ผู้เขียน หัวข้อ: การแพทย์ยุคหินล้ำสมัยเกินคาด ตัดขาได้ไม่ติดเชื้อ 31,000 ปีก่อน  (อ่าน 207 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ทีมนักโบราณคดีชาวอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์ยุคหินเก่าที่มีอายุกว่าสามหมื่นปีในถ้ำบนเกาะบอร์เนียว โดยโครงกระดูกนี้มีร่องรอยของการผ่าตัดทางการแพทย์ที่น่าทึ่งปรากฏอยู่

ผลวิเคราะห์โครงกระดูกที่ขุดพบในถ้ำ Liang Tebo เมื่อปี 2020 ในเขตจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกของอินโดนีเซีย ชี้ว่าโครงกระดูกดังกล่าวเป็นร่างของชายหนุ่มหรือหญิงสาวอายุประมาณ 19-21 ปี โดยเขาหรือเธอมีร่องรอยการถูกตัดขาท่อนล่างด้านซ้ายออก

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ รอยตัดกระดูกขาในแนวเฉียงดูเรียบเสมอและประณีตอย่างยิ่ง ปราศจากร่องรอยการติดเชื้อซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดในยุคโบราณ ทั้งยังมีการเติบโตของเซลล์กระดูกใหม่โดยรอบ ซึ่งชี้ว่าคนผู้นี้เคยถูกตัดขาด้วยแพทย์ยุคหินที่มีทักษะการผ่าตัดสูง เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยบางอย่างที่เกิดขึ้นในวัยเด็กหรือวัยรุ่นตอนต้น

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า ผลการตรวจสอบถ่านไม้ในชั้นดินที่ฝังร่างโครงกระดูกด้วยเทคนิคคาร์บอนกัมมันตรังสี รวมทั้งผลตรวจวัดการสลายตัวของไอโซโทปยูเรเนียมในฟัน และสารเคมีที่หลงเหลือในเคลือบฟัน ชี้ว่าคนผู้นี้เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงปลายยุคหินเก่าเมื่อราว 31,000 ปีก่อน และการตัดขาของเขาหรือเธออาจเป็นการผ่าตัดรักษาทางการแพทย์ครั้งแรก ๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จ

ศาสตราจารย์ แม็กซิเม ออแบรต์ หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธของออสเตรเลียบอกว่า การค้นพบในครั้งนี้พลิกโฉมความเข้าใจเกี่ยวกับการแพทย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างมาก

“มนุษย์ยุคหินมีความรู้เรื่องกายวิภาคดีกว่าที่เราคิดกันไว้ การที่คนผู้นี้รอดชีวิตจากการถูกตัดขาในวัยเด็กมาได้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แสดงว่าผู้ทำการผ่าตัดในยุคนั้นต้องมีเครื่องมือหินที่มีประสิทธิภาพ ทั้งต้องรู้จักวิธีห้ามเลือด รวมทั้งอาจจะใช้ยาสมุนไพรที่หาได้ในป่าฝนของเกาะบอร์เนียว เพื่อนำมาฆ่าเชื้อและระงับความเจ็บปวดได้ด้วย”

ในอดีตนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีเชื่อกันว่า มนุษย์ยุคหินไม่สามารถจะรักษาโรคด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ซับซ้อน เช่นการผ่าตัดหรือตัดแขนขาของผู้ป่วยออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เกษตรกรรมและการตั้งหลักแหล่งถาวรยังไม่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการตัดแขนขาด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ได้แก่ร่องรอยการตัดแขนบริเวณข้อศอกลงมา ซึ่งปรากฏบนโครงกระดูกอายุ 7,000 ปี ของชายชราผู้หนึ่งที่ขุดพบในฝรั่งเศส

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า “การตัดแขนขาเพื่อรักษาชีวิตในยุคที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะนั้น เสี่ยงที่จะล้มเหลวและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการเสียเลือดมาก เกิดภาวะช็อก หรือติดเชื้อรุนแรง แต่กรณีล่าสุดที่เราค้นพบกลับไม่เป็นเช่นนั้น”

“มนุษย์เมื่อสามหมื่นปีก่อนทำเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ ทั้งยังอาจจะมีระบบดูแลพยาบาลผู้ป่วยและผู้พิการในชุมชนที่ดี จนทำให้คนที่ขาขาดไปแล้วข้างหนึ่ง สามารถดำรงชีวิตในเขตป่าเขาที่สูงชันและรกทึบต่อไปได้”

10 กันยายน 2565
ประชาชาติธุรกิจ