฏิกิริยาตอบโต้ ก็จะยิ่งเป็นไปตามที่เขาต้องการ ควรนิ่งๆไว้ ปล่อยให้อีกฝ่ายทำไปฝ่ายเดียว เพราะการตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงพอ ๆ กัน หรือวิธีการคล้าย ๆ กัน อาจทำให้เรื่องราวยิ่งบานปลายมากขึ้นได้ ดังนั้น ควรปิดวงจรนี้ด้วยการนิ่งเฉยจะดีกว่า
เก็บหลักฐานให้มากที่สุด ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น หากมีใครมากระทำการอันส่อไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่เป็นความจริง และสร้างความเสียหาย ผ่านโลกโซเชียล นั่นจะเป็นหลักฐานที่ดีที่จะเอาผิดกับผู้กระทำได้
บล็อกไปเลย ถ้ายังถูกบูลลี่ไม่หยุด ก็ควรบล็อกคนนั้นออกจากวงจรโซเชียลมีเดียของเราไป ปิดช่องทางไม่ให้เขามาวุ่นวายกับเราในโลกออนไลน์ได้อีก ซึ่งการไม่รับรู้ ไม่ตอบโต้ ไม่เดือดร้อนใด ๆ ก็จะทำให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกไม่สนุกและเบื่อไปเองได้ หรือใช้เครื่องมือในสื่อออนไลน์ช่วยจัดการ เพราะสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง มีตัวเลือกให้เรากดแจ้งให้ผู้บริการสื่อออนไลน์ระงับโพสต์ หรือแบนโพสต์ที่ไม่เหมาะสมได้ ดังนั้น ก็สามารถใช้วิธีนี้จัดการกับคนที่มากลั่นแกล้งเราได้เช่นกัน
ขอความช่วยเหลือ ถ้าถูกกลั่นแกล้งหนักจนเกินรับมือไหว ควรเล่าปัญหาที่เจอกับคนใกล้ตัว หรือคนที่มีอำนาจมากพอจะหยุดการบูลลี่นี้ได้ ซึ่งรวมถึงการรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งตำรวจ และฟ้องร้องดำเนินคดี
โทษของการไซเบอร์บูลลี่

จากเว็บไซต์ของกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า พฤติกรรมกลั่นแกล้งและดูถูกผู้อื่น ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การล้อเลียนเสียดสีต่างๆ ซึ่งส่งผลเสียและสร้างความเสียหายให้กับผู้ถูกบูลลี่ เป็นลักษณะของการระรานทางไซเบอร์ หรือ Cyberbullying การกระทำดังกล่าว หากสามารถระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้ว่าเป็นใคร (แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อ) อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท

ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม และทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จะมีความผิดฐาน หมิ่นประมาท มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วน มาตรา 328 ถ้าเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ไม่ว่าจะใช้ภาพ หรือตัวอักษร หรือบันทึกเสียง หรือบันทึกภาพ หรือป่าวประกาศด้วยวิธีใด ๆ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท อย่างไรก็ตาม สำหรับกฎหมายหมิ่นประมาทนี้ ยังมีข้อจำกัดตรงที่การตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่าถ้อยคำที่ใช้กลั่นแกล้งล้อเลียนกันนั้นสามารถเป็นจริงได้หรือไม่ หากล้อเลียนกันด้วยข้อความที่เป็นไปไม่ได้ หรือถ้อยคำที่ใช้ไม่ถึงขนาดทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก็จะไม่เป็นความผิด
นอกจากนี้ ยังมี ประมวลกฎหมายอาญาอื่นๆ บางข้อที่นำมาปรับใช้กับเคสนี้ได้ แม้จะไม่ครอบคลุมทั้งหมด เช่น

มาตรา 392 ผู้ที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว ตกใจ โดยการขู่เข็ญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 397 หากรังแก ข่มเหง คุกคามผู้อื่น หรือทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กรณีโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมแปลง ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งคนอื่นสามารถเข้าไปดูข้อมูลนั้นได้ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย รวมทั้งข้อมูลลามกต่าง ๆ ทั้งผู้โพสต์และผู้เผยแพร่ส่งต่อ จะมีความผิดต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมขอความร่วมมือประชาชน ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ หากพบเห็นการ Cyberbullying ไม่ควรแชร์ต่อ ไม่ควรคอมเมนต์ และไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะทางใด เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหาอาชญากรรมที่อาจจะตามมา และไม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย หรือใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้อื่น

Thansettakij
17 ก.ค. 2566