ผู้เขียน หัวข้อ: หนังสือจากสมาพันธ์แพทย์ รพศ/รพท ถึงแพทยสภา ประเด็น ปริมาณ/คุณภาพของแพทย์  (อ่าน 1465 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด


วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566
เรื่อง    ขอให้แพทยสภาพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา และสถาบันผลิตแพทย์ รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานหลังปริญญาในฐานะแพทย์ฝึกหัด เพื่อคุณภาพ และสมรรถนะของแพทยศาสตรบัณฑิต

เรียน    นายกแพทยสภา และกรรมการแพทยสภา

สิ่งที่ส่งมาด้วย    
1. บทความ มาตรฐาน และคุณภาพ ‘แพทย์’
2. บทความ มาตรฐาน และคุณภาพ ‘แพทย์’ ที่เผยแพร่ในเพจสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป พร้อมทั้งความคิดเห็นของผู้อ่าน และจำนวนการกดถูกใจและแสดงความรู้สึก
3. บทความ แพทยศาสตรศึกษาไทย.. จะไปทางไหน?
4. บทความ แพทยศาสตรศึกษาไทย.. จะไปทางไหน? ที่เผยแพร่ในเพจสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป พร้อมทั้งความคิดเห็นของผู้อ่าน และจำนวนการกดถูกใจและแสดงความรู้สึก

   เนื่องจากปัจจุบันมีคณะแพทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และแต่ละคณะต่างก็เพิ่มจำนวนการผลิต ทำให้มีแพทย์จบใหม่แต่ละปีประมาณ 3,000 คน และมีแนวโน้มว่าจำนวนแพทย์จบใหม่จะมากขึ้นในทุกๆ ปี การเพิ่มการผลิตแพทย์ส่งผลกระทบให้ทรัพยากรต่างๆ ต่อจำนวนนักศึกษาลดลง นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ บางหลักสูตรที่ลดมาตรฐานการผลิต รวมทั้งแพทย์ที่จบจากคณะแพทย์ในต่างประเทศบางคณะมีมาตรฐานการผลิตที่ต่ำกว่าคณะแพทย์ของไทย สิ่งเหล่านี้มีผลต่อคุณภาพแพทย์ และกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในที่สุด ทางสมาพันธ์ แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป มีข้อมูล และความคิดเห็น นำเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.   จำนวนแพทย์โดยรวมในปัจจุบันเพียงพอแล้ว การเพิ่มอัตราผลิตมากเกินไปจะทำให้ขาดแคลนทรัพยากรในการผลิต

   ปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของไทยได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก(1)(2)(3) เป้าหมาย
อัตรากำลังแพทย์กระทรวงสาธารณสุขจะเพียงพอในระยะเวลาไม่กี่ปี ตำแหน่งบรรจุข้าราชการจะไม่เพียงพอสำหรับแพทย์จบใหม่(4) นอกจากนี้อัตราการเกิด และจำนวนประชากรไทยยังลดลงต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน(2) ในภาพรวมจำนวนแพทย์ไม่น่าจะอยู่ในภาวะขาดแคลนเหมือนในอดีตแล้ว การผลิตแพทย์จำนวนมากส่งผลให้ทรัพยากรต่างๆ ต่อจำนวนนักศึกษาลดลง จนแพทยสภาต้องปรับลดจำนวนหัตถการที่ทำได้เมื่อจบแพทยศาสตรบัณฑิต และเมื่อจบโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะลง นอกจากนี้แพทยสภายังต้องอนุญาต ให้ใช้สื่อการเรียนการสอน สื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนได้ ในกรณีที่ไม่มีผู้ป่วยหรือหัตถการ(5)(6)

2.   ควรมีระบบการคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมควรมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดี สถาบันฝึกอบรมไม่ควรคัดเลือกเอง
เพราะถือเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ทำให้การคัดเลือกมีอคติได้ ไม่ว่าอคตินั้นจะเกิดจาก ค่าบำรุงการศึกษา เงินบำรุงจากรัฐบาล ถือเป็นผลงานของผู้บริหาร หรือเป็นเกียรติยศของสถาบันก็ตาม การคัดเลือกควรกระทำโดยสถาบันด้านวิชาการที่มีความเป็นกลาง ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษาหรือแพทยสภา หรือด้วยแบบทดสอบที่นานาชาติยอมรับ เช่น MCAT โดยกระทรวงการอุดมศึกษาหรือแพทยสภาเป็นผู้กำหนดคะแนนขั้นต่ำ

3.   ควรปรับระยะเวลาการฝึกอบรมให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเหมาะสมกับบริบทระบบสุขภาพไทย

หลักสูตรแพทย์ประเทศตะวันตกใช้ระยะเวลาฝึกอบรม 7-8 ปี ขึ้นไป แต่จบแล้วยังรักษาผู้ป่วยไม่ได้ ต้องฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางก่อน ส่วนหลักสูตรของไทยจบแล้วสามารถรักษาได้ทุกโรค กลับใช้ระยะเวลาเพียง 6 ปี จนแพทย์ไทยขาดทักษะและประสบการณ์ที่เพียงพอ กระทั่งแพทยสภาต้องจัดโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะขึ้น ยังมีรายงานวิจัยพบว่านักศึกษาแพทย์ไทยประสบปัญหาสุขภาพจากการฝึกอบรมอย่างหนัก(7) นอกจากนี้ประมาณ 50 ปีก่อนนี้ หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ของไทยใช้เวลา 7 ปี แต่เนื่องจากมีความขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรง แพทยสภาจึงลดเวลาฝึกอบรมลงเหลือเพียง 6 ปี เพื่อให้แพทย์ไปทำงานในชนบทได้เร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อปัจจุบันความขาดแคลนแพทย์ไม่รุนแรงเช่นในอดีตแล้ว ก็ควรปรับหลักสูตรฝึกอบรมกลับมาเป็น 7 ปีเช่นเดิม โดยศึกษาในสถานศึกษา 6 ปีเช่นเดิม แต่ควรให้ฝึกงานในสถานพยาบาลก่อนอีก 1 ปี จึงมีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพื่อมีเวลาฝึกอบรมนานขึ้น เพิ่มทักษะและประสบการณ์ ลดความหนักหน่วงในการฝึกอบรม ลดความกดดันบีบคั้น ลดปัญหาสุขภาพกายและใจ

4.   หลักสูตรแพทย์ใหม่ๆ บางหลักสูตร ลดมาตรฐานในการผลิตลง

หลักสูตรใหม่ ได้แก่ หลักสูตรแพทย์ 4 ปี นำหลักสูตรของสหรัฐมาปรับใช้ โดยหลักสูตรสหรัฐรับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วเข้ารับการฝึกอบรม หลักสูตรการศึกษา 4 ปี ประกอบด้วย ศึกษาพื้นฐานการแพทย์ 2 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง 2 ปี รวม 4 ปี จึงได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ จากนั้นยังต้องฝึกงานอีก 1-3 ปี จึงมีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม(8) ขณะที่หลักสูตรที่ไทยนำมาปรับใช้ หลักสูตรการศึกษา 4 ปีเช่นกัน แต่ลดเวลาศึกษาพื้นฐานการแพทย์เหลือเพียง 1.5 ปี ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรงเหลือเพียง 1 ปี อีก 1.5 ปี ไปดูเรื่องอื่นๆ เมื่อศึกษาครบ 4 ปีแล้ว สามารถสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้เลยโดยไม่ต้องฝึกงานก่อน(9) เป็นการลดมาตรฐานการฝึกอบรม ทั้งเมื่อเทียบกับหลักสูตรแพทย์ของสหรัฐและหลักสูตรแพทย์ปกติของไทย

หลักสูตรใหม่อีกหลักสูตรหนึ่ง คือ หลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา นำหลักสูตรพิเศษของสหรัฐมาปรับใช้ แต่หลักสูตรพิเศษของสหรัฐใช้เวลารวมอย่างน้อย 9 ปี ต้องจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพหรือสาขาวิชาอื่นที่เรียนร่วมมาก่อน บางคณะระบุว่าต้องมีประสบการณ์การทำงานหรือค้นคว้าวิจัย(10)(11)(12)(13) นอกจากนี้การฝึกอบรมของสหรัฐยังไม่หนักหน่วงเหมือนหลักสูตรของไทยเพราะเมื่อจบแล้วไม่ต้องรักษาผู้ป่วย จึงมีพื้นฐานความรู้และเวลาเพียงพอที่จะศึกษาสองหลักสูตรพร้อมกัน และยังมีสายงานที่ไม่ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยรองรับ ขณะที่หลักสูตร 2 ปริญญาของไทยใช้เวลาเพียง 6-7 ปี(14)(15)(16)(17)(18)  รับผู้สมัครระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และต้องฝึกอบรมอย่างหนัก ย่อมส่งผลกระทบต่อการฝึกอบรม และไม่มีสายงานที่ไม่ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยรองรับ

5.   คณะแพทยศาสตร์ที่มีหลักสูตรแพทยศาสตร์หลายหลักสูตร แพทยสภาควรพิจารณาแต่ละหลักสูตรแยกจากกัน

คณะแพทยศาสตร์บางคณะมีหลักสูตรแพทย์หลายหลักสูตร แต่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากแพทยสภาเพียงหลักสูตรเดียว กลับใช้หลักสูตรที่ได้รับการรับรองแล้วมาประยุกต์ใช้ แล้วถือว่าผ่านการประเมินตามกันไปด้วย แต่การประยุกต์ หรือเพิ่มสาขาวิชาอื่นเข้าไปย่อมมีผลกระทบต่อหลักสูตรเดิม แพทยสภาจึงควรรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ทุกหลักสูตรแยกจากกัน

6.   ควรมีข้อบังคับสำหรับการรับรองหลักสูตรของคณะแพทย์ต่างประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าหลักสูตรแพทย์ของไทย

พบว่าแพทย์ที่จบการศึกษาจากคณะแพทย์ต่างประเทศอาจประสบปัญหา เช่น ระยะเวลาในฝึกอบรมน้อยกว่าหลักสูตรของไทย, ได้ศึกษาเฉพาะทฤษฎี มีโอกาสฝึกตรวจรักษาผู้ป่วยโดยตรงน้อย, บางประเทศต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมตามปกติไปฝึกอบรมภาษาและหลักสูตรแพทย์พื้นเมือง, แพทยสภาของไทยไม่สามารถตรวจสอบมาตรฐานการผลิตยังที่ตั้งของคณะแพทย์นั้นๆ, ปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับระบบการแพทย์ของไทย, การตรวจรักษาโรคที่พบได้บ่อยเฉพาะในประเทศไทย, การใช้ภาษาไทยในการตรวจรักษา(19)(20)(21)

    แพทยสภาจึงควรออกข้อบังคับรับรองคณะแพทย์ต่างประเทศเฉพาะที่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือคณะแพทย์ที่อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ได้รับการรับรองโดยองค์กรที่น่าเชื่อถือและมีตัวแทนที่สามารถตรวจสอบมาตรฐานของคณะแพทย์อยู่ในประเทศนั้นๆ ได้แก่ WFME และคณะแพทย์นั้นๆจะต้องมีระยะเวลาในการฝึกอบรมทั้งพื้นฐานทางการแพทย์ ศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรง และระยะเวลาการฝึกอบรมโดยรวม ไม่น้อยกว่าหลักสูตรของไทย  หากมีระยะในการฝึกอบรมพื้นฐานทางการแพทย์น้อยกว่าหลักสูตรของไทย ควรมีการเปรียบเทียบหน่วยกิตแล้วทำการศึกษาเพิ่มเติมในเนื้อหาวิชาที่ยังขาด หากระยะเวลาในการศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรงน้อยกว่าหลักสูตรของไทย ควรทำการฝึกงานเพิ่มเติมในประเทศนั้นๆมาก่อน หรือมาฝึกงานในประเทศไทยจนได้ระยะเวลาในการศึกษาจากผู้ป่วยโดยตรงไม่น้อยกว่าหลักสูตรของไทย และก่อนการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทยควรได้รับการฝึกงานในประเทศไทยก่อนอย่างน้อย 1 ปี เพื่อปรับตัวให้เข้ากับระบบการแพทย์ของไทย

7.   แพทยสภาควรควบคุมมาตรฐานของหลักสูตร และคณะแพทย์ต่างๆ โดยใช้อำนาจตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรม

แม้ พรบ.การอุดมศึกษา มาตรา 16 จะบัญญัติว่า สภาวิชาชีพจะออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพโดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษามิได้ แต่ พรบ.วิชาชีพเวชกรรม มาตรา 8 ได้ให้อำนาจแพทยสภาในการ รับรองปริญญา หลักสูตร และวิทยฐานะของสถาบันฝึกอบรม และออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้นหากแพทยสภาไม่รับรองคณะหรือหลักสูตรใด ผู้ที่จบการศึกษาก็ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม  หรือแพทยสภายังสามารถควบคุมการเปิดของคณะแพทย์ที่ไม่พร้อม และหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานได้

8.   แพทยสภาควรเผยแพร่รายชื่อหลักสูตร และคณะแพทย์ที่ผ่านการรับรอง เพื่อป้องกันปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมนักศึกษาที่จบจากคณะแพทย์ทั้งในและต่างประเทศที่ไม่ได้การรับรองจากแพทยสภา อาจประสบปัญหา
ไม่มีสิทธิสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้นควรมีการแจ้งรายชื่อคณะและหลักสูตรแพทย์ทั้งในและต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง ไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเผยแพร่ให้นักเรียนที่สนใจเป็นประจำทุกปีและทุกครั้งที่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนคณะหรือหลักสูตรแพทย์ที่ได้รับการรับรอง


story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สรุปข้อเสนอเพื่อปรับปรุงกระบวนการขอเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และรับรองสถาบันผลิตแพทย์

1.   การเพิ่มอัตราการผลิตอาจไม่มีความจำเป็นแล้ว และอาจลดการผลิตลงหากประสบปัญหาเรื่องคุณภาพของแพทยศาสตร์บัณฑิต
2.   การประเมินว่าคณะแพทย์ใดจะสามารถเปิดการเรียนการสอนได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด ควรใช้ เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555 มาเป็นแนวทางในการพิจารณา หากคณะแพทย์ใดไม่สามารถจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับการผลิตตามเกณฑ์ดังกล่าวได้ ไม่ควรอนุญาตให้เปิดคณะแพทย์นั้น ให้ลดจำนวนการผลิต หรือปิดคณะแพทย์นั้นๆ ไปก่อน
3.   การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม ควรกระทำโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯหรือแพทยสภา หรือด้วยแบบทดสอบที่นานาชาติยอมรับ หรือ สอบแข่งขัน
4.   ปรับระยะเวลาการฝึกอบรมเป็น 7 ปี โดยฝึกอบรมในสถานศึกษา 6 ปี ฝึกงานในสถานพยาบาล 1 ปีโดยปรับโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะเป็นการฝึกงานในสถานพยาบาลภายใต้การกำกับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และปรับการสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากหลังรับปริญญา เป็นสอบหลังฝึกงานครบ 1 ปี
5.   ขอให้พิจารณาว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต 4 ปี และหลักสูตรแพทยศาสตร์ 2 ปริญญา มีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการลดมาตรฐานการผลิต ควรยกเลิกหลักสูตรแพทย์ 4 ปี และหลักสูตรแพทย์ 2 ปริญญา นำนักศึกษาเข้าสู่หลักสูตรปกติ ให้การช่วยเหลือนักศึกษาโดยการเปรียบเทียบหน่วยกิต จากวิชาที่ได้รับการศึกษามาแล้ว
6.   คณะแพทย์ที่มีหลักสูตรแพทย์หลายหลักสูตร ทุกหลักสูตรควรได้รับการประเมินโดยแพทยสภาแยกกัน
7.   แพทยสภาควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้รับรองคณะแพทย์ต่างประเทศเฉพาะคณะแพทย์ในประเทศที่พัฒนา
แล้ว หรือคณะแพทย์ในประเทศที่กำลังพัฒนาที่ได้รับการรับรองจาก WFME และรับรองเฉพาะหลักสูตรที่มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าหลักสูตรของไทย ทั้งก่อนการสอบเพื่อรับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพเวชกรรมควรฝึกงานในสถานพยาบาลในประเทศไทยก่อนอย่างน้อย 1 ปี
8.   แพทยสภายึดถือหลักการไม่อนุมัติให้แพทย์ที่จบจากคณะแพทย์หรือหลักสูตรแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรอง
จากแพทยสภา สอบเพื่อรับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยเคร่งครัด
9.   แจ้งรายชื่อคณะและหลักสูตรแพทย์ทั้งในและต่างประเทศที่แพทยสภารับรอง ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ
เป็นประจำทุกปี และทุกครั้งที่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนคณะหรือหลักสูตรแพทย์ที่แพทยสภาให้การรับรอง

ทางสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ(สพศท.)ได้เผยแพร่บทความ ‘มาตรฐาน และคุณภาพแพทย์’ และ ‘แพทยศาสตรศึกษาไทย.. จะทางไหน’ ลงในเพจสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ซึ่งมีเนื้อหาตรงกันกับข้อเท็จจริง และความคิดเห็นของสมาพันธ์ฯดังกล่าวข้างต้น ปรากฏมีรายละเอียดดังนี้
บทความ ‘มาตรฐาน และคุณภาพแพทย์’ มีผู้อ่าน ทั้งอ่านจากเพจของสมาพันธ์ฯเอง และอ่านจากเพจของบุคคลอื่นที่แชร์โพสต์ของสมาพันธ์ฯออกไป 13,269 คน แสดงความรู้สึก 184 คน เป็นความรู้ถูกใจหรือเห็นด้วย 181 คน ไม่มีใครแสดงความรู้สึกโกรธหรือไม่เห็นด้วย และบทความ ‘แพทยศาสตรศึกษาไทย.. จะไปทางไหน?’ มีผู้อ่าน 32,173 คน แสดงความรู้สึก 477 คน เป็นความรู้ถูกใจหรือเห็นด้วย 468 คน ไม่มีใครแสดงความรู้สึกโกรธหรือไม่เห็นด้วย ทั้งผู้ที่แสดงความคิดก็แสดงความคิดไปในแนวทางเดียวกับบทความทั้งหมด บ่งชี้ว่าแพทย์จำนวนมากให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับระบบแพทยศาสตรศึกษา และทุกคนเห็นด้วยกับข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ดังกล่าวข้างต้น
สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป จึงขอความกรุณาจากแพทยสภา โปรดพิจารณาข้อเท็จจริง ความ
คิดเห็น และข้อเสนอแนะ ดังกล่าวของทางสมาพันธ์ฯ และสมาชิกแพทยสภาจำนวนมาก เพื่อปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษาของไทยให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น ให้ได้แพทย์ที่มีคุณภาพออกมาดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน และหากแพทยสภาต้องการข้อมูล หรือความคิดเห็นเพิ่มเติม ทางสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ยินดีให้ความร่วมมือ ทั้งด้วยการส่งเอกสารเพิ่มเติม หรือไปให้ข้อมูลด้วยตนเอง

ขอแสดงความนับถือ
                                                                                   
                                    (นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร)
                         ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป


เอกสารอ้างอิง
1.   Raman kumar. 2018. India achieves WHO recommended doctor population ratio: A call for paradigm shift in public health discourse!. J Family Med Prim Care. 7(5), 841-844. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6259525/
2.   สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร(รายเดือน). https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/mainpage
3.   แพทยสภา. สถิติแพทย์. https://www.tmc.or.th/statistics.php
4.   แนวหน้า. 2562. ก.พ.แจงยิบ!ปมบรรจุนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์-ทันตแพทยศาสตร์. หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์. https://www.naewna.com/local/409714
5.   ประกาศแพทยสภา ที่ 12 /2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้
ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555 (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012 )
6.   ประกาศแพทยสภา ที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้
ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563
7.   Naruemon Yimchavee. 2018. เรียนหนัก อดนอน ความเครียดรุมเร้า : สำรวจช่วงชีวิตอันบอบช้ำของคนเรียนหมอ. https://thematter.co/social/medical-students-suffering/46819
8.   Become Team. 2023. How to Become a Doctor. Become. https://www.learnhowtobecome.org/doctor/
9.   พี่ใบเฟิร์น. 2563. หลักสูตรแรกในไทย! แพทย์อินเตอร์ จุฬาฯ 4 ปี จบปริญญาตรีสาขาไหน ก็เรียนแพทย์ได้. Dek-D.com. https://www.dek-d.com/tcas/54944/
10.   Duke university. 2011. MD+Master of Engineering Dual Degree. Duke university. https://bme.duke.edu/masters/degrees/md-meng
11.   TEXAS A&M Medicine. EnMed. TEXAS A&M Medicine. https://medicine.tamu.edu/enmed/index.html
12.   Stanford Medicine. Dual-Degree Programs. Stanford Medicine. https://med.stanford.edu/education/dual-degree-programs.html
13.   Case Western Reserve University. 2023. Dual Degrees. Case Western Reserve University. https://case.edu/medicine/md/academics/dual-degrees
14.   ผู้จัดการออนไลน์. 2562. รพ.รามาฯ เปิดหลักสูตร "แพทย์-วิศวะ" เรียน 7 ปี ได้สองปริญญา ปั้น "แพทย์นวัตกร". ผู้จัดการออนไลน์. https://mgronline.com/qol/detail/9620000099374?fbclid=IwAR1ES6HvDoz2Eojvs1FCr_Mz2NVjO322vLdI5MMVRiC07KCbqyvzjztxu3c
15.   งานแพทยศาสตรศึกษา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. โครงการร่วม 2 หลักสูตร แพทยศาสตรบัณฑิต - การจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ). คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. https://www.cm.mahidol.ac.th/program/mdmm/
16.   พี่แนนนี่. 2564. ชวนมาดู! หลักสูตร 6 กำลัง 1 แพทย์ศิริราช เรียนหมอควบ ป.โท หลักสูตรใดได้บ้าง?. Dek-D.com. https://www.dek-d.com/tcas/58582/
17.   พี่มิ้นท์. 2564. เตรียมตัวรอ! หลักสูตรแพทย์แนวใหม่ 7 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ตรี-แพทย์, โท-กฎหมาย/บริหาร. Dek-D.com. https://www.dek-d.com/tcas/58768/
18.   ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์. 2562. หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2563). ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์. http://medical.pccms.ac.th/?page_id=701
19.   แพทยสภา. โรงเรียนแพทย์ต่างประเทศ. https://www.tmc.or.th/foreign_med.php
20.   ThaiJobsGov.com. 2560. ไปเรียนถึงเมืองนอกแต่ไม่ได้อะไรเลย!! เปิดดราม่าเด็กไทย ไปเรียนหมอที่จีน กลับมาไม่มีความรู้-รักษาโรคไม่ได้-ใส่กาวน์ไม่เป็น!!.
ThaiJobsGov.com. https://www.thaijobsgov.com/jobs/173270/
21.   Pantip. 2560. แพทย์ที่จบจากจีน เค้าไปเรียนอะไรกัน 6 ปี. https://pantip.com/topic/37063658