ผู้เขียน หัวข้อ: การประชุมมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลวันที่ 24-26 ม.ค.55  (อ่าน 1400 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จากข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เรื่องที่นพ.วิจารณ์ พาณิชได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานจัดการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นของผู้นำด้านสาธารณสุขจากนานาประเทศ ในประเด็นด้านสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของมนุษยชาติ โดยในปีนี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข, ม.มหิดล และองค์กรสุขภาพในระดับโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก, ธนาคารโลก, องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการประจำปี 2012 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ” ระหว่างวันที่ 24-26 ม.ค. 2555 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์

   ผู้เขียนได้ไปร่วมการประชุมนี้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๓ (ค.ศ. 2010)ที่มีผู้ร่วมจัดแบบเดียวกับในปีนี้ และได้เข้าร่วมฟังการอภิปรายเรื่องหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยที่เลขาธิการสปสช.คือนพ.วินัย สวัสดิวร ได้ไปร่วมอภิปรายในเวทีนานาชาติแห่งนี้ ที่ได้อ้างความสำเร็จของประเทศไทยว่า มีประชาชนได้รับการประกันสุขภาพทั้งหมด ๙๘% ของประชาชนทั้งประเทศ โดยกล่าวว่าประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพ ๓ ระบบคือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ ทำให้นานาประเทศชื่นชมยินดีว่าประเทศไทยก็ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ทำไมจึงสามารถจัดให้มีการประกันสุขภาพอย่างทั่วถึงได้

ผู้เขียนในฐานะไปร่วมฟังการอภิปรายจึงยกมือขอพูดบ้างว่า การที่ประเทศไทยอ้างว่ามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ Universal Coverage (UC) นั้นฟังดูเหมือนว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จแล้ว แต่ผู้เขียนได้บอกว่า ประเทศไทยยังต้องแก้ไขหรือปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพใหม่ เนื่องจากเวลานี้ ระบบหลักประกันสุขภาพไทยยังจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลแบบขาดดุล กล่าวคือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดทุนในการดำเนินการรักษาผู้ป่วยในระบบบัตรทอง จนมีโรงพยาบาลหลายแห่งขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนไม่มีเงินซื้อยามารักษาประชาชน เนื่องจากบริษัทยาไม่ยอมส่งยาให้เนื่องจากติดหนี้ค่ายาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ระบบบัตรทองยังบังคับแพทย์ให้ใช้ยารักษาโรคตามข้อกำหนดของสปสช.(ทั้งๆที่สปสช.ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรค) ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานและทันสมัยเหมือนผู้ป่วยในระบบอื่น เนื่องจากใช้เงินมาเป็นข้อจำกัดในการสั่งการรักษาของแพทย์

 และมีการโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้บริการฟรีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ส่งเสริมให้ประชาชนเอาใจใส่ในการสรางสุขภาพและป้องกันโรค ทำให้มีผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมากมายถึง ๒๐๐ ล้านครั้งต่อปี  จนโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมีภาระงานในการรักษาผู้ป่วยมากเกินกำลังของบุคลากร จนทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงอันตรายจากการไปรับการตรวจรักษาหรือรับบริการสาธารณสุขเนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ทำงานมากเกินกำลังจนไม่อาจรักษามาตรฐานวิชาชีพแพทย์ได้ ทำให้มีการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น และทำให้แพทย์ลาออกจากโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น

  เมื่อผู้เขียนได้พูดถึงข้อมูลจริงในฐานะผู้ปฏิบัติงานอย่างนี้ พิธีกรในการอภิปรายได้หันไปถามนายอัมมาร สยามวาลา ที่เป็นผู้ร่วมอภิปรายบนเวทีว่า ที่ผู้เขียนพูดไปนั้นเป็นจริงหรือไม่นายอัมมาร สยามวาลา ได้รับรองว่าที่ผู้เขียนกล่าวไปนั้น เป็นความจริงทุกประการ และกล่าวบนเวทีต่อหน้าผู้ฟังจากทั่วโลกว่า โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขไทยนั้นไม่มีมาตรฐานทางการแพทย์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์
ฉะนั้น เมื่อเลิกประชุม จึงมีผู้ร่วมประชุมจำนวนมาก มารุมซักถามผู้เขียน ในเรื่องระบบประกันสุขภาพไทย และว่า “มิน่าล่ะเขาไม่เข้าใจว่า ระบบประกันสุขภาพไทยให้เงินในการรักษาน้อยเหลือเกินมันจะเป็นไปได้อย่างไร”

  ในปีนี้จะจัดการประชุมแบบเดียวกันนี้อีก และก็จะมีแต่กลุ่มผู้บริหารกองทุนไปให้ข้อมูลด้านเดียวแก่ชาวโลก ผู้เขียนได้ติดต่อขอเข้าร่วมการประชุมนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธ แสดงว่าเขาไม่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลรอบด้าน ให้นานาชาติได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคในการจัดการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้ระบบประกันสุขภาพไทยล้มเหลว มาตรฐานทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติการในการดูแลรักษาประชาชนจะเลวลงทุกวัน ถ้ายังขาดเงินงบประมาณที่เหมาะสม ขาดบุคลากร และประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพ แต่ปล่อยปละละเลยการดูแลตัวเอง และหวังพึ่งการรักษาฟรีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น
และจะทำให้มาตรฐานการแพทย์ในระบบกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นบริการสาธารณะเพื่อประชาชนส่วนมากต้องถอยหลังลงคลองในไม่ช้า จะทำให้การบริการทางการแพทย์ไทยมีหลายมาตรฐาน และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ใช้ระบบบัตรทองอาจจะไม่ได้รับการบริการที่มีมาตรฐานอีกต่อไป

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)
๑๓ ม.ค. ๕๕