ผู้เขียน หัวข้อ: เบื้องหลังกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (อ่าน 1961 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด


การมีหลักประกันสุขภาพนับเป็นสวัสดิการที่ดีมากๆสำหรับประชาชน แต่ยังมีสิ่งที่ควรแก้ไขอีกมาก เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก ปลอดภัยและมีมาตรฐาน ตัวอย่างของสิ่งที่จะต้องแก้ไข เช่น

1.การจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอ

2.การบังคับให้แพทย์สั่งยารักษาผู้ป่วยบางโรค เช่นมะเร็งได้ในบางรายการเท่านั้น ทั้งๆที่สปสช.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่หายจากอาการ ดื้อยา หรือโรคไม่ตอบสนองต่อการรักษา

3.ประชาชนมาใช้บริการมากเกินกำลังเจ้าหน้าที่ ทำให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากความเสียหาย เนื่องจากบุคลากรไม่มีเวลาพิถีพิถันในการสั่งการหรือดำเนินการรักษาโรค

4.สปสช.ยังจ่ายเงินให้โรงพยาบาลไม่ครบตามงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่สปสช.ได้รับมาจากเงินภาษีประชาชน โดยสปสช.แบ่งเงินไว้ทำโครงการในการรักษาโรคบางอย่างเอง(vertical program) 

5.สปสช.ไม่ชำระเงินค่า “บริการสาธารณสุข” ให้แก่โรงพยาบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

6. สปสช.จ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน ในการจ้างบุคลากร จ้างที่ปรึกษาในอัตราสูงเกินที่กม.กำหนด 

7.ยังมีปัญหาการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของสปสช.อีกมากมาย ที่ได้มีการกล่าวไว้ในรายงานการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) รวมทั้งการผูกขาดตำแหน่งกรรมการและอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มก๊วนเดิมๆ

  ทั้งนี้สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีเอกสารหลักฐานยืนยันทั้งสิ้น

 แต่ทำไมกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงออกมากล่าวหาว่า “มีกลุ่มก๊วนที่วางแผนล้มระบบหลักประกันฯ ทั้งนี้จะขอสรุปเหตุการณ์ดังนี้

1.การให้หลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทั้งไม่จนและจนเพียงแค่ 48 ล้านคน ถือว่าไม่ยุติธรรมแก่ประชาชนในระบบประกันสังคม ต้องแก้ไขให้ประชาชนในกลุ่มประกันสังคม ได้รับสิทธิในหลักประกันสุขภาพเหมือนกัน

2. การจัดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวนั้นไม่เพียงพอที่จะจัดบริการให้ "มีมาตรฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้จริง" และทำให้โรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพหลายร้อยแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดสภาพคล่องทางการเงิน

3. สปสช.lส่อว่าอาจจะผิดกฎหมายและมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะมีผลประโยชน์ต่อคนในกลุ่มก๊วนชมรมแพทย์ชนบทและกลุ่มเอ็นจีโอสาธารณสุข เมื่อคนเหล่านี้ไม่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น ภญ.สำลี ใจดี คนที่อยู่ใน กลุ่มก๊วน เดียวกันจึงออกมาโวยวาย และประท้วงโดยการไม่เข้าประชุมกรรมการถึง 3 ครั้งในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา

 ถ้าเราไปดูรายชื่อคนที่ออกมาประท้วง ก็จะเห็นว่าคือกลุ่มคนที่เคยเป็นหรือกำลังเป็นกรรมการ/อนุกรรมการในสปสช.เป็นส่วนมาก และเมื่อการประท้วงไม่สำเร็จ ไม่สามารถผลักดันให้ภญ.สำลี ใจดี ได้เป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ คนในชมรมแพทย์ชนบทจึงออกมาโวยวาย ว่ามีคนจ้อง "ยึดอำนาจ"การบริหาร สปสช”.และใส่ความว่า “คนจ้องจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งคนที่ออกมาพูดนี้คือนพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ และคนในกลุ่มเอ็นจีโอสาธารณสุขคือนายนิมิตร เทียนอุดม (voice TV)

3.ก่อนหน้านี้ มีคนกลุ่มหนึ่งได้จัดการประชุมที่โรงแรมริชมอนด์ แล้วออกมาแถลงว่า พวกตนได้จัดตั้งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2555 โดยมีหัวหน้ากลุ่มคือนายจอน อึ๊งภากรณ์  มีผู้ประสานงานคือนางสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ณัฐกานต์ กิจประสงค์ โฆษกกลุ่มคือนางสุภัทรา นาคะผิว กชนุช แสงแถลง บารมี ชัยรัตน์   โดยผู้ที่เปิดตัวออกมาให้ข้อมูลแก่สื่อสาธารณะ ได้แก่นายจอน อึ๊งภากรณ์

และยังได้กล่าหาว่ามี “กลุ่มก๊วนที่วางแผนล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชมรมโรงพยาบาลเพื่อพัฒนาระบบบริการประกันสังคม สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุขและการเมือง โดยได้กล่าวถึงปัญหา(ที่บิดเบือนจากความจริง) และกล่าวว่ากลุ่มคนเหล่านี้กำลังทำอะไรอยู่ โดยบิดเบือนข้อมูลอีกเช่นกัน และอื่นๆอีกมากตามรายละเอียดที่กลุ่มคนรักหลักประกันได้เผยแพร่ออกมาทั่วไปในสื่อสาธารณะ

4.ประกอบกับตำแหน่งเลขาธิการสปสช.กำลังจะหมดวาระลงในเร็วๆนี้ และจะต้องมีการสรรหาใหม่ โดยเลขาธิการคนปัจจุบันกำลังถูกตั้งกรรมการสอบสวนตามประเด็นความผิดที่สตง.ชี้มูล จึงอาจจะทำให้พวกพ้องของ “กลุ่มคนรักหลักประกันฯ” ไม่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นเลขาธิการเป็นสมัยที่ 2

5. ถ้าไปดูรายชื่อคณะกรรมการและอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติย้อนหลังไปในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา จะพบว่าคนที่เป็นกรรมการและอนุกรรมการเหล่านี้ ล้วนเป็นคนในกลุ่ม “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ”หรือเกี่ยวข้องกับ “ชมรมแพทย์ชนบท”เช่นนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เป็นกรรมการหลักประกันในนามผู้ทรงคุณวุฒิการแพทย์แผนไทย แล้วสลับร่างมาเป็นกรรมการในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ และเป็นประธานอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ของสปสช. ที่มีมติให้สปสช.ซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ที่องค์การเภสัชกรรม ไม่ได้ผลิตเอง แต่ทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลาง ซื้อของมาขายให้สปสช. แล้วมีเปอร์เซ็นต์ตอบแทนสปสช.หลายร้อยล้าน นับว่าหมอวิชัยในฐานะประธานองค์การเภสัช ค้าขายเอากำไร กับหมอวิชัยในฐานะประธานอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์สปสช. แล้วหมอวิชัยในนามองค์การเภสัช ยังให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับหมอวิชัยในนามสปสช.อีกด้วย

 ในฐานะที่สผพท.เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งใน “กลุ่มก๊วนที่วางแผนจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพ” โดยไม่มีมูลความจริง จึงขอให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้แสดงหลักฐานของการที่จะล้มระบบหลักประกันสุขภาพ ที่เป็นจริง(มิใช่กล่าวหาอย่างบิดเบือนข้อมูล) มิฉะนั้นจะถือว่ากลุ่มรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีนายจอน อึ๊งภากรณ์เป็นหัวหน้า ได้กล่าวหาหรือใส่ความสผพท.โดยไม่มีมูลความจริง  สผพท.และมวลสมาชิกของสผพท.อาจจะพิจารณาแจ้งความกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพในคดีหมิ่นประมาทใส่ความผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ได้รับการดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป

 มวลสมาชิกของสผพท. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการสอบสวนการบริหารงานที่ผิดกฎหมายของสปสช. และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วาระตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548-2554 เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อไม่ให้มีการนำเงินงบประมาณภาษีประชาชน ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องอีกต่อไป และขอเรียกร้องให้ปปช.ได้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของกรรมการและอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งของเลขาธิการสปสช.ในวาระดังกล่าวทุกปีด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นผู้ที่รับผิดชอบบริหารงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากถึงปีละ 200,000 ล้านบาท

 และควรตรวจสอบด้วยว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้งบประมาณในการจัดประชุมที่โรงแรมมาจากหน่วยงานหรือเอกชนใด

๑๔ มค. ๕๕
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย