ผู้เขียน หัวข้อ: ฎีกาพิพากษากลับ สั่งหมอ-รพ.เเพทย์รังสิต ชดใช้ครอบครัวคนไข้1.5ล.พร้อมดอกเบี้ย  (อ่าน 221 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ศาลฎีกา พิพากษากลับ สั่ง หมอ-รพ.เเพทย์รังสิต ชดใช้ครอบครัวคนไข้ปวดขาถูกเเพทย์ฉีดยาเเต่เเพ้จนตายเมื่อปี 2560 กว่า 1.5 ล้านพร้อมดอกเบี้ย

วันที่ 15 ก.ย.2565 ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ ผบ.78/2561 ที่ นางอำพร กระตุดนาค, นายชาตรี ศรีชนะ, ด.ช.ภาคิณ ศรีชนะ เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคม, บริษัทปทุมรักษ์ จํากัด, พญ.จุฑามาศ หาญณรงค์ เป็นจำเลย 1-3 ในความผิดฐานละเมิด

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1-3 ป็นมารดา สามี และบุตร ของ น.ส.วนิดา ทองเวียน ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นผู้จัดหาสถานพยาบาลให้ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมใช้บริการ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ประกอบธุรกิจให้บริการสถานพยาบาลชื่อโรงพยาบาลแพทย์รังสิต และ ให้บริการผู้ใช้สิทธิประกันสังคมภายใต้การควบคุมคุณภาพของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ผู้ตายใช้สิทธิประกันสังคมรักษาโรคหอบหืดซึ่งเป็นโรคประจำตัวและอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2560 ผู้ตายเข้ารับการรักษากับจำเลยที่ ด้วยอาการปวดขา จำเลยที่ 3 วินิจฉัยว่าเป็นโรคเส้นเอ็นอักเสบ จึงสั่งยาฉีดไดโคลฟีแนค ฉีดให้แก่ผู้ตาย พร้อมทั้งให้ยานอร์จีสิก, บรูเฟน และทรามอล ไปรับประทาน ผู้ตายได้รับการฉีดยาเวลา 18.16 น.แล้วรับยาอื่นและออกจากโรงพยาบาลเวลา 18.30 น. เมื่อกลับถึงบ้านยังไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และยังไม่ได้รับประทานยา ผู้ตายมีอาการขาอ่อนแรง หายใจไม่ออก และแน่นหน้าอกแล้วหมดสติไป

พี่สาวผู้ตายนำผู้ตายส่งโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ที่อยู่ใกล้บ้านเมื่อเวลา 19.30 น. ผู้ตายความดันโลหิตตก โคม่า ไม่หายใจ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ สมองเสียหาย ม่านตาสองข้างขยาย ไม่ตอบสนองต่อแสง ต่อมาถูกนำส่งโรงพยาบาลแพทย์รังสิตและเข้ารักษาในห้องไอซียูโดยใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ผลการเอกซเรย์สมองเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2560 พบว่าสมองบวม ก้านสมองตาย และเสียชีวิตในวันที่ 12 ส.ค.2560

การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการรักษาโรคด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นแพทย์ผู้รักษาโรคจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้น แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย กล่าวคือ จำเลยที่ 3 สั่งฉีดยาไดโคลฟีแนคซึ่งเป็นยาที่ไม่ควรใช้ในคนไข้โรคหอบหืดให้แก่ผู้ตาย ที่มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด และไม่ได้สั่งให้เฝ้าดูอาการที่อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดยา เช่น อาการแพ้ยา หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก ความดันโลหิตตก

ซึ่งปกติต้องเฝ้าดูผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 15 นาที และให้ผู้ป่วยนั่งคอยอีก 15 นาที จึงให้กลับออกจากโรงพยาบาล เป็นเหตุให้ผู้ตายแพ้ยารุนแรง หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก จนเสียชีวิต จำเลยที่ 3 จึงกระทำละเมิดและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสาม โดย จำเลยที่ 1, 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายเป็นลูกจ้างบริษัทฝาจีบ จำกัด มีรายได้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท ผู้ตายอายุ 27 ปี มีโอกาสทำงานอีก 33 ปี คิดเป็นเงิน 5,940,000 บาท

ผู้ตายเคยให้เงินแก่โจทก์ที่ 1 ตามหน้าที่บุตรเดือนละ 8 พันบาท โจทก์ที่ 1 ต้องขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 33 ปี คิดเป็นเงิน 3,168,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นสามี และโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรของผู้ตายต้อง ขาดไร้อุปการะ เฉลี่ยคนละวันละ 300 บาท เป็นเงินเดือนละ 9 พันบาท จนถึงโจทก์ที่ 2 มีอายุ 60 ปี เป็นเวลา 34 ปี คิดเป็นเงิน 3,672,000 บาท และจนโจทก์ที่ 3 บรรลุนิติภาวะเป็นเวลา 20 ปี คิดเป็นเงิน 2,160,000 บาท ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นในการจัดพิธีศพผู้ตาย 2 เเสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,140,000 บาท

ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้ง 3 ยื่นขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต โดยศาลชั้นต้นเเละศาลอุทธรณ์เเผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้ง 3 ยื่นฎีกา ศาลฎีกาเเผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา วันนี้โจทก์ทั้ง 3 ผู้รับมอบอำนาจจำเลยมาศาลพร้อมทนายความ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นสรุปว่า ทางนำสืบของจำเลยที่ 2-3 ไม่ปรากฏว่า นอกจากยากลุ่มเอ็นเสดแล้ว ไม่มียาอื่นที่จะนำมาใช้รักษาอาการปวดของผู้ตายได้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ก็ยอมรับว่าอาการปวดของผู้ตายไม่มากถึงขนาดจำเป็นต้องฉีดยา จำเลยที่ 3 จึงสมควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ตายโดยหลีกเลี่ยงการให้ยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หากจำเป็นต้องให้ยาดังกล่าวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ควรต้องให้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

แต่ได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่า ผู้ตายไม่ได้มีอาการปวดรุนแรง จึงไม่ได้ติดตามอาการหลังฉีดยา แสดงว่าจำเลยที่ 3 สั่งยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อให้แก่ผู้ตาย โดยไม่ได้สั่งให้มีการเฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์หลังฉีดยา ที่พยานจำเลยซึ่งเป็นพยาบาลผู้ฉีดยาให้แก่ผู้ตายเบิกความว่า หลังจาก ฉีดยาเสร็จพยานให้ผู้ตายนอนพักที่เตียงเพื่อสังเกตอาการประมาณ 10 นาที จากนั้น ได้สอบถามอาการจากผู้ตายทราบว่าอาการดีขึ้นและผู้ตายได้เดินออกไปรับยาที่ห้องจ่ายยานั้น

ปรากฏจากสำเนาบทความตอบปัญหาเรื่องยาโดยเภสัชกรหน่วยคลังข้อมูลยาว่า การฉีดยาไดโคลฟีแนคเข้ากล้ามเนื้อยาจะออกฤทธิ์ภายใน 10-22 นาที สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ยาที่ฉีดให้ผู้ตายจะออกฤทธิ์ ประมาณ 10-30 นาที ดังนี้ แม้จะฟังว่าพยาบาลผู้ฉีดยาได้เฝ้าระวังอาการหลังฉีดยาของผู้ตายจริงก็เป็นการใช้เวลาในการเฝ้าระวังไม่เพียงพอต่อการประเมินอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการฉีดยา

พยานหลักฐานจำเลยที่ 2-3 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 3 ให้การรักษาผู้ตายซึ่งมีอาการหอบหืดด้วยยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และไม่ได้สั่งให้เฝ้าระวังอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นหลังฉีดยาเป็นการให้การรักษาที่ เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า หลังผู้ตายเสียชีวิต จำเลยที่ 3 ได้ชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังแพทยสภาแล้ว แต่ไม่เคยถูกเรียกไปสอบสวน และไม่เคยถูกลงโทษนั้น

เห็นว่าเเม้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภาฯตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวช กรรม ชุดที่ 7 ซึ่งเห็นสอดคล้องกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยที่มีความเห็นว่า จำเลยที่ 7 ให้การรักษาผู้ตายด้วยยาไดโคลฟีแนคแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นยาเดิมที่ผู้ตายเคยได้รับ และเฝ้าสังเกตอาการเบื้องต้นไม่มีภาวะแทรกซ้อนจึงให้กลับบ้าน เป็นการให้การรักษาถูกต้องเหมาะสมตามภาวะวิสัย และพฤติการณ์ในขณะนั้นแล้ว แต่ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้มติของคณะกรรมการแพทยสภามีผลผูกพันศาลในการวินิจฉัยคดี มติของคณะกรรมการแพทยสภาเป็นเพียงพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง

หากมติดังกล่าวได้มีการพิจารณากันอย่าง รอบด้านจากข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและมีมติตามความเห็นที่สมเหตุสมผลย่อมเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักให้ศาลรับฟังประกอบการวินิจฉัย แต่มติของคณะกรรมการแพทยสภาที่ส่งมายังศาลชั้นต้นในคดีนี้ไม่มีรายละเอียดพอที่จะพิจารณาว่าเป็นไปดังที่ได้กล่าวมาหรือไม่ เพียงใด จึงไม่มีน้ำหนักให้นำมารับฟัง

เมื่อจำเลยที่ 2-3 ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าการให้การรักษาผู้ตายของจำเลยที่ 3 เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการละเมิดต่อผู้ตาย จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย

ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า สั่งให้ฉีดยาไดโคลฟีแนค แก่ผู้ตายเพราะผู้ตายยืนยันให้ฉีดยานั้นเห็นว่า ผู้ป่วยทั่วไปรวมทั้งผู้ตายซึ่งไม่มีความรู้ ทางการแพทย์ย่อมไม่อาจทราบถึงอาการอันไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดจากการใช้ยา การจะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดและวิธีการอย่างไรย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจรักษาที่ต้องคำนึง ถึงมาตรฐานการรักษาเป็นสำคัญ หาจำต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วยเสมอไปไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกเหตุที่สั่งฉีดยาตามคำยืนยันของผู้ตายมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้

ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต การที่จำเลยที่ 3 มานั่ง ตรวจรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิตแม้จะมาเป็นครั้งคราวและได้รับค่าจ้างจาก จำเลยที่ 2เป็นรายชั่วโมง แต่เป็นการตรวจรักษาผู้ป่วยในนามของโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตรวจรักษาผู้ตาย จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทน ของตนได้กระทำไปในการตรวจรักษาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427ประกอบมาตรา 425 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับ จำเลยที่ 2, 3 นั้น

ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นพิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 2 และ 3 ร่วมกันชำระค่าปลงศพ 5 หมื่นบาท แก่โจทก์ทั้ง 3 ค่าขาดไร้อุปการะ 5 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 1 ค่าขาดไร้อุปการะ 3เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 2 และค่าขาดไร้อุปการะ 7 เเสนบาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 ม.ค.61) ถึงวันที่ 10 เม.ย.64 และอัตรา ร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย.64 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

นางอำพร กระตุดนาค กล่าวทั้งน้ำตาและขอบคุณศาลฎีกาว่า ได้เมตตาและมีคำพิพากษากลับให้ตนชนะคดี ตนได้พยายามขอความช่วยเหลือทั้งจากสภาทนายความ หน่วยงานของรัฐมาโดยตลอดหลายปี ตนเหนื่อย ท้อแท้และยากลำบากอย่างมากในการต่อสู้คดีแพทย์ มีกำลังใจต่อสู้มาตลอดก็เพราะเป็นห่วงอนาคตหลาน ตนก็ทำงานหาเช้ากินค่ำไปวัน ๆ และมาเจอในสถานการณ์โรคระบาดอีก ขอบคุณศาลฎีกาจริง ๆ

ด้าน นายภิญโญภัทร์ ชิดตะวัน ทนายความ กล่าวว่า ต้องขอบคุณศาลฎีกาที่เมตตาเช่นกัน และศาลฎีกาได้วางหลักสำคัญไว้หลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องการฉีดยารักษาย่อมเป็นดุลยพินิจของแพทย์ เป็นการจบข้อถกเถียงเพราะศาลฎีกาตัดสินแล้ว และได้เป็นแนวทางการวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในยุคที่ประชาชนต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคต่า งๆ และแพทย์จะได้กรุณาระวังมากยิ่งขึ้นด้วย

15 ก.ย. 2565
ข่าวสดออนไลน์