ผู้เขียน หัวข้อ: วันนี้คุณไปรับเงินสองแสน จากการทำหมัน (หญิง) แล้วหรือยัง  (อ่าน 5321 ครั้ง)

power

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 27
    • ดูรายละเอียด

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ออกนโยบายแจกเงินมูลค่าสูงสุดถึงสองแสนบาทถ้วนให้กับผู้ใช้สิทธิการรักษาฟรี

ซึ่งเมื่อศึกษาในรายละเอียดแล้วจะพบว่านี่เป็นอีกนโยบายที่กำลังทำลายระบบสาธารณสุขของประเทศ และเป็นการกระทำผิดบทบัญญัติในมาตรา 41 และข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงินตามมาตรานี้ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับที่ สตง.ได้ออกมาชี้มูลความผิดเรื่องการทำผิดระเบียบอย่างร้ายแรงมาหมาดๆ นโยบายดังกล่าว คือ “จ่ายสองแสนเพื่อเป็นทุนสำหรับการตั้งครรภ์ภายหลังทำหมัน” หรืออีกนัยหนึ่ง คือ "การออกประกันการทำหมันหญิง ทำฟรี ไม่ได้ผล...ยินดี แถมเงิน 200,000 บาท โดยไม่ต้องพิสูจน์ผิดถูก" คำสั่งนี้มีที่มาของการแจกเงิน "ค่าเสียหาย!!!" อันเนื่องจากมติของบอร์ด สปสช.

มติที่ 03/ว. 769 "เนื่องจากมีข้อหารือในประเด็นดังกล่าวมาจากหลายจังหวัด และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้ว มีความเห็นแตกต่างกัน จึงได้หารือไปยังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ... คณะกรรมการได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2554 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 เห็นชอบให้การตั้งครรภ์ภายหลังการผ่าตัดทำหมันหญิง เป็นเหตุสุดวิสัย ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"
 
พูดง่ายๆ คือ นับแต่นี้ต่อไป การทำหมันแล้วท้อง ให้ถือเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการรับบริการสาธารณสุข ในทุกๆ กรณี โดยไม่ต้องสนใจว่าแพทย์จะทำได้มาตรฐานแล้วหรือไม่ (ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์) ผู้รับการทำหมันแล้วท้อง ให้ถือเป็นผู้เสียหายที่สมควรได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นทุกรายไป ผลจากมตินี้เป็นการฉีกตำราทางการแพทย์ออกเป็นเสี่ยงๆ เพราะไม่มีตำราทางการแพทย์เล่มใดที่ระบุว่า การทำหมัน (รวมทั้งการคุมกำเนิดทุกวิธี) สามารถป้องกันการท้องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีตำราเล่มใดที่บอกว่าการตั้งครรภ์ภายหลังการทำหมันถือเป็นความเสียหาย (โบราณเรียกว่ามารดาและเด็กมีบุญผูกพันกันมา เขาจึงอยากมาเกิดกับเรา แต่คำสั่งนี้เรียกว่า ความเสียหายที่แพทย์กระทำ)
 
ที่ผ่านมานั้น ปัญหาเรื่องการทำหมันแล้วท้อง มีการร้องเรียนให้แพทย์รับผิดชอบโดยผู้ร้องจะเกาะกระแสการฟ้องร้องแพทย์ด้วยทัศนคติว่า "ทำหมันแล้วต้องไม่ท้อง หากท้องแสดงว่าแพทย์ก่อความเสียหาย จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากการตั้งครรภ์" ซึ่งยังดีที่ไม่เคยมีศาลใดพิพากษาให้แพทย์หรือสถานพยาบาลต้องรับผิดชอบจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูเด็กที่แพทย์ไม่ได้มีส่วนทำให้ท้องแต่อย่างใด

 นอกเหนือจากการฟ้องร้องต่อศาลแล้ว ยังมีกรณีร้องเรียนเอาเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขตาม ม. 41 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีนับเป็นร้อยๆ ราย ส่วนใหญ่แล้วอนุกรรมการที่มีความรู้ทางการแพทย์จะตัดสินให้ยกคำร้องเพราะมองว่ามิใช่ความเสียหายที่จะมาขอรับเงินได้ เนื่องจากเป็นเรื่องปกติที่แพทย์ทั่วโลกทราบดีว่า "ไม่มีวิธีการทำหมันใดๆ จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกเว้นวิธีการไม่มีเพศสัมพันธ์เท่านั้นที่จะป้องกันได้แน่นอน" แม้ว่าผู้ป่วยจะอ้างว่าตนไม่ทราบข้อเท็จจริงนี้ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า การทำหมันแล้วจะป้องกันมิให้ท้องได้ในทุกกรณี  ทั้งนี้ เกณฑ์การวินิจฉัยว่าจะจ่ายเงินหรือไม่นั้น

อนุกรรมการชุดที่พิจารณาสั่งจ่ายมักใช้เหตุผลว่าเป็นกรณีสุดวิสัย และผู้ร้องมีฐานะยากจน จึงอนุมัติเงินช่วยเหลือให้ ซึ่งที่ผ่านมา มีประมาณ เกือบ 200 ราย  คิดเป็นเงินเกือบ 8 ล้านบาท  ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ก็มีคำสั่ง สปสช.ที่ 03/ว. 609  ระบุย้ำไว้ว่า "กรณีทำหมันแล้วตั้งครรภ์นั้น ห้ามมิให้จ่ายเงินเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า เกิดจากข้อผิดพลาดของการผ่าตัด" แสดงว่าที่ผ่านมา คณะกรรมการ/อนุกรรมการที่ สปสช.แต่งตั้ง (ประกอบด้วยแพทย์และคนนอกที่มิได้มีความรู้ทางการแพทย์) มีการฝ่าฝืนคำสั่ง และกฎหมายตาม ม. 41 โดยการจ่ายเงินผิดหลักเกณฑ์ บวกกับให้ด้วยความสงสาร (ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของมาตรา 41 เพราะมาตรานี้มิใช่ “เงินสังคมสงเคราะห์” แต่เป็นเงินเยียวยาความเสียหายจริงๆ เท่านั้น) โดยที่มิอาจลงโทษ หรือแม้แต่เรียกเงินคืนได้เลย ทั้งๆ ที่เงินก้อนนี้ล้วนแต่เป็นเงินภาษี เป็นเงินที่ผู้เสียภาษีจ่ายให้รัฐบาลนำไปใช้สำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วย และช่วยเหลือให้โรงพยาบาลสามารถนำไปพัฒนาซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ จ่ายค่ายาให้กับบริษัทยา หรือนำไปเป็นเงินจ้างบุคลากรมาดูแลผู้ป่วยเพื่อให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

คำสั่ง สปสช.ที่ 03/ว. 769 โดยการอ้างว่า "การทำหมันแล้วท้อง เป็นเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์ ที่ถือเป็นความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" เป็นการบ่งบอกภูมิปัญญาของคณะกรรมการหลักบางคนของ สปสช. ชุดที่แล้ว ที่ยกมือให้กับมตินี้เป็นอย่างดี
 
ข้อเท็จจริงทางการแพทย์เกี่ยวกับการทำหมัน (หญิง) ไม่มีตำราทางการแพทย์ใดๆ ที่บอกว่า การทำหมันถาวรด้วยการผูกหรือตัดท่อนำไข่ สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% (เป็นการตั้งชื่อที่ทำให้เข้าใจผิด) ความจริงคือวิธีนี้เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ให้ผลดีที่สุดเท่านั้นเอง สาเหตุเกิดจากการกลับมาต่อกันเองของท่อนำไข่ หรือไข่เดินทางข้ามรอยตัดต่อ หรือสเปิร์มเดินทางข้ามท่อนำไข่มาพบกับไข่ ซึ่งมีอัตราที่ประมาณ 0.4-1 รายต่อทุกๆ 100 รายของการทำหมัน และในรายที่ตั้งครรภ์ภายหลังการทำหมันนี้ จะมีกรณีตั้งครรภ์นอกมดลูกประมาณ 13-15% (สูงกว่ากรณีที่มิได้มีการทำหมันด้วยการผ่าตัด) ซึ่งหาก สปสช. ให้เงินค่าทำหมันแล้วยังท้อง ก็ต้องเตรียมตัวให้ค่าเสียหายจากความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย
 
ผลที่ตามมาจากคำสั่งนี้ คำสั่งให้จ่ายเงินดังกล่าวจะทำให้ รัฐบาล ต้องนำเงินภาษีไปจ่ายให้กับ “สิ่งที่ทางวงการแพทย์มิได้เรียกว่าความเสียหาย” ซึ่งในกรณีนี้ คือ “การทำหมันแล้วท้อง” เป็นจำนวนมาก คิดง่ายๆ ว่า หากปีหนึ่งประเทศไทยมีการทำหมันหญิงประมาณ 365,000 ราย (คิดจากสมมติฐานที่ว่า ทุกวันมีผู้เข้ารับการทำหมันหญิงอย่างน้อยวันละ 1 รายต่อ หนึ่งสถานพยาบาล ประเทศไทยมีสถานพยาบาลทั่วประเทศที่มีศักยภาพทำหมัน (หญิง) ได้ประมาณ 1,000 แห่ง แต่ตัวเลขความเป็นจริงน่าจะสูงกว่านี้หลายเท่าตัว)

 ในปีหนึ่งๆ จะมีกรณีทำหมันหญิงแล้วท้องอยู่ที่อย่างน้อย 1,500-2,000 ราย จำนวนเงินที่ สปสช. จะต้องจ่ายเงินค่าความล้มเหลวจากการทำหมันหญิงแล้วไม่ได้ผล จึงตกประมาณปีละ (อย่างน้อย) 300-400 ล้านบาท !! นี่ยังไม่นับการทำหมันชายที่มีโอกาสไม่ได้ผลมากกว่าการทำหมันหญิงหลายเท่าตัว 
 
หาก สปสช.อนุมัติให้จ่ายเงินผิดระเบียบได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องไม่สองมาตรฐานสำหรับการจ่ายค่าคุมกำเนิดที่ล้มเหลวด้วยวิธีอื่นๆ เช่น กินยาคุม ฉีดยาคุม ใส่ห่วง อีกด้วย และยังต้องเตรียมเงินก้อนมหาศาลสำหรับค่าความล้มเหลวของการฉีดวัคซีนแล้วยังติดโรค การผ่าตัดเนื้องอกแล้วกลับมาเป็นอีก การกินยาแล้วไม่หายจากโรค และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ในทางการแพทย์อยู่แล้ว อันที่จริงแล้วเหตุการณ์เหล่านี้ในตำราแพทย์หาเรียกว่า “ความเสียหาย (damage)” ไม่ แต่เรียกว่า “อัตราล้มเหลว (failure rate)” หรือ “ผลอันไม่พึงประสงค์ (adverse effect, bad outcome)”  ดังนั้น การออกมติเช่นนี้ของบอร์ด สปสช. เท่ากับเป็นการเขียนตำราทางการแพทย์ขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดให้ “ผลอันไม่พึงประสงค์ทุกอย่าง ล้วนเป็นความเสียหายที่ผู้ให้การรักษาเป็นผู้ก่อและต้องรับผิดชอบความเสียหายทางอ้อม” ซึ่งเคยมีคำตัดสินทั้งจากศาลในและต่างประเทศให้ยกฟ้องกรณีเช่นนี้มามากมาย  แต่ สปสช.กลับเอาเงินภาษีไปจ่ายโดยผิดทั้งระเบียบ ม. 41 และผิดตำราการแพทย์ของทั่วโลก ซึ่ง สตง.ควรจะเข้ามาตรวจสอบการจ่ายเงินเช่นนี้ด้วย
 
หากมีการขยายวงเงินสูงสุดของ ม. 41 จาก 200,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท หรือมีการผ่านกฎหมาย “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ที่มีโครงสร้างลอกแบบมาจาก ม. 41 คือ คณะกรรมการประกอบด้วยคนนอกที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์เข้ามานั่งตัดสินตามความรู้สึก ตามอารมณ์สงสาร โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงด้านการแพทย์ มีการตัดสินด้วยการอ้างการไม่พิสูจน์อะไรเลย เดินมายื่นคำร้องแล้วก็รับเงินไปเร็วๆ เป็นล้านๆ บาท จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบสาธารณสุขไทย ที่ทุกวันนี้ ได้ยินแต่ข่าวว่า โรงพยาบาลจะล้มละลายเพราะมีแต่ข่าว สปสช.กั๊กเงินไว้ แพทย์ไม่มีสิทธิเลือกยาหรือวัสดุการแพทย์ที่ดีที่สุดให้ผู้ป่วยเพราะ สปสช. อ้างเรื่องราคามาควบคุมดุลยพินิจในการประกอบวิชาชีพของแพทย์ ซึ่งแพทย์รุ่นหลังนี้ต้องถามตัวเองก่อนลงมือทำหมันว่า “พร้อมจะเป็นผู้ก่อความเสียหายด้วยการทำหมันหรือไม่?”

นพ. เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ
กรุงเทพธุรกิจ 10 มกราคม 2555