ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.จ่อหารือแพทยสภาแก้ปม “หมอลาออก” ยกเลิกหลักสูตรอินเทิร์น เรียน 7 ปี  (อ่าน 104 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สธ.จ่อหารือแพทยสภาแก้ปม ‘หมอลาออก’ ยกเลิกหลักสูตรอินเทิร์น เรียน 7 ปี

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นพ.ณรงค์ อภิกุลวานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับ 4 ชมรมแพทย์และสาธารณสุขในสังกัด สธ. ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย หลังมีกระแสข่าวแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (อิน เทิร์น) แห่ลาออก เนื่องจากทนสภาพการทำงานหนัก แต่ได้ค่าตอบแทนต่ำไม่ไหวว่า

การประชุมวันนี้มีการหารือ ประเด็นที่ 1 การยกระดับหน่วยบริการตั้งแต่การจัดระบบปฐมภูมิ ระบบส่งต่อ การยกระดับบทบาทในเชิงระบบ โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนแล้ว

ประเด็นที่ 2 การดูแลขวัญกำลังใจบุคลากรในเรื่องภาระงาน ซึ่งที่ประชุมได้หารือกันว่าจะให้โรงพยาบาล (รพ.) นำเงินบำรุงของ รพ.มาปรับปรุงสวัสดิการบุคลากร เช่น บ้านพัก สิ่งแวดล้อมภายใน โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการแล้วกว่า 43 แห่ง รวม 1,500 ล้านบาท ส่วนค่าตอบแทนก็มีการปรับปรุงแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับค่าตอบแทนในแต่ละหน่วยบริการ คาดว่าจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

“ภาระงานของ สธ.ในแต่ละระดับหน่วยบริการมีมากขึ้นด้วยหลายปัจจัย เช่น วิถีชีวิตด้านสุขภาพและความคาดหวังของประชาชน ดังนั้น คนก็จะเข้าใช้บริการใน รพ.มากขึ้น รวมถึงเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยังท้องถิ่น การบริการบางอย่างก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งกลับไปใช้บริการที่ รพ.ระดับจังหวัด ทำให้ภาระงานส่วนนี้กลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น และอีกส่วนที่ต้องหารือคือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน ดังนั้น หลังจากนี้ต้องหารือกันเรื่องความสมดุลระหว่างสิทธิที่ประชาชนพึงมีพึงได้กับบุคลากร เพื่อไม่ให้กระทบต่อขวัญกำลังใจ และสุดท้ายเป็นเรื่องของวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล ในแต่ละเจเนอเรชั่นที่มีความแตกต่าง ขณะนี้ถ้าไปดูในสื่อ ก็จะเห็นเรื่องการลาออก การหมดไฟ ซึ่งรุ่นนี้จะเป็นรุ่นน้อง หรือรุ่นลูก ซึ่งจะมีความแตกต่าง ดังนั้น การทำความเข้าใจกับลูกๆ เหล่านี้จึงมีความสำคัญ จึงมีการหารือกันว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชมรมฯต่างๆ จะต้องสื่อสารและดูแลน้องๆ อย่างใกล้ชิด และปรับปรุงระบบให้มีการสนับสนุนการทำงาน นำเอาปัญหามาพูดคุยกัน” นพ.ณรงค์กล่าว

นพ.ณรงค์กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 การจัดการบุคลากร ที่ สธ.ไม่สามารถดูแลได้เบ็ดเสร็จ แต่อยู่ภายใต้ระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จึงมีการหารือกันว่า หาก สธ.สามารถดำเนินการเบ็ดเสร็จในภาพรวมผ่าน คณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุขได้ ก็อาจจะจัดการเรื่องบุคลากรได้เอง โดยหลังจากนี้ จะมีการศึกษาแนวคิดดังกล่าวอย่างในวิชาชีพครู ตำรวจ และประเด็นที่ 4 แพทย์ใช้ทุน โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรืออิน เทิร์น (Intern) ก็มีการหารือกันว่า ในการผลิตแพทย์จะใช้สูตร 6+1 คือ เรียน 6 ปี แล้วเพิ่มพูนทักษะ 1 ปีตามข้อกำหนดของแพทยสภา ในระหว่างการเพิ่มพูนทักษะก็จะมาประจำที่ รพ.ของ สธ. 117 แห่ง จึงมีประเด็นภาระงานในส่วนนี้ขึ้น ที่ประชุมจึงหารือกันว่า จะประสานไปยังแพทยสภาว่าทาง สธ.จะรับบุคลากรที่พร้อมปฏิบัติงานเลย โดยอาจเอาการเพิ่มพูนทักษะกลับไปสู่การเรียน ให้เป็นการเรียนที่ 7 ปีได้หรือไม่ ซึ่งต้องมีการหารือจริงจัง

ผู้สื่อข่าวถามย้ำ ถึงแนวคิดผลิตแพทย์ 7 ปี หมายถึงจะไม่มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แต่จะเป็นการเรียน 7 ปีใช่หรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากมุมมองที่เป็นปัญหาในขณะนี้ ดังนั้น จึงต้องนำไปสู่การหารืออีกครั้ง

เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้คุยกันถึงภาระงานที่เพิ่มขึ้นมาก เกิดจากบัตรทอง นพ.ณรงค์กล่าวว่า จริงๆ การมีนโยบายบัตรทองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รพ.มากขึ้น ซึ่งเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ไม่ใช่ความผิด ซึ่งจริงๆ จะเกี่ยวข้องกับการจัดสิทธิประโยชน์ของกองทุนที่ไม่สมดุลกับบุคลากร หากดูจากสถิติก็พบว่าอัตราการเข้าถึงบริการของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระยะเวลารอคอยแพทย์ในหลายประเทศ ก็จะเห็นว่าไทยมีระยะเวลารอคอยที่สั้นกว่ามากในหลายประเทศ

“วันนี้เราได้ส่งสัญญาณไปแล้วว่าสิทธิประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้น อาจต้องหารือว่าจำนวนบุคลากรที่มีสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความสมดุลมากขึ้น” นพ.ณรงค์กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากนี้จำเป็นต้องส่งสัญญาณถึงประชาชนด้วยหรือไม่ ในเรื่องของการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะบัตรทอง นพ.ณรงค์กล่าวว่า ขอพูดในฐานะของแพทย์ที่ดูแลประชาชนที่ป่วยว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการไม่ป่วย สุขภาพดี ถัดมา ดีรองลงมาคือประชาชนมีความรอบรู้ในการดูแลตัวเองหากเจ็บป่วยเพื่อการเลือกใช้บริการสาธารณสุขอย่างเหมาะสม เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไปที่ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป แล้วไปใช้บริการคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจ การใช้เทเลเมดิซีน ก็จะลดการสู่ รพ.และความแออัดได้

“หากการบริการสอดคล้องกับทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ ก็จะต้องไปเพิ่มสมรรถนะของหน่วยบริการนั้นๆ และสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพให้ประชาชน เพื่อเลือกเข้าใช้บริการอย่างเหมาะสม เชื่อว่าปัญหาก็จะลดลงไป” นพ.ณรงค์กล่าว และว่า ต้องหารือกัน เพราะหากเพิ่มสิทธิประโยชน์จนเกินสมรรถนะบุคลากร ก็จะเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนพึงมี ต้องมองให้รอบคอบ

เมื่อถามว่าสิทธิประโยชน์ในแต่ละกองทุนที่ต้องหารือกัน นพ.ณรงค์กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้

“ยกตัวอย่างเรื่อง การรอฟอกไตของผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดเส้นเลือด ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากพอสมควร แต่หากมีการขยายสิทธิประโยชน์เข้าไปเยอะ ก็ทำให้ผู้ป่วยที่รอผ่าตัดเส้นเลือดเข้าไม่ถึงบริการ แต่ถ้าเราหารือกันในการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือใช้หลักการบริการทรัพยากรร่วมกันในระดับจังหวัด (One Provine One Hospital) ประชาชนก็จะเข้าถึงบริการได้ แต่จะต้องไปดูในรายละเอียดของแต่ละสิทธิประโยชน์” นพ.ณรงค์กล่าว

8 มิถุนายน 2566
มติชน



story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
‘หมอโอชิษฐ์’ ชี้ แพทย์–พยาบาล แห่ลาออกเหตุต้องทำงานต่อเนื่อง 32 ชม. ด้าน ก.พ. อ้างมีคนมากแล้ว ไม่รับเพิ่ม ทั้งที่ไม่ดูพันธกิจ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย ว่าที่ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ ลาออกจากโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือชั่วโมงการทำงานของแพทย์แต่ละคน ทั้งๆที่แพทย์หนึ่งคนต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจรวมทั้งสมอง และต้องพร้อมมากที่สุดในการดูแลผู้ป่วย เพราะต้องตัดสินใจในการรักษาคนไข้ แต่ในความเป็นจริงแพทย์และพยาบาลหนึ่งคนต้องทำงานโหลดมาก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการรักษาผู้ป่วยได้ แม้แพทย์แต่ละคนมีความรู้เท่าเทียมกัน แต่การต้องทำงานต่างกันจึงอาจจะส่งผลต่อการรักษาคนไข้ได้

นพ.โอชิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์อินเทิร์นที่ทำงานตามโรงพยาบาล ทุกคนต้องการการพักผ่อนที่พอเพียง เพราะปัจจุบันแพทย์หนึ่งคนต้องทำงาน 32 ชั่วโมงถือว่าหนักมาก จึงอยากให้มีการจัดสรรเวลาการทำงานอย่างมีระบบ หรือออกเป็นกฎหมาย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานตามเวลาและมีเวลาพักผ่อน ปกติแพทย์หนึ่งคนควรทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากมากกว่านี้ก็จะหนักเกินไป ทั้งนี้ พรรค พท.พร้อมที่จะหารือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและหามาตรการในการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์

“ปัญหาการทำงานหนักของแพทย์ ปัจจัยสำคัญมาจากหลักคิดของของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือก.พ. ที่ไม่ยอมเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ เพราะมีการนำจำนวนข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขไปเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น ทั้งที่พันธกิจหรือการทำงานแตกต่างกัน แต่ ก.พ.ไม่มองที่พันธกิจ จึงไม่อนุมัติให้เพิ่มบุคลากร จึงอยากให้ก.พ.เปิดโอกาสให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถรับบุคลากรทางการแพทย์ได้เองเหมือนหน่วยงานอื่น ก็จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้ ปัญหาแพทย์ทำงานหนักหรือสมองไหลจะลดลงอย่างแน่นอน” นพ.โอชิษฐ์ กล่าว

8 มิถุนายน 2566
มติชน