ผู้เขียน หัวข้อ: ก่อนกินยาทำแท้งในญี่ปุ่น ทำไมผู้หญิงต้องขอความยินยอมจากผู้ชายก่อน  (อ่าน 189 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
แม้ว่ามีการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในสหรัฐฯ เกี่ยวกับการล้มล้างคำพิพากษาคดีในอดีตซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Roe v Wade ในญี่ปุ่นก็กำลังมีการถกเกียงกันเกี่ยวกับการทำให้ยาที่ชักนำให้เกิดการแท้งทางการแพทย์เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย

เมื่อเดือน พ.ค. เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น แจ้งรัฐสภาว่า ทางกระทรวงมีกำหนดที่จะอนุมัติยาเม็ดทำแท้งที่ผลิตโดยไลน์ฟาร์มา อินเตอร์เนชันแนล (Linepharma International) บริษัทยาของอังกฤษ

แต่เขากล่าวด้วยว่า ผู้หญิงจำเป็นต้อง "ได้รับความยินยอมจากคู่ของตน" ก่อนที่จะมีการใช้ยาเม็ดดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่นักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนให้ผู้หญิงเป็นคนมีสิทธิ์เลือก ชี้ว่า ล้าสมัยและยึดถือผู้ชายเป็นใหญ่

การทำแท้งทางการแพทย์ ด้วยการใช้ยาเม็ดแทนที่จะเป็นการผ่าตัด เป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในฝรั่งเศสตั้งแต่ 34 ปีก่อน อังกฤษก็ให้การรับรองการใช้ยานี้ในปี 1991 ตามมาด้วยสหรัฐฯ ในปี 2000

สำหรับประเทศในยุโรปหลายประเทศ นี่คือรูปแบบการยุติการตั้งครรภ์ที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาอย่างมากในปัจจุบัน มีการใช้ยาเม็ดเพื่อทำแท้งคิดเป็น 90% ของการทำแท้งทั้งหมดในสวีเดน และราว 70% ในสกอตแลนด์

แต่ในญี่ปุ่น ประเทศที่มีประวัติย่ำแย่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ มีความล่าช้าในการอนุมัติยาที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรีอย่างยิ่ง

นักเคลื่อนไหวในญี่ปุ่นเคยล้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ญี่ปุ่นใช้เวลา 30 ปีในการอนุมัติยาเม็ดคุมกำเนิด แต่ใช้เวลาเพียง 6 เดือน ในการอนุมัติยาไวอากรา ยาเม็ดรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย ยาทั้งสองชนิดนี้หาซื้อได้ในญี่ปุ่นในปี 1999 แต่ไวอากราได้รับการอนุมัติก่อน

ยาเม็ดคุมกำเนิดยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้มีราคาแพงและไม่สามารถใช้ได้อย่างง่ายดาย เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปถึงเรื่องการทำให้การทำแท้งกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายในญี่ปุ่น

จริง ๆ แล้ว ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ในโลกที่ผ่านกฎหมายทำแท้งในปี 1948

แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายคุ้มครองสุพันธุศาสตร์ (Eugenics Protection Law) นั่นคือชื่อของกฎหมายจริง ๆ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับการให้ผู้หญิงสามารถควบคุมอนามัยเจริญพันธุ์ของตัวเองได้มากขึ้น แต่เป็นการป้องกันการให้กำเนิดทารกที่มีลักษณะ "อ่อนด้อย"

มาตรา 1 ของกฎหมายนี้ระบุว่า "เพื่อป้องกันการให้กำเนิดทายาทที่อ่อนด้อยจากมุมมองด้านสุพันธุศาสตร์ และเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของผู้เป็นแม่ด้วย"

กฎหมายคุ้มครองสุพันธุศาสตร์ได้มีการเปลี่ยนชื่อและแก้ไขในปี 1996 ซึ่งได้กลายเป็นกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้เป็นแม่ (Maternal Health Protection Law)

แต่หลาย ๆ ด้านของกฎหมายเก่าก็ยังคงอยู่ ดังนั้นจนถึงทุกวันนี้ ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งต้องได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากสามีของเธอ คู่รักของเธอ หรือในบางกรณีคือ แฟนหนุ่มของเธอ

นั่นคือเรื่องที่เกิดขึ้นกับ โอตะ มินามิ (นามสมมุติ)

เธอตั้งครรภ์หลังจากที่แฟนหนุ่มของเธอไม่ยอมสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ถุงยางอนามัยยังคงเป็นวิธีการคุมกำเนิดหลักในญี่ปุ่น

โอตะ บอกว่า จากนั้นเขาก็ไม่ยอมเซ็นชื่อในเอกสารที่จะอนุญาตให้เธอทำแท้งได้

"มันเป็นเรื่องแปลกที่ฉันต้องขอให้เขาใช้วิธีการคุมกำเนิด" เธอกล่าว "และเมื่อเขาตัดสินใจว่า เขาไม่ต้องการใช้ถุงยางอนามัย ฉันก็จำเป็นต้องขออนุญาตจากเขาในการทำแท้งอีก"

"การตั้งครรภ์เกิดขึ้นกับฉันและร่างกายของฉัน แต่ฉันต้องขออนุญาตจากคนอื่น มันทำให้ฉันรู้สึกว่า ไร้อำนาจ ฉันไม่อาจตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองและอนาคตของตัวเองได้เลย"

ต่างจากสหรัฐฯ มุมมองของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการทำแท้ง ไม่ได้มาจากความเชื่อทางศาสนา แต่มาจากการที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่มายาวนาน และมุมมองดั้งเดิมเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงและความเป็นแม่

"มันหยั่งลึกมาก" โอตะ กล่าว "ตอนที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ในญี่ปุ่น เธอกลายเป็นแม่ ไม่ใช่ผู้หญิงคนหนึ่งอีกต่อไป เมื่อคุณเป็นแม่คน คุณควรจะต้องยอมสละทุกสิ่งเพื่อลูกของคุณ มันควรจะเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม มันคือร่างกายของคุณ แต่เมื่อคุณตั้งครรภ์ นั่นไม่ใช่ร่างกายของคุณอีกต่อไป"

การได้ยาเม็ดทำแท้งมาเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยอาจจะต้องจ่ายเงินราว 700 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 25,500 บาท) และยังอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลหรือคลินิก ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานด้านการแพทย์ในญี่ปุ่นระบุว่า เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้หญิง

"ในญี่ปุ่น หลังจากรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด คุณจะต้องอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อที่เราจะสังเกตอาการของคนไข้ได้ มันจะใช้เวลามากกว่าการผ่าตัดทำแท้งแบบทั่วไป" นายแพทย์สึจิโอะ มาเอดะ รองหัวหน้าสมาคมนรีแพทย์ญี่ปุ่น (Japan Gynaecological Association) กล่าวกับบีบีซี

ในหลายประเทศรวมถึงสหราชอาณาจักร ผู้หญิงสามารถใช้ยาเม็ดทำแท้งด้วยตัวเองที่บ้านได้อย่างถูกกฎหมาย

"กฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้เป็นแม่ ระบุว่า การทำแท้งต้องกระทำในสถานพยาบาล ดังนั้นโชคร้ายที่ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เราไม่สามารถขายยาเม็ดทำแท้งให้ผู้ซื้อได้โดยตรง มันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย" นายแพทย์สึจิโอะ กล่าวเพิ่มเติม

นักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพทางเพศของผู้หญิง กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวิทยาศาสตร์การแพทย์มากนัก แต่เป็นเรื่องของการที่หน่วยงานทางการแพทย์ที่ต้องการรักษาธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลไว้มากกว่า

"ฉันคิดว่า การติดสินใจส่วนมากมาจากบรรดาชายสูงวัยและมีร่างกายที่ไม่มีวันจะอุ้มท้องได้" อาซูกะ โซเมยา นักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพทางเพศที่มีองค์กรไม่แสวงหากำไรของตัวเอง กล่าว

อาซูกะ กล่าวว่า ยังคงมีการคัดค้านอย่างมากจากองค์กรที่ผู้ชายครอบงำในญี่ปุ่นในการทำให้การทำแท้งทำได้ง่ายขึ้น

มีข้อโต้แย้งว่า ถ้าคุณทำให้ผู้หญิงทำแท้งได้ง่ายขึ้น ก็จะมีจำนวนผู้หญิงที่เลือกทำแท้งเพิ่มขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงทำให้กระบวนการนี้มีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง

แต่มีหลักฐานจากประเทศอื่น ๆ แสดงว่า การทำเช่นนี้เป็นเพียงการจำกัดทางเลือกของผู้หญิงและทำให้พวกเธอต้องทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ช่วยทำให้การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ลดลงเลย

อาซูกา กล่าวว่า สุดท้ายแล้ว คำตอบก็อยู่ที่การพัฒนาเรื่องเพศศึกษาและการทำให้ผู้หญิงควบคุมการคุมกำเนิดให้ได้ แทนที่จะต้องพึ่งผู้ชายให้ใช้ถุงยางอนามัย

ในยุโรป ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ปกติอย่างมากที่สุด แต่ในญี่ปุ่น มีผู้หญิงเพียง 3% ใช้วิธีการนี้

อาซูกา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ฉันอยากให้มีการออกนโยบายที่รับฟังเสียงของหญิงสาวและผู้หญิงมากกว่านี้"


รูเพิร์ต วิงฟีลด์-เฮย์ส
บีบีซี นิวส์ โตเกียว
31 สิงหาคม 2022