ผู้เขียน หัวข้อ: สพศท.ห่วงหลายสถาบันเร่งผลิตแพทย์จำนวนมาก หวั่นส่งผลคุณภาพ จ่อหารือ สธ.ขอทิศทาง  (อ่าน 366 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ส่งเรื่องถึงแพทยสภา กรณีหลายสถาบันเร่งผลิตแพทย์อาจกระทบคุณภาพ ส่วนเรื่องภาระงานหมอเป็นเรื่องที่ต้องหาทางออกจริงจัง การกระจายแพทย์อย่างเหมาะสมเป็นส่วนหนึ่ง เตรียมทำหนังสือหารือ สธ. กำหนดทิศทางชัดเจน ด้านแพทยสภา ส่งเรื่อง กสพท พิจารณา
 
ห่วง! หลายสถาบันผลิตแพทย์เพิ่มจำนวนมาก หวั่นเรื่องคุณภาพ
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.)  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีทำหนังสือถึงแพทยสภาเรื่อง ขอให้แพทยสภาพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา และสถาบันผลิตแพทย์ รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัด เพื่อคุณภาพ และสมรรถนะของแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ว่า  ทราบว่ามีการนำเข้าที่ประชุมของกรรมการแพทยสภา แต่รายละเอียดยังต้องรอผลว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งทางสมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป กำลังรวบรวมข้อมูลและคาดว่า เร็วๆนี้จะนำเรื่องเพื่อขอเข้าพบและหารือร่วมกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ถึงทางออกในการบริหารจัดการ การผลิต และการกระจายแพทย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอในการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตร์ มีข้อห่วงใยการผลิตแพทย์มากเกินไป แสดงว่า ขณะนี้แพทย์มีเพียงพอแล้วหรือไม่ นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า มี 2 มุม หากตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ก็จะมีการกำหนดสัดส่วน ซึ่งประเทศไทย ณ ปัจจุบันมีคณะแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และแต่ละคณะต่างก็เพิ่มจำนวนการผลิต ทำให้มีแพทย์จบใหม่แต่ละปีประมาณ 3,000 คน และมีแนวโน้มว่าจำนวนแพทย์จบใหม่จะมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งถือว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่หากพูดถึงกรณีบางโรงพยาบาล เพราะเหตุใดจำนวนแพทย์กลับไม่เพียงพอ ก็เป็นเรื่องการบริหารจัดการ ปัญหาการกระจายตัวของแพทย์

“สำหรับหนังสือที่เสนอต่อแพทยสภานั้น มีข้อห่วงใยเรื่องการผลิตมากขึ้น จะมีประเด็นเรื่องคุณภาพ เพราะเมื่อเร่งผลิตมากเกินไป ก็มีเสียงสะท้อนกลับมา แต่อาจไม่ใช่ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย แต่ก็พบว่า การเร่งผลิตมากเกินไปจะมีผลต่อคุณภาพหรือไม่ การตัดสินใจ การดูแลคนไข้อาจไม่ได้ตามที่คาดหวัง ตรงนี้ก็เป็นไปตามธรรมชาติ เรื่องปริมาณ คุณภาพ ยิ่งวิชาชีพที่เกี่ยวกับสุขภาพประชาชน ตรงนี้จึงต้องให้ความสำคัญ และเราก็ห่วงใยเรื่องนี้” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

เตรียมหารือ สธ. ขอทิศทางผลิต-กระจายแพทย์อย่างเหมาะสม
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องหารือกับภาคส่วนอื่นๆด้วยหรือไม่ ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระบรมราชชนก หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ  นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า  ต้องหารือร่วมกันทั้งหมด ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแพทย์ เราต้องมาคุยกันอย่างชัดเจนว่า จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป จริงๆ ต้องมีการหารือกับแพทย์ผู้ปฏิบัติงานด้วยก็จะช่วยได้มาก เรื่องนี้ต้องจริงจัง

เมื่อถามว่าขณะนี้มีปัญหาภาระงานแพทย์กันมาก การแก้ปัญหาการผลิตแพทย์จะตอบโจทย์หรือไม่ หรือต้องเน้นการกระจายแพทย์ให้เหมาะสม ประธานสพศท. กล่าวว่า การกระจายแพทย์เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งภาระงานของแพทย์เป็นเรื่องที่คุยกันมานาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม การเร่งผลิตแพทย์ต้องเข้าใจว่า มีส่วนหนึ่งลาออกไปด้วย ทำให้สูญเสียบุคลากรมากอยู่ ตรงนี้ต้องหาทางออกในการป้องกันปัญหาการสูญเสียบุคลากรด้วย ทั้งนี้ ในส่วนสมาพันธ์แพทย์รพศ.รพท.จะมีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีบทบาทสูงเรื่องนี้ ซึ่งเราก็มีข้อมูลบางอย่าง หากได้คุยกันหาทางออกร่วมกัน ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

8 ข้อปัญหาผลิตแพทย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอที่ทาง สพศท. ส่งถึงแพทยสภา ทางเพจเฟซบุ๊กสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ได้โพสต์รายละเอียด ใจความโดยสรุปว่า

1.จำนวนแพทย์โดยรวมในปัจจุบันเพียงพอแล้ว สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก การเพิ่มอัตราผลิตมากเกินไปจะทำให้ขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต เป้าหมายอัตรากำลังแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะเพียงพอในระยะเวลาไม่กี่ปี ตำแหน่งบรรจุข้าราชการจะไม่เพียงพอสำหรับแพทย์จบใหม่

2.ควรมีระบบการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ

3.ควรปรับระยะเวลาการฝึกอบรมให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับบริบทระบบสุขภาพไทย ทั้งนี้ ประมาณ 50 ปี หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ของไทยใช้เวลา 7 ปี แต่เนื่องจากความขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรง แพทยสภาจึงลดเวลาฝึกอบรมลงเหลือ 6 ปี เพื่อให้แพทย์ไปทำงานในชนบทได้เร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อปัจจุบันความขาดแคลนแพทย์ไม่รุนแรงแล้ว ก็ควรปรับหลักสูตรฝึกอบรมกลับมาเป็น 7 ปีเช่นเดิม   

4.หลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ บางหลักสูตร ลดมาตรฐานในการผลิตลง ได้แก่ หลักสูตรแพทย์ 4 ปี ซึ่งสหรัฐฯ รับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วเข้ารับการฝึกอบรม โดยศึกษาพื้นฐานการแพทย์ 2 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 2 ปี รวม 4 ปี จึงได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากนั้นต้องฝึกงานอีก 1-3 ปี จึงมีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่หลักสูตรที่ไทยนำมาปรับใช้ ลดเวลาศึกษาพื้นฐานการแพทย์เหลือ 1.5 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 1 ปี อีก 1.5 ปี ไปดูเรื่องอื่นๆ เมื่อศึกษาครบ 4 ปีแล้ว สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้เลยโดยไม่ต้องฝึกงาน เป็นการลดมาตรฐาน หรือกรณีหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา เป็นต้น

5.คณะแพทยศาสตร์ที่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์หลายหลักสูตร แต่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาเพียงหลักสูตรเดียว กลับใช้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองแล้วมาประยุกต์ใช้ แล้วถือว่าผ่านการประเมินตามกันไปด้วย แพทยสภาจึงควรรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ทุกหลักสูตรแยกจากกัน
 
6.ควรมีข้อบังคับสำหรับการรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ต่างประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าหลักสูตรแพทย์ของไทย

7.แพทยสภาควรควบคุมมาตรฐานของหลักสูตร และคณะแพทย์ต่างๆ โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ในการรับรองหรือไม่รับรองปริญญา คณะ หลักสูตรใด และยังสามารถควบคุมการเปิดของคณะแพทย์ที่ไม่พร้อม และหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานได้ แ

8.แพทยสภาควรเผยแพร่รายชื่อหลักสูตร และคณะแพทย์ที่ผ่านการรับรอง เพื่อป้องกันปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม

9 ข้อเสนอการปรับปรุงกระบวนการหลักสูตรแพทยศาสตร์
ส่วนข้อเสนอเพื่อปรับปรุงกระบวนการขอเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และรับรองสถาบันผลิตแพทย์ ดังนี้

1. การเพิ่มอัตราการผลิตอาจไม่มีความจำเป็นแล้ว และอาจลดการผลิตลงหากประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของแพทยศาสตร์บัณฑิต

2. การประเมินว่าคณะแพทย์ใดจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด ควรใช้ เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555 มาเป็นแนวทางในการพิจารณา หากคณะแพทย์ใดไม่สามารถจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับการผลิตตามเกณฑ์ดังกล่าวได้ ไม่ควรอนุญาตให้เปิดคณะแพทย์นั้น ให้ลดจำนวนการผลิต หรือปิดคณะแพทย์นั้นๆ ไปก่อน

3. การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม ควรกระทำโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯหรือแพทยสภา หรือด้วยแบบทดสอบที่นานาชาติยอมรับ หรือ สอบแข่งขัน

4. ปรับระยะเวลาการฝึกอบรมเป็น 7 ปี โดยฝึกอบรมในสถานศึกษา 6 ปี ฝึกงานในสถานพยาบาล 1 ปี โดยปรับโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นการฝึกงานในสถานพยาบาลภายใต้การกำกับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและปรับการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากหลังรับปริญญา เป็นสอบหลังฝึกงานครบ 1 ปี

5. ขอให้พิจารณาว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต 4 ปี และหลักสูตรแพทยศาสตร์ 2 ปริญญา มีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการลดมาตรฐานการผลิต ควรยกเลิกหลักสูตรแพทย์ 4 ปี และหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา นำนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรปกติ ให้การช่วยเหลือนักศึกษาโดยการเปรียบเทียบหน่วยกิต จากวิชาที่ได้รับการศึกษามาแล้ว

6. คณะแพทย์ที่มีหลักสูตรแพทย์หลายหลักสูตร ทุกหลักสูตรควรได้รับการประเมินโดยแพทยสภาแยกกัน

7. แพทยสภาควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้รับรองคณะแพทย์ต่างประเทศเฉพาะคณะแพทย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือคณะแพทย์ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้รับการรับรองจาก WFME และรับรองเฉพาะหลักสูตรที่มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าหลักสูตรของไทย ทั้งก่อนการสอบเพื่อรับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพเวชกรรมควรฝึกงานในสถานพยาบาลในประเทศไทยก่อนอย่างน้อย 1 ปี

8. แพทยสภายึดถือหลักการไม่อนุมัติให้แพทย์ที่จบจากคณะแพทย์หรือหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา สอบเพื่อรับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยเคร่งครัด

9. แจ้งรายชื่อคณะและหลักสูตรแพทย์ทั้งในและต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง ไปยังกระทรวงศึกษาธิการเป็นประจำทุกปี และทุกครั้งที่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนคณะหรือหลักสูตรแพทย์ที่แพทยสภาให้การรับรอง

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ล่าสุดกรรมการแพทยสภาได้มีการประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเสนอส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป

Friday, 12 May 2023
https://www.hfocus.org/content/2023/05/27640

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เห็นด้วย สพศท. ผลิตแพทย์ต้องมีคุณภาพ แต่ค้านปม “หมอเพียงพอ” เหตุหลายพื้นที่ยังสีแดง ขณะที่การกระจายตัวมีปัญหา  ยังเห็นต่างกรณีตำแหน่ง ขรก.จำกัดทำให้เพิ่มแพทย์ไม่ได้ แท้จริงควรเพิ่มหมอตามความต้องการของประชาชน เดินหน้าลดชม.ทำงานดีสุดเท่ากม.แรงงาน 48ชม./สัปดาห์ หากรบ.ใหม่ รมว.ใหม่มาเตรียมข้อมูลเข้าหารือ

ตามที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ทำหนังสือถึงแพทยสภาเรื่อง ขอให้แพทยสภาพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา และสถาบันผลิตแพทย์ โดยใจความสำคัญกังวลว่า หากผลิตแพทย์มากเกินไปอาจมีเรื่องคุณภาพ ต้องมีการควบคุมคุณภาพให้สำคัญ  ขณะที่จำนวนแพทย์ในปัจจุบันมีจำนวนมากพอ ไม่จำเป็นต้องเร่งผลิตเพิ่มอีก โดยแพทยสภาได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท) เพื่อพิจารณาด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร   สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน  ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงกรณีดังกล่าว ว่า  เห็นด้วยที่ไม่ควรลดคุณภาพแพทย์ เพราะความรับผิดชอบต้องมาพร้อมกับความสามารถที่เพียงพอ  การผลิตแพทย์ ต้องมีคุณภาพด้วย เพราะแพทย์ต้องรับผิดชอบชีวิตของคน เราไม่ควรลดมาตรฐาน แต่การที่ระบุว่า ภาพรวมประเทศไทยมีแพทย์เพียงพอแล้ว อันนี้ไม่น่าจะใช่  แม้พิจารณาตัวเลขเฉลี่ยขององค์การอนามัยโลกระบุว่า สัดส่วนแพทย์ควรมี 1 ต่อคนไข้ 1,000 คน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีสัดส่วนแพทย์ประมาณ 1 ต่อคนไข้ 1,000-1,200 คน แต่ทั้งหมดเป็นตัวเลขกลมๆ  เราไม่รู้ว่ามีแพทย์ทำงานจริงๆ กี่คน แต่ละเขตสุขภาพ แต่ละจังหวัดมีจำนวนเท่าไหร่ และยังไม่มีการเก็บข้อมูลละเอียดว่า แพทย์ 1 คนทุกวันนี้ดูแลคนไข้เท่าไหร่ อย่างไร

หมอดูแลคนไข้ยังขาดแคลน หลายพื้นที่สีแดง
นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า  จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เราจะเห็นภาพจำนวนแพทย์แต่ละจังหวัด อย่างกรุงเทพฯ ขึ้นสีเขียว มีแพทย์จำนวนมาก แต่หลายจังหวัดก็ยังเป็นพื้นที่สีแดง แพทย์ไม่พอ  ดังนั้น จากข้อมูลตรงนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่า แพทย์เพียงพอแล้วจริงหรือไม่ และการกระจายตัวแพทย์ให้ดีจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ หากตอนนี้หมอเพียงพอจริง ทำไมเรายังเห็นหมออินเทิร์น อยู่เวรเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องร่วมกันแก้ไข ร่วมกันหารือ และกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาจริงๆ

“จริงๆ เราเข้าใจทางสมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เพราะคำนึงถึงคุณภาพของการเรียนการสอน ซึ่งไม่ควรลดคุณภาพ อันนี้เห็นด้วย แต่มีจุดหนึ่งที่อยากเพิ่มเติมคือ กรณีที่ระบุว่า ด้วยตำแหน่งข้าราชการไม่พอ ทำให้การเพิ่มแพทย์มีปัญหานั้น เรื่องนี้ไม่ควรเพิ่มแพทย์ตามตำแหน่งที่มี แต่ควรผลิตแพทย์เพิ่มตามความต้องการของประชาชน และค่อยไปเพิ่มตำแหน่งข้าราชการให้เท่ากับความต้องการ เราควรอิงประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่อิงตำแหน่ง” นพ.ณัฐ กล่าว

ใช้คำว่า "แพทย์" อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็น "แพทย์ที่ทำงานต้องพอ"
นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า  เมื่อพูดภาพรวมว่าแพทย์เพียงพอก็อาจคิดเช่นนั้นได้ แต่ที่จริงก็ยังมีแพทย์ที่ไม่ได้ลงมาทำงาน เหมือนแพทย์อินเทิร์น แพทย์ใช้ทุน เพราะแพทย์บางคนเป็นผู้บริหาร บางคนไปเรียนต่อ บางคนไปเป็นอาจารย์ ไม่ได้อยู่เวรเต็มที่เหมือนแพทย์จบใหม่ ดังนั้น หากพูดได้ถูกต้อง ต้องระบุให้ชัดว่า แพทย์ที่ทำงานต้องพอ ไม่ใช่ใช้คำว่า “แพทย์” อย่างเดียว จริงๆไม่ใช่แค่แพทย์อินเทิร์นที่มีปัญหาภาระงาน แพทย์อื่นๆ อย่างแพทย์สาขาอื่น เช่น ศัลยกรรมต่างๆ ก็ยังมีปัญหา เรื่องนี้ต้องแก้ไขให้เป็นระบบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีร่วมกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เข้าหารือกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แก้ปัญหาภาระงาน นพ.ณัฐ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ร่วมกับกมธ.การแรงงาน เพื่อหารือ สธ.ช่วยแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานที่มากเกินกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และควงเวรติดต่อกัน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ซึ่ง สธ.รับทราบปัญหา เข้าใจว่าล่าสุดแต่ละโรงพยาบาลกำลังรับนโยบายและขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งตนยังไม่ทราบความคืบหน้าว่า ผลดำเนินการเป็นอย่างไร 

ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ดีที่สุดต้องเท่ากฎหมายแรงงาน 48 ชม./สัปดาห์
นพ.ณัฐ กล่าวอีกว่า  ขณะนี้ไม่ทราบว่าผลการดำเนินการแก้ไขเป็นอย่างไร มีความคืบหน้าถึงไหน ทางสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานก็จะยังขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป โดยหากรัฐบาลใหม่มา มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านใหม่ เราก็จะขอเข้าพบ เพื่อขอทำงานร่วมกันกับกระทรวงฯ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้มีทิศทาง และติดตามผลการดำเนินงานอย่างชัดเจน

“เบื้องต้นเรายังคงเสนอให้ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ต้องต่ำกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และให้ลดลงไปถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และสุดท้ายในอนาคตที่แพทย์เพียงพอ ถ้าลงไปได้ถึงเท่ากฏหมายแรงงาน ก็คือ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  ส่วนการควงเวรติดต่อกันไม่ควรเกิดขึ้น ควงให้แพทย์ได้พัก เพราะมีข้อมูลการศึกษาว่า หากแพทย์ไม่ได้พักย่อมมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ส่งผลกระทบทั้งแพทย์ และผู้ป่วยได้” สมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าว

Saturday, 13 May 2023
https://www.hfocus.org/content/2023/05/27647

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
ตัวเลขเปรียบเทียบระหว่างแพทย์กับจำนวนประชากรในประเทศไทย ซึ่งล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา แพทยสภาได้เปิดเผยรายงาน ประจำปี 2558 ระบุว่า ปัจจุบันหมอ 1 คน ต้องดูแลคนไข้เฉลี่ย 1,377 คนต่อปี ได้จุดกระแสสังคมให้หันมาสนใจ ปัญหาในวงการแพทย์และสาธารณสุขอีกครั้ง..

ปริมาณคนไข้เฉลี่ยต่อปีที่แพทย์แต่ละคนต้องรับผิดชอบ ซึ่งสูงเกือบ 1,400 คน ไม่เพียงบ่งบอกถึงภาระอันหนักอึ้ง ที่หลายครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และคุณภาพชีวิตเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงปัญหาภายในวงการเสื้อกาวน์ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานรับผิดชอบหลักอย่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ จะพยายามแก้ไขอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้ ไม่ได้ถูกคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากนัก

"จำนวนหมอต่อประชากรของประเทศไทย ถ้าพูดจริงๆ ก็ต้องบอกว่าอยู่ในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เมื่อประกอบกับปัญหาการกระจายตัวของแพทย์โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และการไหลออกนอกระบบจากภาครัฐไปสู่เอกชน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาในลักษณะที่ว่า แม้จะมีการผลิตแพทย์เข้ามาเติมเท่าไหร่ ก็เติมไม่เต็ม" ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดประเด็นอย่างตรงไปตรงมา

ดร.วิโรจน์ บอกว่า แม้ภาพรวมปริมาณคนไข้ที่หมอแต่ละคนต้องดูแลจะมากกว่าที่ควรจะเป็น แต่หากจะให้ตอบอย่างชัดเจนว่าประเทศไทย ต้องมีหมอจำนวนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการนั้น ในความเป็นจริงก็ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน เนื่องจากต้องดูองค์ประกอบหลายอย่างรวมกัน โดยเฉพาะระบบการบริหารจัดการของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวเลขจากแพทยสภาที่ระบุว่า หมอ 1 คนดูแลคนไข้เกือบ 1,400 คน ในความเป็นจริงคิดว่าน้อยไป ตอนนี้หมอ 1 คนอาจต้องดูแลผู้ป่วยประมาณ 3,000 - 4,000 คน เพราะตัวเลขจำนวนแพทย์รวมทั้งประเทศ 50,000 กว่าคนนั้น ส่วนตัวคิดว่าตัดสัดส่วนหมอที่ไม่ได้ปฏิบัติงานและที่เกษียนออกไปค่อนข้างน้อย ปัจจุบันที่ยังปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ น่าจะประมาณ 30,000 กว่าคน เมื่อหักจำนวนหมอที่ทำงานอยู่ภาคเอกชน ซึ่งน่าจะมีอยู่ประมาณเกือบ 20,000 คน เท่ากับว่าภาครัฐเหลือหมอที่ปฏิบัติงานอยู่เพียงแค่ 10,000 กว่าคนเท่านั้น

"จริงๆ แล้ว สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เลวร้ายมากนัก ถ้าแพทย์กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอทั่วประเทศ แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ เพราะว่าระบบของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย ขณะนี้พบว่าจำนวนเตียงรวมกันพอๆ กับโรงพยาบาลรัฐ แต่ดูแลคนเพียงแค่ประมาณ ร้อยละ 20 ในขณะที่มีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรและบุคลากรที่มากกว่า แต่ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ก็ต้องบอกว่าสถานการณ์ของไทยดีกว่า แต่หากเทียบกับญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา ของเขาหมอ 1 คน ดูแลคนไข้เฉลี่ยแล้วมากสุดอาจแค่ 800 คน"

นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข อธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าลองวิเคราะห์โดยคิดจากฐานตัวเลขหมอ 1 คนต่อคนไข้ 3,000 คน หากทุกคนหาหมอปีละ 2-3 ครั้ง ในแต่ละวันหมออาจจะต้องตรวจเฉลี่ย 60 คน เป็นอย่างต่ำ ด้วยจำนวนที่ค่อนข้างเยอะ ผลที่ตามมาจึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ในการตรวจวินิจฉัยที่ไม่แม่นยำมากนัก หากสมมติว่าแพทย์มีเวลาตรวจคนไข้แค่ช่วงเช้า 3 ชม. โดยไม่พัก เฉลี่ยแล้วจะตรวจได้แค่คนละ 3 นาที หากคนไข้ไม่ได้เป็นโรคที่ซับซ้อน หรือแค่นัดติดตามผลก็ยังพอโอเค แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยรายใหม่และบังเอิญเป็นโรคที่ต้องอาศัยการพูดคุย และตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดรอบครอบ ก็อาจเสี่ยงต่อการข้อผิดพลาดได้

สอดคล้องกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วรพล อร่ามรัศมีกุล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่บอกว่า จากสถานการณ์และความเป็นจริงในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าปัญหาแพทย์ไม่เพียงพอนั้นเป็นเรื่องจริง แต่อย่างไรก็ตามหากเจาะลึกในรายละเอียด จะพบว่าปัญหาดังกล่าวเชื่อมโยงกับ การกระจายตัวของแพทย์ในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะในเขตชนบท ซึ่งประเด็นหลังถือเป็นปัญหาที่แก้ไขค่อนข้างยาก แม้ว่าจะมีการบังคับให้นักศึกษาแพทย์ที่เรียนจบต้องใช้ทุน 3 ปี โดยปีแรกไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จากนั้นอีกสองปีให้ย้ายไปประจำโรงพยาบาลชุมชน แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถแก้ปัญหา หมอโรงพยาบาลชุมชนขาดแคลนได้ โดยจากการติดตามพบว่าหลังใช้ทุนครบ จะเหลือแพทย์ที่ทำงานต่อในโรงพยาบาลชุมชนเพียง ร้อยละ 20 ที่เหลือส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะตรงนี้ถือเป็นความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

"เรื่องการขาดแคลนแพทย์ต้องแบ่งเป็น 2 ประเด็น เพราะถ้าดูเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ส่วนมากแพทย์ยังเพียงพอต่อความต้องการ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ชนบทห่างไกลจะเห็นภาพชัดเจน อย่างวันหนึ่งเปิดรับคนไข้นอก300 คน แต่มีหมออยู่คนเดียว แบบนี้เรียกว่าไม่เพียงพอแน่นอน แต่ถ้าถามว่าต้องสัดส่วนเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาด้วยว่าใช้เวลาตรวจมากน้อยขนาดไหน ถ้าเทียบกับสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู สัดส่วนที่เหมาะสมคือ 30 คนต่อวัน เพราะต้องใช้เวลาในการซักประวัติและสร้างความคุ้นเคย แต่ถ้าคนไข้เยอะเกินพอดี เวลาพูดคุยก็จะน้อยลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตาม"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วรพล อธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระยะเวลาตรวจที่มีอยู่อย่างจำกัด ย่อมส่งต่อประสิทธิภาพการตรวจรักษาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่งมาหาหมอเป็นครั้งแรก กรณีอย่างนี้ต้องใช้เวลาในการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เพราะทั้งสองขั้นตอนถือเป็นหัวใจสำคัญของการวินิจฉัย ส่วนการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันความถูกต้องแม่นยำนั้น ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญรองลงมาอีกขั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นอกจากต้องเร่งรีบในการตรวจรักษาแล้ว อีกปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม คือการที่แพทย์ต้องเวียนอยู่เวรตลอด 24 ชม. แม้จะมีเวลาพักระหว่างที่รอเคสผู้ป่วยเข้ามาบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ย่อมส่งผลต่อการตรวจรักษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ที่ระบุว่า ปัญหาแพทย์ขาดแคลนต้องแยกให้ชัดเจนว่า ขาดแคลนตรงส่วนไหน หากถ้าดูเฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าประสบปัญหาแพทย์ขาดแคลนอย่างแน่นอน แต่ถ้านับรวมปริมาณหมอทั้งหมดทั่วประเทศ พบว่าสำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น ในภาพรวมหมอไม่ได้มีน้อยกว่าประเทศอื่น ในขณะที่ปัจจุบันทุกภาคส่วนก็พยายามอย่างเต็มที่ ในการเพิ่มปริมาณการผลิตแพทย์ให้มากขึ้นในแต่ละปีโดยถ้าเทียบสัดส่วนการผลิตแพทย์ปัจจุบันกับสมัยก่อน จะเห็นภาพชัดเจนเพราะในอดีตต้องใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะผลิตแพทย์ได้ 10,000 คน แต่ตอนนี้ใช้เวลาแค่เพียง 3 ปีกว่าๆ เท่านั้นเอง ดังนั้น จึงไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่าประเทศไทยประสบปัญหาแพทย์ขาดแคลน เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่าน จำนวนแพทย์เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น และในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า ก็จะเพิ่มขึ้นอีกหมื่นกว่าคนเช่นกัน

"ปัจจุบันแต่ละปีจะมีนักเรียนแพทย์จบการศึกษาเกือบ 3,000 คน ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตคือ แพทย์ล้นไม่มีงานทำเพราะในภาครัฐมีตำแหน่งว่างเพียงปีละประมาณ 1,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาคเอกชนเขาก็รับเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์เฉพาะทาง ส่วนกองทัพเองก็ตำแหน่งเต็มเช่นเดียวกัน แม้แต่โรงเรียนแพทย์ก็ไม่ได้ขาดแคลนอาจารย์ ที่ขาดแคลนจึงมีอยู่ส่วนเดียวนั่นก็คือกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล ท่ามกลางการเร่งผลิตแพทย์อย่างเต็มกำลัง จึงต้องวางแผนรองรับให้ดีถ้าเบรกไม่ทันจะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน เพราะประชากรของไทยจะเพิ่มสูงสุดเป็น 68 ล้านคน ภายใน 4 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นจะลดลงอย่างต่อเนื่อง"

นายกแพทยสภา บอกว่า หลายคนอาจสงสัยว่าการมีแพทย์จำนวนมากๆ นั้น ไม่ดีหรือ ก็ต้องบอกว่าจากการศึกษาทั่วโลก พบว่าหากมีแพทย์มากเกินพอดี จะส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เนื่องจากแพทย์จะถูกแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านหมด จากเดิมที่ผู้ป่วย 1 คน มีหมอดูแลประจำตัว 1 คน จะกลายเป็นว่า เมื่อป่วยเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ จะมีหมอเฉพาะด้านมาตรวจวินิจฉัย ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ เมื่อกลับมาดูสัดส่วนหมอต่อจำนวนประชากรภาพรวมของประเทศไทย จริงๆ แล้วถ้ายึดตามสัดส่วนองค์การอนามัยโลก ตอนนี้ของเราดีกว่ามาตรฐานแล้ว แต่ถ้าจะให้ดีเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว หมอ 1 คน จะต้องรับผิดชอบประชากร น้อยกว่า 1,000 คน แต่ว่าถ้าดูเฉพาะในกรุงเทพฯ หมอ 1 คนดูแลแค่ผู้ป่วยแค่ 700 - 800 คนเท่านั้นเอง

30 พ.ย. 2558
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/19405

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
ความไม่สมดุลระหว่างจำนวนแพทย์กับประชากรในประเทศไทย หากมองอย่างลึกซึ้งจะพบว่าภายใต้ปัญหาใหญ่นี้ ยังมีอีกหลายประเด็นย่อยที่เชื่อมโยงกันอยู่ ความเห็นจากผู้คลุกคลีในวงการแพทย์และสาธารณสุข ต่างสะท้อนออกมาในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือปัญหาความขาดแคลนแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย ด้านหนึ่งแม้จะเป็นผลจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรและงบประมาณ เนื่องจากการผลิตแพทย์นั้นใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ระบบการกระจายตัวแพทย์เองก็ยังมีปัญหา ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยจำนวนแพทย์ต่อประชากรในเมืองใหญ่ มาก

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ แม้หลายภาคส่วนโดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบ จะเร่งมาตรการหลายๆ ด้าน เพื่อผลิตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ทว่าการเพิ่มจำนวนนักศึกษาแพทย์ในเชิงปริมาณนั้น ได้นำมาซึ่งคำถามที่ว่าการเร่งผลิตแพทย์ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพมาตรฐานหรือไม่ ?

"นอกจากข้อจำกัดในด้านงบประมาณแล้ว จำนวนเคสผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอต่อการฝึกปฏิบัติ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ในแต่ละปี โรงเรียนแพทย์แต่ละแห่งไม่สามารถเพิ่มจำนวนนักเรียนได้มากนัก เพราะสิ่งสำคัญของการเรียนแพทย์นั้น นอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังต้องอาศัยการฝึกฝนปฏิบัติด้านทักษะหัตถการด้วย เมื่อไปตรวจรักษาจริงจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วรพล อร่ามรัศมีกุล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชี้ถึงอีกหนึ่งข้อจำกัดที่ทำให้การผลิตแพทย์ ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้มากนักในแต่ละปี

อาจารย์หมอวรพล อธิบายต่อไปว่า สำหรับประเด็นด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเรียนแพทย์ จริงๆ แล้วในแต่ละปีแต่ละโรงเรียนแพทย์จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยให้โรงเรียนแพทย์นำไปต่อยอดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ดีขึ้น แต่หากถามว่าเพียงพอหรือไม่ ต้องตอบว่ายังไม่พอ เมื่อประกอบกับการขาดแคลนบุคลากรด้านอื่นๆ จึงทำให้โรงเรียนแพทย์หลายที่ไม่สามารถขยายชั้นเรียนได้ แต่เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการ ช่วงหลังทุกหน่วยงาน จึงเพิ่มปริมาณการผลิตแพทย์ในทุกช่องทาง

ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงคุณภาพของบัณฑิตแพทย์รุ่นใหม่ ซึ่งในประเด็นนี้ต้องขอเรียนว่า บัณฑิตแพทย์ทุกคนในประเทศไทย ล้วนจบออกมาด้วยมาตรฐานระดับสากล เพราะในทางปฏิบัติกว่าที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง จะสามารถเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ได้ จะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานจากกระทรวงศึกษาธิการ และถูกตรวจควบคุมคุณภาพจากหน่วยงานวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันแพทยสภาใช้เกณฑ์มาตรฐานของ องค์กรสากลที่รับรองมาตรฐานหลักสูตรแพทย์ทั่วโลก (World Federation for Medical Education: WFME) ตรวจประเมินโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งในประเทศไทย

"นอกจากกระบวนการควบคุมมาตรฐานเชิงระบบแล้ว การคัดเลือกเด็กนักเรียนที่เข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ ก็มีกระบวนการสอบคัดเลือก เมื่อเรียนจริงแต่ละหลักสูตรก็จะมีการสอบวัดผล โดยกำหนดเป็นเกณฑ์ว่านักศึกษาจะต้องผ่านอะไรบ้าง ถึงจะสามารถรับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต ไม่เพียงเท่านั้นบัณฑิตแพทย์ยังต้องสอบมาตรฐานกลาง จากแพทยสภาเพื่อวัดคุณภาพ ว่าสิ่งที่เรียนมาได้มาตรฐานตามข้อกำหนดหรือไม่ หากสอบผ่านจึงจะได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่ถ้าสอบไม่ผ่านก็ไม่มีสิทธิปฏิบัติงานเป็นแพทย์ได้" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วรพล ย้ำ

เช่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า แม้ปัจจุบันการเปิดรับนักศึกษาแพทย์จะเพิ่มมากขึ้น แต่มาตรฐานการเรียนการสอนยังคงเดิม เพราะมาตรฐานการเรียนแพทย์นั้น มีสภาวิชาชีพคอยควบคุมดูแลอยู่ ที่สำคัญคือลักษณะการเรียนการสอนเป็นแบบกลุ่มเล็กๆ โดยเน้นฝึกทักษะข้างเตียง ฝึกปฏิบัติทางคลินิกแบบกลุ่มย่อย ทำให้นักเรียนทุกคนได้รับการสอนที่ทั่วถึง เป็นไปในมาตรฐานและทิศทางเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับความเห็นส่วนตัว มองว่าจริงๆ แล้ว คนที่เรียนแพทย์อาจไม่ต้องเป็นคนที่เรียนเก่งมาก แต่ต้องเป็นคนที่มีความขยันและรับผิดชอบสูง ซึ่งโดยปกติแล้วคนที่เลือกเรียนแพทย์ มักจะมีความตั้งใจและมุ่งมั่นเป็นทุนอยู่แล้ว

"การเรียนแพทย์ไม่ได้หมายความว่า เรียน 6 ปี จบแล้วจบเลย แต่สิ่งสำคัญคือต้องปลูกฝั่งตั้งแต่แรก ให้บัณฑิตที่จบออกมามีความตั้งใจและมุ่งมั่น เพื่อสังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง ดังนั้น ความยากจึงอยู่ที่จะปั้นคนอย่างไร ให้จบออกมาแล้วเป็นแพทย์ที่ดี ขณะที่การสอบผ่านเข้ามาเรียนแพทย์ได้นั้น แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น" อาจารย์หมออรพรรณ บอกกับเรา

สอดคล้องกับ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ที่ระบุว่า การจะเปิดคณะแพทยศาสตร์ต้องผ่านการตรวจสอบความพร้อม และการควบคุมคุณภาพเป็นระยะจากแพทยสภา ไม่เพียงเท่านั้นก่อนจะได้รับใบประกอบวิชาชีพ บัณฑิตแพทย์ทุกคนจะต้องสอบให้ผ่านมาตรฐานกลาง ถึงจะมีสิทธิไปปฏิบัติหน้าที่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ได้ โดยปัจจุบันโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย แบ่งออกตามสังกัด คือ 1.กระทรวงศึกษาธิการ แยกย่อยเป็นมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน 2.กระทรวงสาธารณสุข 3.กองทัพบก และ 4.กรุงเทพมหานคร ซึ่งในภาพรวมแม้จะมีหลายต้นสังกัด แต่มาตรฐานการผลิตแพทย์ของแต่ละที่นั้น ไม่ได้แตกต่างกันอย่างที่หลายคนเป็นกังวล เนื่องจากทุกแห่งอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตาม แม้กระบวนการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด จะสามารถช่วยให้การผลิตแพทย์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด แต่เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการรับนักศึกษาแพทย์ ได้เปิดโอกาสนักเรียนที่มีมุ่งมั่นตั้งใจเข้ามาศึกษาได้มากขึ้น นอกจากการรับผ่านระบบรับตรงโดยและการสอบแข่งขัน ยังมีการรับนักศึกษาแพทย์ผ่านโครงการพิเศษอื่นๆ ด้วย การเปิดรับที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ นายกแพทยสภา ยอมรับว่า ย่อมส่งผลกระทบทำให้คุณภาพของบัณฑิต ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วที่ประเทศอินเดีย เพราะที่ผ่านมาเขาเร่งผลิตแพทย์จนล้น เมื่อในประเทศไม่มีงานทำก็พยายามจะส่งมายังประเทศไทย ผ่านโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ แต่ประเทศไทยไม่ได้รับเข้ามา เนื่องจากมีปัญหาด้านคุณภาพของบัณฑิต

"ปัจจุบันเราเปิดโอกาสให้เด็กเข้ามาเรียนแพทย์ได้มากขึ้น เหตุผลสำคัญคือการเพิ่มปริมาณให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร ดังนั้น ในแง่ของการคัดเลือกเด็กจึงขยายโอกาสมากขึ้น จากเดิมที่คัดเฉพาะเด็กที่เก่งระดับหัวกระทิ ก็เปิดกว้างมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เรียนเก่งรองลงมา จะปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ได้ไม่ดี เท่าเด็กที่เรียนเก่งที่หนึ่งของชั้น เนื่องจากกระบวนการเรียนการสอนทางการแพทย์นั้น มีทั้งข้อมูลวิชาการที่ต้องอาศัยความเข้าใจและการท่องจำ ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติจริง เมื่อเรียนจบออกมาแล้วจึงมั่นใจได้ว่า บัณฑิตแพทย์แต่ละคนมีความสามารถใกล้เคียงกัน" นพ.สมศักดิ์ ยืนยัน

ไม่ต่างกับ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่มองว่า แม้การคัดเลือกนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบัน จะเปิดที่นั่งให้เด็กที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเข้าไปเรียนมากขึ้น แต่ในแง่ของคุณภาพของบัณฑิตหลังจากจบการศึกษา ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับมาตรฐานตามข้อกำหนดที่วางไว้ ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากแพทย์ยุคเก่า ที่ถูกคัดเลือกเข้ามาด้วยความเก่งระดับหัวกระทิ เพียงแต่ว่าในแง่ของการตรวจรักษาอาจต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตรวจวินิจฉัย แพทย์ยุคใหม่จึงอาจพึ่งเครื่องมือมากขึ้น เพื่อให้การตรวจรักษาเป็นไปตามระบบป้องกันข้อผิดพลาด ดังนั้น ด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากอดีต จึงอาจพูดได้ว่าคุณภาพของแพทย์ในยุคปัจจุบันลดลงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ลดลงมากจนส่งผลกระทบหรือไม่สามารถยอมรับได้

"ส่วนตัวผมไม่ได้กังวลว่าความเก่งของหมอในยุคปัจจุบัน จะสู้หมอยุคเก่าไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เคสที่ป่วยหนักและเป็นโรคที่รักษายาก และจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง ผลที่ออกมาก็ไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญอย่าลืมว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นดีขึ้นมาก ซึ่งในทางปฏิบัติวิทยากรเหล่านี้ ได้เข้ามาช่วยให้กระบวนการรักษา ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในเวลาเดียวกัน" ดร.วิโรจน์ ขยายความให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

ผู้อำนวยการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข บอกด้วยว่า จริงๆ แล้ว คุณภาพและมาตรฐานของบัณฑิตแพทย์ ไม่มีคำจำกัดความตายตัว เนื่องจากรูปแบบการรักษาผู้ป่วยแต่ละโรคนั้นแตกต่างกัน ซึ่งหากแพทย์ทำตามแนวทางข้อกำหนดการรักษาครบถ้วนแล้ว ในทางปฏิบัติก็ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

"ในความเป็นจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเก่งย่อมมีผลต่อประสิทธิภาพการรักษา แต่เนื่องจากการเรียนหมอต้องอาศัยทักษะที่หลากหลาย มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน ดังนั้น เมื่อออกมาปฏิบัติงานจริงจึงไม่ได้หมายความว่านักศึกษาที่เรียนเก่ง จะรักษาคนไข้ได้เก่งกว่า แต่ถ้าพูดให้ชัดก็คืออาจต้องเลือกว่า ถ้าจะเอานักเรียนแพทย์ที่เก่งที่สุด แต่ว่าสามารถผลิตหมอได้แค่ 500 คนต่อปี กับให้คนที่เก่งรองลงมาได้เข้ามาเรียนด้วย แล้วได้หมอปีละเกือบ 3,000 คน เราจะเลือกอะไร" ดร.วิโรจน์ ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ

9 ธ.ค. 2558
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/19887

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
ที่ประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยมีมติผลิตแพทย์ปีละ 3,000 คนต่อปี ส่วนงบประมาณต้องกลับไปทำรายละเอียดให้ ครม.พิจารณา

ศ.นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ว่า ได้ข้อสรุปในเรื่องการผลิตนักศึกษาแพทย์ของกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท. ) โดยมีมติให้มีการผลิตนักศึกษาแพทย์ปีละ 3,000 คน ตั้งแต่ปี 2561 – 2570 ส่วนเรื่องงบประมาณทาง กสพท.ได้นำข้อมูลมาชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้ที่ประชุมโดยเฉพาะสำนักงบประมาณได้รับทราบถึงงบประมาณที่ใช้ผลิตนักศึกษาแพทย์แต่ละคนต้องใช้งบปีละ 300,000 บาท อีกทั้งยังมีค่าใช้ค่าอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 2 ล้านบาทต่อคน ซึ่งทางสำนักงบประมาณมีความเข้าใจและจะช่วยผลักดันในการจัดสรรงบประมาณก้อนดังกล่าวให้ทั้งงบทุนการศึกษาและค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน แต่ระหว่างนี้ทาง กสพท.จะต้องไปจัดทำรายละเอียดการของบประมาณ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ก่อนจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่กำลังพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 อยู่ในขณะนี้ได้พิจารณาต่อไป

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังกล่าวอีกว่า แม้การผลิตแพทย์ปีละ 3,000 คนก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่แพทย์ยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอัตราแพทย์ต่อจำนวนประมาณ 1 ต่อ 800 คน แต่ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีอัตราแพทย์ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 2,500 คน ทั้งนี้คงไม่มีนโยบายเพิ่มการผลิตแพทย์มากกว่านี้ โดยคงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะไปปรับรูปแบบการใช้แพทย์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : นพรุจ กล่ำทอง
ผู้เรียบเรียง : ธนพิชฌน์ แก้วกา
แหล่งที่มา : Radio-สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

25 มิ.ย. 2561
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/WNSOC6106250010090

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9739
    • ดูรายละเอียด
แพทยาสภาชี้ รพ.สังกัด สธ.ยังขาดแคลน "หมอ" บางสาขาแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ทำให้ต้องอยู่เวร ทำงานนอกเวลา ห่วงปัญหาควงเวรยาวหลายวัน เหตุยังไม่มีเกณฑ์กำหนด ต้องเพิ่มจำนวนแพทย์ให้เพียงพอ เกิดมาตรฐานการทำงาน แพทย์ได้พัก แต่ไม่กระทบบริการประชาชน

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาล ขณะนี้มีอยู่ 5 กระทรวง โดยกระทรวงที่พบปัญหาขาดแคลนแพทย์มากที่สุดคือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี รพ. กว่า 900 แห่ง ซึ่งความขาดแคลนต่างกัน ทั้งจำนวนและสาขาที่ขาดแคลน ซึ่งเป็นความขาดแคลนในบางสาขา อย่างไรก็ตาม รพ.ที่เคยมีปัญหาขาดแคลน ขณะนี้ สธ. ก็บริหารให้ดีขึ้นแล้ว ทั้งนี้ การอยู่เวรของแพทย์ที่เป็นการทำงานนอกเวลาราชการ ขึ้นอยู่กับความขาดแคลนดังกล่าว เช่น บาง รพ. มีแพทย์ 2 คน ทำให้ต้องผลัดเวรทำงาน ทำงานช่วงเช้าแล้วเข้าเวรต่อ วันรุ่งขึ้นก็ทำงานต่อ เพราะแพทย์พยาบาล เอาผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ทำงานดูแลผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา โดยแพทยสภา ได้ออกคำแนะนำแล้วว่าการทำงาน 24 ชั่วโมง ควรจะมีโอกาสพักก่อนทำงานในรอบต่อไป ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์นี้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้ไขคือ ทำอย่างไรให้มีแพทย์ปฏิบัติการอยู่เวรเพียงพอ ทำงานอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากการทำงานของมนุษย์ที่ยาวนาน เกิดความเหนื่อยล้า จะส่งผลต่อการตัดสินใจ การทำงานที่ผิดพลาดง่าย ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อผู้ป่วย ทั้งด้านการรักษาและด้านอารมณ์ ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้แพทย์บางส่วนตัดสินใจลาออก ก็จะทำให้กำลังคนลดลงตามมา

“เรื่องหลักที่อยากให้ปรับคือการเพิ่มจำนวนแพทย์ ให้เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย โดยให้เกิดมาตรฐานการทำงานที่ปลอดภัยในช่วงเวลาที่ปลอดภัย และเวลาที่แพทย์จะได้พักต้องไม่กระทบต่อให้บริการประชาชนผ่านกระบวนการต่างๆ แต่เรื่องนี้จะต้องเชื่อมโยงไปถึงเพื่อนร่วมงานที่สำคัญคือ พยาบาล ที่จะต้องได้รับการดูแลเช่นกัน ต้องขอให้รัฐวิเคราะห์การทำงานใน รพ.ที่ขาดแคลน จากนั้นเปิดตำแหน่งให้เพียงพอ รักษาคนให้อยู่ในภาครัฐให้ได้” พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าว

16 พ.ค. 2566  ผู้จัดการออนไลน์