ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.เอกชน แข่งเดือด งัดนวัตกรรม เดินหน้าลงทุนเพิ่ม  (อ่าน 88 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
“โควิด-19” ตัวแปรสำคัญที่ทำให้หลายธุรกิจตกที่นั่งลำบาก แต่ขณะเดียวกันส่งผลดีต่อบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่ทำรายได้จากบริการวัคซีนและรักษาคนไข้โควิดเป็นกอบเป็นกำ แต่ปี 2566 เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนกลับเข้าสู่ภาวะการณ์ปกติ สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาสแรกของผู้ประกอบการที่กลับไปใกล้เคียงกับปี 2563

ไม่ว่าจะเป็น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ที่พบว่าผลประกอบการไตรมาส 1/2566 มีรายได้ 24,313 ล้านบาท เติบโต 5% กำไรสุทธิ 3,470 ล้านบาท เติบโต 1% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 23,159 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,443 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักจากมาจากการรักษาพยาบาลในศูนย์การแพทย์เฉพาะทางและผู้ป่วยต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น 38%

สวนทางกับผู้ป่วยชาวไทยที่ลดลง 6% ขณะที่บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ที่มีรายได้ 6,091 ล้านบาท เติบโต 46.7% กำไรสุทธิ 1,583 ล้านบาท เติบโต 118.4% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ที่มีรายได้ 4,152 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 725 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตหลักมาจากผู้ป่วยทั้งชาวต่างชาติและคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 78% และ 9.5% ตามลำดับ

ขณะที่ผลประกอบของ THG หรือ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป พบว่าในไตรมาส 1 ปี 2566 มีรายได้รวม 2,508 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2565 ที่มีรายได้ 3,530 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 250 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2565 ที่ทำได้ 552 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ลดลง แต่บริษัทยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อควบคุมอัตรากำไรได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ส่วนแผนงานในปีนี้นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG กล่าวว่า THG ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เชื่อมฐานลูกค้าทุกช่วงวัยด้วย Digital Health tech ควบคู่การมองหาโอกาสผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ เช่น

โครงการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลโดยผสานกับ Internet of Medical Things (IoMT) ภายใต้การดำเนินการโดย บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด บริษัทย่อยในเครือ THG ร่วมกับ บริษัท เน็กซเตอร์ ลีฟวิ่ง จำกัด และ บริษัท มาย เฮลท์ กรุ๊ป จำกัด และยังมีอีกหลายโครงการที่จะเปิดตัวในปีนี้

“ส่วนของตลาดต่างประเทศ บริษัทมีแผนขยายธุรกิจในเวียดนามโดยร่วมมือกับกลุ่มโรงพยาบาล ธนบุรี บำรุงเมือง ในการสร้างและบริหารศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากให้กับ FV Hospital ในนครโฮจิมินห์ และอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนคาดจะเห็นผลในปี 2566 เช่นกัน”

ด้านนพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC กล่าวว่า หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิดลดลงมาก จากฐานรายได้โควิดที่สูงในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่รายได้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากถึง 209 ล้านบาท หรือเติบโต 25.1%

จากการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ขยายฐานกลุ่มผู้รับบริการจากการเปิดศูนย์การแพทย์/คลินิกเฉพาะทางในโรงพยาบาลในเครือฯแห่งต่างๆ เพื่อให้บริการรักษาโรคเฉพาะทาง โรคยากซับซ้อนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรายได้จากผู้เข้ารับบริการชาวต่างชาติทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ จีน ฯลฯ และจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลที่เปิดดำเนินการใหม่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดีแนวโน้มในไตรมาส 2 ของ PRINC ส่งสัญญาณดีขึ้นจากผู้ป่วย Non-Covid ที่เข้ารับบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผู้รับบริการชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 3-5% เป็น 7-9% และในไตรมาสที่ 2 จะเริ่มรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อและรับโอนกิจการในโรงพยาบาลรวมแพทย์ พิษณุโลก ขนาด 100 เตียง และการขยายธุรกิจเฮลท์แคร์เพิ่มเติม

ซึ่งในปีนี้บริษัทยังวางแผนลงทุนไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาทเพื่อลงทุนทั้งเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ การขยายศักยภาพคลินิกและศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ด้านโรคกระดูกและข้อ หัวใจ สมองและหลอดเลือด การรักษาโรคมะเร็ง การดูแลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน

โดยตั้งเป้าขยายธุรกิจโรงพยาบาล “เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” ให้ครบ 20 แห่ง จากปัจจุบัน 14 แห่งใน 11 จังหวัด,ขยายคลินิกเวชกรรมใกล้บ้าน ใกล้ใจ ครบ 100 แห่ง จากปัจจุบัน 37 แห่ง และขยายธุรกิจคลินิกเสริมความงาม ภายใต้แบรนด์ผิวดีคลินิกไปสู่ 20 สาขา จากปัจจุบัน 13 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG เปิดเผยว่า ไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีรายได้ 1,716.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 240.4 ล้านบาท จากการให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป รวมทั้งการกลับมาใช้บริการของกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและรายได้โครงการประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น การกลับมารักษาของผู้ป่วยในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง การปรับประมาณการใหม่ของรายได้ภาระเสี่ยงในปี 2566 รวมถึงรายได้จากการรับจ้างบริหารงานให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ

อย่างไรก็ตามผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2566 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลมีรายได้เติบโต 40% จากผู้ป่วยทั่วไป 45% และประกันสังคม 45% สำหรับการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 บริษัทเตรียมเปิดศูนย์การแพทย์ Chularat Medical Center และโรงพยาบาลจุฬารัตน์แม่สอด อินเตอร์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง จะเปิดให้บริการในเฟสแรกจำนวน 59 เตียง ในการให้บริการกับกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งเป็นคนไทยในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงชาวต่างชาติเร็ว ๆนี้

การเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนที่ไปในทิศทางเดียวกัน ยังเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว สอดรับกับการคาดการณ์ของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปี 2565 เติบโต 15% ดันรายได้ 3.2 แสนล้านบาท

จากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ การลงทุนใน EEC และ Medical Tourism ช่วยสร้างดีมานด์เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเปิดประเทศและการดำเนินธุรกิจในประเทศที่เป็นปกติช่วยให้ตลาดการรักษาในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างชาติเติบโตต่อไป และคาดว่ารายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภาพรวมจะเติบโตได้ 8-10% ในปี 2566

อย่างไรก็ตามในปี 2566 แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านต้นทุนพลังงานและอาหาร โดย ttb analytics คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 จะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6.7% และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 2.1%

ส่งผลต่อกำลังซื้อของตลาดคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศ ขณะเดียวกันค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลและท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสของตลาดชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้น

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,889 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
Thansettakij