ผู้เขียน หัวข้อ: สปสช.เผย 18 ปี บัตรทองจ่ายเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหาย1.3 หมื่นราย กว่า2พันล้าน  (อ่าน 247 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช.เผย 18 ปี บัตรทองจ่ายเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหาย 1.3 หมื่นราย กว่า 2 พันล้านบาท
วันนี้ (18 ตุลาคม 2565) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สปสช. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แพทย์สภา ราชวิทยาลัยและสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ตลอดจนหน่วยบริการสังกัดหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมดำเนินการเพื่อจัดสิทธิประโยชน์บริการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขที่จำเป็นให้กับประชาชนผู้มีสิทธิอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน แต่โอกาสที่จะเกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากการรับบริการย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการรองรับเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการเข้ารับบริการและเป็นการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ป่วยหากเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ขึ้น ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดความขัดแย้งและการฟ้องร้องระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการในระบบสุขภาพได้

“ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 ได้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กันเงินจำนวนหนึ่งไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินที่จ่ายให้กับหน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด โดยในช่วงแรก สปสช. กำหนดประเภทความเสียหายและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท, กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท” นพ.จเด็จ กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ได้มีการปรับเพิ่มจำนวนการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการดำเนินการตามมาตรา 41 ที่ผ่านมา ในช่วงเริ่มต้นจำนวนผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยได้ขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ มีไม่มาก โดยปี 2547 ที่เป็นปีเริ่มต้น มีจำนวน 73 ราย เป็นเงินช่วยเหลือ 4.86 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต่อมาจำนวนการยื่นคำร้องและการช่วยเหลือจะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงจำนวนเงินการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ แต่ถือว่าเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการเข้ารับบริการของประชาชนผู้มีสิทธิ และเมื่อดูข้อมูลการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ตามมาตรา 41 ตั้งแต่ปี 2547–2565 หรือ ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ทั้งสิ้น 13,913 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 773 ราย เป็นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร 7,210 ราย กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ 1,902 ราย และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 4,801 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,622.75 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 145.71 ล้านบาท โดยปี 2565 เป็นปีที่มีผู้ที่ได้การช่วยเหลือเบื้องต้นฯ สูงสุด 1,140 ราย และเป็นปีที่จ่ายเงินช่วยเหลือสุดสุดเช่นกัน 297.32 ล้านบาท

“จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ากลไกการช่วยเหลือนี้ แต่ละปีมีจำนวนไม่มาก รวมถึงงบประมาณที่จ่ายไป แต่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งยังได้รับการยอมรับ โดยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถูกนำไปเป็นต้นแบบการช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ที่สำคัญกลไกนี้ยังมีส่วนผลักดันการพัฒนาให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว

มติชน
18ตค2565