ผู้เขียน หัวข้อ: “หมอทวีศิลป์” แจง “เพิ่มแพทย์” แค่หนึ่งในวิธีแก้ปมสมองไหล จ่อชง ก.พ.ใช้บุคลากร  (อ่าน 77 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
“หมอทวีศิลป์” แจง “เพิ่มแพทย์” แค่หนึ่งในวิธีแก้ปมสมองไหล จ่อชง ก.พ.ใช้บุคลากรเกษียณ

วันนี้ (7 มิถุนายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ.ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะผู้บริหาร สธ. ครั้งที่ 6/2566 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน และมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. เข้าร่วมประชุมด้วย ว่า การประชุมคณะผู้บริหาร สธ. วันนี้ เป็นวาระปกติที่มีการประชุมประจำเดือน มีการติดตามงานและมอบนโยบายกว้างๆ ส่วนเรื่องที่ สธ.กำลังได้รับความสนใจในประเด็นปัญหาขาดกำลังพลด้านแพทย์นั้น ก็เป็นโอกาสที่ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ให้ข่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา เช่น แพทยสภา ที่ดูแลเรื่องการผลิตแพทย์ การเพิ่มพูนทักษะ และแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งพรุ่งนี้ (8 มิถุนายน 2566) แพทยสภาจะมีการประชุมใหญ่ โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เป็นประธาน รับทราบเรื่องนี้ และพยายามแก้ไขมาตลอด ก็จะนำเรื่องนี้เข้าวาระเพื่อพิจารณา ให้นำไปสู่การแก้ไข ทั้งการผลิตแพทย์ การจัดสรร การกระจาย และคุณภาพกับปริมาณ

“ส่วนเรื่องอัตรากำลังที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ปลัด สธ. ก็ให้มีการนัดหมายเลขาธิการ ก.พ. ที่เดิมเรานัดหารือกันทุกเดือนอยู่แล้ว และที่ผ่านมาพูดคุยกันเรื่องแซนด์บ็อกซ์ในการปรับเรื่องบุคลากรต่างๆ เป็นประจำ ครั้งนี้จึงขอนัดวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งเลขาธิการ ก.พ. รับทราบและรับปากว่าจะหารือเพื่อหาข้อสรุปกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

รองปลัด สธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องภาระงานที่สื่อมวลชนและในโซเชียลมีเดียนำไปเชื่อมโยงกับการบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ UC ซึ่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะต้องหารือกันนั้น ที่ประชุมมอบให้ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัด สธ. หารือร่วมกับคณะผู้บริหาร สปสช. ในการลดภาระงานของแพทย์ โดยให้ สปสช.เข้ามามีส่วนช่วยผู้ทำงานด่านหน้า ซึ่งไม่ใช่แค่แพทย์อย่างเดียว ยังรวมถึงพยาบาล เจ้าหน้าที่วิชาชีพอื่นๆ ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากมีการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (6 มิถุนายน 2566) ประชาชนมองว่า การเพิ่มแพทย์เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว และได้ถามถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ อินเทิร์น กับสต๊าฟที่ดูแลแพทย์อินเทิร์น รวมถึงค่าตอบแทน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (6 มิถุนายน 2566) ที่เราพูดกัน ไม่ได้พูดถึงการแก้ไขแพทย์ แต่พูดเรื่องการลดภาระงาน เรื่องการเพิ่มสวัสดิการ 4 ข้อ แต่ประเด็นที่มีการพูดเรื่องผลิตแพทย์ คงเป็นการฟังความตอนต้น เพราะการแถลงข่าวใช้เวลาแถลงพอสมควร ซึ่งการผลิตแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของความขาดแคลน ดังนั้น การเพิ่มแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่หลักๆ คือ การปรับสวัสดิการ 4 ข้อ เช่น การปรับภาระงาน ปรับค่าตอบแทน ซึ่ง สธ.ทำมาตลอดและจะทำให้เข้มข้นไปอีก

“เมื่อวานยังมีคนพูดเรื่องการลาออกว่า ยังไม่ชัดเจน ว่าสรุปแล้วลาออกเยอะจริงหรือไม่ จึงขอเน้นย้ำอีกว่า ปีละ 400 กว่าคนเท่านั้นเอง แต่ในโซเชียลเอาตัวเลขที่บอกว่าลาออกปีละ 900 คน โดยเอาตัวเลขที่ได้รับจัดสรรมาลบกับตัวเลขแพทย์ที่ สธ.มีอยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย แต่ถ้าดูจากการแถลงข่าว จะเห็นลำดับการจัดสรรแพทย์ ดังนั้น ตัวเลข 900 คน ที่ลาออกต่อปี ยืนยันว่าไม่ใช่ เป็นความเข้าใจผิด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เมื่อถามอีกว่า จะต้องพูดคุยกับสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จริงๆ พวกเราทำงานกันอยู่แล้ว การสื่อสารผ่านสื่อก็เป็นที่ดี เพราะข้อมูลตอนนี้ก็ยังเป็นชุดเดิม เราเปิดเผยออกไปทั้งหมด ดังนั้น ถ้าจะมีการมาหารือ ก็ยินดี เพื่อช่วยกัน

“ผมเชื่อว่าน้องๆ ที่ทำงานอยู่ก็อยากมีความสุขในการทำงาน เรามีหลายวิธีสร้างความสุขในการทำงานด้วยความเข้าใจกัน บรรยากาศการทำงาน มีปัญหากันทั้งนั้น ดูในเฟซบุ๊ก ก็มีคนบอกว่า ไม่ใช่แค่ สธ. อย่างเดียว เอกชนก็มีความกดดัน คนทำงานอยู่ที่บ้านก็มี เหมือนกันทุกที่ ดังนั้น ถ้าเรามาช่วยกันแก้ไขปัญหา เพราะการทำงานคือ การจัดการกับปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่เราจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความพยายามแก้ไขกันมานาน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ไม่ใช่เราจะลุกขึ้นมาทำได้ทันที เพราะมีข้อจำกัดในฝ่ายราชการ ต้องอ้างอิงกฎหมายว่าอยู่ในอำนาจ สธ. หรือไม่ ตรงนี้จึงต้องใช้เวลาพอสมควร” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เมื่อถามว่า ที่ประชุมได้หารือกันเรื่องการกระจุกตัวของแพทย์ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่สูงถึงหมื่นคนหรือไม่ รองปลัด สธ. กล่าวว่า การกระจุกตัวของแพทย์เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ได้เป็นตลาดเสรี หรือรัฐสวัสดิการ ก็เจอปัญหาเดียวกัน ดังนั้น ประเทศที่มีกำลังก็จะมีการนำเข้าแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ละเอียดอ่อน และขณะนี้ แพทยสมาคมพยายามผลักดันเรื่องของแพทย์ในประเทศไทย ถ้าบริหารจัดการที่ดี ก็จะทำให้มีความเพียงพอ เพราะมีแพทย์ในประเทศทั้งหมด 60,000 คน ถ้ารวมกับแพทย์เกษียณก็จะมากขึ้น หลายประเทศใช้แรงงานแพทย์หลังเกษียณด้วย ซึ่งจะมีการพูดคุยกับเลขาธิการ ก.พ. ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ด้วย เพราะถ้าไม่ติดเรื่องกรอบข้าราชการ ก็จะสามารถทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ได้ เช่น จ.ภูเก็ต ที่อาจมีการเพิ่มค่าตอบแทน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ช่วยกันคิดรูปแบบการบริหารงาน ศึกษาผลเพื่อเสนอต่อเลขาธิการ ก.พ. ในระยะถัดไป

7 มิย 2566
มติชน