ผู้เขียน หัวข้อ: ปูมหลังสังคมฝรั่งเศส ที่ชนชั้นล่างสั่งสมความโกรธจนระเบิดเป็นจลาจล หลังตำรวจยิง  (อ่าน 61 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวันในหลายเมืองของประเทศฝรั่งเศส มีชนวนเหตุมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิง นาเฮล เมอร์ซูค (Nahel Merzouk) เยาวชนวัย 17 ปี ชาวฝรั่งเศส เชื้อสายแอลจีเรีย ในย่านชานเมืองนองแตร์ของกรุงปารีส เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566

ความโกรธของประชาชนทวีรุนแรงขึ้น เมื่อเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและภริยาไปชมคอนเสิร์ตของเอลตัน จอห์น (Elton John) ในคืนวันที่ 28 มิถุนายน ขณะที่สถานการณ์ในประเทศกำลังลุกเป็นไฟ

ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนี้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกยกเลิกไปจำนวนมาก รวมถึงการที่ทางการสั่งปรับลดระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะ และมีความเสียหายที่เกิดจากการที่ประชาชนผู้ก่อเหตุได้ทำลายทรัพย์สินและปล้นสะดมธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ

บรูโน เลอ แมร์ (Bruno Le Maire) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส เปิดเผยในวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ห้างสรรพสินค้าประมาณ 10 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่า 200 แห่ง ร้านขายบุหรี่ 250 แห่ง และธนาคาร 250 แห่งถูกโจมตีหรือปล้นสะดมในคืนก่อนหน้านั้น

เบื้องต้นมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยบริษัทประกันภัยประมาณการความเสียหายครั้งแรกที่ 100 ล้านยูโร (ประมาณ 3,879 ล้านบาท)

เหตุตำรวจยิงเยาวชนชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรียเสียชีวิต ซึ่งเป็นชนวนเหตุของการจลาจลในฝรั่งเศสครั้งนี้ จุดประเด็นให้เกิดบทสนทนาขึ้นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดศาสนา และความเหลื่อมล้ำในฝรั่งเศส 

สื่อในยุโรปหลายสำนักนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีนี้ โดยมีคำว่า “racist” (เหยียดเชื้อชาติ) หรือ “racism” (การเหยียดเชื้อชาติ) อยู่ในพาดหัวข่าวหรือในชื่อบทความ

สำนักข่าวดอยช์เชอเว็ลเลอ (DW) ในเยอรมนี มีรายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่พาดหัวว่า “จลาจลฝรั่งเศส : มรดกของการเหยียดเชื้อชาติจากยุคอาณานิคม ?” โดยในเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามว่า การสังหารนาเฮลและความโกรธแค้นที่สาดกระจายตามท้องถนนนั้นเชื่อมโยงกันอย่างไรกับการเหยียดเชื้อชาติเชิงโครงสร้างที่มีต่ออดีตอาณานิคม ซึ่งฝังรากในสังคมฝรั่งเศสมายาวนาน

เดอะ การ์เดียน (The Guardian) ก็มีบทความที่ว่า “ฝรั่งเศสเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่กระทำโดยตำรวจเหยียดเชื้อชาติมานานหลายทศวรรษ การลุกฮือครั้งนี้คือราคาของการปฏิเสธ (ที่จะแก้ปัญหา) นั้น”

คนจำนวนมากเปรียบเทียบการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฝรั่งเศสยิงเยาวชนเชื้อสายแอลจีเรียเสียชีวิตในครั้งนี้ ว่าคล้ายกับเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองมินนีแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา จนเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิต เมื่อปี 2563 ซึ่งสังคมมองว่าการใช้กำลังเกินกว่าเหตุนั้นเกิดจากความอคติทางเชื้อชาติที่เจ้าหน้าตำรวจผิวขาวมีต่อคนผิวดำ

แต่เรื่องราวในฝรั่งเศสอาจจะซับซ้อนและเชื่อมโยงในเชิงโครงสร้างเกินกว่าจะสรุปว่าเกิดจาก “เหยียดเชื้อชาติ” หรือ “เหยียดศาสนา” ในเชิงความรู้สึกส่วนตัวบุคคลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก่อเหตุ หรือคนฝรั่งเศสผิวขาว

ดร.วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งศึกษาในประเทศฝรั่งเศสหลายปี บอกในรายการ Talking Thailand ช่อง Voice TV เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมว่า เหตุการณ์นี้เทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ในฝรั่งเศสที่เกิดในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2005 (พ.ศ. 2548) ซึ่งเกิดจลาจลขึ้นหลังจากเยาวชนเชื้อสายแอฟริกันสองคนเสียชีวิต เนื่องจากถูกไฟฟ้าชอร์ตขณะซ่อนตัวจากการสอบปากคำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ดร.วันรักอธิบายให้เห็นแบ็กกราวนด์อันเป็นรากของปัญหาว่า เมืองใหญ่ในฝรั่งเศสจะถูกล้อมด้วยชานเมือง (suburb) ซึ่งในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า บองลิเยอ (banlieue) ซึ่งที่อยู่อาศัยในย่านเหล่านี้เป็นตึกสูงห้องขนาดเล็ก อยู่กันค่อนข้างแออัด ลักษณะเหมือนการเคหะในไทย

คนที่อยู่อาศัยในชุมชนเหล่านี้เป็นครอบครัวที่สืบเชื้อสายมาจากคนที่ฝรั่งเศสเกณฑ์มาจากประเทศอาณานิคมในแอฟริกาเหนือในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อมาทำงานใช้แรงงาน ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนของคนมีรายได้น้อย ยากจน มีความรุนแรง มีการขายยาเสพติด เด็ก ๆ จะออกจากบ้านไปเข้าแก๊งต่าง ๆ ตามท้องถนน ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นแก๊งขายยาเสพติด

เจ้าหน้าที่ตำรวจของฝรั่งเศสมีอำนาจพิเศษตามกฎหมายในการเข้าไปตรวจค้นในชุมชนเหล่านี้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน แต่ตามกฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ให้อำนาจพิเศษในการตรวจค้นเฉพาะในชุมชนเหล่านี้

จากปูมหลังทางสังคมดังกล่าวนี้ บวกกับที่ตำรวจมีอำนาจพิเศษตามกฎหมาย จึงมีแนวโน้มที่ตำรวจจะมีอคติและใช้อำนาจดำเนินการกับเยาวชนที่มีลักษณะบ่งชี้ว่ามาจากชุมชนเหล่านี้ ซึ่งอคติที่ว่านี้ไม่ใช่อคติทางศาสนา หรืออคติทางเชื้อชาติโดยตัวมันเอง แต่เป็นอคติที่ว่าคนที่มาจากชุมชนเหล่านี้มักจะทำผิดกฎหมาย-ก่ออาชญากรรม

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเหยียดชาติพันธุ์มากเท่ากับการที่ตำรวจคิดว่าเด็กเหล่านี้เป็นพวกอาชญากรย่อย ๆ” ดร.วันรักกล่าว

ดร.วันรักอธิบายอีกว่า ในปี 2005 เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ แต่การจลาจลเกิดขึ้นในย่านซับเบิร์บเท่านั้น ไม่ได้กระจายมากเท่าในครั้งนี้ ความแตกต่างก็คือ เหตุการณ์ปัจจุบันนี้เกิดขึ้นในบริบททางการเมืองที่ต่างออกไป คือในปี 2005 การเมืองฝรั่งเศสมีความชัดเจนว่าเป็นฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา มีเพียงสองพรรคใหญ่เท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีหลายเฉด ทั้งซ้ายจัด ซ้าย กลาง (พรรครัฐบาลมาครง) ขวา และขวาจัด มีความสุดโต่งทางการเมืองมากกว่า และทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาปฏิเสธรัฐทั้งหมด

“ทั้งหมดทั้งมวล ถ้าจะเข้าใจการเคลื่อนไหวของเด็กเหล่านี้ คือเป็นความโมโหที่โอกาสทางสังคมในสังคมที่พวกเขาอยู่มันไม่มี”

“เยาวชนเหล่านี้ไม่มีโอกาสและโกรธแค้นรัฐที่ไม่สามารถให้โอกาสนั้นแก่พวกเขาได้ บวกกับที่รัฐไร้ประสิทธิภาพในการจะทำให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน”

“ฝรั่งเศสมีกฎหมายกำหนดว่า ย่านทุกย่าน-เมืองทุกเมืองต้องสร้างการเคหะ 25% (สำหรับคนรายได้น้อย) แต่ย่านที่รวยมาก ๆ ปฏิเสธที่จะไม่สร้างแล้วจ่ายค่าปรับ เพราะไม่อยากอยู่ร่วมกับคนยากจน ทำให้ความแตกต่างของรายได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ คนรวยรวยขึ้นเรื่อย ๆ คนจนจนขึ้นเรื่อย ๆ”

ดร.วันรักอ้างอิงถึงคำกล่าวของนายกเทศมนตรีเมืองเมืองหนึ่งในฝรั่งเศสที่ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุจลาจลครั้งนี้ว่า ถ้าจะทำความเข้าใจก็คือ เด็กเหล่านี้รู้สึกว่าตนเองมีสิทธิที่จะเข้าไปปล้นสิ่งของได้ เพราะว่าสังคมฝรั่งเศสไม่เคยโอบอุ้มอะไร ไม่เคยช่วยเหลืออะไรครอบครัวของพวกเขาเลย ยิ่งในปัจจุบันมีวิกฤตเรื่องสินค้าราคาแพง แต่ครอบครัวของพวกเขาถูกปล่อยให้อยู่ตามยถากรรม ไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ หลาย ๆ คนบอกว่าเป็น ‘Anti-France’ เป็นความโกรธ เป็นการประท้วงที่ต่อต้านรัฐฝรั่งเศสในฐานะที่ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน-เปราะบาง หรือใกล้เคียงกับคำว่า ‘ชังชาติ’ ในไทย แต่เป็นความชังชาติที่มีความเป็นชาติฝรั่งเศสมากที่สุด เนื่องจากมันเป็นวัฒนธรรมของคนฝรั่งเศสที่จะต้องออกมาแสดงความไม่พอใจว่ารัฐทำไม่ดีพอ”

“ไอเดียเรื่องรัฐสวัสดิการของฝรั่งเศสฝังรากลึก ถ้ารัฐทำไม่ได้ดี ไม่ใช่ความผิดประชาชน เป็นความผิดของรัฐ ของผู้นำประเทศ” ดร.วันรัก สุวรรณวัฒนา กล่าว


4 กรกฎาคม 2566
ประชาชาติธุรกิจ