ผู้เขียน หัวข้อ: ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข  (อ่าน 2095 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด


ประเทศไทยได้มีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่า “บริการสาธารณสุข” แก่ประชาชนในอัตรา “เหมาจ่ายรายหัว” เท่ากับจำนวนประชาชนเพียง ๔๗ ล้านคนที่ไม่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลผ่านกองทุนประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการ  โดยเรียกเงินนี้ว่าเป็นเงิน “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และก็เหมารวมว่า ประชาชนไทยมีหลักประกันด้านสุขภาพครอบคลุมประชาชนเกือบทุกคน โดยจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการในการ “จ่ายค่าบริการสาธารณสุข”ให้แก่ “หน่วยบริการสาธารณสุข” แทนประชาชน

 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๕๐ ม.๕๑ ได้กำหนดไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ซึ่งในยุคแรกของระบบหลักประกันสุขภาพ ประชาชนยากจน๒๐ ล้านคน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อไปรับบริการสาธารณสุข ส่วนประชาชนอีก ๒๗  ล้านคนต้องจ่ายเงินครั้งละ ๓๐ บาทเมื่อไปรับบริการสาธารณสุข ซึ่งโครงการ “๓๐ บาทรักษาทุกโรค”นี้ ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะไปรับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ช่วยลดภาระในการไปโรงพยาบาลอย่างมาก และ TDRI ได้ประเมินว่า โครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคทำให้ประชาชนหายจนได้มากกว่าโครงการ “แก้จน”อื่นๆของรัฐบาล

  ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทำให้การบริหารจัดการด้านงบประมาณแผ่นดินในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือมีการโอนงบประมาณแผ่นดินจำนวนเกือบทั้งหมดที่ใช้ในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข จากกระทรวงสาธารณสุข ไปไว้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งงบประมาณเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขอีกประมาณ ๔๐%ไปรวมไว้กับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวสำหรับรักษาประชาชน และยังมีงบประมาณในการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข ไปรวมอยู่ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่สปสช.จะเป็นผู้จ่ายเงินกองทุนนี้ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นหน่วยบริการที่สำคัญ (กล่าวคือเป็นหน่วยบริการเกือบทั้งหมด)ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

  การกำหนดระเบียบการบริหารเงินแบบนี้ ถ้าทำอย่างตรงไปตรงมาตามที่พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดไว้ ก็อาจจะไม่เกิดปัญหาทางการเงินแก่โรงพยาบาลอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่สปสช.ได้ลุแก่อำนาจในการที่เป็นผู้ได้ “ถือเงินงบประมาณ” มาทำงานนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของสปสช.โดยได้มาจัดสรรปันส่วนเงินกองทุนเอง จัดโครงการรักษาผู้ป่วยหลายๆโครงการโดยใช้เงินกองทุนที่ควรจะส่งให้โรงพยาบาล (แต่สปสช.ไม่ส่ง) และสปสช.ยังจ่ายเงินในการรักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลอย่างไม่ครบถ้วนตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นและยังจ่ายเงินล่าช้าอีกด้วย นอกจากนี้แล้วสปสช.ยังกำหนดระเบียบและกฎเกณฑ์ในการใช้ยารักษาโรคต่างๆให้โรงพยาบาลและแพทย์ปฏิบัติตาม ซึ่งถ้าแพทย์สั่งการรักษาหรือให้ยานอกเหนือจากที่สปสช.วางกฎเกณฑ์ไว้ สปสช.ก็จะไม่ยอมจ่ายเงินค่ารักษาที่โรงพยาบาลได้จ่ายไปแล้ว ทั้งๆที่สปสช.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคนั้นๆ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาที่เหมาะสมในการรักษาอาการเจ็บป่วย และสปสช.ยังมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องอีกมากมาย

   ทั้งนี้การบริหารงานของสปสช.และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ถูกตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง) ซึ่ง สตง ได้ชี้ประเด็นความไม่ถูกต้องทั้งหมด ๗ ประเด็น และยังมีอีกมากมายหลายประเด็นที่สตง.ยังไม่ได้ชี้ประเด็นความผิด
ซึ่งจะขอรวบรวมประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่เกิดขึ้นในรอบ ๙ ปีที่ผ่านมาดังนี้คือ

๑.การรวมเอาเงินเดือนของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขไปรวมไว้ใน “อัตราเหมาจ่ายรายหัว”ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่น่าจะถูกต้องตามระเบียบกพ.ที่กำหนดไว้ว่า ข้าราชการต้องได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนจากหน่วยราชการต้นสังกัด มิใช่ต้องมารับเงินจากองค์กรอื่นอันไม่ใช่ต้นสังกัด การทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้ข้าราชการไม่ได้รับเงินเดือนจากต้นสังกัดแล้วยังทำให้เงินงบประมาณในการรักษาประชาชนไม่เพียงพอ แต่ทำให้สปสช.ได้เงินบริหารสำนักงานเพิ่มขึ้น  เนื่องจากนำไปอ้างอิงในการของบประมาณบริหารสำนักงานได้

๒. การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่ได้จ่ายเงินค่า "“บริการสาธารณสุข” ตามจำนวนรายหัวของประชาชนที่ไปรับบริการจากสถานพยาบาลคู่สัญญากับสปสช. แต่สปสช.ยังเก็บเงินไว้เองโดยนำเงินกองทุนมาบริหารจัดการเอง ซื้อยาและเครื่องมือแพทย์เอง เมื่อได้เงินสมนาคุณจากการซื้อยาก็นำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของบุคลากรในหน่วยงานสปสช. อันน่าจะไม่ถูกต้อง(ตามที่สตง.ชี้ประเด็นความผิดแล้ว) สปสช.ยัง กำหนดระเบียบการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม แต่โรงพยาบาลต้องจำยอมทำตาม ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้เงินค่ารักษาผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

๓. สปสช.กำหนดอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของสปสช.ในอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจ่ายค่าเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการในอัตราสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผิดมติครม.ตามที่สตง.ชี้ประเด็นความผิดแล้ว

๔. การคัดเลือกกรรมการต่างๆของสปสช.และอนุกรรมการ ไม่โปร่งใส เปิดโอกาสให้กลุ่มพวกพ้องให้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการและอนุกรรมการ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการไปรับการสรรหาหรือรับการคัดเลือกเป็นกรรมการและอนุกรรมการ

 จะเห็นได้ว่าในรอบ ๙ ปีที่ผ่านมา กรรมการและอนุกรรมการ รวมทั้งเลขาธิการ เป็นคนในกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มเอ็นจีโอสาธารณสุข ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเป็นกรรมการและอนุกรรมการ โดยที่บางคนไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มนั้นๆเลย ทั้งนี้เพื่อที่จะมีพรรคพวกของตนมาเป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  เพื่อที่จะลงคะแนนในมติต่างๆในการบริหารกองทุนได้ตามที่กลุ่มพวกของตนต้องการ จนสามารถทำให้เกิดการฉ้อฉล เอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท และกลุ่มเอ็นจีโอสาธารณสุข  และมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกรรมการ เลขาธิการสปสช. และยังมีการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายต่างๆได้แก่การทำผิดมติครม. ผิดระเบียบสตง.  ผิดพ.ร.บ.ฮั้วประมูล ผิดระเบียบสำนักนายกฯ ผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผิดระเบียบของสปสช.เอง ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้ไว้ ๗ ประเด็น แล้ว และอาจจะมีประเด็นอื่นๆที่สตง.ยังตรวจไม่พบอีกมากมาย 
สำหรับปีพ.ศ. ๒๕๕๔  กรรมการหลักประกันสุขภาพชุดเก่าได้หมดวาระไป  เมื่อมีการคัดเลือกกรรมการใหม่ และพวกพ้องของกรรมการเก่าไม่ได้รับเลือก กลุ่มคนเหล่านี้ที่ยังเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพอยู่ก็ออกมาประท้วง ไม่เข้าประชุมคณะกรรมการถึง ๓ ครั้ง เพื่อต้องการให้การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้นได้มาจากกรรมการที่ไม่ครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด และได้นำเรื่องการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินี้ไปฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนการสรรหาคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด

และในที่สุดคนกลุ่มนี้ที่เคยเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการหรือมีความเกี่ยวข้องกับชมรมแพทย์ชนบท หรือเอ็นจีโอสาธารณสุข ก็ทำงานเฉพาะกิจ จัดประชุมกันในโรงแรมแห่งหนึ่งแล้วประกาศตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวหาว่ามีกลุ่มก๊วนที่วางแผนล้มหลักประกันสุขภาพอยู่ ๗ กลุ่ม โดยออกมาให้ข่าวในสื่อสาธารณะต่างๆทั้งหนังสือพิมพ์โทรทัศน์ ข่าวออนไลน์ โดยการกล่าวหาได้อ้างกระบวนการจ้องจะล้มล้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าเสียผลประโยชน์จากระบบนี้อย่างไร ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่อ้างเหตุผลที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง และได้เปิดเผยว่ามีแผน ๔ ขั้นตอนในการจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

๕. สปสช.เป็นหน่วยงานที่สิ้นเปลืองงบประมาณในการบริหารจัดการสูงมาก แต่กลับสร้างปัญหาให้แก่ระบบบริการสาธารณสุขอย่างมากมาย การจัดสรรงบประมาณการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแบบที่เป็นอยู่นี้ เป็นการจัดสรรงบประมาณที่แปลกประหลาดและสิ้นเปลืองที่สุดในโลก โดยที่งบประมาณนี้ ต้องสูญเสียกับการจ้างเลขาธิการสปสช.บริหารงานในราคาแพง บริหารงานผิดกฎหมาย โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและยังไม่มีการลงโทษการทำผิดกฎหมาย แต่อย่างใด

๖. ตามม.๔๑ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้กันเงินไว้ ๑% จากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เพื่อเอาไว้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นเงินโดยเฉลี่ยปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกลับจ่ายเงินนี้ไม่ถึงปีละ ๑๐๐ ล้านบาท คือสปสช.จ่ายชดเยแก่ผู้ได้รับความเสียหาย ไม่เกินรายละ ๒๐๐,๐๐๐ บาททำให้ประชาชนที่พิการหรือตาย ที่เกิดจากความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้รับความเดือดร้อนจากสปสช.เนื่องจากจำนวนเงินที่ได้รับการช่วยเหลือนี้ เป็นจำนวนน้อยเกินไปจนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ  จนประชาชนกลุ่มหนึ่งต้องพยายามไปรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นเสนอกฎหมายคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจาการรับบริการสาธารณสุข และพาเอาคนพิการออกมาชุมนุมเรียกร้องเพื่อผลักดันให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายนี้ให้ได้

๗.  ยังไม่มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเลขาธิการสปสช. ทั้งๆที่เลขาธิการสปสช.ได้ถูกกำหนดให้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูง(ม.๓๕ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพราะเป็นหัวหน้าสำนักงานที่ต้องรับผิดชอบบริหารงานถึงปีละ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ไม่เคยมีการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเหมือนผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ ปปช.ต้องทำการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเลขาธิการสปสช.อย่างเร่งด่วน

๘. ตามมติครม.วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ ถือว่า สปสช.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จะต้องได้รับการประเมินจากกพร. แต่สปสช.กลับไปจ้างองค์กรเอกชนมาประเมินให้ได้ผลงานดีเยี่ยม สมควรที่รัฐบาลจะต้องสั่งการให้กพร.ประเมินผลงานสปสช.ตามมติครม.ดังกล่าวอีกครั้ง

ผลกระทบของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขอย่างไร?

  ผลจากการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเลขาธิการสปสช.ที่กล่าวมานั้น ส่งผลโดยตรงต่อกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนับว่ามีหน่วยบริการที่ต้องทำงานบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในระบบบัตรทอง โดยที่ไม่ได้เซ็นสัญญาเป็นหน่วยบริการตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเงื่อนไขที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.กำหนด ซึ่งมีผลต่อการทำงานบริการประชาชนของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขกล่าวคือ ทำให้งบประมาณการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขขาดแคลน ซึ่งมีผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานในการดูแลรักษาประชาชน หรือการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขดังต่อไปนี้

๑. งบประมาณการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขขาดแคลน เนื่องจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เป็นงบประมาณขาดดุล กล่าวคือโรงพยาบาลมีรายรับจากกองทุนหลักประกันสุขภาพไม่คุ้มกับต้นทุนในการรักษาพยาบาลประชาชน ในยุคเริ่มต้น ของโครงการนี้ในปีพ.ศ. ๒๕๔๕ โรงพยาบาลยังมีเงินคงเหลือในบัญชีจากการดำเนินการดูแลรักษาประชาชนอยู่เรียกว่า”เงินบำรุงโรงพยาบาล”อยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเงินจำนวนนี้ อาจเอาไปใช้เป็นเงินสำหรับการพัฒนาโรงพยาบาลหรือจ้างบุคลากรมาทำงานให้โรงพยาบาลในกรณีที่มีข้าราชการไม่เพียงพอต่อภาระงาน

แต่หลังจากมีโครงการบัตรทอง โรงพยาบาลได้รับงบประมาณจากการรักษาประชาชนในระบบบัตรทองไม่คุ้มกับต้นทุนการทำงานรักษาประชาชน ทำให้โรงพยาบาลต้องเอาเงินบำรุงนี้ออกมาใช้จนหมด ในช่วงปีต่อๆมาโรงพยาบาลส่วนมากจึงไม่มีเงินบำรุงเหลืออีกแล้ว ทำให้โรงพยาบาลมีตัวเลขขาดทุนเห็นได้ชัดเจนหลายร้อยโรงพยาบาล

๒. โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยบัตรทองเป็นส่วนมากจะขาดทุนในการดำเนินงาน เนื่องจากได้รับงบประมาณไม่คุ้มต้นทุนในการดำเนินงาน แต่โรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ จะได้รับงบประมาณพอคุ้มกับต้นทุนในการดำเนินงาน และโรงพยาบาลจะมีกำไร(บ้าง)  ทำให้โรงพยาบาลมีเงินไปเฉลี่ยการขาดทุนจากการรักษาผู้ป่วยบัตรทอง แต่ต่อมาเมื่อกรมบัญชีกลางได้ลดอัตราการจ่ายเงินผู้ป่วยในตามรายกลุ่มโรค (หรือเรียกว่า Diseases Related Group ย่อว่าDRG) ให้เหลือเท่ากับอัตรา DRG ของสปสช. ทำให้ตัวเลขการชาดทุนของโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นหลายร้อยแห่ง ตามการรายงานของกลุ่มประกันสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพ.ศ. ๒๕๕๓

๓. การยกเลิกการจ่ายเงินครั้งละ ๓๐ บาททำให้โรงพยาบาลขาดทุนมากขึ้น การยกเลิกการจ่ายเงินครั้งละ ๓๐ บาทในปีพ.ศ. ๒๕๕๐ในรัฐบาลยุคคมช.นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่ทำให้ประชาชนไปรับการบริการรักษามากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากไม่ต้องมีส่วนร่วมจ่ายเงิน และไม่ต้องป้องกันรักษาโรคหรือดูแลสุขภาพตนเองแต่อย่างใด (ตามสถิติการไปใช้บริการของกระทรวงสาธารณสุข)ฉะนั้นจึงทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ภาวะขาดทุนเพิ่มขึ้น

๔. กระทรวงสาธารณสุขขาดงบประมาณในการพัฒนาการบริการทางการแพทย์ ขาดงบประมาณที่จะจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ต้องไปขอจากสปสช. นับว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการกลุ่มเดียวที่ทำงานของราชการแต่ราชการไม่จัดสรรเงินเดือนมาให้โดยตรง

๕. ความขาดแคลนบุคลากรและอาคารสถานที่ เครื่องมือและเทคโนโลยี โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานในการดูแลรักษาสุขภาพประชาชนอย่างมากมาย แต่นอกจากขาดแคลนงบประมาณแล้ว ยังขาดแคลนบุคลากรที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ ขาดอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ เช่นเตียง และอื่นๆ ที่ไม่เพียงพอจะรับรักษาผู้ป่วย ทั้งๆที่ประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชนมากมายที่น่าจะเข้าร่วมรักษาประชาชนในระบบ ๓๐ บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานในการรักษาผู้ป่วยจากโรงพยาบาลรัฐบาล แต่โรงพยาบาลเอกชนหลายร้อยแห่ง ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการในระบบนี้ เนื่องจากอะไร? วิญญูชนทั้งหลายก็คงจะคิดได้เอง

๖. รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีอำนาจในการ สั่งการหรือบังคับบัญชาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถ้ารัฐบาลหรือรัฐมนตรีมีนโยบายในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขอย่างไรก็ไม่อาจทำได้ ถ้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ลงมติเห็นด้วย  นับเป็นการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก ที่ฝ่ายรัฐบาลที่บริหารบ้านเมืองโดยได้รับการเลือกตั้งมาจากปวงชน ไม่สามารถทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาได้ ต้องตกอยู่ใต้การสั่งการตามมติของงคณะกรรมการที่ได้รับเลือกมาจากกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือเป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง

๗. ประชาชนเสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายจากการไปรับบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เนื่องจากความขาดแคลนงบประมาณ กำลังคน อาคารสถานที่ของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก ปลอดภัย จากการไปรับบริการสาธารณสุข และมีความเสี่ยงต่อความเสียหายจากการไปรับบริการสาธารณสุขมากขึ้นกว่าเดิม

๘. ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขไม่ได้รับเงินช่วยเหลือที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ดังที่กล่าวแล้ว

 จึงขอเสนอว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้อง “ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบระบบ “การบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน”อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อขจัดปัญหาทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วโดยเร่งด่วนดังนี้คือ

๑. ยุติการกระทำผิดกฎหมายของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.และเลขาธิการสปสช.
ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๔ ตามที่สตง.ชี้ประเด็นความผิดโดยด่วน และลงโทษผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนี้โดยเร็ว เพื่อยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว

๒. แก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีงบประมาณที่เหมาะสมเพียงพอ คุ้มค่างบประมาณ  สามารถพัฒนาบริการสาธารณสุขให้มีมาตรฐาน  ปลอดภัยและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
๑๕ ม.ค.๕๕