ผู้เขียน หัวข้อ: วุ่น! กู้ภัยทางหลวงขอนแก่นหยุดออกเหตุ 3 ก.ค.นี้เป็นต้นไป สพฉ.ไม่จ่ายค่าเคสหลายเด  (อ่าน 497 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-หน่วยกู้ภัยทางหลวงขอนแก่นประกาศหยุดออกเหตุช่วยเหลือประชาชนนับแต่ 3 ก.ค.นี้เป็นต้นไป หลังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินไม่จ่ายค่าเคสนานติดต่อหลายเดือน ทำให้ขาดเงินหมุนเวียนอย่างหนัก แม้แต่น้ำมันรถก็ไม่มีเงินเติม

วันนี้(3 ก.ค.) หน่วยกู้ภัยทางหลวงขอนแก่น ได้ออกหนังสือระงับการออกเหตุฉุกเฉินชั่วคราว ทำให้รถกู้ภัยต้องจอดไว้มานานกว่า 1 สัปดาห์ หลัง ไม่สามารถออกให้บริการทางการแทพย์ฉุกเฉินได้ ด้วยเหตุผลไม่มีน้ำมัน ที่จะเติมให้กับรถกู้ภัย ที่ใช้วิ่งออกเหตุทำให้ต้องจอดรถทิ้งไว้ ไม่สามารถออกช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้

นายนิรันดร์ อุดมแก้ว ประธานหน่วยกู้ภัยตำรวจทางหลวงขอนแก่น กล่าวว่า หน่วยกู้ภัยทางหลวงขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับระบบสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินให้ออกเหตุช่วยเหลือประชาชน ทั้งด้านเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุบนท้องถนน ตามคำสั่งของศูนย์ปฏิบัติการ 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลให้ทันท่วงทีต่อการรักษา โดยทางหน่วยกู้ภัยตำรวจทางหลวงขอนแก่น จะได้รับเงินสนับสนุนในการออกรับเคสแต่ละครั้งจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อนำมาเป็นคำใช้จ่ายในการเดิมน้ำมันเชื่อเพลิง ซื้อเวชภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หลายเดือนที่ผ่านมา ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินไม่ได้จัดสรรเงินดังกล่าวออกมา ให้กับหน่วยกู้ภัยทางหลวงขอนแก่น จึงทำให้ขาดสภาพคล่อง ไม่มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการออกเหตุช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะเงินที่นำไปเติมน้ำมัน แม้ตนเองจะนำเงินส่วนตัว สำรองจ่ายไปก่อนหน่วยงานได้หมดลงและค่าใช้จ่ายติดลบ

ล่าสุด คณะกรรมการ หน่วยกู้ภัยตำรวจทางหลวงขอนแก่นได้ประชุมปรึกษาหารือกันและมีความเห็นตรงกันว่า ให้อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ หน่วยกู้ภัยตำรวจทางหลวงขอนแก่น หยุดการออกเหตุช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ประสบเหตุขากอุบัติเหตุไปก่อนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาทางหน่วยกู้ภัยทางหลวงขอนแก่น ได้ทำเรื่องเบิกกับทางโรงพยาบาลขอนแก่น ตามปกติทุกเดือน แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบจาก สพฉ. แต่อย่างใด

นายไพบูรณ์ นามโสม ประธานมูลนิธิเทพสิธิมุณี บอกว่า ทางมูลนิธิฯ ก็ได้รับผลกระทบในประเด็นข้างต้นเช่นกัน ก่อนหน้านี้ก็หยุดให้บริการเป็นระยะๆ ออกเหตุบ้างไม่ออกบ้าง เพราะตนเองก็ต้องหาเงินมาเติมน้ำมันรถ และจ่ายให้กับลูกน้องที่มาเข้าเวรคนละ 300 บาท จำนวน 2 คน โดยจะเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิฯ เพื่อเตรียมประกาศหยุดให้บริการ จนกว่าจะได้รับเงินอุดหนุน เพราะการแก้ปัญหาอยากให้ทาง สพฉ. ได้ลงมาดูในระดับล่างด้วย ขณะหากไม่มีรถกู้ภัยที่กระจายครอบคลุมทั่วพื้นที่แล้ว จะกระทบกับการให้บริการประชาชนผู้ประสบเหตุ

3 ก.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สพฉ.แจงเหตุปรับปรุงระบบทำจ่ายชดเชยช้า ยันโอน ก.ค.นี้เป็นต้นไป มั่นใจไม่กระทบผู้ป่วยฉุกเฉิน

จากที่มีประเด็นการร้องเรียนของอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยการปฏิบัติการล่าช้า ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของหน่วยกู้ชีพทั่วประเทศนั้น

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2566) น.อ.(พิเศษ) พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษก สพฉ. กล่าวชี้แจงว่า ปัจจุบัน ทั้งประเทศมีหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ หรือศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 จำนวน 82 หน่วย หน่วยปฏิบัติการแพทย์ (หน่วยกู้ชีพ) จำนวน 7,838 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 4,892 หน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 60 หน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดสถานพยาบาลของรัฐ 1,579 หน่วย ร้อยละ 20 และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดองค์กรไม่แสวงหากำไร 1,174 หน่วย ร้อยละ 15 ซึ่งในปี 2566 สพฉ.ได้รับงบประมาณจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินจำนวนกว่า 1,050 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจ่ายค่าชดเชยการออกปฏิบัติการ

น.อ.(พิเศษ) พิสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ในระบบการจ่ายค่าชดเชยการออกปฏิบัติการของ สพฉ.นั้น จะใช้ระบบโปรแกรมสารสนเทศที่เรียกว่า ITEMS ซึ่งจะเป็นการบันทึกข้อมูล วัน เวลา การออกปฏิบัติการ ข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลหน่วยปฏิบัติการ โดยหน่วยปฏิบัติการแพทย์ หน่วยปฏิบัติการอำนวยการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ สพฉ. จะเห็นข้อมูลนี้ตรงกันในระบบ และสรุปข้อมูลการออกปฏิบัติการในแต่ละเดือน เพื่อทำการเบิกจ่ายค่าชดเชยจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน

“และช่วงปลายปี 2565 เกิดปัญหาของระบบในการบันทึกข้อมูล ซึ่งระบบ ITEMS เดิม ที่ สพฉ.ใช้งานมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ส่งผลต่อการเบิกจ่ายค่าชดเชยการปฏิบัติการ สพฉ. จึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบโปรแกรมรูปแบบใหม่ โดยเรียกว่า ระบบ ITEMS 4.0 มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 และเริ่มดำเนินการใช้งานตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2566” น.อ.(พิเศษ) พิสิทธิ์กล่าว และว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินการปรับปรุงระบบ สพฉ.ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยปฏิบัติการ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทราบถึงปัญหาและการดำเนินงานมาโดยตลอด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อบางหน่วย จนมีการพิจารณาพักการออกปฏิบัติการเป็นการชั่วคราว ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลมีเป็นจำนวนน้อย

รองเลขาธิการและโฆษก สพฉ.กล่าวอีกว่า ณ ปัจจุบัน หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังดำเนินการออกปฏิบัติการให้บริการประชาชนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอยู่ตลอด ทั้งนี้ สพฉ.ยืนยันว่า มีงบประมาณที่เพียงพอ และมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชยในปี 2565-2566 ได้ในทันทีตามระเบียบแนวทางที่กำหนดไว้แล้ว โดยการจ่ายต้องเป็นไปตามระเบียบ ขั้นตอนของกฎหมายและต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากหน่วยปฏิบัติการ และ สสจ. ในการปรับปรุงและยืนยันข้อมูลในระบบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้สามารถเริ่มทยอยจ่ายค่าชดเชยให้แก่หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศได้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

“ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างแน่นอน” น.อ.(พิเศษ) พิสิทธิ์กล่าว

3 กรกฎาคม 2566
มติชน

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ความคืบหน้ากรณีหน่วยกู้ชีพร้องเรียนให้ “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” (สพฉ.) เร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้หน่วยกู้ชีพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ หลังจากมีการยุติให้เบิกจ่ายนานกว่า 6 เดือน เนื่องจากต้องปรับปรุงระบบที่ใช้มานาน 15 ปี ซึ่งล่าสุด สพฉ.ได้แจ้งผ่านเพจเฟซบุ๊กสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สพฉ.ได้โอนจ่ายเงินค่าชดเชยจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 32,586,290 บาท ให้กับหน่วยกู้ชีพที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้ว และจะเร่งดำเนินการในการโอนเงินค่าชดเชยการปฏิบัติการในรอบถัดไปให้ได้โดยเร็วที่สุดนั้น

วันนี้ (6 กรกฎาคม 2566) ว่าที่ ร.ต.การันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษก สพฉ. เปิดเผยว่า โดยปกติ สพฉ.จะมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน เดือนละ 2 รอบ ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าปฏิบัติการตามหลังเดือนก่อนหน้า โดยจากกรณีที่มีการค้างจ่าย 8 เดือนตามที่เป็นข่าวนั้น เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สพฉ.ได้โอนเงินค่าชดเชยจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ให้แก่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 32,586,290 บาท ซึ่งเป็นเงินชดเชยในรอบการจ่ายครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ของเดือนเมษายน 2566 และครั้งที่ 1 ของเดือน พฤษภาคม 2566 รวม 3 งวด ซึ่งเป็นการค่าชดเชยรอบการปฏิบัติของเดือนมีนาคม-เมษายน 2566

“สำหรับเงินค่าชดเชยที่เป็นปัญหาอยู่ เกิดจากการเปลี่ยนระบบการคีย์ข้อมูลที่เดิมใช้มานานกว่า 15 ปี ฐานข้อมูลเยอะมาก ทำให้ระบบล่มไป จากนั้น สพฉ. ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT พัฒนาระบบการเบิกจ่ายใหม่ ซึ่งเริ่มใช้เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ฉะนั้น เงินค่าชดเชย ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ คือ ในรอบการจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565-เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งยังอยู่ในปีงบประมาณเดียวกัน แต่ด้วยมีการเปลี่ยนระบบใหม่จึงทำให้เกิดรอยต่อในการเบิกจ่าย เพราะข้อมูลยังอยู่ในฐานข้อมูลเดิม ที่เป็นระบบออฟไลน์ หรือกระดาษ ซึ่งจะต้องนำข้อมูลส่วนนี้เข้ามาในระบบใหม่ จึงต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้ข้อมูลซ้ำซ้อน” ว่าที่ ร.ต.การันต์กล่าว

ผู้ช่วยโฆษก สพฉ.กล่าวว่า การค้างจ่ายช่วงเดือนตุลาคม 2565-เดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ในเดือนสิงหาคมนี้

“ฉะนั้น เดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ จะมีการจ่ายเงิน 2 ส่วน คือ เงินของเคสปัจจุบันและเงินที่ค้างเมื่อปลายปีถึงต้นปี โดย สพฉ.ยืนยันว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2566 คือเดือนกันยายน 2566 จะสามารถจ่ายเงินค่าชดเชยปัจจุบันและที่ค้างอยู่ยอดรวมประมาณ 969 ล้านบาทได้ทั้งหมด” ว่าที่ ร.ต.การันต์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงบรรยากาศภายหลังจากมีการโอนค่าชดเชย 32.5 ล้านบาท ไปให้หน่วยกู้ชีพ ว่าที่ ร.ต.การันต์กล่าวว่า บรรยากาศเป็นไปในทางที่ดี

“เพราะจากที่ สพฉ.ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ทำให้ทางพี่น้องกู้ชีพกู้ภัย เห็นความชัดเจน เพราะที่ผ่านมาก็มีการตั้งคำถามว่า มีงบประมาณหรือไม่ หรือเอาเงินไปใช้อย่างอื่น ซึ่งความจริงแล้วเงินยังอยู่ เพียงแต่จะต้องมีการทำให้ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย ทั้งนี้ สพฉ.ขอขอบคุณหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ที่คงยืนหยัดอย่างมุ่งมั่น ปฏิบัติหน้าที่และอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน แม้ในช่วงเวลายากลำบากที่ผ่านมา” ว่าที่ ร.ต.การันต์กล่าว

เมื่อถามว่า ระบบการเบิกจ่ายใหม่มีความปลอดภัย กว่าระบบเดิมหรือไม่ ว่าที่ ร.ต.การันต์กล่าวว่า NT เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกับ สพฉ. ดังนั้นเชื่อว่าจะมีความปลอดภัยของระบบ นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ในการเชื่อมโยงสถิติข้อมูลต่างๆ เช่น สถิติการบาดเจ็บของผู้ป่วยในการออกปฏิบัติการ หน่วยงานภาครัฐอื่นก็สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

6 กรกฎาคม 2566
มติชน