ผู้เขียน หัวข้อ: ใครจะทน ดาราสาวดีกรีคุณหมอ น้ำตานอง เผยวินาทียื่นใบลาออกจากราชการ  (อ่าน 324 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ได้เป็นคุณหมอสมดั่งตั้งใจหลังจากที่เรียนจบ สำหรับนักร้อง นักแสดงสาวสวย ปุยเมฆ นภสร หรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล หลังทุ่มเทตั้งใจเรียนหนักตลอด 6 ปีเต็ม

จากนั้นคุณหมอปุยเมฆก็ได้เป็น intern และแพทย์พี่เลี้ยงออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชบุรี แต่ล่าสุด คุณหมอปุยเมฆ ได้ตัดสินใจยื่นหนังสื่อขอลาออกจากราชการแล้วเรียบร้อย พร้อมเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเองที่เผชิญมาตลอดปีให้ฟัง


ข่าวแนะนำ
ภาวะโลกร้อง : "เกาะเต่า" ขยะพุ่ง15 - 20 ตัน/วัน
ภาวะโลกร้อง : "เกาะเต่า" ขยะพุ่ง15 - 20 ตัน/วัน
ต้องลอง! พริกย่างไส้หมูสับ รสเด็ด
ต้องลอง! พริกย่างไส้หมูสับ รสเด็ด
เช้านี้ต้องรู้ : ลืมไปเลือกตั้งล่วงหน้า ต้องแจ้งเหตุจำเป็น
เช้านี้ต้องรู้ : ลืมไปเลือกตั้งล่วงหน้า ต้องแจ้งเหตุจำเป็น
เลือกตั้งล่วงหน้าคึกคัก ประชาชนแห่ใช้สิทธินับล้าน
เลือกตั้งล่วงหน้าคึกคัก ประชาชนแห่ใช้สิทธินับล้าน
โดยระบุข้อความดังกล่าวว่า "เห็นช่วงนี้กระแสข่าว intern ลาออกจากระบบกันเยอะ ขอพูดในฐานะคนที่เพิ่งตัดสินใจลาออกมาละกัน งานในระบบหนักจริง แต่ถามว่าอยู่ในระดับทนได้มั้ย ทนได้ ไม่ตาย แต่ใกล้ตาย เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

วินาทีที่ตัดสินใจลาออก คือ ตอนนั้นวน med อยู่เวรทั้งคืน มาราวน์เช้าต่อ ชาร์ตกองตรงหน้าเกือบ 40 คนไข้นอนล้นวอร์ดเสริมเตียงไปถึงหน้าลิฟต์ ภาพหดหู่มาก แถมเหนื่อยและง่วง ราวน์คนเดียวทั้งสาย สตาฟฟ์มา 10 โมง เดินมาถาม ‘น้องยังราวน์ไม่เสร็จหรอ ต้องเร็วกว่านี้นะ' วินาทีนั้นตัดสินใจเลย ดอบบี้ขอลา


SPONSORED


คือเข้าใจว่างานมันเยอะ หนักทั้ง intern ทั้ง staff แหละ (staff เองก็ไม่ไหว ลาออกก็เยอะ) และมันดูไม่มีทางออกให้กับปัญหานี้เลย รพ.ไม่มีแนวโน้มจ้างคนเพิ่ม ลดลงทุกปี บอกกระทรวงลดงบ คนทำงานหารหน้าที่กันจนไม่รู้จะหารยังไง เหมือนอยู่เป็นแรงงานทาสไปเรื่อยๆ อะ ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

อันนี้ตลกมาก ตอนนั้นรู้สึกอยู่ในจุดอ่อนแอสุดๆ จนต้องเซลฟี่เก็บไว้รูปแรก งานเยอะจนท้อ น้ำตาไหลอยู่หน้าคอมตอนดูแล็บคนไข้ ไม่อยากให้คนเห็นว่าร้อง อายเค้า เลยหลบมาร้องในห้องน้ำหลังวอร์ด

รูปสอง โมเมนต์ในทุกเช้า ถามตัวเอง สู้ 6 ปีเพื่อมาเจอสิ่งนี้หรอ จึงเกิดภาพ 'หนูนิดไม่อยากไปทำงาน' 555 ถือว่าแชร์ให้ฟังละกัน มันก็มีทั้งคนที่ทนได้ กับทนไม่ได้ เราคงมี treshold ความเหนื่อยไม่สูงมาก

ไม่ชอบการพักผ่อนน้อยแล้วมาทำงาน รู้สึกตัวเองจะทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพที่ดีเท่าที่ควร ก็คิดว่าถอยดีกว่า ไปหางานที่เหมาะกับเราข้างนอกทำดีกว่า ไม่เป็นข้าราชการก็ไม่ตายแก สู้!"

4 มิ.ย. 2566
ไทยรัฐออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน สืบเนื่องกรณีปัญหาการขาดแคลนแพทย์ รวมถึงการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งกำลังเป็นประเด็นกว้างขวางในโลกออนไลน์

นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม อดีตศิลปินชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ตนตัดสินใจลาออก

ความดังนี้

สมัยเป็นแพทย์จบใหม่ ได้เกือบปี
กำลังจะเข้าสู่การทำงาน เป็นปีที่สอง
ที่ต้องย้ายจากโรงพยาบาลศูนย์ฯ ไปชุมชน

ชื่อผม ถูกเสนอให้เป็น “ผู้อำนวยการ ร.พ.”

พอดียังอยากเรียนต่อ ด้านใบหน้า
และมีงานเพลงเข้ามา R.S. นัดเซ็นสัญญา

คิดหนักมากช่วงนั้น ว่าจะเลือกอะไร

ช่วงนั้นยังทำงานอยู่ ทำเต็มที่
ขึ้นเวรหนักมาก แทบไม่ได้พัก เหนื่อยสุด

แต่พอเห็นแววตาคนไข้แล้ว..ยอมเหนื่อย

แล้ว #ฟางเส้นสุดท้าย ก็มาถึง

เช้าวันหนึ่ง ผมขับรถกลับจากอัดเสียง
จาก กทม. มาถึงวอร์ดคนไข้ 8:50 น.
(เวลาราชการ 8:30 น.)

รีบราวน์คนไข้ ทีละเตียง (จาก 40+ เตียง)
ราวน์ได้ ไม่ถึงครึ่ง ประมาณ 9:30+ น.
มีหมอรุ่นพี่ เดินเข้ามาในวอร์ด

สิ่งแรกที่เขาทัก “อิราวัต มากี่โมง?”
“นี่ จะ 10 โมงละ ทำไมเพิ่งราวน์ได้ ครึ่งเดียว?”
“เดี๋ยวก็ไม่เซ็นให้ผ่านอินเทิร์นซะเลย เหลวไหล!”

ผม..ตั้งสติ 10-20 วินาที จำไม่ได้
แต่กำชาร์จเหล็กไว้แน่น..

ผม : แล้วพี่มากี่โมง? แล้วนี่กี่โมง?
(พยาบาลที่ยืนอยู่ 3-4 คน เริ่มอมยิ้ม)
ผมไม่ใช่ลูกน้องพี่ ผมไม่ใช่ลูกศิษย์พี่
ผมไม่มีครูบาอาจารย์แบบนี้

วันก่อน เคสใน ICU Arrest แต่พี่ทำคลินิกอยู่
ผมดูเคสอื่นเพิ่งเสร็จ เพิ่งได้กินข้าวคำแรก
พยาบาลตามพี่ไม่ได้ เขาเลยโทรหาผม
แล้วอินเทิร์นอย่างผม ต้องไป CPR ให้
ทั้งที่ไม่มีใน Job ทั้งที่หมอจบใหม่ไม่ได้ดู ICU

พอ 21:30 พี่เลิกคลินิก พี่เดินมาหน้าตาเฉย
บอกญาติคนไข้ ว่า “ไม่ไหวแล้วนะ ปล่อยเขาเถอะ”
ทั้งที่ผมกับทีม ปั๊มกันเป็นชั่วโมง รอพี่เลิกคลินิก

พี่เดินมาแบบไม่เห็นค่าชีวิตคนเลย

ไหนจะเรื่องเอาเวลางาน ไปทำคลินิกอีก

ไหนจะงก ไม่ขายเวร ER ให้น้องๆ เพราะต้องจ่ายแพง
แต่เสือกรับทั้งเวร ER และวิ่งไปทำคลินิกส่วนตัว
รอคนไข้รัฐล้น ไม่ไหว ถึงวิ่งมาตรวจ

ไหนจะรับ Consult ตามเวร แต่ไม่มา
ให้หมอจบใหม่ ควงเคสข้ามคืน
เช้ามา เดินมาเซ็นรับเงินค่าเคส ค่าหัตถการ

ไหนจะสั่งยาแบบไม่มี Indication
ไหนจะ Malpractice สุดๆ รักษาตำราไหน?

พี่ครับ พี่คิดเอานะ ว่าจะแลกกับผมหรือไม่?

คนที่กำลังจะลาออกจากราชการ
(ผมจำได้ว่า ผมตัดสินใจตอนนั้นเลย)
แลกกับ #ชีวิตกาฝากราชการของพี่ ที่เหลือ
ที่ผมจะแฉหมดเปลือก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

พี่เลือกเอาเลย เพราะครั้งนี้ กูไม่ยอม

อ่อ แล้วพี่ไม่มีสิทธิ์มาประเมินผมนะ
แต่ผมอ่ะ จะเล่นพี่เอง ถ้าไม่หยุด..

ภาพที่ผมเห็น คือ รุ่นพี่คนนั้น นิ่ง หน้าแดง
กำหมัด แล้วเดินออกไปจากวอร์ด
และไม่พูดกับผมอีกเลย ตลอด 2-3 เดือนที่เหลือ

นี่เป็นหนึ่งในเสี้ยววินาที..ที่ทำให้ ในปีถัดไปนั้น
#โรงพยาบาลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี
ไม่มี #ผู้อำนวยการโรงพยาบาล
ชื่อ นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ ตามโผเดิม

ผมจะกลับเข้าไปเช็คบิลระบบนี้ แน่นอน
เมื่อผมพร้อมในทุกๆสิ่ง ทุกๆด้าน
ที่ผมจะทำให้ประชาชน ทำให้คนไข้ผมได้

และใกล้ถึงเวลานั้นเต็มทีแล้ว.

นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ
4 มิถุนายน 2566

5 มิถุนายน 2566
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_4013442

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
พี่หมอ #ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี
ให้เกียรติโทรมาสอบถาม เรื่องนี้ เมื่อครู่
ผมเอง ได้เล่ารายละเอียดทุกอย่าง
ย้อนไปเมื่อปี 2546 ( 20 ปีก่อน พอดีๆ)
ส่วนที่ผมเจอ คือ เรื่องบุคคลในระบบ
ซึ่งในสังคมแพทย์นี้ มันต้องมีคนดีมากกว่าไม่ดี
ยังมีพี่ๆ Young Staff และพี่น้องบุคลากรฯ
ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ ทันตะฯลฯ
ทุกภาคส่วน ที่อุ้มชูองค์กรอยู่ได้
ในภาพรวม ผมไม่มีปัญหาเลย
เพื่อนพ้องน้องพี่ ใน #โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
ไม่ได้เกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งหมด
พี่หมอ เกรงว่าจะกระทบภาพลักษณ์ ร.พ.
ท่านเลยอยากทราบรายละเอียดของเรื่อง
เมื่อทราบแล้ว ก็โล่งใจ ว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขได้
ตอนผมทำงาน ถามคนรอบข้างผมได้เลย
ว่าผมในฐานะแพทย์ ผมคิดอยู่เสมอ ทุกนาที
ว่าเรา คือ #หนึ่งในทีมงาน เราไม่ใช่เทวดา
เราไม่ใช่เจ้านาย เราไม่ใช่ลูกน้องลูกพี่ใคร
ใครทำงานกับผมแล้วทุกข์ใจ ควรพิจารณาตนเอง
เรื่องที่ผมเขียน มันสะท้อนถึงปัญหาคาราคาซัง
ที่มีทุกโรงเรียนแพทย์ ทุกโรงพยาบาล
ที่มีแพทย์หัวโบราณ ใช้ความอาวุโส ความชินชา
เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น รวมถึงคนไข้
แต่ตนกลับชี้นิ้ว บอกคนอื่นว่าไม่ดี..
เราติเพื่อก่อ เพื่อไปต่อ
เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย
ให้สุขภาพของประชาชนเป็นเป้าหมาย
ขอบคุณพี่หมอ อนุกูล ไทยถานันดร์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
ที่ได้ให้เกียรติโทรมาถามไถ่
ผมพร้อมสนับสนุน พี่น้องหมอน้ำดี
บุคลากรแพทย์-พยาบาล ที่ยังเปี่ยมแน่น
ด้วยอุดมการณ์แห่งวิชาชีพครับ
ด้วยรักและนับถืออย่างยิ่ง

นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ
5 มิถุนายน 2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
หมอจบใหม่ลาออก เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ทั้งที่สาขาวิชาชีพแพทย์กำลังขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมา ทั้งระบบงาน ปริมาณงาน ล้วนเป็นปัยจัยหลักๆ ที่ทำให้ หมอจบใหม่ ตัดสินใจลาออก

อย่างกรณีล่าสุดของ หมอปุยเมฆหรือ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล intern และแพทย์พี่เลี้ยงออร์โธปิดิกส์ ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ทวิตข้อความเล่า 1 ปีการทำงาน เหนื่อย ท้อ บางวันแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ งานหนักเหมือนแรงงานทาส กระทั่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่อยากทนอีกต่อไป จึงยื่นใบลาออก!

ปุยเมฆ แจงเหตุลบทวิต ลาออกจากราชการ กระทบเพื่อนร่วมงาน

สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น ชั่วโมงการทำงาน ที่หมอจบใหม่ต้องรับ ยิ่งชั่วโมงงานเยอะ ระบบงานและปริมาณงานที่ต้องเจอ ต้องทำก็เยอะตาม แม้ แพทยสภา มีการประกาศปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงานให้เอื้อต่อหมอจบใหม่ แต่ในทางปฎิบัติก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

จากหลายๆ เหตุการณ์ ด้วยปรากฎว่าแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายใต้กำกับของสถานพยาบาลของรัฐ มีภาระงานหนักทำให้มีเวลาผักผ่อนไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 คณะกรรมการแพทยสภาในการประชุมครั้งที่ 6/2565 วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ให้ออกประกาศแพทยสภา เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหารสถานพยาบาลภาครัฐ จัดอัตรากำลังและระบบการทำงานของแพทย์ให้สอดคล้องเหมาะสม ดังนี้

สำหรับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (หมอจบใหม่)

1. ให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์นอกเวลาราชการไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์
2. ระยะเวลาการทำงานเวรอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน
3. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แพทย์ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงขึ้นไป

ทั้งนี้ ทางแพทยสภาจะมีการให้คำปรึกษา รวมทั้งติดตามการนำแนวทางไปปฏิบัติ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติการเป็นสถาบันปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะในโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะของแพทยสภาต่อไป

นอกจากนี้ กรณีแพทย์ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีเป็นต้นไป ควรได้รับสิทธิ์งดอยู่เวรนอกเวลาราชการ

ลงนามท้ายประกาศ
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์
นายกแพทยสภา

เรื่องราวโดย อีจัน
5 มิย 2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
หลังทวิตของเธอถูกแชร์ออกไป ได้มีคนเข้ามาให้กำลังใจ และแสดงความคิดเห็นกันจำนวนมาก

แต่ล่าสุดโพสต์ดังกล่าวได้ถูกลบออกไปจากทวิตเตอร์ของ ปุยเมฆ แล้ว โดยเจ้าตัวเผยสาเหตุที่ต้องลบออกไปว่า

"ขออนุญาตลบทวิตเรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นอยู่นะคะ เพราะตอนนี้เรื่องเริ่มลามไปถึงพี่ๆ staff ผู้ร่วมงานบางท่าน ซึ่งพี่ๆ ส่วนใหญ่ที่ได้ทำงานด้วยน่ารัก เราไม่อยากให้ใครต้องมาโดนร่างแหไปด้วยเลย แค่นี้ก็เครียดกันพอแล้ว ขอจบเรื่องราวนี้ ฝากไว้แค่ว่า ระบบมีปัญหาค่ะ คนข้างในเหนื่อยกันมากๆ"

ขณะเดียวกัน เธอยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เธฮยังเป็นหมออยู่ ลาออกจากระบบไม่ได้แปลว่าเลิกเป็นหมอ ไม่ได้เปลี่ยนอาชีพ ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ลาออกคือ ปริมาณงานในโรงพยาบาลที่มากเกินไปไม่สมดุลกับคนทำงาน

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ล่าสุด "หมอเปา" ผู้เชี่ยวชาญด้าน สกินแคร์ ผิวหนัง สุขภาพ และชะลอวัย ได้ออกเล่าในมุมที่เคยเจอตอนเป็นแพทย์ฝึกหัด ที่โรงพยาบาลรัฐในภาคอีสาน โดยเล่าผ่าน TikTok ส่วนตัว ระบุว่า "ทำไมหมอ Intern ในปีนี้ 2,700 คน ลาออกไปแล้ว 900 คน เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง ภาพในพื้นหลัง เป็นภาพสมัยตอนที่ผมทำงาน ที่คิดว่าโหดที่สุดในประเทศไทย"

"สภาพการทำงานเป็นแบบนี้ ที่ทุกคนอยากลาออกเพราะว่า คนปกติทำงาน 40 ชม. ต่อสัปดาห์ แต่หมอรัฐทำงาน 100-120 ชม. ต่อสัปดาห์ ก็คือเยอะกว่าคนปกติทั่วไปคือ 3 เท่า ลักษณะการทำงานคือตื่น 7 โมง เพื่อไปดูคนไข้ ซึ่งก็จะต้องดูแล 50-60 ต่อ 1 วอร์ด"

"หลังจากตรวจคนไข้ตอนเช้าเสร็จ เราก็จะต้องไปตรวจผู้ป่วยนอก ก็จะเฉลี่ยตกประมาณ 60-70 คน ย้ำต่อหมอ 1 คนนะ และก็ต้องตรวจให้เสร็จก่อน 12.00 น. ซึ่งหมอก็จะคุยกับญาติและคนไข้ประมาณ 1-2 นาทีเท่านั้น พอมาเวลาตอนบ่าย เราก็จะต้องไปตรวจคนไข้อีกในวอร์ด 50-60 คน เช่น อัลตราซาวด์ เจาะปอด เจาะหลัง และก็จะสั่งออร์เดอร์ให้พยาบาลทำต่อ พอมาถึงช่วง 18.00 น. เราก็จะต้องตรวจต่อยังไงละครับ"

"และพออยู่เวรก็ไม่ใช่แค่ดูที่วอร์ดตัวเองนะ แต่ต้องดูทั้งโรงพยาบาลเช่น 3-4 วอร์ด ต่อหมอ 1 คนนะ คือเวรเราจะเริ่มงานกัน 16.00-08.00 น. ของอีกวัน เวลาพักต่อคืน 16 ชม. จะได้พัก 1-2 ชม. ก็คือพวกเราไม่ได้นอนนั่นเอง แล้วถ้าถามว่าจะต้องทำอย่างไรต่อเมื่อถึง 08.00 น. ก็ต้องกลับไปดูวอร์ดต่อไงครับ จนถึง 16.00 น. ซึ่งก็จะวนรูปแบบเดิม ซึ่งจะต้องทำงาน 32 ชม. ติดต่อกัน และก็จะได้พัก 16 ชม. และก็จะเริ่มทำแบบนี้ใหม่ทำ 32 ชม. พัก 16 ชม."

"ลองคิดดูนะครับ เวลาทำงานแล้วมันเหนื่อย คุณจะไม่ได้คุยธรรมดานะ แต่ต้องคุยกับความเป็นความตายของคน คุณจะต้องตัดสินใจให้คนอื่น ใครควรรอดใครควรจะหยุด ทุกวันผมต้องคุยกับญาติคนไข้ อย่างพ่อคุณกำลังจะเสียเราจะไม่ยื้อชีวิตอยู่ให้ต่อไปแล้ว ถ้ายื้อไว้เขาก็จะทุกข์ทรมาน ผมต้องคุยสภาพแบบนี้และต้องตัดสินใจหลายอย่าง และตัวเราก็ไม่ได้พักเลย ซึ่งสภาพการทำงานมันเครียดขนาดนี้ ทุกคนเลยไม่อยู่ยังไงละครับ คุณจะแก้ปัญญาแบบนี้ได้หรือเปล่าสาธารณสุข"

ภายหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในโลกออนไลน์ ชาวเน็ตต่างเข้ามาคอมเมนต์เห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ล้นหลามอีกด้วย...

เดลินิวส์
7 มิย 2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในวงการแพทย์ กรณีที่คุณหมอหลายคนออกมาแชร์เรื่องราวการทำงานหนัก และภาระงานที่เกินจะรับไหว จนทำให้มีหมอจบใหม่ต่างทยอยลาออกเป็นจำนวนมาก

ล่าสุด Dr.Teen ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ หลังจากที่เคยลาออกจากอาชีพหมอ ที่ต้องรับภาระอันหนักอึ้ง และยังพูดถึงประเด็นที่ไม่สามารถเขียนเหตุผลที่แท้จริงในใบลาออกได้ โดยเธอเล่าว่า "มีประเด็นกันว่าหมอจบใหม่ 2,700 คน ลาออกไปแล้ว 900 คน 1 ใน 3 สัดส่วนของการลาออกมันจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แม้ว่าจำนวนนักเรียนแพทย์เพิ่มขึ้นทุกปี มีโรงเรียนแพทย์เปิดใหม่ขึ้นมาเยอะ แต่คนลาออกเยอะกว่าเดิม

ปัญหามันอยู่ตรงไหนคะ ตอนนี้เหมือนกระทรวง สธ. เขากำลังตักน้ำใส่โอ่งที่มันมีรูรั่ว จะเติมน้ำใส่โอ่งรั่วไม่ได้ เติมยังไงมันก็ไม่เต็ม คือมันเป็นทุกมิติของวงการนี้เลยที่ทำให้คนลาออก หมอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ลาออก ลาออกมา 5 ปีแล้ว ตอนแรกกะว่าจะไม่ได้ลาออกเลย แต่กะจำทำงานเป็นหมอทั่วไป กะว่าจะทำงานเป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้ๆ บ้าน เราก็เล็งๆ ไว้ว่าเราจะอยู่โรงพยาบาลนี้ไรงี้

แล้วปรากฏว่า ช่วงที่เป็นแพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ซึ่งก็ทำงานโรงพยาบาลชุมชนนี้อยู่ ปรากฏว่าเขา "ลดเงินหมอ" ลดเงินค่าเวร แล้วคือโรงพยาบาลนี้เป็นโรงพยาบาลที่ค่อนข้างใหญ่ โรงพยาบาล 90 เตียง และเหมือนจะกำลังขยายเป็น 120 เตียงด้วยในอนาคต แล้วอยู่ดีๆ ก็มาลดค่าเวร พนักงานที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่กลับถูกลดค่าเวรลง เพื่ออะไร

ส่วนตัวพบว่าเวลาที่เรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอ พอตื่นมาทำงานตอนเช้ามันจะรู้สึกหวิวๆ ใจสั่น แล้วก็รู้สึกอารมณ์เสีย อารมณ์หงุดหงิดง่าย ซึ่งสุดท้ายมันก็จะไปลงกับทุกคน ซึ่งเราก็รู้ตัวข้อนี้ดี แม้ว่าเราจะพยายามควบคุมอารมณ์แล้ว แต่ก็อดหงุดหงิดไม่ได้ เราไม่อยากจะ toxic ใส่ใคร พยายามมากที่สุดแล้วแต่ก็ทำไม่ได้ คนนอกวงการแพทย์เขาก็มักจะพูดกันว่า ทนไม่ได้ก็ลาออกสิ ก็เลยลาออก

สงสารเพื่อนนะ เพราะหมอคนหนึ่งออก ภาระงานก็จะเพิ่มขึ้นอีก แต่เราก็สงสารตัวเองมากกว่า อยากพักผ่อนอยากตื่นมาแล้วอารมณ์สดใสมากกว่านี้ เราก็คิดว่าระบบแบบนี้คงไม่เหมาะกับเรา ถึงแม้ว่าจังหวัดที่หมออยู่อาจารย์แพทย์ส่วนใหญ่จะน่ารักมาก จะไม่ค่อย toxic เหมือนกับหลายๆ ที่หลายๆ จังหวัดที่เขาเจอๆ กันมา ถือว่าโอเคแล้ว

หมอคนไหนที่อยู่เวรมาแล้วทั้งคืน ไม่ควรทำงานตอนเช้าต่อนะ เพราะว่าร่างมันไม่ได้ ถ้าอย่างน้อยเขาเปลี่ยนระบบตรงนี้ได้ แบบไม่ต้องเข้าราวน์เช้าทุกวัน ไม่ต้องไปออกโอพีดีเช้าทุกวันหลังจากอยู่เวรมา น่าจะดีกว่านี้ คิดว่าถ้าระบบเป็นแบบนั้นเอาจริงๆ ทุกวันนี้หมออาจจะไม่ได้ลาออกก็ได้ สาธารณสุขเขาไม่รู้เรื่องนี้เหรอ แพทยสภาเขาไม่ได้มาสนใจเรื่องตรงนี้เหรอว่าทำไมหมอถึงได้ลาออกกันเยอะ

จะบอกว่าตอนที่หมอเขียนใบลาออก มันจะมีเหตุผลให้เขียน หมอก็เขียนไปว่า "รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับระบบค่ะ" แล้วคุณป้าที่เป็นฝ่ายทะเบียนที่รับเรื่องรับเอกสารเขาอ่าน เขาก็ตีกลับมา แล้วเขาก็บอกกับหมอว่า หมอเขียนเหตุผลแบบนี้ไม่ได้ค่ะ ไม่ได้เลย ไปเขียนมาใหม่นะคะ เขียนประมาณว่าออกไปทำธุรกิจส่วนตัวอะไรแบบนี้ก็ได้ค่ะ ให้เขียนเหตุผลที่ดีกว่านี้

แสดงว่าก่อนหน้านี้ รุ่นก่อนหน้าที่เขาลาออกแล้วเขียนเหตุผลจริงๆ ไปแล้ว ผอ. หรือผู้บัญชาการที่ใหญ่กว่านี้เขาไม่โอเคเหรอ? ทำไมถึงเขียนเหตุผลจริงไม่ได้ การแก้ปัญหาแพทย์ลาออกไม่หยุดแบบนี้ ขั้นแรกเลย ทาง สธ. ต้องยอมรับความจริงก่อนว่าปัญหามันเกิดจากระบบ ถ้าท่านยอมรับความจริงได้ ท่านถึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด ไม่ใช่มามัวเติมน้ำใส่โอ่งรั่วอยู่ ต้องปิดรูรั่วที่โอ่งก่อน เข้าใจมั้ย?

เดลินิวส์
7 มิย 2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ผุดอีกราย! แฉวงการแพทย์ คลั่งระบบอาวุโส แถมสภาพบ้านพักแทบอยู่ไม่ได้ ลั่น! 'วงการที่ขอให้มองคนไข้เป็นมนุษย์ แต่ไม่เห็นคนทำงานเป็นมนุษย์'

กำลังเป็นกระแสไวรัลในโลกโซเชียลอย่างมาก สำหรับประเด็นเดือดที่ 'อินเทิร์น' หรือ 'แพทย์ใช้ทุน' ลาออกจากระบบกันจำนวนมาก ล่าสุด ก็มีผู้ใช้บัญชี Facebook รายหนึ่ง ออกมาโพสต์แชร์ประสบการณ์ตอนเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ ที่ต้องไปออกชุมชนตอนปี 6

โดยเธอเล่าว่า ระบบอาวุโสของวงการนี้ เริ่มเห็นชัดเจนในช่วงขึ้นคลินิก (ปี4) โดยจะต้องทำตัวเองให้ลีบเล็กต่ำกว่าเสมอ ความเป็นผู้น้อย 'ต้อง' อ่อนน้อมถ่อมตนจนเกินพอดี ทั้งหมดนี้สรุปได้ด้วยคำว่า 'อยู่เป็น' ซึ่งเธอนั้นอึดอัดมาก จึงตัดสินใจจ่ายเงินใช้ทุน ด้วยกำลังทรัพย์จากทางครอบครัว

ทั้งนี้เธอเผยเหตุผลที่ตัดสินใจไม่ไปใช้ทุนนั้น มาจากการไปออกชุมชนตอนปี 6 โดยเธอได้ เจอกับหัวหน้าแผนกที่ 'คลั่ง' ระบบอาวุโสมาก เช่น "ก็เพราะฉันพูดแบบนี้ ต้องทำแบบนี้" หรือ "ก็เขาทำแบบนี้กันมาตลอด" รวมไปถึงการมาหาถึงที่บ้านพักเพื่อ 'สั่งสอน' นอกเวลาจนดึก หรือการไม่ให้ลงจากรถ ให้นั่งเบียดกันทั้งกลุ่มเพื่อ ฟัง 'อบรม' เป็นชั่วโมง

ยิ่งไปกว่านั้นยังมี การห้ามขับรถ ทั้งที่อายุ 23-24 แล้ว และโรงพยาบาลอยู่ห่างจากชุมชนมาก ต้องขอติดท้ายรถกระบะเพื่อเข้าเมืองไปหาอะไรกิน นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของ สภาพบ้านพักในโรงพยาบาล ซึ่งสภาพบ้านที่เธอได้นั้นค่อนข้างดีแล้ว หากเทียบกับเพื่อนที่ไปที่อื่น

โดยเธอเล่ารายละเอียดบ้านว่า เป็นบ้านสองชั้น มีฟูก 3.5 ฟุต วางพื้น 3 อัน อันนึงขึ้นราดำทั้งแผ่นและตรงกลางแบนเป็นแอ่ง ต้องใช้ฟูก 2 อัน แบ่งกันนอน 5 คน ขยับไม่ได้นอนขดติดกันเป็นปลาทูในเข่ง ส่วนห้องที่มีฐานเตียง กำแพงมีรูกว้างนกบินเข้าออกสบาย และเชื้อราขึ้นรอบรู จึงตัดสินใจใช้ห้องที่ไม่มีฐานเตียงและเอาฟูกวางพื้นแทน

การจะขอฟูกใหม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีผ้าปูให้ แถมเพื่อนที่ย้ายไปนอนคืนแรกๆ ก็สีฟูกตกใส่ ขาเป็นสีน้ำเงินไปหลายวัน สุดท้ายต้องเอาผ้าห่มบางๆที่เหลือมาวางปูแทน

โดยนี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เธอแชร์ประสบการณ์ และเธอยังวิจารณ์กระแสในโลกโซเชียลที่มีหมอบางคนออกมาพูดในแนวว่า 'ตัวเองยังผ่านมาได้ เด็กสมัยนี้ไม่อดทน รวมถึงคนไข้ที่ว่าหมอที่ไม่ทนในระบบแบบนี้ว่าไม่มีจรรยาบรรณ ไม่เสียสละ'

เธอเสริมว่า "วันนี้กระแสสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว คุณต้องปรับตัว หรือไม่ก็รอวันหายไปตามกระแสเวลา คุณคิดว่าต้องอดทนต้องเสียสละ เราถามว่าทำไมต้องเสียสละแบบนี้ หมอไม่ได้พักเต็มที่ ไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ผลเสียก็ตกกับคนไข้ กับเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง"

"แทนที่คุณจะช่วยผลักดันให้วงการบ้านเราดีขึ้น คุณกับหวังให้มันอยู่ที่เดิม ด้วยเหตุผลว่า เพราะมันก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว"

ก่อนจะทิ้งประโยคสุดเดือดว่า "วงการที่ขอให้มองคนไข้เป็นมนุษย์ แต่ไม่เห็นคนทำงานเป็นมนุษย์" ด้านชาวเน็ตเข้ามากดถูกใจ กดแชร์ และคอมเมนต์แสดงความเห็นกันสนั่น วิพากษ์วิจารณ์วงการแพทย์กันยับ

ความคิดเห็นส่วนหนึ่งของชาวเน็ต :

"สภาพห้อง สภาพแวดล้อมในการทำงานคือไม่ได้เลย"
"เพิ่งเคยเห็นสภาพความเป็นอยู่ โหดมากๆ ความรู้ใหม่เลย อ่านจนจบตกใจมาก"
"วงการครูก็เป็นค่ะ มันเป็นวัฒนธรรมองค์กรของประเทศไทยจริงๆ"
"สงสารคนที่เข้าไปแล้วแต่ไม่มีทางเลือกจริงๆ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ดูแล้วคงยากจริงๆบ้านเรา"

ข่าวสด
9มิย2566

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตเผยปัญหา “หมอลาออก” ปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ต้องแก้ไขเชิงระบบ แต่จิตวิทยาความเหลื่อมล้ำใน รพ. เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่แก้ไขได้ง่ายที่สุด ช่วยแพทย์ใช้ทุนลดความรู้สึกถูกเอาเปรียบ  เพราะความเครียด กดดัน ไม่อยากทำงานเสียยิ่งกว่าภาระงาน ยิ่งรุ่นพี่บางคนสื่อสารไม่ดี ยิ่งซ้ำเติมปัญหามากขึ้น

 

 

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางแก้ปัญหา “หมอลาออก” ว่า แท้จริงแล้วควรแก้ที่จุดใด อาจไม่ใช่แค่การผลิตแพทย์เพิ่มเท่านั้น แต่การจัดการเรื่องภาระงาน ค่าตอบแทน การกระจายตัวของแพทย์ไปยังจังหวัดต่างๆอย่างเหมาะสมก็มีความจำเป็น โดยต้องทำควบคู่กันไปด้วยนั้น

 

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ได้โพสต์เฟซบุ๊กกรณี “จิตวิทยาความเหลื่อมล้ำกรณีแพทย์ใช้ทุนลาออก”

 

การลาออกของแพทย์ใช้ทุนมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งภาระงานหนัก การกระจายแพทย์ในต่างจังหวัดต่ำ การขยายตัวของรพ.และคลีนิกเอกชน ฯลฯ การแก้ไขเชิงระบบจึงมีความสำคัญ เต่บทความนี้ จะขอเจาะลึกในเชิงจิตวิทยาของความเหลื่อมล้ำในรพ. ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่แก้ได้ง่ายที่สุด

 

ที่เสนอเรื่องนี้เพราะแพทย์รุ่นเก่าคงอดคิดไม่ได้ว่า สมัยตนเป็นแพทย์ใช้ทุนก็ทำงานหนัก(กว่าปัจจุบันเสียอีก) แต่ก็ยังอยู่ได้ ทำให้รู้สึกว่าแพทย์รุ่นใหม่รักสบาย ขาดความอดทน แต่อันที่จริงเราต้องไม่ลืมว่า ในสมัยนั้นทั้งแพทย์และแพทย์ใช้ทุนล้วนลำบากด้วยกัน คงามรู้สึกจึงเป็นด้านบวกว่าได้ทำงานเสียสละเพื่อคนไข้

 

ปัญหาจากความเหลื่อมล้ำแพทย์ใช้ทุนทำงานหนัก รู้สึกถูกเอาเปรียบ
 

แต่ในปัจจุบันรพ.ที่มีปัญหา เกิดจากความเหลื่อมล้ำที่แพทย์ใช้ทุนทำงานหนัก แต่แพทย์ประจำทำงานสบายกว่า เป็นความเหลื่อมล้ำในการทำงานและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นอีกประเภทหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ นอกจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบนี่เองที่ทำให้เกิดความเครียด รู้สึกกดดัน ไม่อยากทำงานเสียยิ่งกว่าตัวภาระงาน ซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นจากการสื่อสารของรุ่นพี่(บางคน) ที่ตำหนิต่อว่าแพทย์ใช้ทุน ยิ่งมีกระแสจากสื่อสังคมกระพือให้ความรู้สึกเหล่านี้รุนแรงขึ้น

 

แก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุดอยู่ที่ “ผอ.รพ.-องค์กรแพทย์” ต้องมาช่วยแบ่งเบาภาระ
การลาออกมักเกิดขึ้นในรพ.ขนาดใหญ่ ที่มีแพทย์จำนวนมากและมีความแตกต่างในการทำงานสูง ในมุมกลับกัน ถึงแม้จะเป็นรพ.ขนาดใหญ่ แต่มีผู้บริหารและองค์กรแพทย์ที่พยายามเข้ามาดูแลแพทย์ใช้ทุน มีการรับฟังและสื่อสารด้วยมิตรไมตรีต่อกัน กลับไม่ค่อยมีปัญหาการลาออก

การแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สุดจึงอยู่ที่ผอ.รพ.และองค์กรแพทย์ จะต้องเข้ามาดูแลแบ่งเบาภาระงานของน้องๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยขจัดความเหลื่อมล้ำและลดความรู้สึกกดดันว่าถูกเอาเปรียบเฉพาะหน้าเราลดผู้ป่วยที่เป็นภาะทางการแพทย์และพยาบาลไม่ได้ เพิ่มบุคคลากรโดยทันทีก็ไม่ได้ แต่ช่วยได้ให้ทุกคนที่ทำงานหนัก มีความรู้สึกที่ดีและได้รับความเป็นธรรม

 

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้เวลามากในการแก้ไข ทำไมเราไม่เริ่มจากจุดที่ง่ายกว่า คือความเหลื่อมล้ำในที่ทำงาน

Sunday, 11 June 2023
https://www.hfocus.org/content/2023/06/27810

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
“หมอสมศักดิ์” อายุรแพทย์ระบบประสาท ม.ขอนแก่น  แนะแก้ปัญหา “หมอลาออก” เร่งด่วน! เสนอขยายอายุราชการ “แพทย์เกษียณ” เป็น 63-65 ปี แบ่งเบาภาระงานแพทย์อินเทิร์น จ้างช่วยงานโอพีดี ไม่เห็นด้วยยกเลิกหลักสูตรแพทย์ Intern ยิ่งทำขาดแคลน พร้อมเสนอ “ 31 ข้อ” กู้วิกฤตระบบสาธารณสุข "ร่วมจ่าย" อีกทางเลือก

จากปัญหาข้อเรียกร้องภาระงานบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะปม “หมอลาออก” ยังมีวิชาชีพอื่นๆอีก เช่น พยาบาล ปรากฎว่าหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องมีข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหา รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่มีการดำเนินการแล้ว แต่อาจต้องร่วมกับหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน แบ่งเบาภาระงาน ภายใต้นโยบายกระทรวงสาธารณสุข “หนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital) หรือการผลิตแพทย์เพิ่ม การมุ่งเน้นแพทย์ระดับปฐมภูมิ แก้ปัญหากระจายตัวหมอในเมือง รวมไปถึงการหารืออัตรากำลัง การเพิ่มสิทธิประโยชน์บัตรทองที่ให้คำนึงภาระงานบุคลากร รวมทั้งยังเสนอทบทวนหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ(Intern) จาก 6+1 เป็น 7 ปี เป็นต้น

ปัญหาหมอลาออก ผลกระทบจากวิกฤตระบบสาธารณสุข
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า  อายุรแพทย์ระบบประสาท และอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ให้สัมภาษณ์กับทาง Hfocus  ถึงกรณี หมอลาออก ปัญหาสาธารณสุขไทย ว่า  ปัญหาสุขภาพของคนไทยในขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ละปีต้องใช้งบประมาณของประเทศ และค่าใช้จ่ายแต่ละครัวเรือนเป็นจำนวนมหาศาล ใช้บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ภาระงานของบุคลากรที่มีจำนวนไม่เพียงพออยู่แล้วเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย หนึ่งในนั้น คือ แพทย์ลาออก  ซึ่งมีหลายสาเหตุ แต่ภาระงานที่หนัก เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ การพยายามแก้ปัญหาแพทย์ลาออกด้วยวิธีหนึ่ง อาจส่งผลกระทบไปยังอีกปัญหาหนึ่งก็ได้    ทางออกจึงต้องร่วมกันหลายๆฝ่ายในการหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง

ทางออกต้องเป็น “วาระแห่งชาติ” กระทรวงเดียวแก้ไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน มองว่าการแก้ปัญหาควรเป็นวาระแห่งชาติ   นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องจริง เพราะตอนนี้เป็นปัญหาผลพวงจากหลายๆส่วน โดยหลักๆ จำนวนผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น และความต้องการของผู้ป่วย ของสังคมมีความคาดหวังจากสาธารณสุขของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ   กฎระเบียบต่างๆ ในการดูแลรักษาคนไข้ก็มีเกณฑ์จากหน่วยงานต่างๆมาจับมากขึ้น กลายเป็นภาระงานของแพทย์ พยาบาล ทำให้ต้องทำงานเพิ่มที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาโดยตรง  ไม่ว่าจะงานความเสี่ยง งานคุณภาพ เป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นมา รวมไปถึงค่าตอบแทนต่างๆ ตรงนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายกระทรวงฯ และการป้องกันโรคการส่งเสริมสุขภาพต้องใช้ความร่วมมือหลายส่วนจริงๆ จึงควรเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงต้องมาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

ไม่ควรยกเลิกหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หวั่นก่อปัญหาหมอยิ่งขาดแคลน
ถามต่อกรณีข้อเสนอทบทวนหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือหมออินเทิร์นจาก 6+ 1 ปี เป็นเรียน 7 ปีจะช่วยเรื่องปัญหาของแพทย์อินเทิร์นได้หรือไม่  นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่น่าใช่ทางออก เพราะอดีตแพทย์ไทยก็เคยเรียน 7 ปีแบบนี้ แต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาพบว่า การให้แพทย์เรียน 5 ปี แล้วปีที่ 6 เป็นเอ็กซ์เทิร์น(Extern) ก็สามารถมีคุณสมบัติดูแลผู้ป่วยได้ดี และปัจจุบันนอกจากปีที่ 6 เป็นเอ็กซ์เทิร์นแล้ว ยังมีแพทย์อินเทิร์นในปีที่ 7 ซึ่งถือว่าเหมาะสมแล้ว เพียงแต่ว่า จะทำอย่างไรให้ช่วงชีวิตในการเป็นอินเทิร์น เป็นการเรียนรู้ เพราะวัตถุประสงค์ของอินเทิร์นคือ การได้ประสบการณ์เพิ่มเติม

“การดูแลแพทย์รุ่นน้องของสต๊าฟ ก็ต้องให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน หากเราปรับทัศนคติว่า เราเป็นรุ่นพี่ เป็นอาจารย์มาดูแลรุ่นน้อง ดูแลลูกศิษย์ ผมคิดว่าปัญหาก็น่าจะเบาบางลง ส่วนตัวหมออินเทิร์นเองก็ต้องเข้าใจว่า ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ งานบางอย่างย่อมหนักเช่นกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า  การยกเลิกหลักสูตรหมออินเทิร์นและปรับเป็น 7 ปี หากทำจริงจะยิ่งขาดแคลนแพทย์ไป 1 ปี แล้วบทบาทตอนปีที่ 7 กับตอนอินเทิร์นก็แตกต่างกัน หากบังคับเรียนหลักสูตร 7 ปีก็จะเกิดปัญหาคนที่อยากเรียนหมอ คิดหนักว่า ใช้เวลาเรียนนานไปหรือไม่ เนื่องจากจบ 7 ปีเสร็จ ปีที่ 8 ก็ต้องเริ่มปฏิบัติงานชั้นปีที่ 1 หรือไม่ วนกลับมาเริ่มใหม่อีกครั้ง สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ใน รพ.ระดับจังหวัด อย่างหมอที่จบใหม่ เช่น 7 ปีจบก็ต้องออกไปรพ.ชุมชน หากคิดว่าไม่ต้องมีอินเทิร์นอีก แสดงว่ารพ.ระดับจังหวัดจะไม่มีแพทย์เพิ่มพูนทักษะที่ปฏิบัติงานอยู่เลย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์ที่เป็นมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลศูนย์ที่ผลิตแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข  หากยกเลิกหลักสูตรปัจจุบัน ก็จะกลายเป็นไปเพิ่มภาระการเรียนการสอน เท่ากับไปเพิ่มภาระของสต๊าฟ ของโรงพยาบาลศูนย์ จากเวลาที่ต้องดูแลคนไข้ให้มากขึ้นกลับลดลง เวลาดูแลอินเทิร์นที่จบใหม่ก็ยิ่งน้อยลงไป จึงเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากปรับหลักสูตรเฉพาะของโรงเรียนแพทย์อย่างเดียว และให้หลักสูตรระยะ 7 ปี อย่างชั้นปีที่ 7 ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนแพทย์ก็แตกต่างจากโรงพยาบาลจังหวัดอยู่ดี ซึ่งทดแทนกันไม่ได้ บรรยากาศงาน รูปแบบการทำงานของโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลจังหวัดแตกต่างกัน 

ดึงหมอเพิ่งเกษียณ ช่วยตรวจโอพีดีลดภาระ หมออินเทิร์น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอเร่งด่วนที่สามารถแก้ปัญหาภาระงานแพทย์อินเทิร์น ณ ขณะนี้ควรทำอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า มีข้อเสนอหลายทาง แต่ทางออกเฉพาะหน้าที่ทำได้ทันที คือ ขายอายุแพทย์เกษียณให้เข้ามาช่วยทำงาน ลดภาระงานแพทย์อินเทิร์น  โดยเน้นที่แพทย์เพิ่งเกษียณอายุราชการ อาจขยายไปในช่วงอายุ 63-65 ปี ส่วนแพทย์บริหารมองว่าไม่น่าจะได้ เพราะห่างจากวงการตรวจวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยไปนานแล้ว แต่แพทย์ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ สามารถทำได้ โดยให้มาช่วยตรวจคนไข้แผนกผู้ป่วยนอก หรือ OPD  จะลดภาระงานส่วนหนึ่งลง โดยกรณีนี้สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องปรับกฎระเบียบอะไรเพิ่มเติม เพราะสามารถจ้างต่อได้ทันที คล้ายๆจ้างพาร์ทไทม์ ไม่ต้องแก้กฎระเบียบใดๆ

เสนอขยายอายุแพทย์เกษียณทำงานต่อถึงอายุ 63-65 ปี
เมื่อถามว่าเพราะอะไรถึงมองว่า ควรขยายอายุของแพทย์เกษียณออกไป 63-65 ปี นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงอายุ 63-65 ปีน่าจะอยู่ในกรอบอายุที่ตนมองว่า ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งแพทย์ยิ่งอายุมากก็มีประสบการณ์มาก อายุระหว่างนี้จะมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ การควบคุมอารมณ์ต่างๆ  จึงคิดว่าน่าจะเหมาะสม

ส่วนคำถามว่าการจ้างแพทย์เกษียณกลับมาทำงานจะมีประเด็นเรื่องค่าตอบแทนที่รัฐไม่สามารถจ่ายเท่าเอกชนหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า  อัตราการจ้างของรัฐบาลคงไม่สามารถได้เท่าเอกชน แต่ตนมองว่า แพทย์ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไปแล้วนั้น น่าจะยินดี และมีความสุขที่ได้มาช่วยตรงนี้ ส่วนค่าตอบแทนก็ขอให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

เมื่อถามว่ามีข้อกังวลว่า แพทย์อาวุโส ยิ่งแพทย์เกษียณอายุราชการอาจมีปัญหาการสื่อสารกับหมอรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะอินเทิร์น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีที่เสนอนั้น คือ ควรทำงานแยกกันไปเลย โดยแพทย์เกษียณอายุราชการน่าจะมาช่วยตรวจคนไข้โอพีดี ส่วนการอยู่เวรนั้น แพทย์หลังเกษียณแล้วไม่น่าจะอยู่ไหว แต่การมาตรวจโอพีดีแทนหมออินเทิร์น จะช่วยลดภาระได้ การทำงานไม่ได้คอนแทรกโดยตรง หรือบางคนก็ยังสามารถมาเป็นที่ปรึกษาแพทย์โอพีดีได้ เพราะส่วนนี้ไม่ได้เคร่งเครียดเท่ากับแผนกฉุกเฉิน ซึ่งยังมองว่าจะสามารถทำงานด้วยกันได้ เพราะแพทย์อินเทิร์นก็เป็นรุ่นลูกของอาจารย์แพทย์ที่เกษียณแล้ว ซึ่งแนวทางตรงนี้เป็นแนวทางระยะสั้น ที่จะแก้ปัญหาได้เลย และทำได้ทันที

“หมอสมศักดิ์” ชู 31 ข้อเสนอแก้วิกฤตระบบสาธารณสุขไทย “ร่วมจ่าย” อีกทางเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับปัญหาระบบสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์แพทย์ที่มีการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาระบบสาธารณสุขไทย ได้โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao ระบุถึง การยกเครื่องระบบสาธารณสุขไทย 31 ข้อ โดยเป็นการเสนอการพัฒนาระบบใหม่ เพื่อให้สังคมไทยได้พิจารณา ประกอบด้วย

1.เน้นการส่งเสริมและป้องกันการเจ็บป่วย ให้คนส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ  โดยมีการให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ดูแลตนเองได้ดี ไม่มีโรคประจำตัวจะได้รับการลดหย่อนภาษี และรัฐออกเงินออมให้ด้วย

เสนอร่วมจ่าย แต่พื้นฐานทุกสิทธิ์ได้รักษาฟรี
2. การเจ็บป่วยเมื่อต้องเข้ารับการรักษาในรพ.ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ควรมีการร่วมจ่ายถ้าค่ารักษาพยาบาลนั้นสูงมากๆ หมายความว่าแต่ละคนจะมีเพดานค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไว้ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาอะไร ถ้าค่ารักษาพยาบาลสูงเกินเพดานที่กำหนดไว้ ก็ต้องมี การร่วมจ่าย ซึ่งวิธีการร่วมจ่ายนั้นให้คิดตามฐานภาษีที่เสีย

3. เพิ่มการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทให้มากขึ้น เพราะแพทย์กลุ่มนี้พบว่ามีการคงอยู่ในระบบมากกว่ากลุ่มที่รับผ่านการสอบ admission อาจเนื่องมาจากสถานที่ทำงานอยู่ในจังหวัดบ้านเกิดก็เป็นไปได้

4. เพิ่มการผลิตแพทย์ให้มากขึ้นในแต่ละปีให้มีจำนวนมากกว่าแพทย์ที่ลาออก เพื่อให้ supply มากกว่า demand ส่วนคุณภาพนั้น  เชื่อว่ารูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันนั้นจะสามารถผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ และคุณสมบัติตามที่สังคมต้องการได้ 

แนะเพิ่มหมอเชี่ยวชาญให้มากขึ้น เพื่อช่วยกระจายงาน ทรัพยากร
5. เพิ่มการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้มีจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถูกจำกัดด้วยจำนวนอาจารย์ที่มีอยู่ในอัตราส่วน 2:1 คือ อาจารย์ 2 คนผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ 1 คน ซึ่งมองว่าการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้นน่าจะปรับอัตราส่วนใหม่ได้ เช่น 1: 1 แล้วรัฐก็ส่งเสริมทุนการเรียนต่อให้มากขึ้น เมื่อผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้มากขึ้นก็จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นในทุกๆ โรงพยาบาล ซึ่งการคงอยู่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐนั้นน่าจะมีการคงอยู่ได้สูง เมื่อมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ ก็จะเป็นการกระจายงาน กระจายทรัพยากรด้วย ผู้ป่วยก็ไม่ต้องมาแออัดที่โรงพยาบาลจังหวัด

หนุนผลิตหมอเวชศาสตร์ครอบครัว-เวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน

6. สนับสนุนการผลิตแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว และเวชศาสตร์ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน เพราะมีความจำเป็นที่ต้องให้มีแพทย์ 2 สาขานี้ในทุกโรงพยาบาลทุกระดับ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ชมรมสาธารณสุขฯ หนุนนโยบาย “แพทย์ประจำตำบล” ให้ทุนปั้นหมอส่งกลับภูมิลำเนาทำงาน)

7. การส่งเสริมการรักษาด้วยระบบแพทย์ทางไกล telemedicine และการส่งยาถึงบ้าน telepharmacy ให้มากขึ้น สะดวกขึ้น และมีประสิทธิภาพดี ความปลอดภัยสูง โอกาสผิดพลาดต่ำที่สุด

8. ส่งเสริมการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร เทคนิกการแพทย์ สาขาไหนที่ยังขาดแคลน หรือกระจายตัวไม่ดี ก็รีบผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อมี supply มากขึ้น ก็น่าจะช่วยลดการขาดแคลนบุคลากรลงไปได้ระดับหนึ่ง

ขยายอายุราชการแพทย์แบ่งเบาภาระงาน
 

9. การขยายอายุราชการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนเป็นเกษียณอายุ 63 หรือ 65 ปี เพื่อให้แพทย์ และทีมอยู่ในระบบมากขึ้น แต่จะต้องย้ำว่าแพทย์อาวุโสเหล่านี้ต้องไม่กินแรงแพทย์รุ่นน้อง แล้วอ้างว่าผมมีอายุเยอะแล้ว ดังนั้นการขยายอายุราชการต้องทำในกลุ่มคนที่ยังพร้อมในการปฏิบัติงาน และไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานบริหาร

ยกระดับร้านยาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น รองรับคนไข้ป่วยเล็กน้อย
 
10. ยกระดับร้านยาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเล็กน้อย และต้องการรับการรักษา ก็สามารถให้พบเภสัชกร เพื่อสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วยและให้การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น จัดยารักษาได้ในเบื้องต้น

11. จัดตั้ง call center ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพโทรเข้ามาสอบถามปัญหาสุขภาพ และสั่งยาได้ โดยให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาคุณภาพ ก็จะลดผู้ป่วย OPD

ให้ความรู้ปชช.เกี่ยวกับเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่เร่งด่วนยังไม่ให้รักษา รอเป็นลำดับ
 
12. สร้างความรู้และความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้บริการห้องฉุกเฉิน และอนุญาตให้ทางโรงพยาบาลคัดกรองและแยกผู้ป่วยออกเป็นระดับต่างๆ ตามความเร่งด่วน ถ้าไม่เร่งด่วนก็ยังไม่ให้การรักษา รอเป็นลำดับหลังๆ หรือนัดมาตรวจภายหลัง

13. สนับสนุนให้คนไทยมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น การทำประกันสุขภาพของเอกชน เพื่อเป็นการลดภาระด้านค่ารักษาพยาบาลของรัฐและผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ทำประกันก็เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นรัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมการทำประกันชีวิตประกันสุขภาพ เพิ่มสิทธิประโยชน์ของคนทำประกันชีวิต

เลิกแนวคิดบัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้ หนุนทุกสิทธิ์รักษาใกล้บ้าน
 
14. บังคับใช้แนวทางการรักษาของบัตรทอง คือ ต้องรักษาตามสถานพยาบาลที่เป็นต้นสิทธิ์ เลิกแนวคิดบัตรทองรักษาที่ไหนก็ได้ และต้องสนับสนุนให้ทุกคนทุกสิทธิ์รักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

15. สร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การรักษาโรคนั้นควรเริ่มรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก่อนเสมอ เมื่อมีความจำเป็นจึงมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสม

16. การจำกัดจำนวนผู้ป่วยแผนกผู้ป่วยนอก โดยมีระบบนัดหมายล่วงหน้าสำหรับผู้ป่วยเก่า และรับจองคิวด้วยวิธีที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ส่วนผู้ป่วยใหม่ walk in สำหรับผู้ป่วยที่มาแล้วแต่คิวเต็มก็จะมีระบบการประเมินอาการคัดแยกผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ก็สามารถพบแพทย์ได้ แต่ถ้าประเมินแล้วไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ก็มีการนัดหมายเข้ารับการตรวจ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการรับยาต่อเนื่องก็สามารถรับยาได้เลยไม่ต้องพบแพทย์

แนวทางรพ.มีหมอน้อย

17. โรงพยาบาลที่มีหมอจำนวนจำกัด ขาดแคลนหมออย่างมาก เช่น โรงพยาบาลที่มีหมอเพียง 2 คน ก็อาจไม่จำเป็นต้องเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงทุกวันก็ได้ โดยมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าอย่างชัดเจนว่าจะเปิด ปิดระบบบริการนอกเวลาราชการในวันไหนบ้าง ผู้ป่วยจะได้เข้ารับบริการได้ถูกต้อง

18. การผลิตแพทย์ควรเป็นหน้าที่ของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขควรทำหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งทำเฉพาะการดูแลผู้ป่วยก็ทำไม่ไหวแล้ว ต้องมาทำหน้าที่ครูแพทย์ด้วยก็เป็นการเพิ่มภาระงาน 

19. หลักสูตรแพทย์ควรมีวิธีการสอบคัดเลือกนักเรียนที่เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ควรคัดเลือกนักเรียนที่มีความพร้อมทั้งความรู้ และทัศนคติที่เหมาะสมต่อการเป็นแพทย์ มากกว่าที่จะคัดเลือกเฉพาะนักเรียนที่เรียนเก่งเท่านั้น

ส่งเสริมการสร้างครูแพทย์ที่ดี
 
20. ส่งเสริมการสร้างครูแพทย์ที่ดี เพื่อเป็น role model ในการเป็นแพทย์ที่ดีเหมาะกับสังคมไทย การผลิตแพทย์ที่ดีนั้นย่อมต้องได้รับการฝึกฝนทักษะที่ดี และต้องเห็น เรียนรู้จากครูแพทย์ต้นแบบที่ดี role model จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการผลิตแพทย์

สปสช.ต้องมีระบบจ่ายค่ารักษาให้รพ.อย่างเป็นธรรม
 

21. การจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพต้องมีความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบัน โรงพยาบาลและคนในองค์กรจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ต้องมีรายรับขององค์กรที่เหมาะสมกับรายจ่าย ไม่ควรจะขาดทุน

22. รัฐบาลต้องปรับค่าตอบแทนทีมสุขภาพให้มีความเหมาะสมกว่าในปัจจุบัน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ทีมสุขภาพ

23. รัฐบาลควรปรับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลทั้ง 3 สิทธิ์ ข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทองให้มีความเท่าเทียมกัน สนับสนุนการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และการใช้ยาชื่อสามัญอย่างสมเหตุผล เพื่อนำงบประมาณที่ลดลงมาใช้ในการพัฒนาระบบบริการ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในสถานพยาบาลให้ดีขึ้น

24. พัฒนาศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยระดับจังหวัดและเขตสุขภาพให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่สามารถรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นได้

25. ร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าในปัจจุบันว่าทางโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถช่วยลดภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐลงได้อีกบ้าง เช่น การลงทุนด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมีการใช้อุปกรณ์นี้ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และรัฐบาล 

26. รัฐควรเพิ่มการลงทุนในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น

ลดภาระงานไม่จำเป็นแพทย์ พยาบาล
 
27. จัดระบบการทำงานด้านคุณภาพ งานเอกสารต่างๆ ให้บุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ พยาบาลสามารถทำได้ เพื่อลดงานที่ไม่จำเป็นของแพทย์ พยาบาล ปัจจุบันงานด้านคุณภาพด้านการบริการนั้น แพทย์ พยาบาลต้องใช้เวลาในส่วนนี้เป็นปริมาณงานที่มากพอสมควร ถ้าสามารถจัดหาบุคลากรด้านงานคุณภาพมาแทนได้ก็จะดีมาก

จำกัดชั่วโมงการทำงานบุคลากรทางการแพทย์
 
28. จำกัดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ โดยศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยว่าจำนวนชั่วโมงที่ทำงานนอกเวลาราชการที่เหมาะสมกับบุคลากรไทยเป็นเท่าไหร่ ผมมองว่าบางครั้งการใช้ตัวเลขเดียวกับต่างประเทศอาจก่อให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติได้ ถ้าค่อยๆ ปรับ และถ้าอยู่เวรมาทั้งคืนแล้ว ไม่ควรทำงานต่อในตอนเช้าทันที ต้องให้มีเวลานอนพักในโรงพยาบาลหรือบ้านพักในโรงพยาบาล ไม่ให้มีการเดินทางกลับบ้านที่ต้องขับรถไกล เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

29. การชดเชยค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอกของผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง ไม่ควรจ่ายเป็น per visit แบบค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายคงที่ ควรมีการปรับให้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจริง เพื่อที่แพทย์จะได้นัดผู้ป่วยได้นานขึ้น เป็นการลดภาระงานของโรงพยาบาลได้แบบหนึ่ง และลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทางมาโรงพยาบาลได้ด้วย

30. ปัญหาด้านสุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญ ดังนั้นรัฐต้องปรับเพิ่มการสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ และหาทางกำกับการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

31. สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย palliative care เพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายในผู้ป่วยกลุ่มที่เข้าสู่ palliative care ระยะก่อนที่จะเข้าสู่ palliative care นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่แพทย์ก็ทราบว่ามีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี และญาติตัดสินใจ full med , no CPR คืออย่างไรผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ต้องเสียชีวิต เพราะหมดทางรักษาแล้ว แต่ญาติก็ยังให้สู้เต็มที่ทั้งๆที่รู้ว่าต้องแพ้แน่นอน

 

Monday, 12 June 2023
https://www.hfocus.org/content/2023/06/27815

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
แฮชแท็ก #หมอลาออก เดือดโซเชียลฯ บุคลากรทางการแพทย์ออกมาแฉรูรั่วต่างๆ ไม่หยุด ฝากทวงถามความยุติธรรม นี่ “โรงพยาบาล” หรือ “โรงงาน” ทำงานกันตัวเป็นเกลียว เสียงคนหน้างานส่งไม่ถึงผู้บริหาร เหนื่อยใจ สุดท้ายจึงขอลาออกเป็นขบวน

โรงพยาบาล = โรงงาน

ปัญหาสะสมวงการแพทย์ถูกขุด!! เมื่อ หมออินเทิร์น (แพทย์ฝึกหัดที่เพิ่งจบมา) ออกมาบ่น ถึงการทำงานหนัก 100 ชม.ต่อสัปดาห์ หมอ 1 คนต้องดูแลคนป่วย 60-70 คน งานหนักจนแฮชแท็ก #หมอลาออก ติดเทรนด์ แต่ดูเหมือนปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานแล้ว?

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ กรรมการศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วิเคราะห์ให้ทีมข่าวฟังถึงปัญหาที่มีมานานแล้ว “ต้องบอกว่าปัญหานี้เป็นมานาน ตั้งแต่ผมจบใหม่ มันมีมานานเกิน 50 ปีแล้วครับ”

คุณหมอได้อธิบายว่า ตอนนี้ระบบโรงพยาบาลเหมือนกับ “โรงงาน” และหมอถูกมองเป็นแค่ “ฟันเฟือง” ตัวหนึ่งในเครื่องจักรใหญ่ที่เรียกว่า “โรงพยาบาล” กลายเป็นว่า “หมอไม่มีสิทธิมีเสียงหรือเลือกอะไรได้เลย”

“โรงพยาบาลมันก็ถูกปรับเปลี่ยนมาจากระบบโรงงานจริงๆ ระบบโรงงานเป็นยังไง เข้ามาตอกบัตร คนไข้มาถึงก็จองๆ พนักงานก็ตรวจๆ อยู่เวรๆ ไป โดยที่หมอก็ไม่รู้สึกมีส่วนรวมกับวิชาชีพเท่าที่ควร ถูกไหมครับ ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ไม่มีการถามว่าฉันต้องการแบบไหน แล้วผู้บริหารจะมารับฟังได้”

การสั่งงานไม่เคยถามแพทย์ว่าไหวหรือเปล่า ลักษณะการสั่งงานจาก บนลงล่างเป็นหลัก ไม่มีการรับฟังเสียงของคนหน้างาน ก็ทำเกิดให้ความอึดอัด ทางออกเลยมีแค่ 2 แบบ คือ 1.บ่นอย่างที่เห็นบนโซเชียลฯ กับ 2.ลาออก

“ผมว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากๆ การไม่รับฟังเสียงอาจจะเหนือว่างานหนักด้วยซ้ำนะครับ”

ปัญหาตอนนี้เราเรียกว่า “wicked problem” คือปัญหาที่ซับซ้อน แต่ตอนนี้ก็ยังแก้ปัญหากับแบบเดิน แบบเป็นเส้นตรงเกินไป คือ หมอไม่พอก็เพิ่มหมอ หมอทำงานหนักก็ลดเวรหมอ

“คนก็จะมองแบบนั้น เหมือนเวลาเชือกขมวดปม มันมีอยู่หลายปมมากเลย ซึ่งมันก็จะมีปมอื่นเต็มไปหมด นึกออกไหมครับ ซึ่งตอนนี้ลักษณะการแก้เนี่ย แก้ในสิ่งที่เห็น หมายถึงว่าไอ้สิ่งที่เห็นคือ สิ่งที่ผู้บริหารจะเห็น”

จำใจแลกเวร งานแน่นเป็น “คอขวด”

ไม่ได้มีแค่แพทย์อินเทิร์นที่ต้องเจองานหนัก แต่หมอระดับกลางที่ทำงานมา 4-5 ปีก็มีเหมือนกัน และยังเป็นปัญหาที่ต่อกันเป็นลูกโซ่อีกด้วย คือเงินเดือนราชการไม่พอ เลยไปทำงานในคลินิก หรือเปิดคลินิกส่วนตัว ทำให้เกิดการฝากเวรเกิดขึ้น?

“น้องๆ จบใหม่ใช่ไหม เฮ้ย..รุ่นพี่ก็เคยทำอย่างนี้มาก่อน น้องก็อยู่เวรแทนไปก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่มีการถามว่าน้องมันอยากอยู่หรือเปล่า”

เมื่อปากเสียงไม่มีก็เกิดความอึดดัดใจ ซึ่งมันก็เป็นการ ไม่เกิดการแชร์ความเจ็บปวด ซึ่งเด็กสมัยนี้ เสียงของเขามันมีความหมาย และเขามีทางเลือกได้ เขาก็ลาออกดีกว่า

คุณหมอยังพูดถึง “การอยู่เวร” ในต่างประเทศ ถ้าสมมติว่าต้องอยู่เวร ในอีกวันหนึ่งเขาอาจจะให้พัก หรือมีการสลับเวรกันได้ แต่บ้านเราถ้าวันนี้มีเวร แล้วพรุ่งนี้มีออกตรวจหรือผ่าตัดก็ต้องไปทำต่อ

“คำถามก็คือ สมมติเราลองอดนอน 1คืน หรือนอน 3 ชั่วโมงติดอีก 1 คืน เช้าเราไปทำงานเราไหวไหม มันไม่ไหวอยู่แล้ว เพราะการประมวลของสมอง มันต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอ

ไม่ใช่แค่นั้น งานแต่ละวันก็เยอะอยู่แล้ว หมอยังจัดการกับงานเอกสารมากมาย เพื่อส่งข้อมูลให้กับกระทรวงสาธารณสุขประมวลผลต่อ งานเอกสารก็เต็มไม่หมดมันก็ไม่มีเวลามานั่งดูและอะไร มันก็กลายเป็นวงจร

ไหนจะเรื่องคนไข้ที่เข้ามาอัดกัน จากระบบคัดกรองและส่งตัวที่ไม่ดีพอ คือบางคนอาการถึงขั้นต้องมาโรงพยาบาล แต่ไม่เชื่อในระบบปฐมภูมิอย่าง อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) หรือโรงพยาบาลชุมชน “ทำให้เกิดคอขวด” ในโรงพยาบาล

เป็น “แพะ” เพราะงานหนัก

“ถ้าเราอดนอนสัก 2 คืน มาทำงานตอนเช้าจะให้หน้ายิ้มนี้ยากนะผมว่า”

คำอธิบายของคุณหมอ เมื่อถามว่าเพราะแพทย์ทำงานหนักไป เลยทำให้เกิดปัญหากับคนไข้อยู่บ่อยๆ ใช่หรือเปล่า?

“นอกจากอารมณ์ที่หงุดหงิดง่าย การพักผ่อนที่น้อยเกินไปมันทำเกิดความผิดพลาดได้ มันมีงานวิจัยเต็มไปหมดเลย นะครับ ข้อมูลที่แพทย์การพักผ่อนน้อยไม่พักเลย ในต่างประเทศเขาถึงจำกัด เพราะมันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา”

ไม่แค่การบริการ ปัญหาทั้งหมดอาจทำเกิดความผิดได้ และส่งให้การฟ้องร้องในการรักษา เพราะโรคมันซับซ้อน แต่คนไข้ก็เยอะเกินจนเป็นคอขวด เวลาตรวจก็น้อย แถมผักผ่อนไม่พออีก จะเกิดความผิดไม่ใช่เรื่องยาก

“พอเกิดความผิดพลาด คนไข้ก็บอก หมอสั่งยาไม่เห็นหาย มีผลข้างเคียงใช่ไหมครับ เกิดการผิดพลาด เกิดการฟ้องร้อง ฉะนั้น อัตราการฟ้องร้องของแพทย์สภาเยอะขึ้นแน่นอน”

ตอนนี้ หมอกลาย “แพะ” ที่ถูกแขวนเอาเวลาเกิดความผิดพลาดพวกนี้ มันทำให้เกิด “การบั่นทอนจิตใจ”

เพราะว่าหมอกับคนไข้ไม่เข้าใจกัน ทั้งที่จริงๆ ปัญหามันอยู่ที่ “คนจัดการระบบ”

“แพทย์ตอนนี้ในใจเขาก็เลย Do job as a job คิดงานเป็นงาน คือไม่ได้คิดอะไร ทำๆ ไปให้จบไป 1 วัน หมอกำลังเป็นแบบนี้เยอะพอสมควร เพราะรู้สึกหมดกำลังใจ”

นี่แหละ ปัญหาสำคัญ-เร่งด่วน!!

หนึ่งในทางแก้ปัญหา คุณหมอรายเดิมแนะว่า ควรมีการรับฟังเสียง และตอบสนองต่อปัญหาอย่างจริงจังเสียที คือนอกจากการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว ควรหันมาแก้ไขระบบสาธารณสุขอย่างเร่งด่วน

“เด็กอย่างฉันที่ต้องดูแลคนไข้ ทำไมคุณไม่ทำเรื่องที่สำคัญก่อน เช่น จัดระบบดูแลคนไข้ให้ดี คุณกลับไปทำเรื่องนู่นเรื่องนี้เต็มไปหมด ที่บางทีมันก็เป็นการตอบสนองประเด็นทางการเมือง อันนี้มองในมุมมหภาคขนาดใหญ่

คนที่มองแบบตรงไปตรงมา เขาก็แก้ปัญหาที่เร็วและง่ายก่อน แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้หรอก เพราะเราเพิ่มมานานแล้ว การผลิตแพทย์เพิ่ม แต่คำถามคือทำไมยังแก้ปัญหากันไม่ได้ถูกไหมครับ แสดงว่ามันแก้ปัญหาไม่ตรงจุด หรืออุดรูรั่วไม่หมด”

คุณหมอแนะว่า ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แล้ว คือให้แพทย์ที่อยู่หน้างาน ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหามามีส่วนร่วมในการแก้ไข แล้วดูว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร อะไรแก้ได้ก่อน อะไรต้องใช้ระยะเวลาในการแก้

“การแก้ปัญหาโดยการผลิตแพทย์เพิ่มใช้เวลา 6 ปีนะครับ เวลา 6ปีมันให้ปัญหามันเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว มันการแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งที่จริงๆ ปัญหามันอยู่ที่หน้างานตอนนี้”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live

8 มิ.ย. 2566  ผู้จัดการออนไลน์